ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๘ ถ้าอีก ๑๐ วันจะถึงวันปวารณา

วันที่ 28 เมย. พ.ศ.2565

ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๘ ถ้าอีก ๑๐ วันจะถึงวันปวารณา

ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๘

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
        “วันเพ็ญที่ครบ ๓ เดือนในเดือนกัตติกา ยังไม่ถึงอีก ๑๐ วัน อัจเจกจีวรเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ภิกษุสำคัญว่าเป็นอัจเจกจีวร พึงรับไว้ได้ ครั้นรับแล้วพึงเก็บไว้ได้จนตลอดสมัยที่เป็นจีวรกาล ถ้าเธอเก็บไว้ยิ่งไปกว่านั้น เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
         “ถ้าอีก ๑๐ วันจะถึงวันปวารณา คือตั้งแต่ขึ้น ๖ ค่ำเดือน ๑๑ ถ้าทายกจะถวายผ้าจำนำพรรษา ก็รับเก็บไว้แต่ถ้าเก็บไว้เกินกาลจีวรไป ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์กาลจีวรนั้นดังนี้ถ้าจำพรรษาแล้วไม่ได้กรานกฐิน นับแต่วันปวารณาไปเดือนหนึ่ง คือ ตั้งแต่วันแรมค่ำหนึ่งเดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๑๒ ถ้าได้กรานกฐิน นับแต่วันปวารณาไป ๔ เดือน คือตั้งแต่แรมค่ำหนึ่งเดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๔”

อธิบายความโดยย่อ
        ในสิกขาบทนี้มีคำที่พึงทำความเข้าใจ ๒ คำ คือ ผ้าจำนำพรรษา และ อัจเจกจีวร 

        ผ้าจำนำพรรษา เรียกว่า วัสสาวาสิกา เป็นผ้าที่เขาถวายแก่ภิกษุผู้จำพรรษาแล้วคือถ้ายังไม่ได้กรานกฐิน แต่ได้รับอานิสงส์จำพรรษา เริ่มตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ไปจนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ เป็นเวลา ๑ เดือน ถ้าได้กรานกฐินแล้วย่อมได้รับอานิสงส์กฐิน ก็ยืดเวลารับผ้าต่อไปได้อีก ๔ เดือน ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๑ ไปจนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔ รวมเป็น ๕ เดือนช่วงนี้จัดเป็นกาลจีวร

        อัจเจกจีวร แปลว่า ผ้ารีบด่วน, จีวรรีบร้อน ท่านอธิบายไว้ว่า

        “บุคคลที่ประสงค์จะไปในการรบก็ดี บุคคลที่ประสงค์จะไปต่างถิ่นก็ดี บุคคลที่เจ็บไข้ก็ดี สตรีที่มีครรภ์ก็ดี บุคคลที่ยังไม่มีศรัทธามามีศรัทธาเกิดขึ้นก็ดี บุคคลที่ยังไม่เลื่อมใสมามีความเลื่อมใสเกิดขึ้นก็ดี ถ้าส่งตัวแทนไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า นิมนต์ท่านผู้เจริญมา ข้าพเจ้าจักถวายผ้าจำนำพรรษา ผ้าที่เขาถวายเช่นนี้ ชื่อว่า อัจเจกจีวร”

        ดังนั้น อัจเจกจีวร ก็คือผ้าจำนำพรรษาเฉพาะที่ทายกรีบร้อนถวายก่อนถึงเวลารับผ้าจำนำพรรษาหรือกาลจีวรนั่นเอง 

        อัจเจกจีวร ทรงให้รับก่อนเวลาจีวรกาลได้แต่ทรงกำหนดว่ารับเก็บไว้ได้ไม่เกินกลางเดือน ๑๒ สำหรับผู้มิได้กรานกฐิน หากกรานกฐินแล้วรับเก็บไว้ได้จนถึงกลางเดือน ๔ พ้นจากนั้นไป เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้
        สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อรักษาศรัทธาของชาวบ้านที่มีศรัทธาจะถวายจีวรภิกษุแต่มีกิจจำเป็นรีบด่วนไม่อาจอยู่ถวายในเวลาจีวรกาลได้จึงขอถวายก่อน และเพื่อให้ภิกษุรู้จักประมาณในการใช้ในการเก็บรักษา เพราะเมื่อเกินเวลาจีวรกาลไปแล้ว ผ้าเหล่านั้นก็จะถูกทิ้งขว้างมิได้รับการดูแลอีก

อนาปัตติวาร
        ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
        (๑) ภิกษุอธิษฐานในภายในสมัย 
        (๒) ภิกษุวิกัปไว้ในภายในสมัย 
        (๓) ภิกษุสละไป 
        (๔) จีวรหายไป 
        (๕) จีวรฉิบหายไป 
        (๖) จีวรถูกไฟไหม้
        (๗) โจรชิงเอาไป
        (๘) ภิกษุถือวิสาสะ 
        (๙) ภิกษุผู้วิกลจริต 
        (๑๐) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุเมืองสาวัตถี

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.050404798984528 Mins