วรรคที่ ๔ โภชนวรรค ว่าด้วยโภชนะ

วันที่ 26 กพ. พ.ศ.2566

วรรคที่ ๔ โภชนวรรค ว่าด้วยโภชนะ

วรรคที่ ๔ โภชนวรรค
ว่าด้วยโภชนะ

โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๑

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
        “ภิกษุมิใช่ผู้อาพาธ พึงฉันอาหารในโรงพักแรมได้ครั้งหนึ่ง ถ้าฉันเกินกว่านั้นเป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “อาหารในโรงทานที่ทำทั่วไปไม่นิยมบุคคล ภิกษุไม่เจ็บไข้ฉันได้แต่เฉพาะวันเดียว ต้องหยุดเสียในระหว่าง ต่อไปจึงฉันได้อีกถ้าฉันติดๆ กันตั้งแต่สองวันขึ้นไป ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
      คำว่า โรงพักแรม คือโรงทานที่เขาจัดอาหาร คือข้าวสุก ขนมสด ของแห้ง ปลา เนื้อ ไว้เพื่อแจกคนทั่วไปไม่เจาะจง เช่นนักบวชหรือคนเดินทางอาหารในโรงทานเช่นนี้ภิกษุจะเข้าไปฉันได้เพียงวันเดียว ห้ามเข้าไปฉันสองวันติดต่อกัน หรือปักหลักฉันทุกวันไม่ไปที่อื่น เพื่อเฉลี่ยอาหารให้ถึงผู้อื่นที่ผ่านมา ยกเว้นเข้าไปฉันวันเว้นวัน ภิกษุอาพาธ และภิกษุที่ได้รับนิมนต์จากเจ้าของโรงทาน เข้าไปฉันได้ตามอาการและตามที่นิมนต์

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
      สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อมิให้ภิกษุผู้ไม่อาพาธเห็นแก่ตัว เข้าไปฉันในโรงทานตามชอบใจด้วยเห็นว่ามีอาหารพร้อม ไม่ต้องบิณฑบาตและเพื่อเฉลี่ยอาหารในโรงทานให้ทั่วถึงตามเจตนารมณ์ของผู้ตั้งโรงทาน

อนาปัตติวาร
ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
      (๑) ภิกษุอาพาธ 
      (๒) ภิกษุมิใช่ผู้อาพาธฉันครั้งเดียว 
      (๓) ภิกษุเดินทางไปและเดินทางกลับมาแวะฉัน 
      (๔) เจ้าของนิมนต์ให้ฉัน 
      (๕) เป็นอาหารที่เขาจัดตั้งไว้จำเพาะ 
      (๖) เป็นอาหารที่เขามิได้จัดตั้งไว้พอแก่ความต้องการ 
      (๗) ไม่ต้องอาบัติในเพราะอาหารทุกชนิดในโภชนะห้า 
      (๘) ภิกษุผู้วิกลจริต 
      (๙) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์


โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๒
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
      “เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะฉันเป็นหมู่ เว้นไว้แต่สมัย สมัยในเรื่องนั้นดังนี้ คือคราวอาพาธคราวที่เป็นฤดูถวายจีวร คราวที่ทำจีวร คราวที่เดินทางไกล คราวที่โดยสารเรือไป คราวภัตของสมณะ นี้เป็นสมัยในเรื่องนั้น”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ถ้าทายกเขามานิมนต์ออกชื่อโภชนะทั้งห้าอย่าง คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ อย่างใดอย่างหนึ่งถ้าไปรับของนั้นมาหรือฉันของนั้นพร้อมกันตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ต้องปาจิตตีย์เว้นไว้แต่สมัย คือ เป็นไข้อย่าง ๑ ไปทางเรืออย่าง ๑ อยู่มากด้วยกันบิณฑบาตไม่พอฉัน อย่าง ๑ โภชนะเป็นของสมณะอย่าง ๑”

อธิบายความโดยย่อ
        คำว่า ฉันเป็นหมู่คือ ภิกษุ ๔ รูปขึ้นไปได้รับนิมนต์ด้วยการออกชื่ออาหาร ๕ อย่าง คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ แล้วฉันด้วยกันด้วยการนั่งล้อมวงฉัน หรือนั่งเรียงเป็นแถวแบบพราหมณ์ฉัน

