ปาฏิเทสนียะ ๔ เป็นชื่อของอาบัติจัดเป็นลหุกาบัติ

วันที่ 11 มีค. พ.ศ.2566

ปาฏิเทสนียะ เป็นชื่อของอาบัติจัดเป็นลหุกาบัติ

ปาฏิเทสนียะ ๔

         ปาฏิเทสนียะ เป็นชื่อของอาบัติจัดเป็นลหุกาบัติ คืออาบัติที่เบากว่าอาบัติปาจิตตีย์เป็นอาบัติกองที่ ๕ ในบรรดาอาบัติ ๗ กอง
         ปาฏิเทสนียะ แปลว่า พึงแสดงคืน หมายถึงเมื่อภิกษุล่วงละเมิดแล้วพึงแสดงคืนตามที่ปรากฏในสิกขาบท
         ปาฏิเทสนียะ มี ๔ สิกขาบท คือ

ปาฏิเทสนียะ สิกขาบทที่ ๑

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
         “อนึ่ง ภิกษุใดรับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ด้วยมือของตน จากมือของภิกษุณีผู้มิใช่ญาติผู้เข้าไปสู่ละแวกบ้าน แล้วเคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ภิกษุนั้นพึงแสดงคืนว่า แน่ะอาวุโส ข้าพเจ้าต้องธรรมที่น่าตำหนิ ไม่เป็นที่สบาย ควรจะแสดงคืน ข้าพเจ้าขอแสดงคืนธรรมนั้น”
เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
         “ภิกษุรับของเคี้ยวของฉัน แต่มือนางภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติด้วยมือของตนมาบริโภค ต้องปาฏิเทสนียะ”

อธิบายความและเจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
         คำว่า ละแวกบ้าน ได้แก่ ถนน ซอยตัน ทางสามแยก เรือน
         สิกขาบทนี้เกิดขึ้นจากการที่ภิกษุณีรูปหนึ่งได้บิณฑบาตมาแล้วได้ ถวายบิณฑบาตนั้นแก่ภิกษุรูปหนึ่งจนหมดแต่เพราะหมดเวลาที่จะไปบิณฑบาตใหม่จึงอดอาหารในวันนั้น แม้ในวันรุ่งขึ้นและวันต่อมานางก็ทำเช่นนั้นอีก นางอดอาหารมา ๓ วัน ในวันที่ ๔ นางเดินซวนเซไปตามถนน รถของเศรษฐีบุตรคนหนึ่งผ่านมา เขาบอกให้นางหลีกทางให้รถ นางจึงเดินหลีกแต่ก็ซวนเซล้มลง เศรษฐีบุตรลงมาขอโทษที่ทำให้นางล้ม ภิกษุณีบอกว่านางล้มเอง เศรษฐีบุตรจึงนำนางไปฉันที่บ้าน แล้วตำหนิว่าเหตุไฉนภิกษุจึงรับอามิสจากมือของภิกษุณีซึ่งเป็นผู้หญิง เพราะผู้หญิงทั่วไปหาลาภได้ยากอยู่แล้ว
         พระพุทธองค์ทรงทราบแล้ว จึงทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ไว้เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุเบียดเบียนภิกษุณีผู้มีลาภน้อย

อนาปัตติวาร
         ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
         (๑) ภิกษุณีผู้เป็นญาติ
         (๒) ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติสั่งให้ถวาย มิได้ถวายเอง 
         (๓)วางไว้ถวาย
         (๔)ถวายในอาราม 
         (๕) ในที่อยู่อาศัยภิกษุณี
         (๖) ในสำนักเดียรถีย์
         (๗) ในโรงฉัน 
         (๘) นำออกจากบ้านแล้วถวายในเวลากลับ 
         (๙) ถวายยามกาลิกสัตตาหกาลิก ยาวชีวิก ด้วยคำว่า เมื่อมีเหตุที่จำเป็น ก็นิมนต์ฉันได้
         (๑๐) สิกขมานาถวาย 
         (๑๑) สามเณรีถวาย 
         (๑๒) ภิกษุผู้วิกลจริต 
         (๑๓) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ ภิกษุรูปหนึ่ง


ปาฏิเทสนียะ สิกขาบทที่ ๒

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
         “อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายรับนิมนต์ฉันอยู่ในตระกูล ถ้าภิกษุณีมายืนสั่งการอยู่ในที่นั้นว่าจงถวายแกงที่ท่านรูปนี้ จงถวายข้าวที่ท่านรูปนี้ ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นพึงไล่ภิกษุณีนั้นว่าน้องหญิง เธอจงหลีกไปเสียตลอดเวลาที่ภิกษุยังฉันอยู่ ถ้าภิกษุแม้รูปหนึ่งไม่กล่าวออกไปเพื่อจะรุกรานภิกษุณีนั้นว่า น้องหญิง เธอจงหลีกไปเสียตลอดเวลาที่ภิกษุยังฉันอยู่ ภิกษุเหล่านั้นพึงแสดงคืนว่า แน่ะอาวุโส พวกข้าพเจ้าต้องธรรมที่น่าตำหนิ ไม่เป็นที่สบายควรจะแสดงคืน พวกข้าพเจ้าขอแสดงคืนธรรมนั้น”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
         “ภิกษุฉันอยู่ในที่นิมนต์ถ้ามีนางภิกษุณีมาสั่งทายกให้เอาสิ่งนั้นสิ่งนี้ถวาย เธอพึงไลนางภิกษุณีนั้นให้ถอยไปเสีย ถ้าไม่ไล่ ต้องปาฏเทสนียะ”

อธิบายความและเจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
         มูลเหตุของสิกขาบทนี้เกิดจากการที่ภิกษุทั้งหลายรับนิมนต์ฉันในตระกูลแห่งหนึ่ง พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ซึ่งคุ้นเคยกับพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ตามไปด้วยแล้วเที่ยวจุ้นจ้านสั่งการให้เจ้าภาพถวายอาหารที่มีรสชาติดีๆ แก่พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ภิกษุเหล่านั้นจึงอิ่มหมีพีมัน ส่วนภิกษุที่เหลือไม่ได้ฉันตามใจประสงค์จึงไปกราบทูลพระพุทธองค์พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ขึ้น
         สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้ เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุตามใจภิกษุณีผู้เป็นเจ้ากี้เจ้าการในการสั่งให้เจ้าภาพถวายของอย่างนั้นอย่างนี้แก่ตน หากยอมตามก็เหมือนกับยอมรับความคุ้นเคยสนิทสนมกันดุจชายหนุ่มกับหญิงสาว

อนาปัตติวาร
         ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ
         (๑) ภิกษุณีสั่งให้ถวายภัตตาหารของตน มิได้ถวายเอง 
         (๒) ถวายภัตตาหารของผู้อื่น มิได้สั่งให้ถวาย 
         (๓) สั่งให้ถวายภัตตาหารที่เขายังไม่ได้ถวาย 
         (๔) สั่งให้ถวายในภิกษุที่เขายังไม่ได้ถวาย 
         (๕) สั่งให้ถวายเท่าๆ กันแก่ภิกษุทุกรูป
         (๖) สิกขมานาสั่งการ 
         (๗) สามเณรีสั่งการ 
         (๘) ไม่ต้องอาบัติในเพราะอาหารทุกชนิด เว้นโภชนะ ๕ 
         (๙) ภิกษุผู้วิกลจริต 
         (๑๐) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์

ปาฏิเทสนียะ สิกขาบทที่ ๓

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
         “อนึ่ง ภิกษุใดไม่ได้รับนิมนต์ไว้ก่อน มิใช่ผู้อาพาธ รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดีในตระกูลทั้งหลายที่สงฆ์สมมติว่าเป็นตระกูลเสกขะเห็นปานนั้นด้วยมือของตนแล้วเคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ภิกษุนั้นพึงแสดงคืนว่า แน่ะอาวุโส ข้าพเจ้าต้องธรรมที่น่าตำหนิไม่เป็นที่สบาย ควรจะแสดงคืน ข้าพเจ้าขอแสดงคืนธรรมนั้น”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
         “ภิกษุไม่เป็นไข้เขาไม่ได้นิมนต์รับของเคี้ยวของฉัน ในตระกูลที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสขะมาบริโภค ต้องปาฏิเทสนียะ”

อธิบายความและเจตนารมณ์สิกขาบทนี้
         คำว่า เสกขะ หรือ เสขะ หมายถึง บุคคลที่ได้บรรลุมรรคผลตั้งแต่โสดาปัตติมรรคจนถึงอรหัตมรรค คือเป็นอริยบุคคลระดับโสดาบัน สกิทาคามีและอนาคามี
         คำนี้แปลว่า บุคคลที่ยังต้องศึกษา คือยังต้องปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุอรหัตผลต่อไป
         คำว่า ที่สงฆ์สมมติว่าเป็นตระกูลเสกขะ คือตระกูลนั้นเป็นตระกูลที่มีศรัทธา คนในตระกูลเป็นเสกขะหรือเสขบุคคล แต่มีฐานะยากจน ขาดแคลนโภคสมบัติทรงอนุญาตให้สงฆ์สวดประกาศว่าตระกูลนั้นเป็นตระกูลเสกขะห้ามมิให้ภิกษุเข้าไปรับปัจจัย ๔ ในตระกูลเช่นนั้น เพื่อป้องกันมิให้ตระกูลนั้นเดือดร้อน ที่ต้องเจือจานปัจจัยที่มีน้อยถวายภิกษุ หรือทำให้ปัจจัยบางอย่างของเขาขาดแคลนหรือหมดไป

