ปาราชิก สิกขาบทที่ ๒ ภิกษุถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ได้ราคา ๕ มาสกต้องปาราชิก

วันที่ 03 มค. พ.ศ.2565

ปาราชิก สิกขาบทที่ ๒ ภิกษุถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ได้ราคา ๕ มาสกต้องปาราชิก

ปาราชิก สิกขาบทที่ ๒

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ

         “อนึ่ง ภิกษุใดถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมยจากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี พระราชาทั้งหลายจับโจรได้แล้วประหารเสียบ้าง จองจำไว้บ้างเนรเทศเสียบ้าง ด้วยบริภาษว่า เจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นคนหลง เจ้าเป็นขโมยในเพราะถือเอาทรัพย์อันเจ้าของมิได้ให้เห็นปานใด ภิกษุถือเอาทรัพย์อันเจ้าของมิได้ให้เห็นปานนั้น แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท

         “ภิกษุถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ได้ราคา ๕ มาสกต้องปาราชิก”

อธิบายความโดยย่อ
       คำว่า บ้าน หมายถึงภูมิประเทศที่เป็นหมู่บ้าน มีบ้านเรือนอยู่อาศัยกันหลังเดียวก็ตาม หลายหลังก็ตาม มีคนอยู่ก็ตาม ไม่มีคนอยู่ก็ตาม มีรั้วล้อมหรือไม่มีรั้วล้อมก็ตาม โดยที่สุดแม้หมู่เกวียนที่พักอยู่เกิน ๔ เดือน จัดว่าเป็นบ้านในที่นี้ได้ทั้งสิ้น

         คำว่า อุปจารบ้าน หมายถึงระยะห่างจากบ้านที่ชายผู้มีกำลังปานกลางยืนอยู่ที่เสาเขื่อนที่ล้อมรั้วไว้ของบ้านขว้างก้อนดินไปตก หรือระยะห่างจากเรือนของหมู่บ้านที่มิได้ล้อมรั้วไว้ขว้างก้อนดินไปตก

         คำว่า ป่า หมายถึงสถานที่ที่เว้นหมู่บ้านและอุปจารหมู่บ้านไปแล้วนอกนั้นจัดเป็นป่าทั้งสิ้น

         คำว่า ทรัพย์อันเจ้าของมิได้ให้ หมายถึงทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ไม่ได้เสียสละ ไม่ได้ละวาง ยังรักษา ยังปกครองอยู่ยังถือเป็นกรรมสิทธิ์อยู่ว่าเป็นของเรา ยังมีผู้อื่นหวงแหน
         คำว่า ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย หมายถึงมีจิตคิดขโมย มีจิตคิดลัก
         คำว่า ถือเอา หมายถึงยึดเอา เอาไป ลัก เคลื่อนไหวอิริยาบถ ให้เคลื่อนจากที่ ไม่ล่วงเลยเขตหมาย
         คำว่า เห็นปานใด หมายถึงทรัพย์มีราคาบาทหนึ่งก็ดีควรค่าบาทหนึ่งก็ดีเกินกว่าบาทหนึ่งก็ดี
         คำว่า โจร หมายถึงผู้ที่ถือเอาสิ่งของอันเขามิได้ให้ได้ราคา ๕ มาสก หรือบาทหนึ่งก็ดีเกินกว่า ๕ มาสกก็ดีด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย

         คำว่า เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้มีข้อความดังกล่าวแล้วในปาราชิกสิกขาบทที่ ๑

ประเด็นสำคัญในสิกขาบทนี้

        ในสิกขาบทนี้มีประเด็นสำคัญอยู่ที่ทรัพย์ ราคาของทรัพย์ อาการที่ขโมย จิตของเจ้าของทรัพย์

        ทรัพย์ ในสิกขาบทนี้ใช้หมายถึงทรัพย์สมบัติอันมีค่าทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ที่เป็นแผ่นดิน ที่อยู่ในดิน ที่อยู่บนบก ลอยอยู่บนอากาศ หรืออยู่ณ ที่ใดก็ตาม หรือเป็นธรรมชาติเช่นน้ำ ป่าไม้เป็นสัตว์ชนิดต่างๆ จัดว่าเป็นทรัพย์ทั้งสิ้น

