วรรคที่ ๗ สัปปาณกวรรค ว่าด้วยสัตว์มีชีวิต

วันที่ 07 มีค. พ.ศ.2566

วรรคที่ ๗ สัปปาณกวรรค ว่าด้วยสัตว์มีชีวิต

วรรคที่ ๗ สัปปาณกวรรค
ว่าด้วยสัตว์มีชีวิต


สัปปาณกวรรค สิกขาบทที่ ๑
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
     “อนึ่ง ภิกษุใดจงใจฆ่าสัตว์ เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
     “ภิกษุแกล้งฆ่าสัตว์ดิรัจฉาน ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความและเจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
     สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อ มิให้ภิกษุทำร้ายรังแกสัตว์ดิรัจฉานทุกประเภท อันแสดงถึงความขาดเมตตาในสัตว์มุ่งหมายไปถึงสัตว์ทุกประเภท ไม่ว่าสัตว์ใหญ่หรือสัตว์เล็กเช่น มดยุง เรือดเพราะสัตว์ทุกชนิดล้วนมีชีวิตและเป็นชีวิตที่มีคุณค่าแม้จะเล็กน้อยก็ตาม ฆ่าสัตว์เท่ากับเป็นการพรากจากชีวิตในกรณีที่มิได้แกล้ง มิได้จงใจ เช่นเดินเหยียบตอนค่ำมืด ทำสิ่งของหล่นทับ หรือกรณีอื่น ไม่เป็นอาบัติ

อนาปัตติวาร
ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
     (๑)  ภิกษุไม่จงใจฆ่า 
     (๒) ภิกษุฆ่าด้วยไม่มีสติ
     (๓) ภิกษุไม่ประสงค์จะให้ตาย 
     (๔)  ภิกษุผู้วิกลจริต 
     (๕) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระอุทายี


สัปปาณกวรรค สิกขาบทที่ ๒
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
     “อนึ่ง ภิกษุใดรู้อยู่ บริโภคนำมีตัวสัตว์ เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
     “ภิกษุรู้อยู่ว่า นำมีตัวสัตว์บริโภคนำนั้น ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
       คำว่า บริโภค หมายถึงการใช้สอยน้ำในทุกกรณีที่ทำเป็นปกติเช่นดื่ม อาบ ล้างบาตร ล้างภาชนะ ซักผ้า รวมถึงการลงไปลุยน้ำในแหล่งธรรมชาติซึ่งอาจเป็นเหตุให้ไปเหยียบย่ำสัตว์ในน้ำตายได้ดังนั้นท่านจึงให้กรองน้ำด้วยเครื่องกรองเสียก่อนนำไปดื่ม
       สำหรับกรณีอื่นก็ต้องพิจารณาว่าในน้ำมีตัวสัตว์หรือไม่ ที่กล่าวนี้หมายถึงน้ำที่มีตามธรรมชาติเช่นน้ำในบ่อ ในสระ ในหนอง หรือในแม่น้ำลำคลอง แต่น้ำประปาไม่จำต้องกรองอีก เพราะผ่านกระบวนการกรองมาอย่างดีแล้ว

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อ ป้องกันมิให้ภิกษุขาดความรอบคอบในการดื่มน้ำ โดยเฉพาะน้ำตามธรรมชาติจะได้ไม่ทำลายสัตว์เล็กที่อยู่ในน้ำโดยไม่รู้ตัว แม้จะดูยุ่งยาก แต่ก็แสดงถึงน้ำใจในความเอื้อเฟื้อพระวินัย

อนาปัตติวาร
       ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
     (๑)  ภิกษุไม่รู้ว่าน้ำมีตัวสัตว์บริโภค 
     (๒) ภิกษุรู้ว่าน้ำไม่มีตัวสัตว์คือรู้ว่าจักไม่ตายเพราะการบริโภค 
     (๓) ภิกษุผู้วิกลจริต 
     (๔) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์


