อาบัติ ๗ กอง

วันที่ 30 ตค. พ.ศ.2564

641031_01.jpg

อาบัติ ๗ กอง

        อาบัตินั้นแยกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๒ ประการ คือ ครุกาบัติและลหุกาบัติแต่เมื่อแยกประเภทโดยชื่อแล้วมี ๗ ประการ เรียกตามโบราณว่ามี ๗ กองชื่ออาบัติเหล่านี้เป็นสำคัญ เป็นเครื่องหมายสำหรับจดจำว่ามีโทษหนักหรือเบาอย่างไร และเป็นเครื่องกำหนดในการระบุความผิดว่าเมื่อล่วงละเมิดเช่นนี้ชื่อว่าต้องอาบัติอะไร

อาบัติ ๗ กองนั้นคือ
        ๑. ปาราชิก
        ๒. สังฆาทิเสส
        ๓. ถุลลัจจัย
        ๔. ปาจิตตีย์
        ๕. ปาฏิเทสนียะ
        ๖. ทุกกฏ
        ๗. ทุพภาษิต

ความหมายของอาบัติ ๗ กอง
        ๑. ปาราชิก ถ้าหมายถึงบุคคล แปลว่า ผู้แพ้ คือแพ้ภาวะของตนต้องกลับไปเป็นคฤหัสถ์ถ้าหมายถึงอาบัติแปลว่ายังบุคคลผู้ล่วงละเมิดให้แพ้ คือให้แพ้ต่อการบรรลุมรรคผลชั้นสูง

        ๒. สังฆาทิเสส แปลว่า ความละเมิดมีสงฆ์ในเบื้องต้นและกรรมที่เหลือ หมายถึง เมื่อภิกษุต้องอาบัตินี้แล้วต้องอาศัยสงฆ์คือสงฆ์ให้ปริวาสเป็นกรรมเบื้องต้น สงฆ์ให้มานัต ในท่ามกลาง และสงฆ์ให้อัพภาณ เป็นกรรมเบื้องปลาย แสดงว่า ภิกษุผู้ต้องอาบัตินี้จะต้องอาศัยสงฆ์ในการพ้นจากอาบัติในกรรมเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด คือสงฆ์ให้ปริวาส ให้มานัต และให้อัพภาณ

           เรียกวิธีการออกจากอาบัตินี้โดยทั่วไปว่า การอยู่กรรม

        ๓. ถุลลัจจัย แปลว่า โทษหยาบ, โทษหนา ซึ่งมีโทษรองลงมาจากปาราชิกและสังฆาทิเสส แต่เป็นอาบัติที่หนักกว่าลหุกาบัติซึ่งพ้นได้ด้วยการแสดงอาบัติด้วยกัน คือหนักกว่าปาจิตตีย์ปาฏิเทสนียะ

        ๔. ปาจิตตีย์ แปลว่า การละเมิดอันยังกุศลให้ตกไป แบ่งเป็น ๒อย่างคือ

                (๑) นิสสัคคิยปาจิตตีย์ คือปาจิตตีย์ที่ต้องสละสิ่งของที่เป็นเหตุต้องอาบัตินั้นเสียก่อนจึงแสดงอาบัติตก หรือพ้นจากอาบัตินั้น เช่น ภิกษุเก็บอติเรกจีวรไว้เกิน ๑๐ วัน ต้องสละจีวรนั้นแก่ภิกษุอื่นเสียก่อน แล้วจึงแสดงอาบัติจึงจะพ้นจากอาบัตินั้นได้

                (๒) สุทธิกปาจิตตีย์ คือปาจิตตีย์ปกติ๙๒ สิกขาบท อันภิกษุต้องเข้าแล้วไม่ต้องเสียสละสิ่งของที่เป็นเหตุต้องอาบัตินั้น แต่ต้องแสดงอาบัติจึงจะพ้นจากอาบัตินั้นได้

        ๕. ปาฏิเทสนียะ แปลว่า อาบัติอันภิกษุจะพึงแสดงคืน

        ๖. ทุกกฏ แปลว่า ทำชั่ว เป็นอาบัติที่ท่านปรับโดยตรงก็มีลดลงมาจากอาบัติอื่นๆ ก็มีและมีจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นอาบัติที่มานอกพระปาติโมกข์

