สังฆาทิเสส สิกขาบที่ ๑ ภิกษุแกล้งทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน ต้องสังฆาทิเสส

วันที่ 07 มค. พ.ศ.2565

สังฆาทิเสส สิกขาบที่ ๑ ภิกษุแกล้งทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน ต้องสังฆาทิเสส

สังฆาทิเสส ๑๓

         สังฆาทิเสส แปลว่า ความละเมิดมีสงฆ์ในกรรมเบื้องต้นและกรรมอันเหลือ, อาบัติที่จำต้องปรารถนาสงฆ์ในขั้นตอนการพ้นจากอาบัติทั้งในเบื้องต้นและเบื้องปลาย

        อธิบายว่า เมื่อภิกษุล่วงละเมิดสิกขาบทที่เป็นสังฆาทิเสสแล้ว ต้องการจะพ้นจากอาบัตินี้ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการออกจากอาบัตินี้ซึ่งเรียกว่า วุฏฐานวิธี ที่ท่านกำหนดไว้ตายตัวอย่างเคร่งครัดทุกขั้นตอน เริ่มจากการอยู่ปริวาส โดยมีสงฆ์เป็นผู้ให้ปริวาส (การอยู่ชดใช้) ให้มานัต และสงฆ์ต้องเป็นผู้ระงับอาบัติคือต้องให้อัพภาณ อันเป็นการสุดท้าย ในประเทศไทยเรียกวิธีการอย่างนี้ว่า การอยู่กรรม

        ในเรื่องการอยู่กรรมนั้นสำเร็จได้ด้วยการทำของสงฆ์เท่านั้น โดยสงฆ์เป็นผู้ให้ปริวาส ชักเข้าหาอาบัติเดิม ให้มานัต เรียกเข้าหมู่เพื่ออาบัตินั้น ไม่ใช่คณะคือภิกษุ๒-๓ รูปซึ่งเป็นคณะทำไม่ได้ภิกษุรูปเดียวก็ทำไม่ได้แม้ทำไปก็ไม่เป็นอันทำ เป็นการทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่อาจให้การออกจากอาบัติสำเร็จผลได้

         สังฆาทิเสสจัดเป็นครุกาบัติมีโทษหนัก แต่เบากว่าปาราชิก ซึ่งผู้ละเมิดสามารถทำคืนคือทำตนให้หลุดพ้นจากอาบัติคืนความบริสุทธิ์ให้แก่ตนได้โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เรียกว่าอยู่กรรม เหมือนคนทำผิดได้รับตัดสินให้จำคุก ต้องปฏิบัติตามคำตัดสินโดยไปอยู่ในเรือนจำ ปฏิบัติตามกฎระเบียบของเรือนจำตามกำหนดเมื่อพ้นโทษแล้วถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์สามารถกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติได้อย่างอิสระ

สังฆาทิเสส มี ๑๓ สิกขาบท คือ

สังฆาทิเสส สิกขาบที่ ๑

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ

 “ปล่อยสุกกะเป็นไปด้วยความจงใจ เป็นสังฆาทิเสส เว้นไว้แต่ฝัน”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท

“ภิกษุแกล้งทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน ต้องสังฆาทิเสส”

อธิบายความโดยย่อ
         คำว่า ปล่อย คือ การกระทำให้อสุจิเคลื่อนจากฐาน กล่าวคือทำให้พ้นจากอวัยวะเพศออกมา
         คำว่า สุกกะ คือ น้ำอสุจิท่านแสดงไว้ว่าได้แก่น้ำอสุจิสีต่างๆ รวม๑๐ สีเช่น อสุจิสีเขียว อสุจิสีเหลือง เป็นต้น
         คำว่า เป็นไปด้วยความจงใจ คือ รู้อยู่ รู้ดีอยู่ ตั้งใจฝ่าฝืนละเมิดปล่อยอสุจิออกมา
         คำว่า เว้นไว้แต่ฝัน คือ ยกเว้นความฝัน ได้แก่ฝันไปแล้วน้ำอสุจิเคลื่อนออกมา
         ภิกษุปล่อยน้ำอสุจิออกมาด้วยความจงใจ ด้วยความพยายาม เมื่อองค์กำเนิดใช้การได้ในเวลาแอ่นเอวในอากาศก็ตาม ในเวลาเกิดความกำหนัดก็ตาม ในเวลาปวดอุจจาระก็ตาม ในเวลาปวดปัสสาวะก็ตาม ในเวลาอวัยวะเพศต้องลมก็ตาม ในเวลาอวัยวะเพศถูกบุ้งขนก็ตาม ต้องอาบัติสังฆาทิเสสทุกกรณี
         ภิกษุมีความจงใจ มีความพยายาม โดยมีวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง อสุจิเคลื่อนออกมา ต้องอาบัติสังฆาทิเสส 
         วัตถุประสงค์ในการปล่อยอสุจินั้น ท่านแสดงไว้ ๑๐ ประการ คือ
         (๑) เพื่อหายโรคคือมุ่งว่าจักเป็นคนไม่มีโรค หรือทำให้โรคหายได้
         (๒) เพื่อความสุข คือมุ่งให้เกิดความสบายกายสบายใจ
         (๓) เพื่อเป็นยา คือมุ่งว่าจักเป็นยา ทำเป็นตัวยา
         (๔) เพื่อเป็นทาน คือมุ่งว่าจักให้ทานแก่ผู้ที่ต้องการ
         (๕) เพื่อเป็นบุญ คือมุ่งว่าจักเป็นบุญ
         (๖) เพื่อบูชายัญ คือมุ่งว่าจักบูชายัญ
         (๗) เพื่อไปสวรรค์คือมุ่งว่าจักได้ขึ้นสวรรค์
         (๘) เพื่อเป็นพืชพันธุ์คือมุ่งว่าจักสืบสานสายพันธุ์ไว้
         (๙) เพื่อทดลอง คือมุ่งว่าอสุจิจะเป็นสีอะไร    
         (๑๐) เพื่อความสนุก คือมีความประสงค์จะเล่น
         ในวัตถุประสงค์เหล่านี้เมื่ออสุจิเคลื่อนออกมาด้วยวัตถุประสงค์แม้เพียงอย่างเดียว ก็อาบัติสังฆาทิเสส