สัปปาณกวรรค สิกขาบทที่ ๓
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
     “อนึ่ง ภิกษุใดรู้อยู่ รื้อฟื้นอธิกรณ์ที่ตัดสินเสร็จแล้วตามธรรมเพื่อทำใหม่ เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุรู้อยู่ว่า อธิกรณ์นี้สงฆ์ทำแล้วโดยชอบ เลิกถอนเสียกลับทำใหม่ ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
     คำว่า อธิกรณ์ หมายถึงเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วสงฆ์จำต้องดำเนินการ มี ๔ เรื่อง คือ
     (๑) วิวาทาธิกรณ์ การเถียงกันเกี่ยวกับพระธรรมวินัย
     (๒) อนุวาทาธิกรณ์ การโจทหรือการกล่าวหากันด้วยอาบัติ
     (๓) อาปัตตาธิกรณ์ การต้องอาบัติการปรับอาบัติและการแก้ไขให้พ้นจากอาบัติ
     (๔) กิจจาธิกรณ์ สังฆกิจต่างๆ ที่สงฆ์จะต้องทำ เช่น ให้อุปสมบทเป็นต้น

     สิกขาบทนี้หมายถึง การที่ภิกษุไม่พอใจการตัดสินของสงฆ์ที่ตัดสินไปแล้วว่าไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม ต้องดำเนินการใหม่ต้องตัดสินใหม่ โดยที่เรื่องนั้นตัดสินเสร็จสิ้นไปแล้วโดยถูกต้องตามหลักวินัย ตามหลักสัตถุศาสน์เมื่อขอให้รื้อฟื้นมาทำใหม่ จะด้วยเจตนาใดก็ตาม เป็นอาบัติแต่ถ้าแน่ใจว่า การตัดสินนั้นไม่ชอบธรรม หรือผู้ตัดสินแตกแยกกันหรือตัดสินให้โทษแก่ผู้ไม่ควรจะรับโทษอย่างนั้น เพราะไม่สมเหตุสมผลอย่างนี้สามารถรื้อฟื้นได้

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อ ป้องกันมิให้สงฆ์ต้องมาดำเนินการเรื่อง ที่ตัดสินไปตามชอบธรรมแล้วอีกอันเป็นการเสียเวลา และเป็นเหตุให้ต้องรื้อฟื้นคดีความไม่รู้จบ เพราะหากสามารถทำได้ครั้งหนึ่ง ก็จะเป็นตัวอย่างให้ภิกษุอื่นดำเนินรอยตาม และเป็นช่องทางให้ภิกษุผู้ไม่ชอบสงฆ์ที่มีหน้าที่พิจารณาอธิกรณ์แจ้งให้รื้อฟื้นคดีใหม่ เพื่อให้ต้องเสียเวลาไปกับการรื้อฟื้น หรือให้ต้องวุ่นวายไปกับเรื่องนี้ไม่สิ้นสุด

อนาปัตติวาร
       ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
(๑)  ภิกษุรู้อยู่ว่า ทำ กรรมโดยไม่เป็นธรรม หรือทำโดยสงฆ์ที่แตกแยกกัน หรือทำแก่บุคคลผู้ไม่ควรแก่กรรม ดังนี้รื้อฟื้น 
(๒) ภิกษุผู้วิกลจริต 
(๓) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์


สัปปาณกวรรค สิกขาบทที่ ๔
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “อนึ่ง ภิกษุใดรู้อยู่ ปกปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุเป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุรู้อยู่แกล้งปกปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุอื่น ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
       คำว่า อาบัติชั่วหยาบ หมายถึงอาบัติปาราชิก ๔ สิกขาบท และสังฆาทิเสส ๑๓ สิกขาบท
       อาบัติชั่วหยาบอย่างนี้เมื่อภิกษุรู้ว่าภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติชั่วหยาบนี้ ท่านห้ามปกปิดไว้จะด้วยเหตุผลว่าคนทั้งหลายรู้เรื่องนี้เข้าจักโจทจันกัน หรือจักบังคับตนให้ให้การ หรือจักด่าว่าเรา หรือจักติเตียนเรา หรือจักทำให้เราเก้อเขิน หรือด้วยเหตุผลอย่างใดก็ตาม จัดว่าเป็นการปกปิดทั้งสิ้น