        ๗. ทุพภาสิต แปลว่า กล่าวชั่ว มีเพียงสิกขาบทเดียว มาในมุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๒ แห่งปาจิตตีย์


อนุศาสน์

        อนุศาสน์ แปลว่า ความตามสอน คือ การสอน, คำชี้แจง ซึ่งเป็นการสอนการชี้แจงประจำต่อเนื่อง เพื่อให้รู้และเข้าใจจนสามารถปฏิบัติตามและงดเว้นได้อย่างถูกต้อง อันเป็นเหตุให้ได้รับประโยชน์ได้จริงไม่ชักช้า

       อนุศาสน์นี้พระพุทธองค์ทรงแสดงบ่อยครั้ง ทรงย้ำสั่งสอนบ่อย ในพระบาลีใช้คำศัพท์ว่า อนุสาสนีเป็นพื้น อย่างเช่น ในสติสูตร สังยุตตนิกายมหาวรรค พระพุทธองค์ตรัสสั่งสอนเป็นเชิงเตือนภิกษุทั้งหลายว่า

         “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติอยู่เถิด นี้เป็นคำสั่งสอนของเราสำหรับเธอทั้งหลาย

        ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรเล่า ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้มีสติ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย... ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิต... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุ จึงชื่อว่าเป็นผู้มีสติ

        ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติอยู่เถิด นี้เป็นคำสั่งสอนของเราสำหรับเธอทั้งหลาย” 

        อนุศาสน์ที่เข้าใจกันในปัจจุบันคืออนุศาสน์ที่พระอุปัชฌาย์ได้สั่งสอนแก่ภิกษุผู้เพิ่งบวชเสร็จ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องบอกในตอนนั้น

       เรียกการสั่งสอนในตอนนั้นว่า บอกอนุศาสน์ หรือ ให้อนุศาสน์ 

      การบอกอนุศาสน์ที่กล่าวข้างต้นนี้พระอุปัชฌาย์จะบอกเองหรือมอบหมายให้พระคู่สวดรูปใดรูปหนึ่งบอกก็ได้ที่ต้องบอกนั้นเพื่อให้ภิกษุใหม่ได้รู้ว่า เมื่อเป็นภิกษุแล้วจะต้องปฏิบัติอย่างไรได้บ้าง และจะต้องงดเว้นไม่ทำสิ่งใดบ้าง โดยบอกเฉพาะข้อที่สำคัญอันจำเป็นจริงๆ

        อนุศาสน์ที่บอกนั้น ขึ้นต้นตามแบบใหม่ว่า

        “อนุญฺาสิ โข ภควา อุปสมฺปาเทตฺวา จตฺตาโร นิสฺสเย จตฺตาริ อกรณียานิ อาจิกฺขิตุํ ...”

        ซึ่งแปลความเป็นภาษาไทยได้ว่า

       “สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตแล้วแล เพื่อที่เมื่อให้อุปสมบทแล้วจะได้บอกนิสสัย ๔ และอกรณียกิจ ๔ คือ ...”

        หมายความว่า อนุศาสน์ที่บอกนั้น มี๘ ประการ แบ่งเป็นนิสัย ๔ ประการ อกรณียกิจ ๔ ประการ

นิสสัย ๔

        นิสสัย แปลว่า ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต มี๔ ประการ
       ปัจจัยเหล่านี้จัดว่าเป็นเครื่องอาศัยสำหรับดำรงชีพที่สำคัญของภิกษุ ถ้าขาดไปแม้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ชีวิตก็จะดำเนินไปด้วยความยากลำบาก หรือไม่อาจดำรงอยู่ได้ต่อไปเลย จึงเรียกว่า นิสสัย 

       นิสสัยตามพระบาลีนั้นหมายถึงปัจจัย ๔ คือ บิณฑบาต ๑ ผ้าบังสุกุล จีวร ๑ เสนาสนะ ๑ คิลานเภสัช ๑ ซึ่งตรงกับปัจจัย ๔ ของชาวโลก คือ อาหาร ๑ เครื่องนุ่งห่ม ๑ ที่อยู่อาศัย ๑ ยารักษาโรค ๑ ต่างกันเพียงภาษาที่ใช้เท่านั้น