องค์แห่งอาบัติ

         (๑) ภิกษุจงใจ พยายาม คือมีความกำหนัดและเจตนา ให้อสุจิเคลื่อนจากฐาน แม้เพียงแค่แมลงวันกินอิ่ม เป็นอาบัติสังฆาทิเสส
         (๒) ภิกษุจงใจ พยายามให้อสุจิเคลื่อน แต่ไม่เคลื่อน เป็นอาบัติถุลลัจจัย
         (๓) สิกขาบทนี้เป็น สจิตตกะ มีเจตนาทำจึงต้องอาบัติไม่มีเจตนาไม่ต้องอาบัติ
         (๔) สิกขาบทนี้เป็น อาณัตติกะ ทำด้วยตัวเองจึงต้องอาบัติใช้ให้คนอื่นทำ คือสั่งให้คนอื่นทำให้อสุจิของเขาเคลื่อน ไม่ต้องอาบัติแต่สั่งให้คนอื่นทำให้แก่ตนเองจนอสุจิเคลื่อน ก็ต้องอาบัติ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้
         สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุแกล้งทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน คือมิให้ภิกษุปล่อยสติไม่ควบคุมอารมณ์ปรารถนาเข้าไว้บ้าง มิให้ทำไปตามอารมณ์ปรารถนาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยเมื่อองค์กำเนิดใช้การได้เพราะถูกกระตุ้น หรือถูกกระทบ หรือเพราะจิตเกิดอารมณ์ปรารถนาขึ้น แล้วจงใจพยายามให้อสุจิเคลื่อนออกมาโดยวิธีใดวิธีหนึ่งการที่ไม่มีการควบคุมสติเช่นนี้จะกลายเป็นความเคยชิน ทำได้เป็นประจำ หรือควบคุมไม่ได้ก็จะเกิดผลตามมามากมาย
         ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีการกระทำเช่นนี้เกิดขึ้นและชาวโลกตำหนิโพนทะนา พระพุทธองค์ทรงเห็นด้วย จึงทรงบัญญัติเป็นสิกขาบทห้ามและ
ปรับโทษไว้
         เหตุผลสำคัญในสิกขาบทข้อนี้คือการแกล้งทำให้อสุจิเคลื่อนนั้นมีผลกระทบทั้งแก่ตนและสัตว์ทั้งนี้
         (๑) เพราะเป็นเหตุที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี
         (๒) เพราะเป็นการบั่นทอนกำลัง
         (๓) เพราะทำให้สัตว์ในน้ำอสุจิตาย
         (๔) เพราะเป็นการกระทำซุกซนสัปดน อันภิกษุไม่ควรทำ.

อนาปัตติวาร
         ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ (๑) ภิกษุผู้มีน้ำอสุจิเคลื่อนเพราะฝัน (๒) ภิกษุผู้ไม่ประสงค์จะให้น้ำอสุจิเคลื่อน แต่เคลื่อนออกมาเองตามธรรมชาติ(๓) ภิกษุผู้วิกลจริต (๔) ภิกษุผู้มีจิตฟุ้งซ่าน (๕) ภิกษุผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา (๖) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติคือผู้เป็น อาทิกัมมิกะ ได้แก่พระเสยยสกะ

