จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๔
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
“อนึ่ง ภิกษุใดใช้ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติให้ซักก็ดี ให้ย้อมก็ดี ให้ทุบก็ดีซึ่งจีวรเก่า เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”
เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
“ภิกษุใช้นางภิกษุณีที่มิใช่ญาติให้ซักก็ดีให้ย้อมก็ดีให้ทุบก็ดีซึ่งจีวรเก่า ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์”
อธิบายความโดยย่อ
คำว่า ภิกษุณี ได้แก่สตรีที่อุปสมบทถูกต้องตามพระวินัยในสงฆ์สองฝ่าย คือภิกษุณีสงฆ์ฝ่ายหนึ่ง ภิกษุสงฆ์อีกฝ่ายหนึ่ง
คำว่า ผู้มิใช่ญาติ ได้แก่คนที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกันทางมารดาหรือทางบิดาตลอดเจ็ดชั่วคน หมายถึงวงศ์สกุลที่สืบสายโลหิตกัน ๗ ลำดับ โดยตนเองเป็นลำดับกลาง สูงขึ้นไป ๓ ลำดับ คือ พ่อ ปู่ ทวด ต่ำลงมาจากตัวเอง ๓ ลำดับ คือ ลูก หลาน เหลน เมื่อรวมกับตัวเองแล้วก็เป็นเจ็ดชั่วคน หรือเจ็ดชั่วโคตร
คำว่า จีวรเก่า ได้แก่ ผ้าที่นุ่งแล้วแม้ครั้งเดียว ห่มแล้วแม้ครั้งเดียว
คำว่า ให้ซัก ให้ย้อม ให้ทุบ คือ เมื่อสั่งให้ภิกษุณีให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นทุกกฏ เมื่อทำเสร็จแล้วตามที่สั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์
เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้
สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อมิให้ภิกษุมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยไปใช้ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติให้ซักจีวร เพราะถือว่าเป็นคนอื่น เป็นคนไม่รู้จักคุ้นเคยไม่ทราบอัธยาศัยกัน อาจทำให้เกิดความรังเกียจได้เป็นการป้องกันมิให้ภิกษุหลงลืมตัว ใช้คนอื่นซักผ้าโดยไม่เกรงใจหรือไม่ดูตาม้าตาเรือ ทำให้เกิดความเสียหายได้ หรือไปรบกวนภิกษุณีซึ่งเป็นสตรีทำให้เกิดความเดือดร้อนหรือไม่สบายใจเมื่อไม่ทำให้หากเป็นญาติกัน ก็พอที่จะยอมรับได้เพราะรู้จักคุ้นเคยกัน
อนาปัตติวาร
ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ
(๑) ภิกษุณีผู้เป็นญาติซักให้เอง มีภิกษุณีผู้มิใช่ญาติเป็นผู้ช่วยเหลือ
(๒) ภิกษุมิได้บอกใช้ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติซักให้เอง
(๓) ภิกษุใช้ให้ซักจีวรที่ยังไม่ได้ใช้สอย
(๔) ภิกษุใช้ให้ซักบริขารอย่างอื่นนอกจากจีวร เช่นย่าม ผ้าอังสะ ประคตเอว
(๕) ภิกษุใช้ให้นางสิกขมานาซัก
(๖) ภิกษุใช้ให้สามเณรีซัก
(๗) ภิกษุผู้วิกลจริต
(๘) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือพระอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระอุทายี