มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๑๐
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
“อนึ่ง ภิกษุใดขุดเองก็ดี ให้ขุดก็ดี ซึ่งแผ่นดิน เป็นปาจิตตีย์”
เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
“ภิกษุขุดเองก็ดีใช้ให้ผู้อื่นขุดก็ดีซึ่งแผ่นดิน ต้องปาจิตตีย์”
อธิบายความโดยย่อ
คำว่า แผ่นดิน ท่านอธิบายความหมายไว้ว่า ได้แก่ แผ่นดิน ๒ ประเภท คือ
- ชาตปฐพี คือ แผ่นดินแท้ ได้แก่ แผ่นดินที่มีดินร่วนล้วน มีดินเหนียวล้วน มีหิน มีกรวด มีกระเบื้อง มีแร่ มีทราย ปนอยู่น้อย มีดินมาก แม้
ดินที่ยังมิได้เผาไฟก็เรียกว่าแผ่นดินแท้แม้กองดินร่วนก็ดีกองดินเหนียวก็ดีที่มีฝนตกรดเกิน ๔ เดือนมาแล้ว ก็เรียกว่าแผ่นดินแท้
- อชาตปฐพี คือ แผ่นดินไม่แท้ ได้แก่ แผ่นดินที่เป็นหินล้วน เป็นกรวด เป็นกระเบื้อง เป็นแร่ เป็นทรายล้วน มีดินร่วนน้อย มีดินเหนียวน้อย มีหินมาก มีกรวด มีกระเบื้อง มีแร่ มีทรายมาก แม้ดินที่เผาไฟแล้ว ก็เรียกว่าแผ่นดินไม่แท้แม้กองดินร่วนก็ดีกองดินเหนียวก็ดีที่ฝนตกรดต่ำกว่า ๔ เดือนก็เรียกว่าแผ่นดินไม่แท้
เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้โดยทรงมีความมุ่งหมายที่สำคัญคือมิให้ภิกษุไปทำลายชีวิตสัตว์ที่มีอยู่ในดินตามปกติเช่น ไส้เดือน และสัตว์อื่นๆ เมื่อภิกษุไปขุดแผ่นดินย่อมทำให้สัตว์ตายไป เป็นการทำลายชีวิตสัตว์ไป
อนาปัตติวาร
ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ
(๑) ภิกษุกล่าวว่า ท่านจงรู้ดินนี้ท่านจงให้ดินนี้ท่านจงนำดินนี้มา เรามีความต้องการด้วยดินนี้ท่านจงทำดินนี้ให้เป็นกัปปิยะ
(๒) ภิกษุไม่แกล้ง
(๓) ภิกษุทำเพราะไม่มีสติ
(๔) ภิกษุผู้ไม่รู้
(๕) ภิกษุผู้วิกลจริต หรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวี