สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๒ ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ จับต้องกายหญิง ต้องสังฆาทิเสส

วันที่ 08 มค. พ.ศ.2565

650109_02.jpg

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๒

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
         “อนึ่ง ภิกษุใดถูกราคะครอบงำแล้ว มีจิตแปรปรวนแล้ว ถึงการจับต้องกายกับมาตุคาม คือจับมือก็ดี จับช้องผมก็ดี ลูบคลำอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งก็ดี เป็นสังฆาทิเสส”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
         “ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ จับต้องกายหญิง ต้องสังฆาทิเสส”

อธิบายความโดยย่อ
         คำว่า ถูกราคะครอบงำแล้ว หมายถึงมีความกำหนัด มีความเพ่งเล็ง มีจิตปฏิพัทธ์
         คำว่า มีจิตแปรปรวนแล้ว หมายถึงมีจิตที่กำหนัดแล้ว
         คำว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์มิใช่นางยักษ์มิใช่หญิงเปรต มิใช่สัตว์ดิรัจฉานเพศเมีย โดยที่สุดแม้เด็กหญิงที่เกิดในวันนั้น ก็จัดว่ามาตุคาม
         คำว่า ถึงการจับต้องกาย หมายถึงประพฤติล่วงละเมิด
         คำว่า มือ หมายเอาตั้งแต่ข้อศอกถึงปลายเล็บ
         คำว่า ช้องผม หมายถึงช้องที่เป็นผมล้วน หรือแซมด้วยของอื่น เช่น ด้าย ดอกไม้เงิน ทอง
         คำว่า อวัยวะ หมายถึงส่วนของร่างกายที่เหลือ ที่เว้นมือและช้องผม
         คำว่า ลูบคลำ หมายถึง ถูก คลำ ลูบลง ลูบขึ้น ทับ อุ้ม ฉุด ผลัก กด บีบ จับ ต้อง ทำกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่งเหล่านี้ชื่อว่า ลูบคลำ

วัตถุแห่งอาบัติ
         (๑) หญิงมนุษย์เป็นวัตถุแห่งอาบัติสังฆาทิเสส
         (๒) บัณเฑาะก์หรือ กะเทย เป็นวัตถุแห่งอาบัติถุลลัจจัย
         (๓) สัตว์ดิรัจฉานเพศเมีย เป็นวัตถุแห่งอาบัติทุกกฏ

กิริยาที่จับต้อง

         การจับต้องกายหญิงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจเป็นเรื่องของความรู้สึกเป็นต้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงแสดงไว้ว่าจับต้องอย่างไรจึงเป็นอาบัติจับต้องอย่างไรจึงไม่เป็นอาบัติซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
         (๑) หญิงมาจับต้องภิกษุก่อน แต่ภิกษุยินดีรับสัมผัสนั้น คือมีความรู้สึกยินดีเมื่อหญิงมาจับต้องตน เป็นอาบัติสังฆาทิเสสถ้าไม่ยินดีไม่ต้องอาบัติ
         (๒) ภิกษุมีจิตกำหนัดยินดีจับต้อง จึงต้องอาบัติสังฆาทิเสส หากไม่มีจิตยินดีเช่นถูกต้องกายหญิงโดยอัตโนมัติโดยไม่รู้ตัว โดยไม่ได้ตั้งใจ ไม่ต้องอาบัติ
         (๓) ภิกษุจับต้องสิ่งที่เนื่องด้วยกาย เช่นเสื้อผ้า ซึ่งติดอยู่กับกายหญิง คือหญิงนุ่งห่มอยู่ เป็นอาบัติถุลลัจจัย
         (๔) ถ้าเป็นของเนื่องด้วยกายทั้งสองฝ่าย เช่นภิกษุเอาของหรือดอกไม้โยนไปถูกกายหญิงหรือถูกของเนื่องด้วยกายของหญิง เป็นอาบัติทุกกฏ
         (๕) เป็นหญิง แต่ภิกษุสำคัญว่าเป็นอย่างอื่น จับต้องด้วยความกำหนัด เป็นอาบัติทุกกฏ
         (๖) วัตถุที่เป็นฐานอาบัติถุลลัจจัย คือบัณเฑาะก์หรือกะเทย ภิกษุจับต้อง เป็นอาบัติถุลลัจจัย

         สิกขาบทนี้เป็น อนาณัตติกะ ไม่ต้องอาบัติเพราะสั่งให้ผู้อื่นทำ คือสั่งให้ผู้อื่นไปจับต้องแทนตน เช่นสั่งให้หมอนวดไปนวดผู้หญิง
และเป็น สจิตตกะคือต้องประกอบด้วยเจตนาโดยมีความกำหนัดเป็นพื้นฐาน ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่มีเจตนาจะจับต้อง และแก่ภิกษุผู้ไม่ยินดีรับสัมผัสเมื่อหญิงมาถูกตัวก่อน

การจับต้องมารดา
         มีปัญหาเกิดขึ้นว่า ในกรณีที่ภิกษุไปจับต้องมารดา จะเป็นอาบัติสังฆาทิเสสหรือไม่
         ในเรื่องนี้มีความชัดเจนแล้ว ดังที่มีบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก ตอนที่ว่าด้วยวินีตวัตถุของสิกขาบทข้อนี้ใจความว่า

         “ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งจับต้องกายมารดาด้วยความรักฉันแม่ลูก เธอได้มีความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วกระมังหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติทุกกฏ”

         แม้ในการจับต้องธิดา จับต้องพี่สาว จับต้องน้องสาว เมื่อจับต้องฉันเป็นธิดา เป็นพี่สาว เป็นน้องสาว ก็มีนัยเดียวกันนี้
         ในกรณีนี้พระพุทธโฆษาจารย์ชาวลังกาทวีป นักปราชญ์แห่งพระพุทธศาสนา ได้ขยายความเพิ่มเติมไว้ในอรรถกถาสมันตปาสาทิกา ซึ่ง
เป็นอรรถกถาพระวินัยปิฎกว่า

         “ในพระบาลีนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรับอาบัติทุกกฏในทุกกรณี แก่ภิกษุผู้จับต้องด้วยความรักอาศัยเรือน (ความรักที่ผูกพันเป็นครอบครัว) ว่า ผู้นี้เป็นมารดาของเรา ผู้นี้เป็นธิดาของเรา ผู้นี้เป็นพี่สาวของเรา ผู้นี้เป็นน้องสาวของเรา ดังนี้ เพราะธรรมดาว่าผู้หญิงทั้งหมด จะเป็นมารดาก็ตาม เป็นธิดาก็ตาม เป็นพี่สาวน้องสาวก็ตาม เป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ทั้งสิ้น 
         ก็เมื่อภิกษุระลึกถึงพระอาญานี้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าแม้นว่าเห็นมารดาถูกกระแสน้ำพัดไป ไม่ควรจับต้องด้วยมือเลย ถ้าเป็นผู้ฉลาดพึงนำเรือ หรือแผ่นกระดาน หรือท่อนกล้วย หรือท่อนไม้เข้าไปให้ เมื่อเรือเป็นต้นนั้นไม่มี แม้ผ้ากาสาวะก็ควรนำไปวางไว้ข้างหน้า แต่ไม่ควรกล่าวว่าจงจับที่ผ้านี้ เมื่อท่านจับแล้วพึงสาวมาด้วยทำในใจว่าเราสาวบริขารมา ก็ถ้ามารดากลัว พึงเดินไปข้างหน้าๆ แล้วปลอบใจว่าอย่ากลัว ถ้ามารดาถูกน้ำพัดเข้ามาแล้วรัดคอหรือจับมือของภิกษุผู้เป็นบุตร ก็ไม่พึงบอกว่าปล่อยหรือหลีกไป แล้วสลัดออก พึงส่งให้ถึงบก 
         เมื่อมารดาติดหล่มก็ดี ตกลงไปในบ่อก็ดี ก็มีนัยเหมือนกันดังนี้ อธิบายว่า ภิกษุพึงฉุดขึ้น แต่อย่าพึงจับต้องเลย”