      และในพระบาลีที่เป็นคำบอกอนุศาสน์นั้นท่านใช้คำที่บ่งถึงการกระทำ อันเป็นที่เข้าใจกันในหมู่บรรพชิตแต่อดีตถึงปัจจุบัน คือท่านใช้ว่า

      ๑. เที่ยวบิณฑบาต ซึ่งหมายถึง บิณฑบาต คืออาหารหรือโภชนะที่ได้มาจากการออกบิณฑบาต และรวมไปถึงอาหารที่ท่านอนุญาตไว้เป็นพิเศษ ซึ่งเรียกว่า อติเรกลาภ

      อติเรกลาภ ซึ่งเป็นลาภพิเศษที่ทรงอนุญาตไว้นั้น ได้แก่ภัตหรืออาหารประเภทต่างๆ คือ
          - สังฆภัต  อาหารที่ถวายสงฆ์หรือสังฆทาน ไม่เจาะจง
          - อุเทสภัต  อาหารที่ถวายสงฆ์จำกัดจำนวน
          - นิมันตนภัต  อาหารที่ถวายสงฆ์ตามที่นิมนต์
          - สลากภัต  อาหารที่ถวายสงฆ์โดยการจับสลาก
          - อุโปสถิกภัต  อาหารที่ถวายในวันอุโบสถ
          - ปาฏิปทิกภัต  อาหารที่ถวายในวันแรม ๑ ค่ำ
          - นิตยภัต  อาหารที่ถวายเป็นประจำ

        ๒. นุ่งห่มผ้าบังสุกุล ซึ่งหมายถึง ผ้าบังสุกุลจีวร อันแปลว่า ผ้าเปื้อนฝุ่น ผ้าบังสุกุลนั้นคือผ้าที่หาเจ้าของมิได้เป็นผ้าเก่าที่เขาไม่ใช้แล้ว หรือที่เขาทิ้งแล้วตามกองขยะ เมื่อภิกษุต้องการผ้ามานุ่งห่มก็ไปเก็บผ้าเช่นนั้นมา ซัก เย็บ ย้อมใหม่ ทำเป็นจีวรนุ่งห่ม

      ในส่วนของผ้าสำหรับนุ่งห่มนี้ทรงอนุญาตผ้าที่เป็นอติเรกลาภไว้ ส่วนหนึ่งเช่นเดียวกับบิณฑบาต คือ

          - ผ้าโขมะ  คือผ้าที่ทำด้วยเปลือกไม้เช่นผ้าลินิน
          - ผ้ากัปปาสิกะ  คือผ้าฝ้าย
          - ผ้าโกเสยยะ  คือผ้าไหม
          - ผ้ากัมพละ  คือผ้าที่ทำด้วยขนสัตว์(เว้นผมและขนของมนุษย์) เช่นผ้าสักหลาด
          - ผ้าสาณะ  คือผ้าที่ทำด้วยเปลือกไม้สาณะ เช่นผ้าป่าน
          - ผ้าภังคะ  คือผ้าที่ทำด้วยผ้าเจือกัน เช่นผ้าด้ายแกมไหม

        ๓. อยู่โคนไม้ ซึ่งหมายถึง เสนาสนะ คือที่นอนและที่นั่ง ทั้งนี้เพราะในสมัยต้นพุทธกาล ผู้คนยังศรัทธาเลื่อมใสไม่มาก พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์เมื่อจาริกไปในที่ต่างๆ ในตอนแรกต้องอาศัยต้นไม้อาศัยป่า เป็นที่พักอาศัย ต่อมาเมื่อผู้คนศรัทธามากขึ้นแล้ว จึงสร้างที่อยู่ (วิหาร) และกุฏิ (กระท่อม) ถวายตามเมือง ตามหมู่บ้านต่างๆ จนกลายมาเป็นวัดจนถึงปัจจุบัน

