ปาราชิก สิกขาบทที่ ๓
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
“อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตราอันจะปลิดชีวิตแก่กายมนุษย์นั้น หรือพรรณนาคุณแห่งความตาย หรือชักชวนเพื่อให้ตายด้วยคำว่า แน่ะนายผู้เป็นชาย จะประโยชน์อะไรแก่ท่านด้วยชีวิตอันแสนลำบากยากแค้นนี้ ท่านตายเสียดีกว่าอยู่ ดังนี้ เธอมีจิตใจอย่างนี้ มีความดำริในใจอย่างนี้ พรรณนาคุณแห่งความตายก็ดี ชักชวนเพื่อให้ตายก็ดี โดยปริยายต่างๆ แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาส มิได้”
เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
“ภิกษุแกล้งฆ่ามนุษย์ให้ตาย ต้องปาราชิก”
อธิบายความโดยย่อ
คำว่า จงใจ หมายถึงรู้อยู่ รู้ดีอยู่ ตั้งใจ ฝ่าฝืน ละเมิด
คำว่า กายมนุษย์ หมายถึงอัตภาพ คือความเป็นตัวตนหรือชีวิต ที่มีระยะเวลาตั้งแต่จิตแรกเกิดคือวิญญาณจิตปรากฏขึ้นในครรภ์มารดาจนกระทั่งถึงเวลาตาย คือสิ้นลมหายใจ
คำว่า พรากจากชีวิต หมายถึงตัดทอน บั่นทอน ซึ่งอินทรีย์คือชีวิตทำความสืบต่อให้เสียไป ใช้ในความหมายว่า ฆ่า ปลง ตัด บั่นชีวิตให้สิ้นลง
คำว่า ศัสตรา หมายถึงอาวุธประเภทต่างๆ ที่สามารถใช้ฆ่าหรือบั่นทอนชีวิตได้เช่น ดาบ หอก ค้อน มีด ยาพิษ เชือก
คำว่า พรรณนาคุณแห่งความตาย หมายถึงแสดงโทษในความมีชีวิตอยู่ พรรณนาคุณในความตาย
คำว่า ชักชวนเพื่อให้ตาย หมายถึงชักชวนว่าจะอยู่ไปทำไม จงนำมีดมาเชือดคอตายดีกว่า จงนำเชือกมาผูกคอตายดีกว่า ดื่มยาพิษตายเสียดีกว่า
คำว่า จะประโยชน์อะไรแก่ท่านด้วยชีวิตอันแสนลำบากยากแค้นนี้ ท่านตายเสียดีกว่าอยู่ มีอธิบายว่า ชีวิตที่ชื่อว่ายากแค้น คือชีวิตของคนเข็ญใจ ชื่อว่ายากแค้นเมื่อเทียบกับชีวิตของคนมั่งคั่งชีวิตของคนไร้ทรัพย์ ชื่อว่ายากแค้นเมื่อเทียบกับชีวิตของคนมีทรัพย์ชีวิตของพวกมนุษย์ ชื่อว่ายากแค้นเมื่อเทียบกับชีวิตของเหล่าเทพยเจ้าชีวิตที่ชื่อว่าแสนลำบากคือชีวิตของคนมือด้วน คนเท้าปุกคนทั้งมือด้วนทั้งเท้าปุกคนหูแหว่งคนจมูกวิ่น คนทั้งหูแหว่งทั้งจมูกวิ่น จะประโยชน์อะไรด้วยชีวิตอันลำบากและยากแค้นเช่นนี้ท่านตายเสียดีกว่าอยู่
คำว่า มีจิตอย่างนี้ คือ ธรรมชาติอันใดเป็นจิต ธรรมชาติอันนั้นชื่อว่าใจ ธรรมชาติอันใดเป็นใจ ธรรมชาติอันนั้นชื่อว่าจิต คือคำว่าจิตกับใจเป็นคำที่มีความหมายเดียวกัน
คำว่า มีความดำริในใจอย่างนี้ คือ มีความสำคัญหมายจะให้ตาย มีความจงใจจะให้ตาย มีความประสงค์จะให้ตาย
คำว่า พรรณนาคุณแห่งความตาย ได้แก่ แสดงโทษในความมีชีวิตอยู่ พรรณนาคุณในความตายว่า ท่านทำกาละจากโลกนี้ไป หลังจากตายไปจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์จักเพียบพร้อมอิ่มเอิบได้รับปรนเปรอด้วยเบญจกามคุณ อันเป็นทิพย์ในสุคติโลกสวรรค์นั้น