         ที่ท่านอธิบายไว้ดังนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าควรรักษาพระวินัยไว้ แม้จะสามารถช่วยโดยตรงได้ แต่ก็ต้องอาบัติทุกกฏ ดังนั้นพึงช่วยด้วยวิธีอื่น หากไม่อาจทำอะไรได้ เช่นท่านถูกน้ำพัดมาแล้วรัดคอหรือจับมือ ก็ไม่พึงสลัดออก พึงส่งให้ถึงบก ดังนี้เป็นต้น

วัตถุอนามาส
         ในสิกขาบทนี้แสดงไว้ว่า ห้ามจับต้องกายหญิงด้วยว่ากายหญิงเป็นอนามาส ไม่ควรจับต้อง แต่ในอรรถกถาสมันตปาสาทิกา ซึ่งเป็นอรรถกถาอธิบายเนื้อความในพระวินัยปิฎก ได้อธิบายเรื่องวัตถุอนามาสเสริมความเข้าไว้ในตอนอธิบายความเรื่องการจับต้องกายหญิงนี้

         วัตถุอนามาส หมายถึง สิ่งของที่ภิกษุไม่ควรจับต้อง เพราะเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส เช่น ราคะบ้าง โลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง เมื่อจับต้องเข้าจิตอาจแปรปรวนเกิดความรักหลงใหล เกิดความอยากได้ครอบครอง อันเป็นเหตุให้ความเป็นสมณะเปลี่ยนแปลงไป หรือจิตใจยินดีเพลิดเพลินหมกมุ่นลูบคลำอยู่ จนไม่มีเวลาประพฤติพรหมจรรย์ได้เต็มที่ หรือทำให้ศรัทธาของชาวบ้านที่รู้และเห็นเข้าลดน้อยลงหรือหมดไป อันเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมอันตรธานของพระศาสนาในที่สุด

         วัตถุอนามาสที่ท่านแสดงไว้ในอรรถกถาสมันตปาสาทิกานั้นมีมากประการ ขอนำมาแสดงแต่ละอย่างพอเห็นรูปดังนี้
         (๑) เครื่องประดับสตรี ท่านว่าเป็นวัตถุอนามาสทั้งสิ้น
         - ปกติผ้านุ่งห่มของสตรีมีไว้เพื่อนุ่งห่ม แต่ถ้าเขานำมาวางไว้แทบเท้าเพื่อให้ภิกษุนำไปเปลี่ยนเป็นจีวร ผ้านั้นสมควรรับได้
         - บรรดาเครื่องประดับ สิ่งของที่เป็นโลหะ เช่น เครื่องประดับศีรษะเมื่อเขาถวายเพื่อทำเป็นมีดโกนหรือเป็นเข็ม ก็ควรรับไว้แต่สิ่งของที่ทำด้วยเงินทอง แก้วมุกดา เป็นต้น จัดเป็นวัตถุอนามาสแท้แม้เขาจะถวาย ก็ไม่ควรรับ

         (๒) รูปสลักสตรี มิใช่เฉพาะเครื่องประดับเท่านั้นที่เป็นวัตถุอนามาสแม้รูปสลักสตรีที่ทำจากไม้จากงา จากโลหะต่างๆก็ตาม รูปเขียนก็ตาม รูปที่สำเร็จด้วยรัตนะทุกอย่างก็ตาม โดยที่สุดแม้รูปปั้นจากแป้งก็เป็นวัตถุอนามาส
         - เมื่อเขาถวายให้เว้นของที่สำเร็จด้วยรัตนะทุกอย่าง ที่เหลือทำลายรูปลักษณะแล้วนำสิ่งที่ควรไปใช้เป็นเครื่องอุปโภคเป็นเครื่องอุปกรณ์หรือเป็นสิ่งที่ควรใช้สอย จัดเข้าในของสำหรับใช้สอยเพื่อการใช้สอย ควรอยู่

