มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๔
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
“อนึ่ง ภิกษุใดสอนธรรมแก่อนุปสัมบันโดยว่าพร้อมกันทุกบท เป็นปาจิตตีย์”
เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
“ภิกษุสอนธรรมแก่อนุปสัมบัน ถ้าว่าพร้อมกัน ต้องปาจิตตีย์”
อธิบายความโดยย่อ
คำว่า ธรรม ได้แก่ บาลีที่เป็นพุทธภาษิตสาวกภาษิตอิสิภาษิตเทวตาภาษิต ซึ่งประกอบด้วยอรรถ ประกอบด้วยธรรม
คำว่า อนุปสัมบัน คือ ผู้ที่ยังมิได้อุปสมบทเป็นภิกษุหรือเป็นภิกษุณี ได้แก่ สามเณร สามเณรีนางสิกขมานา นักบวชลัทธิอื่น และคฤหัสถ์ทุกคนทั้งชายและหญิง
คำว่า พร้อมกัน คือ สอนให้ว่าพร้อมกันตั้งแต่ขึ้นต้นบทและจบลงพร้อมกัน
การสอนธรรมโดยว่าพร้อมกันทุกบทนี้เป็นเหตุให้ผู้ที่เรียนและผู้ว่าพร้อมกันมีจิตใจเป็นกันเองกับผู้สอน ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงไม่ประพฤติให้เหมาะสมที่ควรประพฤติต่อผู้สอน แม้มูลเหตุของสิกขาบทนี้ก็เพราะเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น
สิกขาบทนี้มุ่งไปที่การสอน มิได้มุ่งไปที่การสวด การสาธยายมนต์ต่างๆ ซึ่งปกติต้องว่าพร้อมกันอยู่แล้ว
เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อรักษาสถานะความเป็นครูเป็นผู้สอนที่น่าเคารพยำเกรง และเพื่อมิให้ศิษย์ดูหมิ่นครูไม่ตีตนเสมอแบบเป็นกันเองแล้วไม่เคารพยำเกรง
อนาปัตติวาร
ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ
(๑) ภิกษุผู้ให้สวดพร้อมกัน
(๒) ภิกษุผู้ทำการสาธยายพร้อมกัน
(๓) ภิกษุทักอนุปสัมบันผู้กล่าวคันถะที่คล่องแคล่วโดยให้หยุด (แล้วสอนให้ว่าพร้อมกัน)
(๔) ภิกษุทักอนุปสัมบันผู้สวดสูตรวกวนให้หยุด (แล้วสอนให้ว่าพร้อมกัน)
(๕) ภิกษุผู้วิกลจริต
(๖) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์