       ในกรณีที่ปกปิดไว้ด้วยเห็นว่าสงฆ์ จะเกิดความบาดหมางทะเลาะกันเกิดสังฆเภท หรือสร้างความร้าวฉานให้เกิดขึ้นแก่หมู่คณะ หรือเห็นว่าภิกษุผู้มีอาบัติชั่วหยาบนั้นเป็นผู้โหดร้ายหยาบคาย อาจทำอันตรายแก่ชีวิตตนได้หรือยังไม่รู้ว่าจะบอกใครดี เพราะยังมองไม่เห็นผู้ที่จะรับฟังและแก้ไขได้อย่างนี้แม้ไม่บอกใครก็ไม่จัดว่ปกปิด และไม่เป็นอาบัติ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
     สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อ ป้องกันมิให้ภิกษุเพิกเฉยแบบเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ แม้รู้เห็นว่าภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติร้ายแรงก็นิ่งเฉย ไม่ยอมบอกใคร ไม่กล้าที่จะเปิดเผย เป็นเหตุให้ผู้ต้องอาบัติดำรงตนอยู่ในเพศในหมู่คณะได้อย่างสุขสบาย และกล้าที่จะทำความผิดเช่นนั้นหรืออย่างอื่นอีก เพราะไม่มีผู้ใดสนใจเอาความ จุดมุ่งหมายคือต้องกล้าเปิดเผยเพื่อทำหมู่คณะให้บริสุทธิ์เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมแท้จริง

อนาปัตติวาร
     ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
     (๑)  ภิกษุไม่บอกด้วยเห็นว่าความบาดหมางก็ดี ความทะเลาะก็ดี ความแก่งแย่งก็ดี การวิวาทก็ดี จักมีแก่สงฆ์
     (๒) ไม่บอกด้วยเห็นว่าจักเป็นสังฆเภท (ตามแตกแห่งสงฆ์) และสังฆราชี (ความร้าวรานแห่งสงฆ์) 
     (๓) ไม่บอกด้วยเห็นว่าภิกษุนี้ เป็นผู้โหดร้ายหยาบคาย จักทำอันตรายชีวิต หรืออันตรายพรหมจรรย์
     (๔) ไม่พบภิกษุอื่นที่สมควรจึงไม่บอก 
     (๕) ไม่ตั้งใจจะปกปิด แต่ยังไม่ได้บอก 
     (๖) ไม่บอกด้วยเห็นว่าจักปรากฏเองด้วยการกระทำของตน 
     (๗) ภิกษุผู้วิกลจริต
     (๘)  ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ ภิกษุรูปหนึ่งในวัดเชตวัน