        รวมความแล้วทรัพย์ที่เกี่ยวกับสิกขาบทนี้มี๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ

        (๑) สังหาริมทรัพย์ คือ ทรัพย์อันเคลื่อนที่ได้ ทั้งที่เป็นสวิญญาณกทรัพย์คือทรัพย์ที่มีชีวิตเช่น ช้างวัวควายเป็ดไก่สุนัขและที่เป็นอวิญญาณกทรัพย์คือทรัพย์ที่ไม่มีชีวิต เช่น เงิน ทอง เครื่องประดับ เสื้อผ้า

        (๒) อสังหาริมทรัพย์ คือ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้อันอยู่กับที่ ได้แก่ ที่ดิน โดยอ้อมหมายรวมถึงทรัพย์สินที่ติดอยู่กับที่ดินนั้น เช่น อาคารบ้านเรือนต้นไม้ เข้าด้วย

        ราคาของทรัพย์ ท่านกำหนดราคาของทรัพย์ไว้ว่า ตั้งแต่ ๕ มาสกขึ้นไปจึงเป็นปาราชิก ๕ มาสกนั้นมีค่าเท่ากับ ๑ บาท สมัยก่อนถือว่าเป็นอัตราค่อนข้างสูง แต่ปัจจุบันถือว่าเล็กน้อย แต่ก็มิได้ปรับให้สูงขึ้นตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน ยังคงใช้อัตราเดิมคือ ๕ มาสกเท่ากับ ๑ บาทเหมือนเดิม

        ในกรณีที่เป็นของเก่าที่เขาใช้แล้ว ราคาย่อมตกไป ถ้าราคาตกไปต่ำกว่า ๕ มาสก ก็ไม่เป็นปาราชิก และในกรณีของเล็กน้อยต่างชนิดกัน เช่น เกลือ น้ำตาล ข้าวสาร ภิกษุไปขโมยมาอย่างละหน่อย แต่ละอย่างราคาไม่ถึง ๕ มาสก ถ้าไปทำโจรกรรมมาในคราวเดียว ให้เอาราคามารวมกันได้ถ้ารวมกันแล้วเกิน ๕ มาสก ก็เป็นปาราชิก

        อาการที่ขโมย นั้นมีรายละเอียดมาก โดยเฉพาะอาการที่เรียกว่าขโมย ท่านแสดงรายละเอียดไว้คือ

        (๑) ลัก ได้แก่การมีไถยจิตคิดเอาไป ยกหรือย้ายทำให้เคลื่อนจากฐาน พอทรัพย์พ้นจากที่ตั้ง เป็นปาราชิก

        (๒) ชิง หรือ วิ่งราว ได้แก่ การชิงเอาทรัพย์ที่เขาถือ พกพา หรือ ประดับติดตัวอยู่ พอทรัพย์พ้นจากอวัยวะอันเป็นฐาน เช่น จากมือ จากคอจากกระเป๋า เป็นปาราชิก

        (๓) ลักต้อน ได้แก่การขับต้อนไป ลากจูงไป อุ้มไป ซึ่งปศุสัตว์สัตว์ที่ใช้เป็นพาหนะ หรือสัตว์เลี้ยงประดับ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย เป็ด ไก่ แมว ปลา ถ้าเป็นสัตว์สองเท้า เมื่อเท้าที่สองพ้นจากฐาน เป็นปาราชิก ถ้าเป็นสัตว์สี่เท้า เมื่อเท้าที่สี่พ้นจากฐาน เป็นปาราชิก

        (๔) แย่ง ได้แก่การมีไถยจิตแย่งเอาของซึ่งคนถือทำตกหล่นไว้พอหยิบของนั้นขึ้นจากที่ เป็นปาราชิก

        (๕) ลักสับ ได้แก่ การมีไถยจิตสับสลาก โดยหมายจะเอาลาภของผู้อื่นที่ดีกว่า มีราคาดีกว่า หรือสับของ โดยเอาของราคาน้อยสับกับของราคามาก เพื่อประโยชน์ส่วนตัว เป็นปาราชิก