คำว่า ชักชวนเพื่อให้ตาย ได้แก่ชักชวนว่าจงนำมีดมา จงกินยาพิษจงแขวนคอตาย หรือจงกระโดดลงไปในบ่อ ในเหว หรือที่ผาชัน
คำว่า เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้ มีอธิบายดังแสดงไว้แล้วข้างต้น
เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้
สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อศักดิ์ศรีของภิกษุว่าเป็นผู้ที่พัฒนาแล้วมีจิตใจไม่โหดเหี้ยมป่าเถื่อน ฝึกฝนตนเพื่อหลุดพ้นจากกิเลสเป็นหลัก เมื่อหลุดพ้นแล้วก็จะเป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม เป็นปูชนียบุคคลที่นำผลอานิสงส์ มาให้แก่ผู้บูชากราบไหว้เป็นผู้ประกอบด้วยเมตตากรุณา ช่วยเหลือเกื้อกูลคนอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ
สิกขาบทนี้มุ่งให้ภิกษุเห็นอกเห็นใจผู้อื่นซึ่งล้วนรักสุขเกลียดทุกข์เช่นเดียวกับตน แล้วคิดช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น โอบอ้อมอารีไม่เอารัดเอาเปรียบ อยู่ในหมู่คณะได้ทุกแห่งโดยไม่เป็นศัตรูไม่ก่อเวรภัยแก่ใคร เพราะมีจิตใจที่งดงามประกอบด้วยเมตตากรุณาธรรมเป็นหลัก
สิกขาบทนี้มุ่งไม่ให้ภิกษุไปฆ่ามนุษย์เองหรือสั่งให้ฆ่า เพราะการฆ่ามนุษย์นั้น
- เป็นความเหี้ยมโหด
- เป็นการขาดเมตตาธรรม
- เป็นการแสดงถึงจิตใจที่ป่าเถื่อน ยังมิได้พัฒนา
อาการที่ฆ่าให้ตาย
สิกขาบทนี้ได้บอกรายละเอียดไว้มากพอสมควร สามารถเข้าใจได้ชัดเจน เช่น การฆ่า ท่านใช้คำว่า พรากเสียจากชีวิต นั่นหมายความว่าบั่นทอนชีวิตให้หมดสิ้นไป ไม่ให้สืบยาวต่อไป และบอกถึงอาการที่จัดว่าฆ่าไว้ไม่ว่าจะฆ่าเอง หาอาวุธให้ฆ่า พรรณนาคุณของความตายแล้วให้เจ้าของชีวิตฆ่าตัวเอง หรือชักชวนให้ฆ่าตัวตายด้วยการชี้ว่าตายดีกว่าอยู่ ย่อมเป็นอาการแห่งการพรากจากชีวิต มีโทษเป็นปาราชิกทั้งสิ้น
เมื่อกล่าวโดยละเอียดแล้ว ท่านแสดงอาการที่ฆ่าไว้ ๗ แบบ คือ
(๑) ให้ประหาร ได้แก่ ฆ่าด้วยตนเอง เช่นฟันด้วยมีดแทงด้วยหอกตีด้วยไม้หรือทำให้ตายด้วยสิ่งของอื่นๆ หรือไม่ได้ลงมือฆ่าเองแต่สั่งให้คนอื่นไปฆ่าด้วยวาจาของตัว
(๒) ซัดไปประหาร ได้แก่ ฆ่าด้วยตนเองโดยใช้เครื่องมือสำหรับฆ่าให้เคลื่อนไปฆ่า เช่น ยิงด้วยปืน ยิงด้วยลูกศร พุ่งด้วยหอก ขว้างด้วยไม้หรือก้อนหิน
(๓) วางไว้ทำร้าย ได้แก่ ใช้เครื่องมือฆ่าที่เป็นอาวุธมีอันตรายทำให้ถึงตายได้วางดักไว้ริมทางเดิน เป็นต้น เช่น ดักขวาก ฝังไม้แหลมไว้ในหลุมพราง วางก้อนหินไว้ให้ตกลงมาทับ วางยาให้ตาย วางระเบิด เป็นต้น
(๔) ทำร้ายด้วยวิชา ได้แก่ เป็นผู้ชำนาญในมนต์วิชาอาคมร่ายมนต์ร่ายอาคมต่างๆ ใช้ภูตใช้ผีไปทำร้ายผู้อื่นถึงตาย
(๕) ทำร้ายด้วยฤทธิ์ ได้แก่ เป็นผู้ชำนาญในฌาน มีฤทธิ์เช่น มีตาเป็นอาวุธ จ้องดูผู้อื่นเพื่อทำร้ายให้ถึงตาย
