โอวาทวรรค ว่าด้วยโอวาทแก่ภิกษุณี

วันที่ 25 กพ. พ.ศ.2566

วรรคที่ ๓ โอวาทวรรค ว่าด้วยโอวาทแก่ภิกษุณี โอวาทวรรค สิกขาบทที่ ๑-๑๐

วรรคที่ ๓ โอวาทวรรค
ว่าด้วยโอวาทแก่ภิกษุณี
โอวาทวรรค สิกขาบทที่ ๑-๑๐

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๑
      “อนึ่ง ภิกษุใดไม่ได้รับสมมติสั่งสอนภิกษุณีทั้งหลาย เป็นปาจิตตีย์”

สิกขาบทที่ ๒
      “ถ้าภิกษุแม้ได้รับสมมติแล้วเมื่อดวงอาทิตย์ตกแล้วยังสั่งสอนภิกษุณีทั้งหลายเป็นปาจิตตีย์”

สิกขาบทที่ ๓ 
     “อนึ่ง ภิกษุใดเข้าไปยังที่พำนักภิกษุณีแล้วสั่งสอนภิกษุณีทั้งหลายเป็นปาจิตตีย์เว้นไว้แต่สมัย สมัยในเรื่องนั้นดังนี้คือภิกษุอาพาธนี้เป็นสมัยในเรื่องนั้น”

สิกขาบทที่ ๔
     “อนึ่ง ภิกษุใดกล่าวอย่างนี้ว่า พวกภิกษุสอนภิกษุณีทั้งหลายเพราะเห็นแก่อามิสเป็นปาจิตตีย์”

สิกขาบทที่ ๕
     “อนึ่ง ภิกษุใดให้จีวรแก่ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติเป็นปาจิตตีย์เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยนกัน”

สิกขาบทที่ ๖
     “อนึ่ง ภิกษุใดเย็บก็ดีให้เย็บก็ดีซึ่งจีวร ให้ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติเป็นปาจิตตีย์”

สิกขาบทที่ ๗
     “อนึ่ง ภิกษุใดชักชวนกันแล้วเดินทางไกลด้วยกันกับภิกษุณีโดยที่สุด แม้สิ้นระหว่างหมู่บ้านหนึ่งเป็นปาจิตตีย์เว้นไว้แต่สมัยสมัยในเรื่องนั้น ดังนี้คือหนทางเป็นที่จะต้องไปด้วยกองเกวียนซึ่งรู้กันอยู่ว่าเป็นที่ น่าระแวง มีภัยเฉพาะหน้า นี้เป็นสมัยในเรื่องนั้น”

สิกขาบทที่ ๘
     “อนึ่ง ภิกษุใดชักชวนกันแล้วโดยสารเรือลำเดียวกับภิกษุณีขึ้นน้ำไป ก็ดีล่องน้ำไปก็ดีเป็นปาจิตตีย์เว้นไว้แต่ข้ามฟาก”

สิกขาบทที่ ๙
     “อนึ่ง ภิกษุใดรู้อยู่ ฉันบิณฑบาตที่ภิกษุณีแนะนำให้ถวาย เป็นปาจิตตีย์เว้นไว้แต่คฤหัสถ์ปรารภก่อน”

สิกขาบทที่ ๑๐ 
     “อนึ่ง ภิกษุใดนั่งในที่ลับกับภิกษุณีสองต่อสอง เป็นปาจิตตีย์”

อธิบายความและเจตนารมณ์ของสิกขาบทเหล่านี้
       สิกขาบทในโอวาทวรรคทั้ง ๑๐ สิกขาบทเหล่านี้เป็นสิกขาบทที่เกี่ยวกับภิกษุณีทั้งหมด และมีประเด็นความค่อนข้างชัดเจนแล้ว จึงขอเว้นไว้ไม่ขยายความเพิ่ม เพราะภิกษุณีในปัจจุบันไม่มีแล้ว และในอนาคตก็ไม่อาจมีได้ด้วย แต่จักอธิบายเฉพาะประเด็นอื่นที่น่ารู้เกี่ยวกับเรื่องภิกษุณีบางเรื่องเพื่อประดับปัญญา

      ภิกษุณีคือ นักบวชหญิงในพระพุทธศาสนา จัดเป็นอุปสัมบัน มีศักดิ์เท่ากับภิกษุ ภิกษุณีท่านแรกคือพระนางมหาปชาบดีโคตมีซึ่งเป็นพระน้านางของเจ้าชายสิทธัตถะ เมืองกบิลพัสดุ์ได้เสด็จออกติดตามพระพุทธองค์มาจนถึงเมืองไพสาลีทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา พระอานนท์กราบทูลถามว่ามาตุคามเมื่อบวชแล้วจะสามารถบรรลุธรรมพิเศษได้หรือไม่ พระพุทธองค์ตรัสรับรองว่าอาจได้อยู่ พระอานนท์จึงกราบทูลขอประทานอนุญาตบวชให้พระนางทรงรับให้ผู้หญิงบวชได้โดยต้องประพฤติครุธรรมจนตลอดชีวิต ซึ่งพระนางก็ทรงยินยอม ภิกษุณีจึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก

      ครุธรรม แปลว่า ธรรมอันหนัก หรือ ธรรมที่พึงตระหนัก ซึ่งเป็นหลักที่ภิกษุณีพึงยึดเป็นข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัดด้วยความเคารพ ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต มี๘ ประการ คือ

      (๑) ภิกษุณีแม้บวชแล้ว ๑๐๐ พรรษา ก็ต้องเคารพ กราบไหว้ ทำสามีจิกรรมต่อภิกษุผู้แม้อุปสมบทในวันนั้น
      (๒) ภิกษุณีต้องไม่เข้าจำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุอยู่
      (๓) ภิกษุณีต้องหวังธรรม ๒ ประการจากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน คือภิกษุผู้ถามถึงการทำอุโบสถ กับการเข้าไปรับโอวาท
      (๔) ภิกษุณีผู้จำพรรษาแล้วต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย คือใน ภิกษุณีสงฆ์ และภิกษุสงฆ์
      (๕) ภิกษุณีผู้ล่วงละเมิดครุธรรม (อาบัติสังฆาทิเสส) แล้วต้องประพฤติปักขมานัต (การอยู่กรรม) ในสงฆ์สองฝ่าย
      (๖) ภิกษุณีต้องแสวงหาการอุปสมบทในสงฆ์สองฝ่ายเพื่อเป็นสิกขมานาผู้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ประการครบ ๒ ปีแล้ว
      (๗) ภิกษุณีต้องไม่ด่า ไม่บริภาษภิกษุ ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ
      (๘) ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ปิดทางไม่ให้ภิกษุณีสอนภิกษุ เปิดทางให้ภิกษุทั้งหลายสอนภิกษุณีได้

      ครุธรรม ๘ ประการนี้ถ้าคิดเป็นปัจจุบันในทุกวันนี้ย่อมทำให้เข้าใจว่าพระพุทธองค์ทรงกีดกันสตรีไม่ให้อิสระเสรีภาพ กดไว้ด้วยกฎที่หนัก ทำตามได้ยาก แต่โดยข้อเท็จจริงครุธรรมนี้ทรงกำหนดขึ้นเพื่อให้สตรีมีความปลอดภัยอยู่ปฏิบัติธรรมได้อย่างสันติสงบ ไม่ต้องหวาดระแวงภัยเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตนไม่ดิ้นรนขวนขวายเรื่องการปกครอง เรื่องการเป็นผู้นำ เป็นต้น เพราะสมัยนั้นสตรีมีความเป็นอยู่อย่างไม่มีอิสระ ด้วยไม่อาจพึ่งตัวเองได้อย่างเช่นภิกษุณีท่านหนึ่งถูกชายที่หมายปองก่อนบวชเข้าไปประทุษร้ายข่มขืนในป่า ทำให้ทรงบัญญัติสิกขาบทเพิ่มเพื่อความปลอดภัยแก่ภิกษุณี