       ในเรื่องของเสนาสนะนี้ก็เช่นกัน ทรงอนุญาตเสนาสนะที่เป็นอติเรกลาภไว้หลายประเภท คือ
          - วิหาร      คือที่อยู่หรือกุฏิตามปกติ    
          - อัฑฒโยค      คือเพิง
          - ปราสาท      คือเรือนเป็นชั้นๆ
          - หัมมิยะ      คือเรือนหลังคาตัด
          - คุหา      คือถ้ำ

       ๔. ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า ซึ่งหมายถึง คิลานเภสัช หรือยารักษาโรค เพราะสมัยก่อนวิชาการแพทย์ยังไม่เจริญ ยารักษาโรคต้องอาศัยสิ่งธรรมชาติจากป่าที่เรียกว่าสมุนไพรเป็นพื้น ส่วนของภิกษุท่านอนุญาตให้ฉัน ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า คือ ยาที่ดองด้วยน้ำปัสสาวะ ได้เพื่อเป็นยาอายุวัฒนะ แก้โรคได้หลายโรค แต่ปัจจุบันการแพทย์เจริญขึ้น คิลานเภสัชจึงเป็นยาทั่วไปที่แพทย์ปัจจุบันรับรอง และยาสมุนไพรแบบโบราณ

       ในเรื่องคิลานเภสัชนี้ก็มีอติเรกลาภที่ทรงอนุญาตไว้เช่นกัน คือ เนย
ไส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย

       ปัจจัยทั้งสี่ประการเหล่านี้รวมถึงอติเรกลาภต่างๆ เป็นปัจจัยที่สำคัญเพื่อความดำรงอยู่ จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุใช้และขบฉันได้แต่ใช้และขบฉันได้ตามข้อกำหนด เช่น บิณฑบาตขบฉันได้ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงวัน หากขบฉันก่อนหรือหลังจากนั้นย่อมเป็นอาบัติคิลานเภสัชที่เป็นอติเรกลาภคือเนยไส เก็บไว้ฉันได้ไม่เกิน ๗ วัน เป็นต้น

อกรณียกิจ ๔

       อกรณียกิจ แปลว่า กิจที่ไม่ควรทำ ในที่นี้หมายถึง สิ่งที่ภิกษุทำไม่ได้เมื่อทำลงไปย่อมมีโทษหนักถึงขาดจากความเป็นภิกษุไม่เป็นภิกษุอีกต่อไป

       อกรณียกิจ ที่ท่านให้อนุศาสน์คือให้สอนเป็นอันดับต้นในวันบวช ก็เพราะเป็นข้อห้ามที่มิให้ภิกษุกระทำเป็นเด็ดขาด จึงต้องรีบบอกรีบสอนเสียแต่เริ่มต้น จะได้รู้ตัวเสียแต่ทีแรกแล้วกำหนดจดจำไว้ไม่ล่วงละเมิดด้วยความไม่รู้ หรือด้วยความข้าใจผิดในโอกาสต่อไป

      อกรณียกิจ มี๔ อย่าง คือ
           (๑) เสพเมถุน
          (๒) ลักของเขา
          (๓) ฆ่าสัตว์
           (๔) พูดอวดคุณพิเศษที่ไม่มีในตน

       อกรณียกิจ ๔ มีความหมายดังนี้

        (๑) เสพเมถุน คือการมีเพศสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกันหรือกับสัตว์ดิรัจฉาน เป็นอกรณียกิจที่ภิกษุทำไม่ได้ถ้าทำลงไปย่อมขาดจากความเป็นภิกษุ มิใช่สมณะ มิใช่ศากยบุตรอีกต่อไป มีโทษหนัก เหมือนคนที่ถูกตัดศีรษะไปแล้วไม่สามารถจะดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ด้วยสรีระร่างนั้น

        ที่ทรงห้ามไว้ว่าเป็นอกรณียกิจ เพราะเมถุนธรรมนั้น
        - เป็นข้าศึกแก่การประพฤติพรหมจรรย์
        - เป็นเหตุให้วุ่นวาย มีภาระมาก เหมือนคนครองเรือน
        - เป็นไปเพื่อสะสมกิเลสและกองทุกข์
        - เป็นเหตุให้ลุ่มหลงมัวเมา ไม่รู้จักความจริง