         (๓) ธัญชาติ ๗ อย่าง คือ ข้าวไม่มีเปลือก ข้าวเปลือก หญ้ากับแก้ข้าวละมาน ลูกเดือย ข้าวแดง ข้าวฟ่าง ก็เป็นวัตถุอนามาส ท่านแสดงวิธีปฏิบัติต่อธัญชาติไว้ดังนี้
         - เมื่อเดินไปกลางทุ่งนา อย่าเดินจับต้องเมล็ดธัญชาติเหล่านั้นไปพลาง    
         - ถ้าเขาตากธัญชาติไว้ที่ประตูเรือนหรือที่หนทาง อย่าเดินเหยียบธัญชาติถ้าไม่มีทางเดินหลบไปได้พึงอธิษฐานให้เป็นทางเดินแล้วเดินไปเถิด
         - ถ้าเขาปูลาดอาสนะไว้บนกองธัญชาติในละแวกบ้าน จะนั่งก็ควร
         - ถ้าเขานำธัญชาติมากองไว้ในโรงฉัน ถ้าให้เขาขนออกไปเสียก็ควร หากไม่อาจ อย่าเหยียบย่ำธัญชาติพึงตั้งตั่งหรือเก้าอี้ไว้ข้างหนึ่งแล้วนั่งเถิด หรือพวกชาวบ้านเขาปูอาสนะไว้กลางธัญชาตินั่นเอง ก็นั่งเถิด

         (๔) อปรัณณชาติ คืออาหารอื่นนอกจากธัญชาติมีถั่วงาผลไม้และผักต่างๆ ที่เกิดอยู่กับต้น ภิกษุไม่ควรจับเล่น แม้ที่เขาเก็บมากองไว้ก็เหมือนกันแต่ถ้าภิกษุจะเก็บผลไม้ที่หล่นจากต้นในป่าถือกลับมาด้วยตั้งใจว่าจะให้แก่สามเณรหรือเด็กวัด ควรอยู่