วินีตวัตถุ
         วินีตวัตถุ ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล และทรงตัดสินแล้วว่าเป็นอาบัติหรือไม่เป็นอาบัติมีมากเรื่องด้วยกัน ขอแสดงเป็นบางเรื่องเพื่อเป็นตัวอย่างดังนี้
         - ภิกษุรูปหนึ่งฝันไป อสุจิเคลื่อนออกมา ทรงตัดสินว่าไม่เป็นอาบัติเพราะไม่มีความประสงค์จะให้เคลื่อน
         - ภิกษุรูปหนึ่งถ่ายปัสสาวะอยู่อสุจเคลื่อนออกมา ทรงตัดสินว่าไม่เป็นอาบัติเพราะไม่มีความประสงค์จะให้เคลื่อน
         - ภิกษุรูปหนึ่งนึกถึงกามารมณ์อยู่ อสุจิเคลื่อนออกมา ทรงตัดสินว่า ถ้าไม่มีความประสงค์จะให้เคลื่อน ภิกษุผู้ตรึกไม่ต้องอาบัติ
         - ภิกษุรูปหนึ่งมีความประสงค์จะให้อสุจิเคลื่อนอยู่ ไปอาบน้ำอุ่นอสุจิเคลื่อนออกมา ทรงตัดสินว่า เมื่อมีความประสงค์จะให้เคลื่อน ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
         - ภิกษุรูปหนึ่งมีความประสงค์จะให้อสุจิเคลื่อน ไปอาบน้ำอุ่น แต่อสุจิไม่เคลื่อน ทรงตัดสินว่า เมื่อมีความประสงค์จะให้เคลื่อน แต่ไม่เคลื่อน ไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย
         - ภิกษุรูปหนึ่งเป็นแผลที่องค์กำเนิดเมื่อกำลังทายาอยู่อสุจิเคลื่อนออกมา ทรงตัดสินว่า เมื่อไม่มีความประสงค์จะให้เคลื่อน ไม่ต้องอาบัติ
         - ภิกษุรูปหนึ่งมีความประสงค์จะให้อสุจิเคลื่อน เกาอัณฑะอยู่อสุจิเคลื่อน ทรงตัดสินว่า ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
         - ภิกษุรูปหนึ่งกำลังเดินทางอสุจิเคลื่อนออกมา ทรงตัดสินว่า เมื่อไม่มีความประสงค์จะให้เคลื่อน ไม่ต้องอาบัติ
         - ภิกษุรูปหนึ่งให้องค์กำเนิดเสียดสีขาอ่อนด้วยประสงค์จะให้อสุจิเคลื่อน อสุจิเคลื่อนดังตั้งใจ ทรงตัดสินว่า ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
         - ภิกษุรูปหนึ่งประสงค์จะให้อสุจิเคลื่อนจึงบอกให้สามเณรช่วยจับองค์กำเนิด เมื่อสามเณรจับ อสุจิเคลื่อนออกมา ทรงตัดสินว่า ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
         - ภิกษุรูปหนึ่งจับองค์กำเนิดของสามแณรเล่นอยู่ อสุจิของตนเคลื่อนออกมา ทรงตัดสินว่า เมื่อไม่มีความประสงค์จะให้เคลื่อน ไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติทุกกฎ
         - ภิกษุรูปหนึ่งมีความประสงค์จะให้อสุจิเคลื่อน จึงใช้มือบีบองค์กำเนิด แต่อสุจิไม่เคลื่อน ทรงตัดสินว่า ไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย
         - ภิกษุรูปหนึ่งกำลังดัดกายอยู่ อสุจิเคลื่อนออกมา ทรงตัดสินว่าเมื่อไม่มีความประสงค์จะให้เคลื่อน ไม่ต้องอาบัติ
         - ภิกษุรูปหนึ่งมีความกำหนัดเพ่งดูองค์กำเนิดของมาตุคาม (แม่บ้าน) อสุจิเคลื่อนออกมา ทรงตัดสินว่า ไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส และตรัสว่า
         “ภิกษุผู้มีความกำหนัดไม่ควรเพ่งดูองค์กำเนิดของมาตุคาม รูปใดเพ่ง ต้องอาบัติทุกกฏ”
         - ภิกษุรูปหนึ่งมีความประสงค์จะให้อสุจิเคลื่อน จึงใช้ไม้สีองค์กำเนิด อสุจิเคลื่อน ทรงตัดสินว่า ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
         - ภิกษุรูปหนึ่งเดินลุยน้ำไป อสุจิเกิดเคลื่อนขึ้น ทรงตัดสินว่า เมื่อไม่มีความประสงค์จะให้เคลื่อน ไม่ต้องอาบัติ
         - ภิกษุรูปหนึ่งประสงค์จะให้อสุจิเคลื่อน จึงสอดองค์กำเนิดเข้าไปในทราย อสุจิเคลื่อน ทรงตัดสินว่า ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
         - ภิกษุรูปหนึ่งประสงค์จะให้อสุจิเคลื่อน จึงสีองค์กำเนิดบนที่นอนอสุจิเคลื่อน ทรงตัดสินว่า ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.043438414732615 Mins