จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๕ ภิกษุใดรับจีวรจากมือภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ

วันที่ 17 มีค. พ.ศ.2565

จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๕ ภิกษุใดรับจีวรจากมือภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ

จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๕

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ

        “อนึ่ง ภิกษุใดรับจีวรจากมือภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยน”
 

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุรับจีวรแต่มือนางภิกษุณีที่มิใช่ญาติเว้นไว้แต่แลกเปลี่ยนกัน ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
          สิกขาบทนี้มีใจความชัดเจนแล้วโดยทรงห้ามมิให้ภิกษุรับจีวรจากมือนางภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ด้วยมีต้นเหตุว่าพระอุทายีได้พูดขอผ้าอันตรวาสกคือผ้านุ่งจากนางอุบลวรรณาเถรีผู้เป็นพระอรหันต์ แม้นางจะปฏิเสธว่าพวกผู้หญิงจัดว่าเป็นแม่บ้าน หาลาภได้ยาก ทั้งผ้าอันตรวาสกผืนนี้ก็เป็นผืนสุดท้ายถวายไม่ได้แต่พระอุทายีก็รบเร้าจนภิกษุณีต้องถวาย ทำให้ภิกษุณีเดือดร้อนต้องไปหาผ้าใหม่จึงทรงบัญญัติเป็นพระวินัยไว้มิให้รับจีวรจากมือนางภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ
          ต่อมา ภิกษุทั้งหลายตั้งข้อรังเกียจ ไม่รับจีวรแลกเปลี่ยนของภิกษุณีทั้งหลาย ภิกษุณีทั้งหลายจึงเพ่งโทษโพนทะนาว่าภิกษุรังเกียจไม่รับผ้าจีวรแลกเปลี่ยน พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติพระวินัยให้รับผ้าจีวรแลกเปลี่ยนของเพื่อนสหธรรมิกทั้งห้า คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรีได้

          (สิกขมานา คือหญิงผู้กำลังศึกษา หมายถึงสามเณรีผู้มีอายุ ๑๘ ปีแล้ว อีก ๒ ปีจะมีอายุครบบวชเป็นภิกษุณี ช่วงนั้นภิกษุณีสงฆ์จะสวดให้สิกขาสมมติ ให้สมาทานสิกขาบท ๖ ข้อ คือข้อที่ ๑ ถึงข้อที่ ๖ แห่งสิกขาบท ๑๐ อย่างเคร่งครัดไม่ขาดเลยตลอด ๒ ปี หากขาดข้อใดข้อหนึ่งต้องสมาทานตั้งต้นใหม่อีก ๒ ปี เมื่อครบ ๒ ปีแล้ว ภิกษุณีสงฆ์จึงอุปสมบทให้ ขณะที่สมาทานสิกขาบท ๖ ข้อ ตลอดเวลา ๒ ปีนั้น เรียกว่า สิกขมานา)

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้ 
         สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้ เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุไปเบียดเบียนภิกษุณีด้วยการขอสิ่งที่หาได้ยากสำหรับภิกษุณีโดยไม่เกรงใจหรือไม่ละอายใจ และให้มีน้ำใจรับแลกเปลี่ยนจีวรกันได้สำหรับสหธรรมิก เพื่อเกื้อกูลกันในกรณีที่ขาดแคลนจีวร หรือจีวรมีค่าต่างกัน

อนาปัตติวาร
          ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ

        (๑) ภิกษุรับจีวรของผู้เป็นญาติ

        (๒) ภิกษุแลกเปลี่ยนกัน คือแลกเปลี่ยนจีวรดีกับจีวรเลว หรือจีวรเลวกับจีวรดี

        (๓) ภิกษุผู้ถือวิสาสะ

        (๔) ภิกษุผู้ขอยืม

        (๕) ภิกษุผู้รับบริขารอื่นนอกจากจีวร

        (๖) ภิกษุผู้รับจีวรของสิกขมานา

        (๗) ภิกษุผู้รับจีวรของสามเณรี

        (๘) ภิกษุผู้วิกลจริต

        (๙) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือพระอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระอุทายี

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.027763517697652 Mins