      ภิกษุณีในปัจจุบันไม่มี เพราะขาดสูญไปนานแล้ว และไม่อาจเกิดขึ้นไหม่ได้อีก ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น
      - การบวชเป็นภิกษุณีครั้งแรกบวชด้วยรับประพฤติครุธรรม ต่อมาทรงอนุญาตให้สงฆ์บวชได้แต่ต้องบวชในสงฆ์สองฝ่ายคือภิกษุณีสงฆ์และภิกษุสงฆ์ซึ่งวิธีเช่นนี้ทำให้การบวชยุ่งยากมากขึ้น ต้องคัดเลือกมากขึ้น

      - อุปัชฌาย์ของภิกษุณีเรียกว่า ปวัตตินี ซึ่งภิกษุณีไม่อาจเป็นได้ทุกท่าน ต้องมีคุณสมบัติตามพระวินัยและปวัตตินีนั้นไม่อาจอุปสมบทให้ผู้หญิงได้มาก พระวินัยกำหนดไว้ว่าให้บวชได้ครั้งละ ๑ รูป ปีละ ๑ คน บวชได้ปีเว้นปีทำให้ภิกษุณีเกิดขึ้นได้ยากมาก

      - ก่อนบวช ผู้หญิงต้องประพฤติตนเป็น สิกขามานา (สามเณรี) ปฏิบัติตามสิกขาบท ๖ ประการเคร่งครัดครบถ้วน เป็นเวลา ๒ ปีจึงบวชได้
เมื่อบวชเป็นภิกษุณีแล้ว เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สหชีวินี

      - ข้อยุ่งยากในเรื่องนี้เป็นไปตามพระพุทธวินิจฉัย ทรงบัญญัติไว้เป็นสิกขาบทสำหรับปฏิบัติซึ่งไม่อาจวิจารณ์ได้ว่าเหมาะหรือไม่เหมาะควรหรือไม่ควรข้อบัญญัติเหล่านั้น อย่างเช่นสิกขาบทเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของสิกขาบท ๓๑๑ ข้อของภิกษุณี

      - อนึ่ง ภิกษุณีใดบวชให้หญิงผู้เป็นกุมารีมีอายุครบ ๒๐ ปีแล้ว แต่ยังมิได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ประการ (เป็นสิกขมานา) เป็นเวลา ๒ ปีเป็นปาจิตตีย์
      - อนึ่ง ภิกษุณีใดบวชให้สิกขมานาทุกปีเป็นปาจิตตีย์

      - อนึ่ง ภิกษุณีใดบวชให้สิกขมานาปีละสองรูป เป็นปาจิตตีย์

      - อนึ่ง ภิกษุณีใดบวชให้สหชีวินีแล้ว ไม่อนุเคราะห์เอง ทั้งไม่ให้ผู้อื่นอนุเคราะห์ตลอดเวลา ๒ ปีเป็นปาจิตตีย์

      - อนึ่ง ภิกษุณีใดไม่ติดตามปวัตตินีผู้บวชให้ตนเป็นเวลา ๒ ปี เป็นปาจิตตีย์

      ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ภิกษุณีลดจำนวนลงเรื่อยๆ และหมดลงเป็นพันปีมาแล้ว การเกิดของภิกษุณีใหม่จำต้องหาปวัตตินี(อุปัชฌาย์) ที่ถูกต้องตามพระวินัยให้ได้เสียก่อน ส่วนการหาสิกขมานานั้นไม่ยากนักการสมมติปวัตตินีเอง บวชเอง แล้วเรียกว่าเป็นภิกษุณีเอง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาในวงการพระศาสนานานมาแล้ว ยังถกเถียงกันอยู่จนถึงทุกวันนี้โดยฝ่ายหนึ่งยึดหลักพระวินัย ฝ่ายหนึ่งยึดหลักความยุติธรรมในปัจจุบัน จะจบลงอย่างไรอยู่ที่ผู้ใดยึดหลักไหน ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ถูกใจหรือไม่ถูกใจเป็นสำคัญ

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010575334231059 Mins