(๖) แสวงหาศัสตราให้ ได้แก่ หาอาวุธสำหรับฆ่าตัวตายให้อำนวยความสะดวกในการใช้อาวุธให้
(๗) พรรณนาคุณแห่งความตาย หรือ ชักชวนเพื่อการตาย การฆ่าที่ทำให้ตายเป็นการพรากจากชีวิตเช่นนี้จัดเป็นอาการที่ฆ่าทั้งสิ้น หากทำสำเร็จด้วยอาการอย่างอย่างหนึ่ง ถือว่าเป็นการฆ่า มีโทษเป็นอาบัติปาราชิก
วัตถุแห่งอาบัติ
วัตถุแห่งอาบัติ หมายถึงผู้ที่ถูกฆ่า มีทั้งมนุษย์อมนุษย์และสัตว์ดิรัจฉาน และมีทั้งการสั่งให้ฆ่า จึงมีข้อกำหนดไว้ดังนี้
(๑) มนุษย์ เป็นวัตถุแห่งอาบัติปาราชิก ภิกษุฆ่ามนุษย์ต้องอาบัติปาราชิก
(๒) อมนุษย์ เช่น เปรต ยักษ์และสัตว์ดิรัจฉานที่มีฤทธิ์เป็นวัตถุแห่งถุลลัจจัย ภิกษุฆ่าอมนุษย์ต้องอาบัติถุลลัจจัย
(๓) สัตว์ดิรัจฉาน เป็นวัตถุแห่งปาจิตตีย์ ภิกษุฆ่าสัตว์ดิรัจฉานต้องอาบัติปาจิตตีย์
(๔) ฆ่าตนเอง ยังไม่พบหลักฐานที่แน่นอนว่าเป็นอาบัติอะไร บ้างว่าเป็นอาบัติทุกกฏ บ้างว่าเป็นอาบัติปาราชิก เพราะเป็นการพรากกายมนุษย์จากชีวิตเช่นกัน
(๕) พยายามฆ่าสัตว์อื่น ต้องอาบัติตามวัตถุ คือเป็นไปตามผู้ถูกฆ่าว่าเป็นมนุษย์อมนุษย์หรือสัตว์ดิรัจฉาน
(๖) สั่งให้ฆ่า เนื่องจากว่าสิกขาบทนี้เป็นสาณัตติกะ เมื่อภิกษุสั่งให้ฆ่า คือสั่งให้ผู้หนึ่งไปฆ่าอีกผู้หนึ่ง โดยระบุวัตถุคือบุคคล ระบุเวลา ระบุโอกาสคือสถานที่ ระบุอาวุธ ระบุอิริยาบถ ระบุวิธีการฆ่าเช่นฟันหรือแทงหรือตีเป็นต้น เมื่อผู้รับสั่งไปฆ่าสำเร็จตามที่ระบุไว้อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่สั่ง ภิกษุผู้สั่งต้องอาบัติปาราชิก
ถ้าทำผิดคำสั่งที่ระบุ ไม่เป็นไปตามที่สั่ง เช่นสั่งให้ฆ่านายแดง แต่ไปฆ่านายดำ สั่งให้ฆ่าตอนกลางคืน แต่ไปฆ่าตอนเช้า สั่งให้ฆ่าด้วยการใช้ไม่ตีแต่ไปฆ่าด้วยการยิง เช่นนี้ภิกษุผู้สั่งไม่ต้องอาบัติปาราชิก
สรุปว่า ภิกษุมีเจตนาจงใจฆ่าเองก็ตาม ใช้ให้ผู้อื่นฆ่าก็ตาม ซึ่งมนุษย์ อมนุษย์ สัตว์ดิรัจฉาน ย่อมเป็นอาบัติทุกกรณี แต่ทำให้ผู้อื่นตายโดยไม่จงใจ ไม่มีเจตนา เช่นก่อสร้างอยู่ในที่สูง ทำสิ่งของพลาดหล่นลงมาถูกคนข้างล่างตาย หรือทำให้ไฟฟ้าลัดวงจร เป็นเหตุให้ไฟไหม้กุฏิ มีคนอยู่ในกุฏิสำลักควันตาย ไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่อาจได้รับโทษทางบ้านเมืองฐานทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายด้วยความประมาท
อนาปัตติวาร
ในพระวินัยปิฎก สำหรับสิกขาบทนี้มีอนาปัตติวารคือข้อยกเว้นสำหรับภิกษุที่ไม่ต้องอาบัติปาราชิกไว้๗ ประเภท คือ
(๑) ภิกษุผู้ไม่จงใจ คือภิกษุที่ไม่มีเจตนา ไม่ได้ตั้งใจไม่ได้คิดว่าการทำการพูดของตนจะทำให้มีการตาย
(๒) ภิกษุผู้ไม่รู้ คือภิกษุที่ไม่รู้ว่าการทำอย่างนี้จะทำให้คนตายเพราะเป็นการทำไปตามปกติธรรมดา