         (๕) รัตนะ ๑๐ ประการ คือ มุกดา มณีไพฑูรย์สังข์ศิลา ประพาฬเงิน ทอง ทับทิม บุษราคัม ท่านอธิบายว่า
         - มุกดาถ้ายังไม่เจียระไนหรือเจาะกิกษุจับต้องได้อยู่รัตนะที่เหลือเป็นวัตถุอนามาสทั้งสิ้น
         - รัตนะเหล่านี้ภิกษุจะรับมาเพื่อเป็นมูลค่าแห่งสิ่งของคือนำไปแลกเป็นสมณบริขาร ย่อมไม่ควร แต่จะรับเพื่อเป็นยาแก่คนเป็นโรคเรื้อน ควรอยู่
         - มณีทุกอย่างทั้งสีเขียวสีเหลือง โดยที่สุดแก้วผลึกที่เขาขัดเจียระไน กลึงแล้ว เป็นวัตถุอนามาส มณีตามธรรมชาติที่เพิ่งขุดได้จากบ่อภิกษุจะรับไว้เพื่อเป็นมูลค่าแห่งสิ่งของเช่นบาตรเป็นต้น ก็ควร
         - กระจกแก้ว ที่เขาหุงไว้ทำไว้อย่างเดียวเท่านั้นที่ควร
         - ไพฑูรย์ก็มีลักษณะเดียวกับมณี
         - สังข์สำหรับเป่าก็ดีที่เขาขัดและเจียระไนแล้วก็ดีขลิบด้วยรัตนะก็ดีจัดเป็นวัตถุอนามาส
         - สังข์สำหรับตักน้ำดื่มที่ขัดแล้วหรือยังไม่ได้ขัดเป็นของควรจับต้องได้แท้ รัตนะที่เหลือจากนี้ภิกษุจะรับไว้เพื่อใช้เป็นยาหยอดตาก็ดีเพื่อเป็นมูลค่าแห่งสิ่งของก็ดีควรอยู่
         (๖) ศิลา ที่ขัดแล้วและเจียระไนแล้ว ประดับด้วยรัตนะมีสีเหมือนถั่วเขียวอย่างเดียวเท่านั้นที่เป็นวัตถุอนามาส ศิลาที่เหลือ ภิกษุจะถือเอามาเพื่อใช้เป็นหินลับมีดเป็นต้น ก็ได้
         (๗) แก้วประพาฬ ที่ขัดและเจียระไนแล้ว เป็นวัตถุอนามาสประพาฬที่เหลือเป็นวัตถุอามาสที่จับต้องได้ภิกษุจะรับไว้เพื่อใช้จ่ายเป็นมูลค่าแห่งสิ่งของ ควรอยู่
         (๘) เงินและทอง แม้เขาทำเป็นรูปพรรณทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นอนามาส เป็นของที่ภิกษุไม่ควรรับไว้จำเดิมแต่ยังเป็นแร่
         - ดอกบัวทองและดาวทองเป็นต้น เขาจัดประดับไว้ที่เรือนพระเจดีย์แม้สิ่งเหล่านั้นก็จัดเป็นวัตถุอนามาส แต่พวกภิกษุผู้เฝ้าเรือนพระเจดีย์ตั้งอยู่ในฐานเป็นผู้ทิ้งรูปิยะ เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ภิกษุเหล่านั้นจะลูบคลำดูก็ควร แต่ก็มีเสียงคัดค้านห้ามไว้โดยอนุญาตแต่เพียงเท่านี้ว่า จะชำระหยากเยื่อที่พระเจดีย์ทองควรอยู่ ซึ่งแสดงว่าเงินและทองจัดเป็นวัตถุอนามาสที่จับต้องไม่ได้ในทุกกรณี
         - แม้โลหะที่ก้าไหล่ทองคือโลหะที่เขาทำผสมดีบุกกับทองแดงผสมตะกั่วกับทองแดง หรือผสมปรอทกับทองแดง ก็มีคติดุจทองคำเหมือนกัน
         - เครื่องใช้สอยในเสนาสนะอันเป็นที่อยู่อาศัยเป็นกัปปิยะคือของที่ควรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เครื่องบริขารประจำเสนาสนะ แม้ทุกอย่างที่ทำด้วยเงินและทอง เป็นวัตถุอามาส จับต้องได้
         - ชาวบ้านเขาสร้างรัตนมณฑป(มณฑปแก้ว)ไว้สำหรับเป็นที่แสดงธรรม มีเสาเป็นแก้วผลึก ประดับด้วยพวงแก้วการที่ภิกษุทั้งหลายจะดูแลรักษาเครื่องอุปกรณ์ทั้งหมดในรัตนมณฑปนั้น ย่อมสมควรแท้

         (๙) ทับทิมและบุศราคัม ที่ขัดและเจียระไนแล้ว เป็นวัตถุอนามาสที่ยังไม่ได้ขัดยังไม่ได้เจียระไน ภิกษุจะรับไว้เพื่อใช้เป็นมูลค่าแห่งสิ่งของควรอยู่

         (๑๐) อาวุธทุกชนิด จัดเป็นวัตถุอนามาสแม้เขาถวายเพื่อจำหน่ายเป็นมูลค่าแห่งสิ่งของ ก็ไม่ควรรับไว้
         - คันธนูสายธนูประตัก (ไม้ที่ฝังเหล็กแหลมไว้ตรงปลาย) ขอช้างโดยที่สุดไม้มีดและขวานที่ใช้เป็นอาวุธ เป็นวัตถุอนามาส
         - อาวุธทุกชนิดในสมัยปัจจุบัน เช่นปืนสั้น ปืนยาว ก็จัดเป็นวัตถุอนามาส
         - พบเห็นดาบ หอก หรือโตมรตกอยู่ในสนามรบ พึงใช้หินหรือของแข็งอื่นต่อยดาบ ทำลายลักษณะอาวุธเสีย แล้วถือเอาไปใช้ในฐานะเป็นมีด ควรอยู่
         - แม้จะแยกของเหล่านี้ออกแล้วใช้เป็นมีดเป็นไม้เท้าเป็นต้น ก็ควร
         - เครื่องอาวุธที่เขาถวายไว้ว่าขอจงรับอาวุธนี้ไว้ภิกษุจะรับไว้ทั้งหมดด้วยตั้งใจว่า จักทำให้เสียหายแล้วทำให้เป็นกัปปิยภัณฑ์ก็ควรอยู่  