        (๖) ตู่ เช่น การกล่าวตู่เพื่อจะเอาที่ดินของผู้อื่น เจ้าของที่ดินไม่ฉลาดนัก เถียงไม่ขึ้น จึงทอดกรรมสิทธิ์ของตนไป เป็นปาราชิกเมื่อเขาทอดกรรมสิทธิ์

        ถ้าเจ้าของยังไม่ทอดกรรมสิทธิ์มีการฟ้องร้องเป็นความกันในศาลเมื่อคดีความยังไม่เสร็จสิ้น ยังไม่เป็นปาราชิกก่อน เมื่อคดีถึงที่สุดในระดับศาลชั้นใดชั้นหนึ่ง เจ้าของที่ดินแพ้ภิกษุเป็นปาราชิก

        แม้ในกรณีที่ภิกษุฟ้องร้องเองเพื่อตู่เอาที่ดินของคนอื่น เมื่อตนชนะคดีเป็นปาราชิกเหมือนกัน

        ภิกษุมีเจตนาเอาที่ดินของคนอื่น จึงปักเขตรุกเข้าไปในที่ดินของเขาเป็นปาราชิกในขณะทำเสร็จ

        ถ้ารื้อถอนทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์โดยอ้อมออกจากที่ เช่น ฟัน ถอน หรือรื้ออาคารบ้านเรือน กำหนดว่าเป็นปาราชิกเมื่อทำให้ทรัพย์นั้นเคลื่อนจากที่สำเร็จ

        (๗) ฉ้อ ได้แก่การที่รับของฝากไว้แต่มีไถยจิตคิดยึดไว้เมื่อเจ้าของมาทวงคืน กลับปฏิเสธว่าไม่ได้รับไว้หรือบอกว่าได้ให้คืนไปแล้ว เมื่อเจ้าของขาดกรรมสิทธิ์เป็นปาราชิก

        (๘) ยักยอก ได้แก่การที่ทำหน้าที่เป็นภัณฑาคาริกคอยรักษาคลังพัสดุแต่มีไถยจิตนำสิ่งของที่ต้องการออกไปจากเขตที่ตนรักษา นำออกไปพ้นเขตแล้ว เป็นปาราชิก

        (๙) ตระบัด ได้แก่การที่นำของที่ต้องเสียภาษีมา เมื่อผ่านด่านเก็บภาษีซ่อนของนั้นเสีย หรือของมีมาก นำออกมาเปิดเผยเสียภาษีบางส่วน ซ่อนไว้เสียบางส่วน เมื่อนำของนั้นพ้นด่านภาษีไป เป็นปาราชิก

        ข้อนี้มีข้อยกเว้น คือ ถ้าได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่เก็บภาษีหรือมีคนซ่อนของเสียภาษีไว้ในย่ามหรือในกระเป๋าของภิกษุ โดยที่ตนไม่รู้อย่างนี้ท่านว่าไม่ต้องอาบัติ

        (๑๐) ปล้น ได้แก่การที่ชวนกันทำโจรกรรม จะลงมือเองก็ตาม มิได้ลงมือก็ตาม เป็นปาราชิกทุกรูป

        (๑๑) หลอกลวง ได้แก่ การที่ทำของปลอม เช่นทำเงินปลอม ทำทองปลอม แล้วนำไปหลอกขายผู้อื่นโดยบอกว่าเป็นของแท้ได้ราคามาตามที่กำหนด หรือชั่งตวงสิ่งของด้วยเครื่องชั่งโกง ตราชั่งโกง เป็นปาราชิก

        (๑๒) กดขี่ หรือ กรรโชก ได้แก่ การที่ใช้อำนาจข่มเหงเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือขู่ว่าจะทำร้าย ทำให้เจ้าของทรัพย์กลัว จำต้องให้เป็นปาราชิกเมื่อได้ของมา

        (๑๓) ลักซ่อน ได้แก่ การที่เห็นคนทำของตก มีไถยจิตเอาดินกลบเสีย ใช้ใบไม้เป็นต้นปิดบังไว้เสีย หรือเขาเผลอวางของไว้ในที่แห่งหนึ่ง นำไปซ่อนเสียในที่อีกแห่งหนึ่ง โดยเจตนาจะกลับมาเอาในภายหลัง เป็นปาราชิกเมื่อทำเสร็จ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้
        สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติขึ้น เพื่อให้ภิกษุปล่อยวางได้ไม่โลภอยากได้จนเกินเหตุ ให้ดำรงชีวิตอยู่ได้แบบประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย มิใช่อยู่แบบไม่พอเพียงจนถึงกับไปลักไปขโมยสิ่งของของคนอื่นที่เขาไม่อนุญาตให้อันเป็นการกระทำที่ผิด เป็นการทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น

        อนึ่ง ทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ไว้เพื่อให้ภิกษุเคารพกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น ป้องกันมิให้ประพฤติมักง่าย เห็นแก่ได้เห็นแก่ตัว ไม่คำนึงถึงความทุกข์ของผู้อื่น โดยทำลายความดีงามและศักดิ์ศรีของตัวด้วยการไปถือสิ่งของของผู้อื่นมา หรือเห็นแก่ปากแก่ท้องไปเด็ดหรือลักผลไม้ในสวนของชาวบ้านมาขบฉันโดยอิสระ โดยเจ้าของไม่รู้หรือไม่อนุญาต
        เพราะการถือเอาสิ่งของของผู้อื่นมาด้วยอาการแห่งขโมยนั้น
        - เป็นการละเมิดกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น
        - เป็นการหาเลี้ยงชีพในทางที่ผิด
        - เป็นการเห็นแก่ตัว ไม่มองถึงความทุกข์ของผู้อื่น
        - เป็นการทำลายความดีของตนเอง

การต้องอาบัติเพราะสั่ง
        สิกขาบทนี้เป็น สาณัตติกะ คือต้องปาราชิกเพราะสั่ง กล่าวคือ เมื่อภิกษุมีไถยจิตคิดเอาทรัพย์ของผู้อื่น ไม่กล้าลงมือเอง แต่สั่งให้คนอื่นทำโจรกรรมทรัพย์สินนั้น จะสั่งต่อเดียวสั่งเจาะจงทรัพย์สั่งด้วยการบอกใบ้เช่น ชี้นิ้ว พยักหน้า สั่งกำหนดเวลา สั่งหลายต่อ หรือสั่งด้วยการใช้สำนวน แต่ผู้ฟังเข้าใจความต้องการ อาการเหล่านี้จัดเป็นการสั่งทั้งสิ้นการสั่งเช่นนี้เป็นเหตุให้เป็นปาราชิกก็มีไม่เป็นก็มีดังนี้

        (๑) ภิกษุสั่งให้ไปทำโจรกรรม ผู้รับสั่งไปทำตามนั้น ได้ของมา จะเป็นวันเวลาใดก็ตาม ผู้สั่งเป็นปาราชิกถ้าสั่งแล้วได้สติขึ้นมาจึงห้ามเสียก่อน ก่อนที่ผู้รับสั่งจะไปทำโจรกรรมแต่ผู้รับสั่งไปทำโจรกรรมโดยพลการ แบบนี้ผู้สั่งไม่ต้องอาบัติ

        (๒) ภิกษุสั่งเจาะจงทรัพย์เช่น สั่งให้ไปลักจีวร ผู้รับสั่งไปลักจีวรมาได้ตามสั่ง เป็นปาราชิก แต่ถ้าผู้รับสั่งไปลักบาตรมา ภิกษุผู้สั่งไม่ต้องอาบัติ

        (๓) ภิกษุสั่งด้วยทำนิมิตหรือบอกใบ้เช่น พยักหน้าหรือขยิบตาบอกใบ้ให้หยิบทรัพย์ออกมา เมื่อผู้รับสั่งเข้าใจความหมาย ไปหยิบทรัพย์นั้นออกมาได้สำเร็จ ภิกษุผู้สั่งเป็นปาราชิก