สิกขาบทนี้มุ่งไปที่ออกชื่ออาหาร ๕ อย่างและฉันเป็นหมู่ จึงจะเป็นอาบัติ

การฉันเป็นหมู่นี้ทรงอนุญาตไว้เป็นกรณีพิเศษ คือในคราวอาพาธในคราวเป็นฤดูถวายจีวร (คือถ้ามิได้กรานกฐิน มีระยะเวลา ๑ เดือนหลังออกพรรษาถ้าได้กรานกฐิน มีระยะเวลาถึงกลางเดือน ๔) ในคราวทำจีวร ในคราวเดินทางไกล ในคราวโดยสารเรือไป ในคราวประชุมใหญ่ และในคราวภัตของสมณะ (คือคราวที่ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งนับเนื่องว่าเป็นนักบวชทำภัตตาหารถวาย ภิกษุคิดว่าเป็นคราวภัตของสมณะ ก็พึงฉันได้)

และมีข้อยกเว้นให้ฉันเป็นหมู่ได้ตามที่ท่านแสดงไว้ในอนาปัตติวารแห่งสิกขาบทนี้

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
        สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อมิให้ภิกษุละวางสติในขณะขบฉัน เพราะการฉันเป็นหมู่นั้นมักจะมีการพูดคุยกัน มักจะเผลอฉันอย่างไม่สำรวม และไม่ระวังกิริยาอาการ ทำให้ผู้พบเห็นเสื่อมศรัทธาได้เป็นการป้องกันมิให้ภิกษุฉันแบบอดอยากหิวโหย ดังเรื่องที่เป็นมูลเหตุให้ทรงบัญญัติสิกขาบทนี้

อนาปัตติวาร
ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ
      (๑) ภิกษุฉันในสมัย 
      (๒) ภิกษุ ๒-๓ รูปฉันรวมกัน 
      (๓) ภิกษุหลายรูปเที่ยวบิณฑบาตแล้วประชุมฉันร่วมกัน 
      (๔) ภัตตาหารที่เขาถวายเป็นนิจ 
      (๕) ภัตตาหารที่เขาถวายตามสลาก 
      (๖) ภัตตาหารที่เขาถวายในปักษ์(คือทุกกึ่งเดือน) 
      (๗) ภัตตาหารที่เขาถวายในวันอุโบสถ
      (๘) ภัตตาหารที่เขาถวายในวันปาฏิบท (คือวันขึ้น ๑ ค่ำและวันแรม ๑ ค่ำ) 
      (๙) ไม่ต้องอาบัติในเพราะอาหารทุกชนิด เว้นโภชนะ ๕ 
      (๑๐) ภิกษุผู้วิกลจริต 
      (๑๑) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ หรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระเทวทัตกับภิกษุบริวาร

โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๓
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
        “เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะโภชนะทีหลัง เว้นไว้แต่สมัย สมัยในเรื่องนั้นดังนี้ คือคราวอาพาธ คราวที่เป็นฤดูถวายจีวร คราวที่ทำจีวร นี่เป็นสมัยในเรื่องนั้น”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุรับนิมนต์แห่งหนึ่งด้วยโภชนะทั้งห้าอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ไม่ไปฉันในที่นิมนต์นั้น ไปฉันเสียที่อื่น ต้องปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ยกส่วนที่รับนิมนต์ไว้ก่อนนั้นให้แก่ ภิกษุอื่นเสีย หรือหน้าจีวรกาลและเวลาทำจีวร”

อธิบายความโดยย่อ
        สิกขาบทนี้มีมูลเหตุว่า พระพุทธองค์ทรงรับนิมนต์พร้อมภิกษุสงฆ์ฉันภัตตาหารที่บ้านกรรมกรคนหนึ่ง ภิกษุสงฆ์คิดว่าจะมีแต่อาหารที่มีพุทราผสมอยู่มาก จึงไปบิณฑบาตมาฉันก่อน เมื่อถึงเวลาไปฉันที่บ้านกรรมกรนั้น จึงฉันได้น้อย อาหารเหลือมาก ซึ่งล้วนเป็นอาหารดีที่ชาวบ้านเขาทำมาช่วย จึงทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ไว้เพื่อมิให้ภิกษุฉันก่อนไปฉันที่อื่นต่อ หรือรับนิมนต์แล้วไม่ไป กลับไปฉันที่อื่น ยกเว้นคราวอาพาธ คราวถวายจีวร คราวทำจีวร