       (๑๑) เครื่องจับสัตว์ เช่น แหทอดปลา ข่ายดักนก หรือ เครื่องป้องกันลูกศร เช่น โล่ ตาข่าย เป็นวัตถุอนามาส
         - เครื่องดักสัตว์และเครื่องป้องกันลูกศรที่ได้มาเพื่อเป็นเครื่องใช้สอยแต่ทีแรก เช่นตาข่าย ภิกษุรับไว้ด้วยตั้งใจว่าจะผูกขึงหรือพันเป็นฉัตรไว้เบื้องบนอาสนะหรือพระเจดีย์ควรอยู่
- เครื่องป้องกันลูกศรทุกอย่างจะรับไว้เพื่อใช้เป็นมูลค่าแห่งสิ่งของก็สมควร เพราะของเหล่านั้นเป็นเครื่องป้องกันการเบียดเบียนจากคนอื่น มิใช่เป็นเครื่องทำการเบียดเบียนได้เอง
- ภิกษุรับโล่ไว้ด้วยตั้งใจว่าจะทำเป็นภาชนะใส่ไม้สีฟัน ก็ควร

         (๑๒) เครื่องดนตรี เช่น พิณ กลอง เป็นต้น ที่ขึงด้วยหนัง เป็นวัตถุอนามาส บางท่านว่า แม้รางกลองและรางพิณที่ยังมิได้ขึ้นหนังและขึงสาย ก็เป็นวัตถุอนามาส
         - เครื่องดนตรีทุกอย่างจะขึงสายเองหรือให้คนอื่นขึงให้จะประโคมเองหรือให้คนอื่นเขาประโคมก็ดีท่านว่าไม่ได้ทั้งนั้น
         - เมื่อเห็นเครื่องดนตรีที่มนุษย์ทำการบูชาแล้วทิ้งไว้ที่ลานพระเจดีย์ไม่พึงทำให้เคลื่อนที่พึงปัดกวาดไปในระหว่างๆ เถิด บางท่านว่าเวลากวาดขยะพึงทำไปโดยกำหนดว่าเครื่องดนตรีนั้นเป็นขยะ แล้วเก็บมาวางไว้ณ ที่หนึ่งก็ควรอยู่
         - ภิกษุรับเครื่องดนตรีเข้าไว้เพื่อใช้เป็นมูลค่าแห่งสิ่งของก็ควรที่ได้มาเพื่อการใช้สอยให้เป็นบริขาร เช่นตั้งใจว่าจะทำรางพิณและหุ่นกลองให้เป็นภาชนะใส่ไม้สีฟัน ส่วนหนังจะทำเป็นฝักมีด ดังนี้แล้วก็ทำตามที่ตั้งใจไว้ก็ควรอยู่

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
         เรื่องการจับต้องกันและกันและการถูกตัวกันนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาในชีวิตประจำวัน จนเป็นความเคยชิน ไม่เกิดความรู้สึกอะไรมาก แต่ในพระวินัยถือว่าการจับต้องกายหญิงของภิกษุถือว่ามีโทษหนัก แต่ก็มียกเว้น คือไม่ได้จับต้องด้วยความกำหนัดยินดีไม่ได้ยินดีรับการถูกต้องของหญิง ไม่ได้มีเจตนาหรือจงใจที่จะจับต้องอะไร เมื่อถูกต้องด้วยอาการเช่นนี้ก็ไม่ต้องอาบัติ
         สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้ภิกษุมีสติไม่ประมาทลืมตัวไปยินดีในกามคุณ เพราะเมื่อมีการจับต้องได้ความกำหนัดยินดีซึ่งมีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วก็จะขยายตัวกลายเป็นการกอดจูบลูบคลำไปจนถึงเสพเมถุนได้ซึ่งนับเป็นอันตราย เมื่อมีสติไม่จับต้องได้ก็ถือว่าตัดไฟแต่ต้นลม เพื่อมิให้ภิกษุประพฤติตัวหลุกหลิกซุกซน ไม่ระวังตัว ทำตัวเป็นนักเลงเจ้าชู้เที่ยวจับต้องหญิงซึ่งมีผู้ปกครองหรือมีเจ้าของ อันอาจถูกฟัองร้องให้รับโทษทางบ้านเมืองได้
         และการจับต้องนั้น ท่านแสดงรายละเอียดไว้มาก ล้วนแล้วแต่มีโทษคือเป็นอาบัติทั้งสิ้น หนักบ้างเบาบ้างตามวัตถุคือบุคคลที่ถูกจับต้อง
         ดังนั้น หากภิกษุมีสติระวังตัว ไม่เผลอไผลมักง่าย หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิด หรือมั่นคงอยู่ในหลักพระวินัย ก็จะสามารถพ้นจากอาบัติข้อนี้ได้