(๓) ภิกษุผู้ไม่ประสงค์จะให้ตาย คือทำไปโดยมีเจตนาต้องการจะสั่งสอน ต้องการให้เข็ดหลาบ หรือต้องการฝึกฝนอบรม แต่เป็นเหตุให้ถึงตายโดยไม่คาดคิด โดยไม่ต้องการให้เหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นเลย
(๔) ภิกษุผู้วิกลจริต คือภิกษุบ้า
(๕) ภิกษุมีจิตฟุ้งซ่าน คือภิกษุผู้มีจิตไม่สงบ พล่านไป ซัดส่ายไปควบคุมตัวเองไม่ได้
(๖) ภิกษุผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา คือภิกษุผู้เร่าร้อนใจทนนิ่งเป็นปกติอยู่ไม่ได้
(๗) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ คือผู้เป็นอาทิกัมมิกะ ได้แก่พวกภิกษุชาวเมืองเวสาลี
วินีตวัตถุ
วินีตวัตถุซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องด้วยสิกขาบทนี้และพระพุทธองค์ทรงตัดสินแล้วว่าเป็นอาบัติหรือไม่เป็นอาบัติมีมากเรื่อง ขอยกมาเป็นตัวอย่างบางเรื่องมาแสดงไว้เพื่อการศึกษาเรียนรู้ดังนี้
- ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ เพื่อนภิกษุทั้งหลายเห็นเธอเป็นทุกข์เพราะไข้หนัก เกิดความกรุณาขึ้น จึงพรรณนาคุณแห่งความตายเพื่อให้เธอพ้นจากความทุกข์นั้น โดยพรรณนาว่า ท่านเป็นผู้มีศีลจะกลัวตายไปทำไม สวรรค์เป็นที่สำหรับผู้มีศีลจะไปเป็นต้น ภิกษุนั้นจึงอดอาหารและมรณภาพไป ทรงตัดสินว่าภิกษุเหล่านั้นต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
- ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่ง เดินบิณฑบาตเหนื่อยจึงไปนั่งพักบนตั่งซึ่งมีเด็กชายนอนคลุมโปงอยู่ โดยนั่งทับไปบนเด็กโดยไม่ได้พิจารณา เด็กได้ตายไป ทรงตัดสินว่าไม่ต้องอาบัติปาราชิก เพราะไม่มีเจตนาแล้วตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่งพวกเธอไม่ได้พิจารณาก่อนแล้วอย่านั่งบนอาสนะ รูปใดนั่ง ต้องอาบัติทุกกฎ”
- ภิกษุสองรูปเป็นบุตรและบิดากัน บวชอยู่ด้วยกัน วันหนึ่งเมื่อถึงเวลารับแจกอาหาร ภิกษุผู้บุตรบอกภิกษุบิดาว่าขอให้ไปรับแจก พระสงฆ์คอยอยู่แล้วดุนหลังผลักไป ภิกษุบิดาเกิดล้มลงและถึงมรณภาพ ทรงตัดสินว่า ภิกษุผู้ไม่มีความประสงค์จะให้ถึงมรณภาพ ไม่ต้องอาบัติ
- ภิกษุรูปหนึ่งกำลังฉันอาหาร เนื้อติดคอ ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้ตบคอเธอ เนื้อหลุดออกมาพร้อมกับโลหิต ภิกษุนั้นถึงกับมรณภาพ ทรงตัดสินว่าภิกษุไม่มีความประสงค์จะให้ถึงมรณภาพ ไม่ต้องอาบัติ
- ภิกษุรูปหนึ่งไปบิณฑบาต ได้อาหารปนยาพิษมาแล้วนำไปยังโรงฉัน ได้ถวายอาหารนั้นให้ภิกษุอื่นฉันก่อน ภิกษุทั้งหลายฉันอาหารเข้าไปแล้วได้ถึงมรณภาพ ทรงตัดสินว่าภิกษุไม่รู้ว่าอาหารมีพิษ ไม่ต้องอาบัติ
- ภิกษุรูปหนึ่งประสงค์จะทดลอง ได้ให้ยาพิษแก่ภิกษุอีกรูปหนึ่งฉันภิกษุนั้นถึงมรณภาพลง ทรงตัดสินว่า เมื่อมีความประสงค์จะทดลอง ไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย
- ภิกษุรูปหนึ่งชาวเมืองอาฬวีสร้างวิหารกันอยู่กับภิกษุอื่น เธอรับก้อนศิลาที่ภิกษุอีกรูปหนึ่งยกส่งขึ้นไป เธอรับไม่ดีทำให้ก้อนศิลาหลุดมือแล้วตกลงมาทับศีรษะภิกษุที่ส่งศิลาขึ้นไปจนถึงมรณภาพ ทรงตัดสินว่า ภิกษุไม่จงใจ ไม่ต้องอาบัติ
- ภิกษุรูปหนึ่งมุงหลังคาวิหารเสร็จจะลง ภิกษุอีกรูปหนึ่งมีความประสงค์จะให้เธอตกลงมามรณภาพ จึงได้บอกให้เธอลงมาทางนั้น เธอจึงลงมาตามคำบอก ได้พลัดตกลงมาถึงมรณภาพ ทรงตัดสินว่า เมื่อภิกษุประสงค์จะให้ถึงมรณภาพ ต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
- ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ ภิกษุทั้งหลายได้แนะนำให้เธออาบน้ำจะได้หาย ภิกษุนั้นจึงไปอาบน้ำแล้วถึงมรณภาพ ทรงตัดสินว่า ภิกษุไม่มีความประสงค์จะให้ถึงมรณภาพ ไม่ต้องอาบัติ
- ภิกษุรูปหนึ่งได้รับการขอร้องจากหญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นหมันช่วยจัดยาทำให้ครรภ์แท้งให้เพื่อนำไปให้แก่ภรรยาอีกคนของสามีเธอรับปากแล้วจัดยาให้ตามประสงค์หญิงหมันนำไปให้แก่หญิงมีครรภ์ทำให้เด็กในครรค์ถึงแก่ความตาย แต่นางไม่ตาย ทรงตัดสินว่าต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
- ภิกษุรูปหนึ่งถูกหญิงมีครรภ์คนหนึ่งขอร้องให้บอกยาที่ทำให้ครรภ์แท้ง เธอจึงแนะนำให้นางรีดครรภ์ออก นางได้รีดให้ครรภ์แท้งไปแล้ว ทรงตัดสินว่าต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
- ภิกษุรูปหนึ่งได้รับการขอร้องจากหญิงคนหนึ่งช่วยบอกยาที่ช่วยให้คลอดบุตรง่าย เธอรับปากแล้วมอบยาให้นาง นางได้ถึงแก่ความตายเพราะยานั้น ทรงตัดสินว่าไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติทุกกฏ
- ภิกษุรูปหนึ่งพรรณนาเรื่องสวรรค์แก่คนผู้ทำความดีไว้มาก เขาฟังแล้วดีใจจนถึงแก่ความตาย ทรงตัดสินว่า เมื่อไม่มีความประสงค์จะให้ตายไม่ต้องอาบัติ
- ภิกษุรูปหนึ่งพรรณนาเรื่องนรกแก่คนที่สมควรตกนรก ทำให้เขาตกใจถึงตายไป ทรงตัดสินว่า เมื่อไม่มีความประสงค์จะให้ตาย ไม่ต้องอาบัติ
- ภิกษุรูปหนึ่งไปที่ตะแลงแกงที่ประหารนักโทษ ได้บอกเพชฌฆาตว่า อย่าให้นักโทษคนนี้ทรมานเลย ขอให้ประหารด้วยการฟันครั้งเดียวเถิดเพชฌฆาตได้ทำตามนั้น ทรงตัดสินว่าต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
- ภิกษุรูปหนึ่ง ถามพวกญาติที่เลี้ยงดูหลานที่มีมือและเท้าด้วนว่าอยากให้หลานตายบ้างไหม เมื่อพวกญาติตอบว่าอยาก จึงแนะนำว่าถ้าเช่นนั้นก็จงให้ดื่มเปรียง พวกญาติจึงให้หลานดื่มเปรียงเข้าไป เด็กได้ตายไป ทรงตัดสินว่าต้องอาบัติปาราชิกแล้ววินีตวัตถุในสิกขาบทนี้ที่ท่านบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกยังมีอีกมากเรื่อง เมื่อสนใจพึงค้นหามาอ่านเถิด