        ในกรณีที่เจ้าภาพนิมนต์เจาะจง รับนิมนต์แล้วแต่ไม่อาจไปได้ จึงให้ภิกษุอื่นไปแทน ไม่ควร เพราะเป็นการทำให้เสียความรู้สึกเสียศรัทธาได้ นอกจากจำเป็นเช่นอาพาธเป็นต้น

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
         สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุเห็นแก่การขบฉันหรือเห็นแก่ลาภที่จะพึงได้โดยยอมเสียสัจจะไม่ไปตามที่รับนิมนต์แต่ไปที่อื่นซึ่งคิดว่าจะดีกว่า อันจัดเป็นการทำศรัทธาให้ตกไปได้

อนาปัตติวาร
ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
      (๑) ภิกษุฉันในสมัย 
      (๒) ภิกษุฉันบิณฑบาตที่รับนิมนต์ไว้๒-๓ แห่งรวมกัน 
      (๓) ภิกษุฉันตามลำดับที่รับนิมนต์
      (๔) ภิกษุรับนิมนต์ชาวบ้านทั้งปวงแล้วฉัน ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งในหมู่บ้านนั้น 
      (๕) ภิกษุรับนิมนต์ชาวบ้านทุกกลุ่มแล้วฉัน ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งในกลุ่มชาวบ้านนั้น 
      (๖) ภิกษุได้รับนิมนต์แต่บอกว่าจักรับภิกษา 
      (๗) ภัตตาหารที่เขาถวายเป็นนิจ 
      (๘) ภัตตาหารที่เขาถวายตามสลาก
      (๙) ภัตตาหารที่เขาถวายในปักษ์
      (๑๐) ภัตตาหารที่เขาถวายในวันอุโบสถ
      (๑๑) ภัตตาหารที่เขาถวายในวันปาฏิบท 
      (๑๒) ไม่ต้องอาบัติในเพราะอาหารทุกชนิด เว้นโภชนะ ๕ 
      (๑๓) ภิกษุผู้วิกลจริต 
      (๑๔) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุชาวเมืองเวสาลี


โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๔
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
        “อนึ่ง เขานำขนมก็ดี สัตตุผงก็ดี มาปวารณาเฉพาะ ภิกษุผู้เข้าไปสู่ตระกูล ภิกษุต้องการ ก็พึงรับได้เต็ม ๒-๓ บาตร ถ้ารับยิ่งกว่านั้น เป็นปาจิตตีย์ ครั้นรับเต็ม ๒-๓ บาตรแล้ว พึงนำออกจากที่นั้นแล้วแบ่งปันกับภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นการปฏิบ้ติชอบในเรื่องนั้น”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุเข้าไปบิณฑบาตในบ้าน ทายกเขาเอาขนมมาถวายเป็นอันมาก จะรับได้เป็นอย่างมากเพียง ๓ บาตรเท่านั้นถ้ารับให้เกินกว่านั้น ต้องปาจิตตีย์ของที่รับมามาก เช่นนั้น ต้องแบ่งให้ภิกษุอื่น”

อธิบายความโดยย่อ
        คำว่า ขนม ได้แก่ของกินชนิดใดชนิดหนึ่งที่เขาจัดเตรียมไว้เพื่อเป็นของกำนัล
        คำว่า สัตตุผง ได้แก่ของกินอย่างใดอย่างหนึ่งที่เขาจัดเตรียมไว้เพื่อเป็นเสบียง
        คำว่า เขานำมาปวารณา คือ เขาปวารณาว่า ท่านต้องการเท่าใดก็จงรับไปเท่านั้นเถิด

        ในกรณีเช่นนี้ภิกษุที่ต้องการพึงรับได้เต็ม ๒ หรือ ๓ บาตร เพื่อรักษาศรัทธาผู้ปวารณา หากรับเกินไปกว่านั้นเป็นอาบัติและเมื่อรับไปแล้วทรงแนะนำว่าให้นำไปยังโรงฉันแล้วแบ่งปันให้ภิกษุอื่นด้วย