อนาปัตติวาร
         ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ (๑) ภิกษุผู้ไม่จงใจจับต้อง (๒) ภิกษุผู้จับต้องด้วยไม่มีสติ(๓) ภิกษุผู้ไม่รู้คือไม่รู้ว่าที่ตัวจับต้องเป็นผู้หญิงหรือชาย (๔) ภิกษุผู้ไม่ยินดีในกรณีที่ถูกหญิงมาสัมผัสถูกต้อง (๕) ภิกษุผู้วิกลจริต (๖) ภิกษุผู้มีจิตฟุ้งซ่าน (๗) ภิกษุผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา (๘) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือผู้เป็นอาทิกัมมิกะ คือ พระอุทายี

วินีตวัตถุ
         วินีตวัตถุ ได้แก่เรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล และทรงตัดสินแล้วว่าเป็นอาบัติหรือไม่เป็นอาบัติเช่นเรื่องต่อไปนี้
         - ภิกษุรูปหนึ่งจับต้องกายของมารดาด้วยความรักฉันแม่ลูก ทรงตัดสินว่า ไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติทุกกฏ
         - ภิกษุรูปหนึ่งจับต้องกายอดีตภรรยา ทรงตัดสินว่า ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว
         - ภิกษุรูปหนึ่งจับต้องนางยักษ์ทรงตัดสินว่า ไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย
         - ภิกษุรูปหนึ่งจับต้องบัณเฑาะก์หรือกะเทย ทรงตัดสินว่า ไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย
         - ภิกษุรูปหนึ่งจับต้องกายหญิงที่นอนหลับอยู่ ทรงตัดสินว่า ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว
         - ภิกษุรูปหนึ่งจับต้องกายหญิงที่ตายแล้ว ทรงตัดสินว่า ไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย
         - ภิกษุรูปหนึ่งจับต้องสัตว์ดิรัจฉานเพศเมีย ทรงตัดสินว่า ไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติทุกกฏ
         - ภิกษุรูปหนึ่งมีความกำหนัดจึงเขย่าสะพานที่หญิงเดินขึ้นไป ทรงตัดสินว่า ไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติทุกกฏ
         - ภิกษุรูปหนึ่งเห็นหญิงคนหนึ่งเดินสวนทางมา เกิดความกำหนัดจึงใช้ไหล่กระทบนางเมื่อเดินสวนกัน ทรงตัดสินว่า ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
         - ภิกษุรูปหนึ่งมีความกำหนัดจึงใช้บาตรดันหญิง ทรงตัดสินว่า ไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย
         - ภิกษุรูปหนึ่งมีความมีความกำหนัดเมื่อหญิงคนหนึ่งกำลังไหว้ตนอยู่ จึงยกเท้าขึ้นถูกหญิงนั้น ทรงตัดสินว่า ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว
         - ภิกษุรูปหนึ่งพยายามจะจับหญิง แต่มิได้แตะต้องเธอ ทรงตัดสินว่า ไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติทุกกฏ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.022147448857625 Mins