สัปปาณกวรรค สิกขาบทที่ ๕
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “อนึ่ง ภิกษุใดรู้อยู่ อุปสมบทให้กุลบุตรผู้มีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี กุลบุตรนั้นไม่เป็นอุปสัมบันด้วย ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นควรถูกตำหนิด้วย นี้เป็นปาจิตตีย์ในเรื่องนั้น”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุรู้อยู่ เป็นอุปัชฌายะอุปสมบทกุลบุตรผู้มีอายุอ่อนกว่า ๒๐ ปีต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
       การให้อุปสมบท คือบวชให้เป็นภิกษุนั้น จัดเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะเป็นการสร้างบุคลากรที่น่าเคารพกราบไหว้น่าศรัทธาเลื่อมใสเป็นบุญเขตอันยอดเยี่ยมของชาวโลกจำ ต้องพิถีพิถันคัดกรองอย่างดีหากไม่ผ่านคุณสมบัติ ก็ไม่ควรอนุญาตให้บวชได้ เพราะเป็นการสร้างความเสื่อมเสียเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะเรื่องอายุผู้บวชจัดว่าสำคัญอันดับต้น ทรงกำหนดว่าต้องมีอายุ๒๐ ปีขึ้นไป หากมีอายุยังไม่ถึง ๒๐ ห้ามอุปสมบทให้
       การนับอายุของผู้บวช พระอุปัชฌาย์ต้องเป็นผู้กำหนดนับ ปัจจุบันกำหนดว่าหากจำเป็นให้นับอายุในครรภ์ได้๖ เดือน เมื่อบวกอายุหลังจากที่เกิดมาแล้วอีก ๑๙ ปี๖ เดือนก็เต็ม ๒๐ ปีนับอย่างนี้ค่อนข้างล่อแหลมคือขาดแม้วันเดียวก็ไม่ได้ดังนั้น พระอุปัชฌาย์ผู้เคร่งครัดจึงไม่ยอมนับอายุในครรภ์ ๖ เดือน จะนับจากที่เกิดมาแล้วเต็ม ๒๐ ปีกรณีอย่างนี้แม้จะหลงลืมนับขาดไปสัก ๕ วัน ๑๐ วันก็คุ้มได้คือยังเป็นภิกษุได้ตามเป็นจริง
       สำหรับกุลบุตรผู้บวชเมื่ออายุไม่ถึง ๒๐ ปีแม้จะบวชไปนาน ๑๐ พรรษา ๒๐ พรรษา ก็ไม่อาจเป็นภิกษุหรือเป็นอุปสัมบันได้แม้ว่าพอมีอายุครบ ๒๐ ปีแล้วก็เป็นภิกษุโดยอัตโนมัติหาได้ไม่ ทั้งนี้เพราะผิดมาตั้งแต่ต้นซึ่งจะผิดโดยไม่รู้หรือโดยเหตุอะไรก็ตาม ก็ไม่อาจเป็นภิกษุได้โดยประการทั้งปวง
       ในการบวชผู้มีอายุไม่ถึง ๒๐ ปีอย่างนี้ เป็นอาบัติปาจิตตีย์แก่พระอุปัชฌาย์ พระคู่สวดและพระอันดับท่านปรับทุกกฏ แต่เมื่อผู้บวชมีอายุไม่ถึง ๒๐ ปี สำคัญว่ามีอายุถึงแล้ว อุปสมบทให้ ไม่เป็นอาบัติแก่พระอุปัชฌาย์ แต่ผู้บวชไม่อาจเป็นภิกษุได้

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อ ป้องกันมิให้ภิกษุเป็นอุปัชฌาย์อุปสมบทผู้มีอายุไม่ถึง ๒๐ ปีเพราะถือว่ายังไม่เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว ยังไม่สามารถอดทนต่อหนาวร้อน ลม แดดความหิวกระหายยังไม่สามารถทนทานต่อเหลือบ ยุงมด สัตว์เลื้อยคลาน และยังไม่สามารถอดทนต่อคำกล่าวร้าย ทุกขเวทนาทางกายได้ดีเท่ากับผู้มีอายุเกิน ๒๐ ปีเมื่ออดทนไม่ได้ก็จะทำให้ตัวผู้บวชเองเดือดร้อนกระวนกระวาย หรือสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่นได้เมื่อประสบกับภาวะหนาวร้อน หรือความหิวกระหายขึ้นมาแล้วดิ้นรนหรือร้องขอจากผู้อื่น
       แต่ในกรณีบวชให้เป็นสามเณร ท่านกำหนดอายุไว้ประมาณ ๗ ปีขึ้นไป จัดเป็นการบรรพชา มิใช่การอุปสมบท และสามเณรเป็นอนุปสัมบัน ไม่เป็นอุปสัมบันเหมือนภิกษุจัดว่ายังเป็นเด็ก เมื่อขาดความอดทนและสร้างเดือดร้อนขึ้นมา เพราะทนไม่ได้ก็สามารถให้อภัยสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลได้ เพราะเห็นว่าเป็นเด็ก ยังไม่อาจประพฤติปฏิบัติให้เคร่งครัดได้ดีเท่าผู้ใหญ่

อนาปัตติวาร
     ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
     (๑)  กุลบุตรมีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปีภิกษุสำคัญว่ามีอายุครบ ๒๐ ปีอุปสมบทให้
     (๒) กุลบุตรมีอายุครบ ๒๐ ปีภิกษุสำคัญว่ามีอายุครบ ๒๐ ปีอุปสมบทให้
     (๓) ภิกษุผู้วิกลจริต 
     (๔) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ ภิกษุวัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์