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
        สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้ภิกษุไม่แสดงตนเป็นผู้มักมาก แม้จะได้รับปวารณาไว้ให้รู้จักประมาณรู้จักความพอดีเพราะแม้จะปวารณาไว้บางครั้งอาจขาดแคลนหรือของไม่พอ ทำให้ผู้ถวายเดือดร้อนในการจัดหาเพิ่มได้และเพื่อให้แสดงน้ำใจต่อเพื่อนภิกษุด้วยกัน โดยเมื่อรับมาแล้วแบ่งปันกันขบฉัน เพราะผู้เดียวไม่อาจขบฉันได้หมดและไม่อาจเก็บไว้ได้

อนาปัตติวาร
ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
        (๑) ภิกษุรับเต็ม ๒-๓ บาตร 
        (๒) ภิกษุรับหย่อนกว่า ๒-๓ บาตร 
        (๓) เขาถวายของที่มิได้เตรียมไว้เพื่อเป็นของกำนัล
        (๔) เขาถวายของที่มิได้เตรียมไว้เพื่อเป็นเสบียง 
        (๕) เขาถวายของที่เหลือจากที่เขาเตรียมไว้เพื่อเป็นของกำนัลหรือเพื่อเป็นเสบียง 
        (๖) เขาถวายเมื่อระงับการไปแล้ว 
        (๗) รับของพวกญาติ
        (๘) รับของคนปวารณา 
        (๙) รับเพื่อภิกษุอื่น 
        (๑๐) ภิกษุรับของที่เขาซื้อมาด้วยทรัพย์ของตน 
        (๑๑) ภิกษุผู้วิกลจริต 
        (๑๒) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ ภิกษุชาวเมืองราชคฤห์


โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๕
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
        “อนึ่ง ภิกษุใดฉันเสร็จแล้ว ห้ามภัตแล้ว เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดีของฉันก็ดี ที่ไม่เป็นเดน เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุฉันค้างอยู่ มีผู้เอาโภชนะทั้งห้าอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้ามาประเคน ห้ามเสียแล้ว ลุกจากที่นั่งนั้นแล้ว ฉันของเคี้ยวของฉันซึ่งไม่เป็นเดนภิกษุไข้หรือไม่ได้ทำวินัย กรรม ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
        คำว่า ห้ามภัตแล้วคือขณะกำลังฉันอยู่ มีผู้นำอาหารมาถวาย บอกห้ามเขาไปว่าพอแล้ว อิ่มแล้ว แล้วไม่รับถวาย
        คำว่า ไม่เป็นเดน ได้แก่ ของเหล่านี้ คือ ของที่ยังมิได้ทำให้เป็นกัปปิยะ คือให้เป็นของสมควรที่จะฉันได้ ๑ ของที่ภิกษุยังมิได้รับประเคน ๑ ของที่ภิกษุยังมิได้ยกขึ้นส่งให้๑ ของที่ทำนอกหัตถบาส ๑ ของที่ภิกษุยังมิได้ฉัน ๑ ของที่ภิกษุผู้ฉันเสร็จแล้ว ห้ามภัตแล้ว ลุกจากอาสนะแล้วทำ ๑ ของที่ภิกษุยังมิได้พูดว่า ทั้งหมดนั่นพอแล้ว ๑ ของนั้นไม่เป็นเดนภิกษุอาพาธ ๑ นี้ชื่อว่า ของไม่เป็นเดน

ภิกษุผู้ฉันเสร็จแล้ว ห้ามภัตแล้ว ห้ามฉันของเคี้ยวของฉันที่ไม่เป็นเดนอีก ถ้าฉัน ต้องปาจิตตีย์

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
        สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อมิให้ภิกษุขบฉันไม่เลิก ฉันจุบฉันจิบทำนองเห็นแก่การขบฉัน ซึ่งเป็นอาการอันไม่เหมาะสมแก่สมณภาวะและเพื่อมิให้ทายกผู้ถวายเสียใจว่าตนจัดทำอาหารถวายไม่เพียงพอ ภิกษุฉันไม่อิ่ม จึงไปขบฉันที่อื่นต่อ

อนาปัตติวาร
ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
        (๑) ภิกษุให้ทำให้เป็นเดนแล้วฉัน 
        (๒) ภิกษุรับประเคนไว้ด้วยตั้งใจว่าจักให้ทำเป็นเดนแล้วจึงฉัน 
        (๓) ภิกษุรับไปเพื่อภิกษุอื่น 
        (๔) ภิกษุฉันอาหารที่เหลือของภิกษุอาพาธ 
        (๕) ภิกษุฉันของที่เป็นยามกาลิก (ของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราว) สัตตาหกาลิก (ของที่เก็บไว้ฉันได้๗ วัน) ยาวชีวิก (ของที่เก็บไว้ฉันได้ตลอดเวลา) ในเมื่อมีเหตุอันสมควร 
        (๖) ภิกษุผู้วิกลจริต 
        (๗) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ หรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ ภิกษุหลายรูปในวัดเชตวัน


โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๖
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
        “อนึ่ง ภิกษุใดรู้อยู่ มุ่งจะโจมตี นำของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี อันไม่เป็นเดน ไปปวารณาภิกษุผู้ฉันเสร็จแล้ว ห้ามภัตแล้ว ด้วยบอกว่า นิมนต์เคี้ยวหรือฉันเถิด ภิกษุ ดังนี้ เมื่อเธอฉันแล้วเป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุรู้อยู่ว่า ภิกษุอื่นห้ามข้าวแล้ว(ตามสิกขาบทหลัง) คิดจะยกโทษเธอ แกล้งเอาของเคี้ยวของฉันอันไม่เป็นเดนภิกษุไข้ไปล่อให้เธอฉัน ถ้าเธอฉันแล้ว ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
       สิกขาบทนี้เกิดจากการที่ภิกษุรูปหนึ่งผูกใจเจ็บต่อเพื่อนกันจึงคิดหาเรื่อง นำเอาอาหารไปคะยั้นคะยอให้เธอฉัน ทั้งที่รู้ว่าเธอฉันเสร็จแล้ว ห้ามภัตแล้ว และได้โจมตีเธอว่าทำผิดพระวินัย โดยฉันเสร็จแล้วห้ามภัตแล้วยังฉันโภชนะไม่เป็นเดนอีก พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ไว้

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
         สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุโจมตีใส่ร้ายภิกษุด้วยกันด้วยความเจ็บใจส่วนตัว อันเป็นเหตุให้บานปลาย เกิดการโต้แย้งทุ่มเถียงเป็นเรื่องราวลามต่อไปได้

อนาปัตติวาร
ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
         (๑) ภิกษุให้ทำเป็นเดนแล้วให้
         (๒) ภิกษุให้ด้วยบอกว่า จงให้ทำเป็นเดนแล้วฉันเถิด 
         (๓) ภิกษุให้ด้วยบอกว่า จงนำไปเพื่อภิกษุอื่น 
         (๔) ภิกษุให้อาหารที่เหลือของภิกษุอาพาธ 
         (๕) ภิกษุให้ของที่เป็นยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก ด้วยบอกว่า ในเมื่อมีเหตุสมควรก็จงฉัน 
         (๖) ภิกษุผู้วิกลจริต 
         (๗) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ ภิกษุผู้เดินทางไปวัดเชตวันรูปหนึ่ง


โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๗
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
        “อนึ่ง ภิกษุใดเคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ในเวลาวิกาลเป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุฉันของเคี้ยวของฉันที่เป็นอาหารในเวลาวิกาลคือ ตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนถึงวันใหม่ ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
          คำว่า เวลาวิกาล คือ เวลาตั้งแต่เที่ยงวันไปจนถึงอรุณขึ้น
          คำว่า ของเคี้ยว ได้แก่ เว้นโภชนะ ๕ มีข้าวสุกเป็นต้นอันเป็นของฉัน นอกนั้นเป็นของคี้ยว
          คำว่า ของฉัน ได้แก่ โภชนะ ๕ คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
          สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้ภิกษุรู้จักประมาณในการบริโภค ไม่เห็นแก่การบริโภคให้มีความอดทนอดกลั้นต่อความหิวและเพื่อมิให้ไปรบกวนชาวบ้านซึ่งต้องวุ่นวายอยู่กับการหาเลี้ยงชีพ ทั้งเป็นการช่วยรักษาสุขภาพของภิกษุด้วย เพราะการบริโภคมาก ไม่รู้จักประมาณ นอกจากทำให้มักง่วง ต้องนอนมากอันเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายและทำให้เสียเวลาในการบำเพ็ญกิจแล้ว ยังเป็นต้นเหตุให้เกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย เช่นโรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไต

อนาปัตติวาร
ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
          (๑) ภิกษุที่ฉันของยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก ในเมื่อมีเหตุอันสมควร 
          (๒) ภิกษุผู้วิกลจริต 
          (๓) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์


โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๘
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
      “อนึ่ง ภิกษุใดเคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ที่เก็บสะสมไว้เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
      “ภิกษุฉันของเคี้ยวของฉันที่เป็นอาหารซึ่งรับประเคนไว้ค้างคืน ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความและเจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
          คำว่า เก็บสะสมไว้คือเป็นของรับประเคนในวันนี้แล้วเก็บไว้ขบฉันในวันอื่น
      สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อมิให้ภิกษุสะสมของขบฉันไว้โดยที่สุดแม้เป็นข้าวสุกที่ตากแห้งเก็บไว้อันจะเป็นภาระในการเก็บ ในการดูแลเมื่อเก็บดูแลไม่ดีก็เป็นช่องทางให้มีหนูมด ปลวก เข้ามารบกวน และทำให้ของบางอย่างเสียบูดเน่า เสียประโยชน์ไปโดยไม่สมควร

อนาปัตติวาร
      ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
      (๑) ภิกษุเก็บของที่เป็นยาวกาลิกไว้แล้วฉันชั่วกาล (ชั่วระยะเวลาเที่ยงวัน) 
      (๒) ภิกษุเก็บของที่เป็นยามกาลิกไว้แล้วฉันชั่วยาม (ชั่วระยะเวลาปัจฉิมยามแห่งราตรี) 
      (๓) ภิกษุเก็บของที่เป็นสัตตาหกาลิกไว้แล้วฉันชั่วสัปดาห์
      (๔) ภิกษุฉันของที่เป็นยาวชีวิกในเมื่อมีเหตุสมควร 
      (๕) ภิกษุผู้วิกลจริต
      (๖) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระเวฬัฏฐสีสเถระ

โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๙
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
      “อนึ่ง ภิกษุใดมิใช่ผู้อาพาธ ขอโภชนะอันประณีตเห็นปานนี้ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม (นมเปรี้ยว) เพื่อประโยชน์แก่ตนมาฉัน เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
      “ภิกษุขอโภชนะอันประณีตคือข้าวสุกระคนด้วยเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม ต่อคฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติไม่ใช่ปวารณา เอามาฉัน ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
      สิกขาบทนี้หมายถึงการที่ภิกษุขอโภชนะเหล่านี้มาเพื่อขบฉันด้วยตนเอง เพราะเป็นโภชนะที่ดีมีประโยชน์เป็นที่ชอบใจ ชาวบ้านรู้เข้าก็ติติงโพนทะนาว่าภิกษุเห็นแก่บริโภค เที่ยวรบกวนชาวบ้านด้วยการขอโภชนะอันประณีตมาบำรุงบำเรอตน

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
      สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุเห็นแก่บริโภคเพื่อบำรุงตน โดยไปรบกวนขอโภชนะอันประณีตจากชาวบ้านมาขบฉัน อันทำให้ถูกตำหนิโพนทะนา

อนาปัตติวาร
      ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
      (๑) ภิกษุอาพาธ 
      (๒) ภิกษุเป็นผู้อาพาธขอมา หายอาพาธแล้วจึงฉัน 
      (๓) ภิกษุฉันโภชนะที่เหลือของภิกษุอาพาธ 
      (๔) ภิกษุขอต่อญาติ
      (๕) ภิกษุขอต่อคนปวารณา 
      (๖) ภิกษุขอเพื่อภิกษุอื่น 
      (๗) ภิกษุซื้อมาด้วยทรัพย์ของตน 
      (๘) ภิกษุผู้วิกลจริต 
      (๙) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์

โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๑๐
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
      “อนึ่ง ภิกษุใดนำอาหารที่เขายังไม่ได้ถวายมาฉันล่วงช่องปาก เว้นไว้แต่น้ำและไม้ชำระฟัน เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
      “ภิกษุกลืนกินอาหารที่ไม่มีผู้ให้คือยังไม่ได้รับประเคนให้ล่วงทวารปากเข้าไป ต้องปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่น้ำและ ไม้สีฟัน”

อธิบายความโดยย่อ
      คำว่า อาหาร ได้แก่ ของที่กลืนกินได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ยกเว้นน้ำและไม้ชำระฟัน นี้ชื่อว่าอาหาร
      คำว่า ที่เขายังไม่ได้ถวาย หมายถึงอาหารที่ยังไม่ได้รับประเคน
      คำว่า เขาถวาย ได้แก่ เมื่อเขาถวายด้วยกาย ด้วยของที่เนื่องด้วยกาย หรือโยนให้๑ เขาอยู่ในหัตถบาส ๑ ภิกษุรับประเคนด้วยกาย หรือด้วยของเนื่องด้วยกาย ๑ นี้ชื่อว่าเขาถวาย