        (๔) ภิกษุสั่งกำหนดเวลา เช่น สั่งให้ไปขโมยของเวลากลางคืน ถ้าผู้รับสั่งไปขโมยของมาได้ในเวลานั้น ภิกษุผู้สั่งเป็นปาราชิก แต่ถ้าไปขโมยของมาได้ในเวลาเช้าหรือในเวลาเย็น ถือว่าผิดเวลา ผู้สั่งไม่ต้องอาบัติ

        (๕) ภิกษุสั่งหลายต่อ เช่น สั่งให้ภิกษุแดงไปบอกภิกษุดำให้ไปทำโจรกรรม เมื่อภิกษุทำโจรกรรมสำเร็จเป็นปาราชิกทั้งสามรูป แต่ถ้าเกิดลักลั่นเช่น สั่งให้ภิกษุแดงไปบอกภิกษุดำให้ไปทำโจรกรรม แต่ภิกษุแดงกลับไปบอกให้ภิกษุขาวไปทำโจรกรรม อย่างนี้ถือว่าผิดตัวเมื่อภิกษุขาวไปทำโจรกรรมสำเร็จภิกษุผู้สั่งไม่เป็นอาบัติแต่ภิกษุแดงกับภิกษุขาวเป็นปาราชิก

        (๖) ภิกษุสั่งด้วยใช้สำนวน เป็นการพูดไม่ตายตัว แต่ก็ชัดเจนพอที่ผู้ฟังเข้าใจความประสงค์ได้ผู้ฟังจึงไปทำโจรกรรมมาได้ตามประสงค์อย่างนี้ผู้สั่งเป็นปาราชิก

องค์แห่งอาบัติ
        ในพระวินัยปิฎกว่าด้วยสิกขาบทนี้ท่านแสดง องค์แห่งอาบัติ คือ ข้อกำหนดที่จะเป็นความผิดและมีโทษเป็นอาบัติเข้าไว้ถือว่าเป็นแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันมิให้เกิดการละเมิด และเป็นแนวการวินิจฉัยตัดสินเมื่อมีการล่วงละเมิดเกิดขึ้น องค์แห่งอาบัตินั้นดังนี้

        ภิกษุผู้ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้ ต้องอาบัติปาราชิกด้วยอาการ  ๕ อย่าง คือ

     (๑)     ทรัพย์มีผู้อื่นครอบครอง
     (๒)     มีความสำคัญว่าเป็นทรัพย์ที่มีผู้อื่นครอบครอง
     (๓)     ทรัพย์มีค่ามาก ได้ราคา ๕ มาสกหรือเกินกว่า ๕ มาสก    
     (๔)     มีไถยจิต (คิดจะลัก) ปรากฏขึ้น
     (๕)     ภิกษุจับต้องต้องอาบัติทุกกฏ ทำ ให้ไหวต้องอาบัติถุลลัจจัย 
               ทำให้เคลื่อนจากที่ตั้ง ต้องอาบัติปาราชิก

        อนึ่ง ท่านแสดงองค์แห่งอาบัติในสิกขาบทนี้ไว้อีกนัยหนึ่งว่า

        ภิกษุผู้ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้ ต้องอาบัติปาราชิกด้วยอาการ ๖ อย่าง คือ
        (๑)     ไม่มีความสำคัญว่าเป็นของของตน
        (๒)     ไม่ได้ถือเอาด้วยวิสาสะ (ความคุ้นเคย สนิทสนม)
        (๓)     ไม่ได้ถือเอาเป็นของขอยืม
        (๔)     ทรัพย์มีค่ามาก ได้ราคา ๕ มาสกหรือเกินกว่า ๕ มาสก    
        (๕)     มีไถยจิตปรากฏขึ้น
        (๖)     ภิกษุจับต้องต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหวต้องอาบัติถุลลัจจัย
               ทำให้เคลื่อนจากที่ตั้ง ต้องอาบัติปาราชิก
        และในพระวินัยปิฎกนั้นท่านได้แสดงองค์แห่งอาบัติที่ลดหย่อนลงมาคือเป็นถุลลัจจัย เป็นทุกกฏไว้อีกหลายหมวด ซึ่งทำให้เกิดความชัดเจนและเป็นแนวทางสำหรับวินิจฉัยเพื่อปรับโทษหรือเพื่อรู้ความผิดของตัวเมื่อล่วงละเมิดได้ง่ายขึ้น