สัปปาณกวรรค สิกขาบทที่ ๖
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “อนึ่ง ภิกษุใดรู้อยู่ ชักชวนกันแล้วเดินทางไกลด้วยกันกับกองเกวียนผู้เป็นโจร โดยที่สุดแม้ชั่วระหว่างหมู่บ้านหนึ่ง เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
       “ภิกษุรู้อยู่ชวนพ่อค้าผู้ซ่อนภาษีเดินทางด้วยกัน แม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
       คำว่า กองเกวียนผู้เป็นโจร หมายถึงพวกโจรผู้ทำกรรมคือปล้นมาแล้วหรือยังไม่ได้ทำก็ตาม ผู้ที่ลักของหลวงก็ตาม ผู้ที่หลบหนีภาษีก็ตาม
       คำนี้มิได้หมายถึงตัวกองเกวียน แต่หมายถึงคนที่เป็นโจรเป็นขโมยซึ่งจะปล้นหรือลักของมาหรือยังไม่ได้ทำก็ตาม ถือว่าเป็นโจร หมายถึงผู้ที่ลักหรือฉ้อโกงของหลวงและหมายถึงผู้ที่หลบเลี่ยงภาษีโจรลักษณะเช่นนั้น หากภิกษุรู้อยู่ว่าเขาเป็นโจรแต่ยังชักชวนหรือพูดให้เขาร่วมเดินทางไปด้วยกัน ด้วยความรู้จักคุ้นเคย หรือเพื่อจะได้สบายใจที่มีเพื่อน ย่อมเป็นอาบัติตามสิกขาบทนี้

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อ ป้องกันมิให้ภิกษุถูกตั้งข้อหาว่าเป็นโจร หรือเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดด้วย เมื่อโจรถูกจับได้และป้องกันชื่อเสียงของภิกษุมิให้ชาวบ้านตำหนิโพนทะนาได้ว่าเดินทางไปกับโจร หรือร่วมมือกับโจรไปทำบาปทุจริตอะไรมาหรืออย่างไร

อนาปัตติวาร
ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
       (๑)  ภิกษุมิได้ชักชวนกันไป 
       (๒) พวกพ่อค้าชักชวน ภิกษุมิได้ชักชวน 
       (๓) ไปผิดนัด
       (๔) ในที่มีอันตราย 
       (๕) ภิกษุผู้วิกลจริต 
       (๖) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ ภิกษุวัดเชตวันรูปหนึ่ง


สัปปาณกวรรค สิกขาบทที่ ๗
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “อนึ่ง ภิกษุใดชักชวนกันแล้วเดินทางไกลด้วยกันกับมาตุคาม โดยที่สุดแม้ชั่วระหว่างหมู่บ้านหนึ่ง เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุชวนผู้หญิงเดินทางด้วยกัน แม้สิ้นระบ้านหนึ่งต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความและเจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อ ป้องกันภิกษุคือป้องกันมิให้ถูกตำหนิหรือถูกดูหมิ่นว่าเดินทางไปกับผู้หญิง และป้องกันอันตรายภิกษุ หากผู้หญิงนั้นมีเจ้าของเช่นมีสามีแล้ว สามีนั้นเห็นภรรยาเดินทางไปกับภิกษุ อาจเข้าใจผิดแล้วเข้าทำร้ายภิกษุก็ได้และป้องกันมิให้ภิกษุเผลอสติไปล่วงเกินผู้หญิงเมื่ออยู่กันสองต่อสอง เช่นพูดจาเกี้ยวโลมเป็นต้น

อนาปัตติวาร
       ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้ คือ 
     (๑)  ภิกษุมิได้ชักชวนกันไป 
     (๒) มาตุคามชักชวน ภิกษุมิได้ชักชวน 
     (๓) ไปผิดนัด
     (๔) ในคราวมีอันตราย 
     (๕) ภิกษุผู้วิกลจริต 
     (๖) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ ภิกษุผู้เดินทางไปเมืองสาวัตถีรูปหนึ่ง


