จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๘ คฤหัสถ์ผู้มิใช่ญาติมิใช่ปวารณา

วันที่ 05 เมย. พ.ศ.2565

จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๘ คฤหัสถ์ผู้มิใช่ญาติมิใช่ปวารณา

จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๘

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “อนึ่ง มีคหบดีก็ดี คหปตานีก็ดี ผู้มิใช่ญาติ ตระเตรียมทรัพย์เป็นค่าจีวรเจาะจงภิกษุไว้ว่า เราจักสั่งจ่ายจีวรด้วยทรัพย์เป็นค่าจีวรนี้แล้ว ยังภิกษุชื่อนี้ให้ครองจีวร ถ้าภิกษุนั้นซึ่งเขามิได้ปวารณาไว้ก่อนเข้าไปกะเกณฑ์เอาจีวรในสำนักของเขาเพราะอาศัยความต้องการจีวรที่ดีว่า ดีละขอท่านจงให้จ่ายจีวรเช่นนั้นเช่นนี้ด้วยทรัพย์เป็นค่าจีวรนี้แล้ว ให้อาตมาครองเถิด เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท

       “ถ้าคฤหัสถ์ผู้มิใช่ญาติมิใช่ปวารณา เขาพูดว่าเขาจะถวายจีวรแก่ภิกษุชื่อนี้ภิกษุนั้นทราบความแล้ว เข้าไปพูดให้เขาถวายจีวรอย่างนั้นอย่างนี้ที่มีราคาแพงกว่าดีกว่าที่เขากำหนดไว้เดิม ได้มา ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
       ประเด็นความในสิกขาบทนี้ก็คือ คฤหัสถ์ผู้มิใช่ญาติมิใช่ปวารณาของภิกษุแต่มีศรัทธาเลื่อมใสในภิกษุสงฆ์จึงเตรียมเงินไว้ล่วงหน้าโดยบอกว่าจะไปซื้อจีวรมาถวายภิกษุรูปนี้ภิกษุรูปนั้นซึ่งเขามิได้ปวารณาหรืออนุญาตให้ขอได้ไว้ก่อน รู้เรื่องนั้นเข้า เกิดความต้องการอยากได้จีวรที่ดีกว่าหรือที่แพงกว่าจีวรที่เขากำหนดไว้จึงเข้าไปหาคฤหัสถ์นั้นแล้วไปกะเกณฑ์ให้เขาซื้อจีวรตามที่ตนต้องการ โดยบอกว่าขอให้จ่ายค่าจีวรเช่นนี้แล้วนำมาถวายตน เมื่อบอกเช่นนี้ท่านว่าเป็นทุกกฏ ถ้าได้มา เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้ 
       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อรักษาศรัทธาของชาวบ้าน ป้องกันมิให้ภิกษุรบกวนเขาเกินกว่าเหตุ เมื่อเขามีศรัทธาจะถวายจีวร ก็ให้รับไว้ตามที่เขาศรัทธา มิใช่ไปกะเกณฑ์ให้ถวายจีวรที่มีราคาแพงหรือเป็นจีวรที่เนื้อผ้าดีซึ่งอาจทำให้เขาเดือดร้อนได้หากมีราคาเกินกว่าที่เขาปรารภตั้งไว้ก็จะทำให้เดือดร้อนใช้จ่ายเงินเพิ่ม หรือทำให้เสียศรัทธาเพราะไม่อาจถวายตามที่ภิกษุกะเกณฑ์ได้

       สิกขาบทนี้เป็นข้อเตือนใจให้ภิกษุมีความระมัดระวัง ไม่แสดงอาการอยากได้จนเกินเหตุ หรือแสดงตนเป็นคนชอบหรูหรา นุ่งห่มจีวรมีราคาแพงให้ภิกษุทำตัวเป็นผู้มักน้อย สันโดษ ตามมีตามได้แล้วแต่เขาจะถวายอย่างไรซึ่งเป็นการรักษาศรัทธาของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี

อนาปัตติวาร
       ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ

          (๑) ภิกษุขอต่อคหบดีผู้เป็นญาติ

          (๒) ภิกษุขอต่อคหบดีผู้ปวารณาไว้

          (๓) ภิกษุขอเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุอื่น

          (๔) ภิกษุซื้อมาด้วยทรัยพ์ของตน

          (๕) คหบดีต้องการจะสั่งจ่ายจีวรมีราคาแพง ภิกษุให้เขาสั่งจ่ายจีวรมีราคาถูก

          (๖) ภิกษุผู้วิกลจริต

          (๗) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระอุปนันทศากยบุตร

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.013417732715607 Mins