อนาปัตติวาร
        ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ
        (๑) ภิกษุผู้มีความสำคัญว่าเป็นของของตน คือไปหยิบของผู้อื่นมาด้วยเข้าใจผิดว่าเป็นของตน เพราะมีลักษณะใกล้เคียงหรือเหมือนกับของตน

        (๒) ภิกษุผู้ถือเอาด้วยวิสาสะ คือไปหยิบใช้หรือหยิบฉันด้วยความคุ้นเคย ด้วยความสนิทสนม ด้วยคิดว่าเป็นกันเอง เจ้าของรู้ก็คงไม่ว่าอะไร

        (๓) ภิกษุผู้ถือเอาเป็นของขอยืม คือนำของของผู้อื่นมาใช้โดยคิดว่าขอยืมมาใช้โดยไม่บอกเจ้าของ หรือเจ้าของไม่อยู่ เช่น มีด จอบ เสียมกระป๋องน้ำ

        (๔) ภิกษุผู้ถือเอาทรัพย์อันเปรตครอบครองคือนำสิ่งของที่ถูกทิ้งไว้ตามป่าช้า ข้างถนน เป็นต้นมาใช้

        (๕) ภิกษุผู้ถือเอาทรัพย์อันสัตว์ดิรัจฉานคุ้มครองคือนำเศษเนื้อหรือกระดูกสัตว์ที่เสือเป็นต้นฆ่าแล้วกินเหลือบางส่วนมาเป็นอาหาร

        (๖) ภิกษุผู้มีความสำคัญว่าเป็นของบังสุกุลคือคิดว่าเป็นของที่เขาทิ้งแล้ว ไม่มีเจ้าของ เช่น ผ้าตามกองขยะ ตามชายหาด นำมาทำเป็นจีวรห่ม

        (๗) ภิกษุผู้วิกลจริต คือภิกษุบ้า ขาดสติสัมปชัญญะ

        (๘) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือผู้เป็นอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระธนิยะ บุตรของช่างปั้นหม้อ

วินีตวัตถุ
        วินีตวัตถุเรื่องที่พระพุทธองค์ทรงวินิจฉัยแล้วในสิกขาบทนี้มีจำนวนมาก เช่น

        - ภิกษุรูปหนึ่งเห็นผ้าที่ลานตากผ้ามีราคามากจึงเกิดไถยจิตขึ้น ทรงตัดสินว่าไม่เป็นอาบัติเพราะเป็นแค่คิด ยังมิได้ลัก

        - ภิกษุรูปหนึ่งเห็นผ้าที่ลานตากผ้าสวยงามและมีราคา ไม่มีไถยจิตจับต้องผ้านั้น ทรงตัดสินว่าไม่อาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติทุกกฏ

        - ภิกษุรูปหนึ่งเห็นผ้าที่ลานตากผ้ามีราคา มีไถยจิตทำผ้านั้นให้ไหวทรงตัดสินว่าไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย

        - ภิกษุรูปหนึ่งเห็นผ้าที่ลานตากผ้า มีไถยจิตทำผ้านั้นให้เคลื่อนจากที่ตั้ง ทรงตัดสินว่าเป็นปาราชิก

        - ภิกษุรูปหนึ่งเห็นทรัพย์ตอนกลางวัน ทำ เครื่องหมายไว้ตอนกลางคืนไปหยิบทรัพย์อื่นมา ทรงตัดสินว่าเป็นปาราชิก

        - ภิกษุรูปหนึ่งนำทรัพย์ของผู้อื่นทูนศีรษะไป มีไถยจิตจับต้องของนั้น ทรงตัดสินว่าไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติทุกกฏ

        - ภิกษุรูปหนึ่งนำทรัพย์ของผู้อื่นไป มีไถยจิตวางของที่อยู่ในมือนั้นลงที่พื้น ทรงตัดสินว่าเป็นปาราชิก

        - ภิกษุรูปหนึ่งเก็บจีวรที่ภิกษุอีกรูปหนึ่งผึ่งไว้กลางแจ้งด้วยหวังดีว่าจีวรจะได้ไม่หาย เจ้าของมาถามว่าใครเอาจีวรของตนไป ภิกษุผู้เก็บจีวรไว้ตอบว่าตนเอาไปเอง เจ้าของบอกว่าท่านมิใช่สมณะแล้ว ทรงตัดสินว่าไม่เป็นอาบัติเพราะตอบตามคำถามนำ       

        - ภิกษุรูปหนึ่งเห็นผ้าสาฎกถูกลมพัดปลิวไปจึงเก็บไว้ด้วยตั้งใจว่าจักคืนให้เจ้าของ เจ้าของผ้าโจทว่าท่านไม่เป็นสมณะ ทรงตัดสินว่าไม่ต้องอาบัติเพราะไม่มีไถยจิต

        - พระอานนท์สรงน้ำในเรือนไฟเสร็จแล้วหยิบผ้านุ่งซึ่งเป็นของภิกษุอื่นมานุ่งโดยเข้าใจว่าเป็นของตน เมื่อเจ้าของถามว่าทำไมจึงนำผ้าของตนมานุ่ง พระอานนท์ตอบว่าตนเข้าใจผิด ทรงตัดสินว่า ภิกษุผู้มีความเข้าใจว่าเป็นของตน ไม่ต้องอาบัติ

        - ภิกษุหลายรูปลงมาจากเขาคิชฌกูฏ พบเนื้ออันเป็นเดนราชสีห์จึงใช้ให้อนุปสัมบันต้มแกงแล้วฉันกัน ทรงตัดสินว่า ไม่เป็นอาบัติเพราะเนื้อเดนราชสีห์

        - ภิกษุรูปหนึ่ง เมื่อมีการแจกข้าวสุกของสงฆ์อยู่ เข้าไปบอกว่าขอให้ให้ส่วนเพื่อภิกษุรูปอื่นด้วย โดยที่ไม่ได้บอกว่าภิกษุรูปอื่นนั้นคือใคร มีตัวตนจริงหรือไม่ แล้วรับส่วนที่เขาให้นั้นไป ซึ่งเป็นการกล่าวเท็จโดยไม่มีมูลทรงตัดสินว่า ไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติปาจิตตีย์เพราะสัมปชานมุสาวาท (จงใจกล่าวเท็จทั้งรู้ตัวและรู้ความจริงอยู่)

        - ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปยังร้านขายเนื้อ มีไถยจิตลักเนื้อไปเต็มบาตรทรงตัดสินว่าเป็นปาราชิก

        - ภิกษุรูปหนึ่งเห็นบริขารตอนกลางวัน จึงทำเครื่องหมายไว้ตั้งใจว่าจะมานำของไปตอนกลางคืน พอถึงกลางคืนได้มานำของไปโดยแน่ใจว่าเป็นของชิ้นนั้น แต่เป็นของคนละชิ้นกัน ทรงตัดสินว่าเป็นปาราชิก(เพราะเป็นการลักขโมยของโดยตรง จะเป็นชิ้นที่กำหนดไว้หรือชิ้นอื่นก็เป็นของที่เจ้าของมิได้ให้เหมือนกัน)

        - ภิกษุรูปหนึ่งเห็นถุงวางอยู่บนตั่งคิดว่าถ้าหยิบไปเฉพาะถุงจะเป็นความผิด จึงยกตั่งไปด้วย ทรงตัดสินว่า เป็นปาราชิก

