ภิกษุพรากของเขียวซึ่งเกิดอยู่กับที่ ให้หลุดจากที่ต้องปาจิตตีย์

วันที่ 25 ตค. พ.ศ.2565

วรรคที่ ๒ ภูตคามวรรค
ว่าด้วยภูตคาม

ภูตคามวรรค สิกขาบทที่ ๑


ภูตคามวรรค สิกขาบทที่ ๑

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
      “เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะพรากภูตคาม”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
      “ภิกษุพรากของเขียวซึ่งเกิดอยู่กับที่ ให้หลุดจากที่ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
      คำว่า ภูตคาม ได้แก่ พืช ๕ ชนิด คือ พืชเกิดจากเหง้า พืชเกิดจากต้น พืชเกิดจากข้อ พืชเกิดจากยอด และพืชเกิดจากเมล็ด
      คำนี้ตามรูปศัพท์แปลว่า บ้านผี คือที่สถิตของเทวดาประเภทหนึ่งที่เรียกว่ารุกขเทวดาแม้ต้นบัญญัติแห่งสิกขาบทนี้ก็เกิดขึ้นจากการที่ภิกษุไปตัดต้นไม้ที่มีรุกขเทวดาสิงอยู่ เทวดาเดือดร้อนแต่ไม่กล้าทำร้ายภิกษุเพราะกลัวบาป จึงไปกราบทูลพระพุทธองค์พระองค์ทรงประทานสาธุการว่าดีแล้วที่ไม่ฆ่าภิกษุรูปที่ตัดต้นไม้นั้น แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ขึ้น
      ในที่ทั่วไปแปล ภูตคาม ว่า ของเขียว ได้แก่ ต้นไม้ ต้นหญ้า เถาวัลย์ เป็นต้น 
      คำว่า พราก หมายถึงการตัด การถอน การทำให้หลุดจากที่การต้มด้วยตนเอง หรือด้วยการใช้ให้ผู้อื่นทำ อันเป็นเหตุให้ภูตคามตาย ซึ่งชาวบ้านยุคนั้นถือว่าเบียดเบียนอินทรีย์อย่างหนึ่งซึ่งมีชีวะ
      ท่านกำหนดว่า เมื่อพรากภูตคามคือของเขียว เป็นปาจิตตีย์ส่วนพืชพันธุ์ที่ถูกพรากจากที่แล้ว แต่ยังเป็นได้อีกเรียกว่า พีชคาม เมื่อพรากพีชคาม เป็นทุกกฏ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
      สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุพรากของเขียวอันมีชีวะและมิให้ตัดต้นไม้อันเป็นภูตคาม เป็นการรักษาต้นไม้เข้าไว้มิให้ถูกตัดโค่นซึ่งหมายถึงเป็นการรักษาป่าและรักษาสิ่งแวดล้อมอันสำคัญของมนุษย์นั่นเอง

อนาปัตติวาร
ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
         (๑) ภิกษุกล่าวว่า ท่านจงรู้พืชนี้ท่านจงให้พืชนี้ท่านจงนำพืชนี้มา เรามีความต้องการด้วยพืชนี้ท่านจงทำพืชนี้ให้เป็นกัปปิยะ 
         (๒) ภิกษุไม่แกล้งพราก
         (๓) ภิกษุทำเพราะไม่มีสติ
         (๕) ภิกษุไม่รู้
         (๖) ภิกษุผู้วิกลจริต 
         (๗) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ ภิกษุชาวเมืองอาฬวี


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.048355416456858 Mins