องค์แห่งการประเคน ๕
      การประเคนที่ถูกต้อง จำต้องให้ได้ลักษณะองค์แห่งการประเคน ๕ อย่าง คือ
      (๑) ของที่ประเคนต้องไม่ใหญ่และหนักเกินไป พอคนปานกลางคนเดียวยกขึ้นได้
      (๒) ผู้ประเคนอยู่ในหัตถบาส คืออยู่ห่างจากผู้รับประเคนประมาณ ๑ ศอก
      (๓) ผู้ประเคนน้อมเข้ามาถวาย
      (๔) กิริยาที่น้อมเข้ามาถวายนั้น ด้วยกายก็ได้ด้วยของเนื่องด้วยกายก็ได้ด้วยโยนให้ก็ได้
      (๕) ภิกษุรับด้วยกายก็ได้รับด้วยของเนื่องด้วยกายก็ได้คือ ถ้าผู้ชายถวายก็รับด้วยมือได้เลย ถ้าผู้หญิงถวาย ก็รับด้วยของเนื่องด้วยกาย
      ปัจจุบันนิยมใช้ผ้ารับประเคนรับถวาย แต่ไม่นิยมใช้ผ้าเช็ดหน้ารับประเคน เพราะถือว่าเป็นผ้าขี้ริ้วที่เปื้อนเหงื่อหรือเป็นผ้าเช็ดมือ เป็นการไม่เคารพทาน
      การประเคนที่ผิดแปลกไปและไม่ถูกต้องก็คือ การประเคนที่ไม่ได้องค์แห่งการประเคน เช่นเสือกส่งให้ ไม่ยกให้พ้นจากพื้น หรือยกประเคนอาหารทั้งโต๊ะรวมกัน หรือเพียงแต่แตะๆ โต๊ะที่วางอาหารไว้ข้างบน 
      การประเคนที่ผิดไปอีกแบบหนึ่งคือ ภิกษุหยิบสิ่งที่จะประเคนให้แก่ผู้ประเคน ผู้ประเคนรับของจากภิกษุแล้วประเคนแก่ภิกษุอีกรูปหนึ่ง ซึ่งภิกษุรูปแรกนั้นไปหยิบยกของที่ยังมิได้ประเคน เป็นอาบัติแต่เริ่มแล้ว 
      สิกขาบทนี้เกิดขึ้นจากมูลเหตุที่ภิกษุรูปหนึ่งพำนักอยู่ในป่าช้า ถือข้อปฏิบัติว่าของทุกอย่างเป็นของบังสุกุล
      ไม่ปรารถนารับอาหารที่ชาวบ้านถวาย เที่ยวหาเครื่องเซ่นไหว้ตามป่าช้าบ้าง ตามโคนไม้บ้าง ตามธรณีประตูบ้านบ้างมาขบฉัน จึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านติติงโพนทะนา พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนี้ไว้

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
      สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อมิให้ภิกษุเที่ยวเสาะหาอาหารตามที่ต่างๆ โดยไม่เหมาะสมกับภาวะ เหมือนคนเร่ร่อนขอทานทั่วไป ต้องได้อาหารจากศรัทธาของชาวบ้านที่เขาเลื่อมใสแล้วน้อมเข้ามาถวายหรือประเคนให้จึงจะเหมาะควรด้วยประการทั้งปวง

อนาปัตติวาร
ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
      (๑) ภิกษุดื่มน้ำและใช้ไม้ชำระฟัน 
      (๒) ภิกษุหยิบยามหาวิกัฏ ๔ (คือยาที่มีสรรพคุณกำจัดพิษงูอย่างแรง ๔ อย่างคือ คูถ มูตร เถ้า ดิน) มาฉันเอง ในเมื่อมีเหตุสมควร (เช่นถูกงูกัด) เมื่อกัปปิยการกไม่มี
      (๓) ภิกษุผู้วิกลจริต 
      (๔) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ ภิกษุชาวเมืองเวสาลีรูปหนึ่ง

 

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.031422499815623 Mins