สัปปาณกวรรค สิกขาบทที่ ๘
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “อนึ่ง ภิกษุใดกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว อย่างที่ธรรมทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นธรรมทำอันตราย ก็ไม่อาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น ท่านอย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้า การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ดีแน่ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ตรัสอย่างนั้นเลย แน่ะเธอพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธรรมที่ทำอันตรายไว้โดยอเนกปริยาย ก็แลธรรมเหล่านั้นอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง และภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ยังยึดถืออยู่อย่างนั้นแล ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละทิฏฐินั้นเสีย หากเธอถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบอยู่ยอมสละทิฏฐินั้นเสียได้ การสละได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากเธอไม่ยอมสละ เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุกล่าวคัดค้านธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟังสงฆ์สวดประกาศข้อความนั้นจบ ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
       คำว่า ธรรมทำอันตราย หมายถึงธรรมที่เมื่อทำขึ้นแล้วทำให้ไปเกิดในสวรรค์ไม่ได้หรือให้บรรลุมรคคผลไม่ได้
       ธรรมเช่นนี้เรียกว่า อันตรายิกธรรม มี ๕ ประการ คือ
     (๑)     อันตรายิกธรรมคือกรรม ได้แก่ อนันตริยกรรม ๕ และการประทุษร้ายภิกษุณี
     (๒)     อันตรายิกธรรมคือกิเลสได้แก่ นิยตมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิดที่แน่วแน่ ไม่หวนกลับ
     (๓)     อันตรายิกธรรมคือวิบากได้แก่การเกิดเป็นบัณเฑาะก์สัตว์ ดิรัจฉาน อุภโตพยัญชนก (คนสองเพศ)
     (๔)     อันตรายิกธรรมคืออริยุปวาทะ ได้แก่การว่าร้ายพระอริยเจ้า
     (๕)     อันตรายิกธรรมคือการล่วงละเมิดพระพุทธบัญญัติได้แก่การจงใจล่วงละเมิดอาบัติ๗ กองมีปาราชิกเป็นต้น
       พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า อันตรายิกธรรมเหล่านี้เมื่อทำแล้วย่อมมีโทษ ย่อมทำอันตรายแก่ผู้ทำจริง ภิกษุใดคัดค้านว่าไม่ทำอันตรายได้จริง ชื่อว่าคัดค้านธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า เมื่อภิกษุอื่นมาเตือนให้สติห้ามมิให้คัดค้านอย่างนี้แต่ไม่เชื่อฟัง ไม่ยอมสละความคิดนั้น สงฆ์สวดประกาศความประพฤตินั้นจบ ต้องอาบัติ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อ มิให้ภิกษุผู้เป็นพหูสูต ศึกษาเล่าเรียนมามาก ลืมสติลืมตัว เกิดความทระนงว่าตนรู้มากแล้ว แล้วเหิมเกริมคัดค้านคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า ที่ทรงสอนว่าธรรมทำอันตรายนั้นไม่มีผลจริง ธรรมไม่อาจทำอันตรายได้จริง เป็นการป้องกันมิให้ภิกษุแสดงอาการเหิมเกริม ป่าวร้อง หรือแสดงข้อธรรมให้ผิดไปจากพระพุทธพจน์ให้ยึดถือตามแนวคิดของตัวเอง ซึ่งนับเป็นอันตรายมาก

อนาปัตติวาร
       ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
       (๑)  ภิกษุผู้ไม่ถูกสวดสมนุภาสน์
       (๒) ภิกษุผู้ยอมสละ 
       (๓) ภิกษุผู้วิกลจริต 
       (๔)  ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระอริฏฐะ


สัปปาณกวรรค สิกขาบทที่ ๙
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “อนึ่ง ภิกษุใดรู้อยู่ ร่วมกินก็ดี ร่วมอยู่ก็ดี ร่วมนอนก็ดี กับภิกษุผู้กล่าวอย่างนั้น ผู้ยังไม่ได้ทำตามธรรม ผู้ยังไม่ได้สละทิฏฐินั้น เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุคบภิกษุเช่นนั้น คือ ร่วมกินก็ดีร่วมนอนก็ดีร่วม อุโบสถสังฆกรรมก็ดีต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความและเจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อ มิให้ภิกษุ เข้าไปคลุกคลีกับภิกษุผู้คัดค้านคำสอนของพระพุทธองค์ ทั้งที่รู้อยู่ว่าแม้สงฆ์จะห้ามปรามและสวดประกาศแล้ว แต่ภิกษุนั้นก็ยังดื้อดึงไม่ละความคิดเห็นเช่นนั้น และเพื่อมิให้ภิกษุเข้าไปติดเชื้อกระด้างกระเดื่องเช่นนั้น อันจะนำให้กระด้างกระเดื่องดื้อรั้นตามไปด้วย