อนาปัตติวาร
         ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
         (๑) ภิกษุได้รับนิมนต์ไว้
         (๒) ภิกษุอาพาธ 
         (๓) ภิกษุฉันของเป็นเดนของภิกษุผู้ได้รับนิมนต์ไว้หรือผู้อาพาธ 
         (๓) ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาจัดไว้ในที่นั้นเพื่อภิกษุอื่นๆ 
         (๔) ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขานำออกจากเรือนไปถวาย 
         (๕) ภิกษุฉันนิจภัต(อาหารที่ถวายประจำ) 
         (๖) ภิกษุฉันสลากภัต(อาหารที่ถวายตามสลาก)
         (๗) ภิกษุฉันปักขิกภัต(อาหารที่ถวาย ๑๕ วันต่อครั้ง) 
         (๘) ภิกษุฉันอุโปสถิกภัต (อาหารที่ถวายในวันพระ) 
         (๙) ภิกษุฉันปาฏิปทิกภัต (อาหารที่ถวายในวันขึ้นหรือแรม ๑ ค่ำ) 
         (๑๐) ภิกษุฉันยามกาลิกสัตตาหกาลิกยาวชีวิก ที่เขาถวายบอกว่าเมื่อมีเหตุจำเป็นก็นิมนต์ฉัน 
         (๑๑) ภิกษุผู้วิกลจริต
         (๑๒) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ ภิกษุหลายรูป

ปาฏิเทสนียะ สิกขาบทที่ ๔

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
         “อนึ่ง ภิกษุใดอยู่ในเสนาสนะป่าที่รู้กันว่าเป็นที่น่าระแวง มีภัยเฉพาะหน้ามิใช่ผู้อาพาธ รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ที่เขาไม่ได้แจ้งให้รู้ก่อนด้วยมือของตนภายในวัดที่อยู่ เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ภิกษุนั้นพึงแสดงคืนว่า แน่ะอาวุโส ข้าพเจ้าต้องธรรมที่น่าตำหนิ ไม่เป็นที่สบาย ควรจะแสดงคืน ข้าพเจ้าขอแสดงคืนธรรมนั้น”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
         “ภิกษุอยู่ในเสนาสนะป่าเป็นที่เปลี่ยว ไม่เป็นไข้รับของเคี้ยวของฉันที่ทายกมิได้แจ้งความให้ทราบก่อน ด้วยมือของตนมาบริโภค ต้องปาฏิเทสนียะ”
อธิบายความและเจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
         คำว่า เสนาสนะป่า ได้แก่ เสนาสนะที่ห่างไกลจากบ้านไป ๕๐๐ ชั่ว ธนูเป็นอย่างน้อย จัดเป็นเสนาสนะป่าหรือวัดป่า
         คำว่า เป็นที่น่าระแวง คือในวัดหรือบริเวณรอบวัด มีร่องรอยที่พวกโจรซ่องสุม บริโภค ยืน นั่ง นอนปรากฏอยู่
         คำว่า มีภัยเฉพาะหน้า คือในวัดหรือบริเวณรอบวัด มีพวกชาวบ้านที่ถูกพวกโจรฆ่า ปล้น ทุบตีปรากฏอยู่
         คำว่า แจ้งให้รู้ คือ ผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตามมายังวัดหรือหรือบริเวณวัดแล้วบอกว่า ท่านเจ้าข้า สตรีหรือบุรุษชื่อโน้นจักนำของเคี้ยวหรือของฉันมาถวายภิกษุชื่อนี้นี่ชื่อว่าแจ้งให้รู้
         คำว่า มิใช่ผู้อาพาธ หมายถึงภิกษุที่ยังอาจเที่ยวไปบิณฑบาตได้
         คำว่า ผู้อาพาธ หมายถึงภิกษุผู้ไม่อาจเที่ยวไปบิณฑบาตได้
         สิกขาบทนี้มุ่งให้ภิกษุได้บอกชาวบ้านที่มาแจ้งว่าจะนำอาหารมาถวาย ให้รู้ตัวล่วงหน้าว่าที่วัดหรือสถานที่นี้เป็นที่น่าระแวงหรือเป็นที่มีภัยเฉพาะหน้า ชาวบ้านจะได้ระวังและป้องกันให้พ้นภัยไว้ล่วงหน้า หากเขาไม่ได้แจ้งล่วงหน้าและภิกษุไม่ได้เตือนล่วงหน้า หากเขานำอาหารมาแล้วถูกโจรหรือผู้ร้ายปล้นหรือทำร้าย ก็จะโทษว่าภิกษุไม่บอกว่าในวัดมีพวกโจร หรือภิกษุรู้เห็นเป็นใจกับพวกโจรด้วย

อนาปัตติวาร
         ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ
         (๑) เขาแจ้งให้รู้แล้ว 
         (๒) ภิกษุอาพาธ 
         (๓) ภิกษุฉันของเป็นเดนในของที่เขาแจ้งให้รู้แล้วหรือของภิกษุผู้อาพาธ 
         (๔) ภิกษุรับนอกวัดแล้วมาฉันในวัด 
         (๕) ภิกษุฉันรากไม้เปลือกไม้ใบไม้ดอกไม้หรือผลไม้ซึ่งเกิดขึ้นในวัดนั้น 
         (๖) ภิกษุฉันของที่เป็นยามกาลิกสัตตาหกาลิกยาวชีวิกในเมื่อมีเหตุที่จำเป็น 
         (๗) ภิกษุผู้วิกลจริต(๑๓) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ ภิกษุทั้งหลาย

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.026976601282756 Mins