        - ภิกษุสองรูปเป็นเพื่อนกัน รูปหนึ่งเข้าไปบิณฑบาต อีกรูปหนึ่งเข้าไปรับอาหารในหอฉันและรับส่วนของเพื่อนมาด้วยรับไปแล้วถือวิสาสะฉันส่วนของเพื่อนไป เพื่อนกลับมาแล้วได้ถามขึ้น ทราบความแล้วโจทภิกษุผู้ฉันอาหารนั้นว่าไม่เป็นสมณะ ทรงตัดสินว่า ไม่เป็นอาบัติเพราะถือวิสาสะ

        - ภิกษุรูปหนึ่งเมื่อเขากำลังแจกของเคี้ยวแก่สงฆ์ในเวลาทำจีวรกันอยู่ ได้นำบาตรของภิกษุรูปอื่นไปรับอาหารส่วนของตนมาวางไว้เจ้าของบาตรสำคัญว่าเป็นอาหารส่วนของตนจึงฉันอาหารนั้น ภิกษุผู้ไปรับแจกมาทราบเข้าจึงโจทว่าไม่เป็นสมณะแล้ว ทรงตัดสินว่า ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้มีความสำคัญว่าเป็นของตน

        - ภิกษุหลายรูป เมื่อพวกโจรลักมะม่วงเขามาแล้วห่อผ้าไว้เจ้าของติดตามมาจึงทิ้งห่อนั้นแล้วหนีไป จึงหยิบห่อมะม่วงนั้นมาด้วยสำคัญว่าเป็นของบังสุกุล ปราศจากเจ้าของ แล้วเปิดขบฉันกัน เจ้าของมะม่วงมาพบเข้าจึงโจทว่าพวกท่านไม่เป็นสมณะ ทรงตัดสินว่า ภิกษุผู้มีความสำคัญว่าเป็นของบังสุกุลไม่ต้องอาบัติ

        - ภิกษุหลายรูป เมื่อพวกโจรลักมะม่วงเขามาแล้วห่อผ้าไว้ถูกเจ้าของติดตามมา รีบวิ่งหนีไปโดยทำมะม่วงหล่นจากห่อไว้ตามรายทาง เห็นมะม่วงนั้นเข้าก็มีไถยจิตเกิดขึ้น กลัวว่าเจ้าของมะม่วงจะมาเห็นมะม่วงก่อนจึงรีบเก็บมาฉันกัน เจ้าของมะม่วงจึงโจทว่าท่านไม่เป็นสมณะ ทรงตัดสินว่า
ต้องอาบัติปาราชิกแล้ว

        - ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิตลักมะม่วงในวัดอันเป็นของสงฆ์ทรงวินิจฉัยว่า ต้องอาบัติปาราชิกแล้ว

        - ภิกษุรูปหนึ่งเดินทางไกลไปกับบุรุษคนหนึ่ง เมื่อจะผ่านด่านเก็บภาษีบุรุษนั้นจึงนำแก้วมณีราคาแพงหย่อนไว้ในย่ามของภิกษุโดยที่ภิกษุไม่รู้เมื่อพ้นด่านแล้ว บุรุษนั้นได้ขอแก้วมณีคืนจากภิกษุทรงตัดสินว่า ภิกษุไม่รู้ตัวไม่ต้องอาบัติ

        - ภิกษุรูปหนึ่งเดินทางไกลไปกับกองเกวียน เมื่อถึงด่านภาษีบุรุษคนหนึ่งเกลี้ยกล่อมภิกษุด้วยอามิสสินจ้าง ขอร้องว่าขอให้ช่วยนำแก้วมณีดวงนี้ผ่านด่านภาษีให้ด้วยแล้วส่งแก้วมณีราคาแพงให้ภิกษุถือไว้ภิกษุนั้นถือแก้วมณีผ่านด่านภาษีไป ผ่านด่านแล้วบุรุษนั้นก็มาขอแก้วมณีคืน ทรงตัดสินว่าภิกษุนั้นต้องอาบัติปาราชิกแล้ว

        วินีตวัตถุในสิกขาบทนี้มีจำนวนมาก มีปรากฏอยู่ในพระวินัยปิฎกสามารถหาอ่านทำความเข้าใจได้นำบางส่วนมาแสดงพอเป็นตัวอย่างเท่านั้น

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.002000097433726 Mins