         (๒) ลักของเขา หมายถึงการหยิบฉวยทรัพย์สินของคนอื่นมาขบฉันหรือใช้สอย โดยที่เจ้าของมิได้ให้มิได้อนุญาต มิได้ประเคน ตามควรแก่กรณีมีอาการอย่างขโมยโดยที่สุดแม้ไม้จิ้มฟัน ซึ่งของนั้นมีราคาบาทหนึ่งบ้างเกินกว่าบาทหนึ่งบ้าง ถ้าภิกษุลักของเขาเช่นนี้ย่อมขาดจากความเป็นภิกษุมิใช่สมณะ มิใช่ศากยบุตรอีกต่อไป ย่อมได้รับโทษหนัก เหมือนใบไม้เหลืองที่หลุดจากขั้วไปแล้วไม่อาจจะกลับมีสีสดเขียวได้

        ที่ทรงห้ามไว้เป็นอกรณียกิจ เพราะการลักของเขานั้น

         - เป็นการละเมิดกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น
         -เป็นการหาเลี้ยงชีพในทางที่ผิด
         -เป็นการเห็นแก่ตัว ไม่มองถึงความทุกข์ของผู้อื่น
         -เป็นการทำลายความดีของตนเอง

         (๓) ฆ่าสัตว์ หมายถึงการแกล้งหรือจงใจทำให้สัตว์ที่มีลมปราณสิ้นชีวิตในที่นี้หมายถึง การฆ่ามนุษย์โดยเฉพาะ โดยที่สุดแม้จะยังอยู่ในครรภ์เมื่อทำให้ครรภ์ตกไป ก็จัดว่าฆ่ามนุษย์เมื่อภิกษุฆ่ามนุษย์เช่นนี้ย่อมขาดจากความเป็นภิกษุมิใช่สมณะ มิใช่ศากยบุตรอีกต่อไป เหมือนศิลาแท่งทึบ เมื่อแตกออกเป็นสองส่วนแล้วไม่อาจจะประสานให้เป็นเนื้อเดียวอย่างสนิทเหมือนเดิมได้อีก

      ที่ทรงห้ามไว้เป็นอกรณียกิจ เพราะการฆ่ามนุษย์นั้น

      - เป็นความเหี้ยมโหด
       - เป็นการขาดเมตตาธรรม

        (๔) การอวดคุณพิเศษที่ไม่มีในตน หมายถึงการอวดอ้างถึงคุณวิเศษอย่างยวดยิ่งของมนุษย์ว่ามีในตน คืออวดอ้างว่าตนได้สำเร็จเข้าถึงฌานเข้าถึงวิโมกข์หลุดพ้นได้หรือได้บรรลุมรรค ผล นิพพานแล้ว ทั้งที่ความจริงคุณวิเศษเหล่านี้ตนยังมิได้มียังมิได้เป็น ยังมิได้บรรลุ ยังมิได้เข้าถึงเลย แต่อวดอ้างขึ้นมาเพราะเป็นผู้มีความปรารถนาลาภผล ต้องการให้ผู้คนยกย่องนับถือ ต้องการอยู่เหนือบุคคลอื่น เมื่อภิกษุอวดอ้างเช่นนี้ย่อมขาดจากความเป็นภิกษุมิใช่สมณะ มิใช่ศากยบุตรอีกต่อไป เหมือนต้นตาลที่มียอดด้วนไปแล้วย่อมไม่อาจงอกขึ้นได้อีก

       ที่ทรงห้ามไว้เป็นอกรณียกิจเพราะการอวดคุณพิเศษที่ไม่มีในตนนั้น

         - เป็นเหตุทำให้บุคคลผู้ศรัทธาเลื่อมใสเสื่อมศรัทธาเลื่อมใสไป
         - เป็นเหตุให้ชื่อว่าเป็นโจรปล้นศาสนา
         - เป็นหตุให้พระศาสนาเสื่อมลงและอันตรธานไปในที่สุด

         อกรณียกิจทั้งสี่ประการนี้ตรงกับปาราชิกสิกขาบท ในรายละเอียดพึงทราบตามนัยที่อธิบายไว้ในปาราชิก ๔ สิกขาบทนั้น

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0059250831604004 Mins