อนาปัตติวาร
       ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
(๑)  ภิกษุรู้อยู่ว่าภิกษุนั้นมิใช่ผู้ถูกสงฆ์ยกวัตร (สวดประกาศความผิด) 
(๒) ภิกษุรู้อยู่ว่าภิกษุนั้นถูกสงฆ์ยกวัตรแล้ว แต่สงฆ์เรียกเข้าหมู่อีก 
(๓) ภิกษุรู้อยู่ว่าภิกษุนั้นถูกสงฆ์ยกวัตรแล้วแต่สละทิฏฐินั้นแล้ว 
(๔) ภิกษุผู้วิกลจริต
(๕) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์


สัปปาณกวรรค สิกขาบทที่ ๑๐
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “ถ้าแม้สมณุทเทสกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว อย่างที่ธรรมทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นธรรมทำอันตรายก็ไม่อาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง สมณุทเทสนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส สมณุทเทส เธออย่าได้พูดอย่างนั้น เธออย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้า การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ดีแน่ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ตรัสอย่างนั้นเลย แน่ะอาวุโสสมณุทเทส พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธรรมที่ทำอันตรายไว้โดยอเนกปริยาย ก็แลธรรมเหล่านั้นอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง และสมณุทเทสนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนั้น ยังยึดถืออยู่อย่างนั้นแล สมณุเทเทสนั่นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะอาวุโสสมณุทเทส ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เธออย่าอ้างพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นว่าเป็นพระศาสดาของเธอ และเธอจะไม่มีการร่วมนอนกับภิกษุทั้งหลายสิ้น ๒-๓ คืน เช่นอย่างที่สมณุทเทสอื่นๆได้กัน เจ้าคนเสีย เธอจงไปเสีย เธอจงพินาศเสีย อนึ่ง ภิกษุใดรู้อยู่ เกลี้ยกล่อมสมณุทเทสผู้ถูกสงฆ์นาสนะอย่างนั้นแล้ว ให้อุปัฏฐากก็ดี ร่วมกินก็ดี ร่วมนอนก็ดี เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
       “ภิกษุเกลี้ยกล่อมสามเณรที่ภิกษุอื่นให้ฉิบหายแล้ว เพราะโทษที่กล่าวคัดค้านธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า ให้เป็นผู้อุปัฏฐากก็ดี ร่วมกินก็ดี ร่วมนอนก็ดี ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความและเจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
       สิกขาบทนี้กล่าวถึงความประพฤติของสมณุทเทส หรือสามเณรบางรูปที่อวดดีคัดค้านคำสอนของพระพุทธเจ้า แบบเดียวกับพระอริฏฐะในสิกขาบทก่อน สงฆ์ได้นาสนะ (ให้ฉิบหายด้วยการลงโทษ) ด้วยการมิให้อยู่ร่วมกับสงฆ์บ้าง หรือลงโทษอย่างอื่นบ้าง และทรงห้ามมิให้ภิกษุเกลี้ยกล่อมสามเณรนั้น ให้มาอุปัฏฐากดูแลตนบ้างร่วมกินร่วมนอนกับเธอบ้างเป็นการป้องกันมิให้เข้าข้างคนผิด และเป็นการป้องกันมิให้สามเณรนั้นไม่เข็ดหลาบ ยังทระนงตนอยู่เหมือนเดิม ด้วยเห็นว่ามีภิกษุอุปการะดูแล หรือคอยป้องกันตนได้

อนาปัตติวาร 
     ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้ คือ
(๑) ภิกษุรู้อยู่ว่าสมณุทเทสนั้นมิใช่ผู้ถูกสงฆ์นาสนะ 
(๒) ภิกษุรู้อยู่ว่าสมณุทเทสนั้นยอมสละทิฏฐินั้นแล้ว 
(๓) ภิกษุผู้วิกลจริต 
(๔) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0064847310384115 Mins