มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๕
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
“อนึ่ง ภิกษุใดนอนร่วมกับอนุปสัมบันเกิน ๒-๓ คืน เป็นปาจิตตีย์”
เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
“ภิกษุนอนในที่มุงที่บังอันเดียวกับอนุปสัมบัน เกิน ๓ คืน ขึ้นไป ต้องปาจิตตีย์”
อธิบายความโดยย่อ
สิกขาบทนี้ช่วงแรกทรงห้ามมิให้ภิกษุนอนร่วมกับคฤหัสถ์โดยตรงแม้คืนเดียว เพราะมูลเหตุของต้นบัญญัติระบุว่า พวกอุบาสกมาฟังธรรมกันในศาลา เมื่อเทศน์จบแล้ว พระมหาเถระกลับไปยังที่พัก ส่วนพวกอุบาสกได้นอนพักที่ศาลาซึ่งปกติเป็นที่พักของพระนวกะผู้บวชใหม่ ตอนกลางคืนพวกภิกษุนอนหลับกัน ลืมสติไม่รู้สึกตัว บ้างก็นอนกรน บ้างก็นอนผ้าหลุดลุ่ยเปลือยกาย ทำให้พวกอุบาสกที่เห็นตำหนิและโพนทะนา จึงทรงบัญญัติห้ามต่อมาสามเณรราหุลไปพักค้างคืนร่วมกับพระพุทธองค์และพระสงฆ์ทั้งหลายที่ต่างเมือง เธอไม่อาจนอนร่วมพระกุฎีและในกุฏิเดียวกับพระสงฆ์ได้จึงไปนอนที่วัจกุฎี(ถาน) ของพระพุทธองค์พระพุทธองค์ทรงทราบจึงทรงบัญญัติสิกขาบทเพิ่มขึ้นว่าให้นอนได้แต่ไม่เกิน ๓ คืน
เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุเป็นที่เสื่อมศรัทธาของชาวบ้านในเรื่องการนอนที่ไม่เรียบร้อยเช่น นอนอย่างลืมสตินอนกรน นอนดิ้นหรือนอนผ้าหลุดลุ่ย เป็นต้น และเพื่อป้องกันมิให้ชาวบ้านเห็นกิริยานอนของภิกษุที่ไม่เรียบร้อยเช่นนั้น ซึ่งแม้จะเป็นปกติของคนทั่วไป แต่ชาวบ้านมีความเคารพศรัทธาต่อภิกษุเป็นทุนเดิม จึงไม่อาจยอมรับอาการนอนเช่นนั้นได้และที่ทรงผ่อนผันให้นอนได้ไม่เกิน ๓ คืน เป็นการอนุเคราะห์อนุปสัมบันมิให้ได้รับความลำบากในการนอน ซึ่งหากไม่ผ่อนผัน ภิกษุย่อมได้รับตำหนิได้ว่าใจแคบ
อนาปัตติวาร
ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ
(๑) ภิกษุอยู่ ๒-๓ คืน
(๒) ภิกษุอยู่ต่ำกว่า ๒-๓ คืน
(๓) ภิกษุอยู่ ๒ คืนแล้วในคืนที่ ๓ ออกไปข้างนอกก่อนอรุณขึ้นแล้วมาอยู่ใหม่
(๔) อยู่ในสถานที่มุงทั้งหมด แต่ไม่บังทั้งหมด
(๕) อยู่ในสถานที่บังทั้งหมด แต่ไม่มุงทั้งหมด
(๖) อยู่ในสถานที่ไม่มุงโดยมาก ไม่บังโดยมาก
(๗) อนุปสัมบันนอน ภิกษุนั่ง
(๘) ภิกษุนอน อนุปสัมบันนั่ง
(๙) นั่งทั้งสอง
(๑๐) ภิกษุผู้วิกลจริต
(๑๑) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระนวกะ ณ อัคคาฬวเจดีย์ เมืองอาฬวี