วรรคที่ ๖ สุราปานวรรค ว่าด้วยดื่มสุรา

วันที่ 02 มีค. พ.ศ.2566

วรรคที่ ๖ สุราปานวรรค ว่าด้วยดื่มสุรา

วรรคที่ ๖ สุราปานวรรค
ว่าด้วยดื่มสุรา


สุราปานวรรค สิกขาบทที่ ๑
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะดื่มสุราเมรัย”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
       “ภิกษุดื่มน้ำเมา ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
       คำว่า สุรา ได้แก่ น้ำเมาที่กลั่นแล้วโดยกลั่นให้มีรสเมาด้วยการหมักแป้งเชื้อราแล้วกลั่นตามกรรมวิธีจนได้น้ำเมาตามที่ต้องการ หรือน้ำเมาที่ผสมด้วยเครื่องปรุง หรือสุราที่ทำด้วยแป้ง ที่ทำด้วยขนม ที่ทำด้วยข้าวสุก เป็นต้น

       คำว่า เมรัย ได้แก่ น้ำเมาที่เกิดจากการหมักหรือแช่ หรือน้ำเมาที่มิได้กลั่นเหมือนสุรา หรือน้ำหมักดองผลไม้น้ำผักดองน้ำผึ้ง น้ำผักดองน้ำอ้อยงบหรือน้ำอันมีรสหวานตามธรรมชาติเช่นน้ำตาลสด ที่เขาปรุงขึ้นด้วยเครื่องปรุงพิเศษ เมื่อล่วงเวลาไป รสหวานนั้นก็จะกลายเป็นรสเมา

       ภิกษุดื่มน้ำเมาสองอย่างคือสุราหรือเมรัยนี้จะมีเจตนาหรือไม่มีเจตนาก็ตาม เป็นอาบัติ
       ของมึนเมาตามปกติในปัจจุบัน เช่น กัญชา ฝิ่น เฮโรอีน ยาเสพติดอื่นๆ ที่ผิดกฎหมาย ท่านสงเคราะห์เข้าในสิกขาบทนี้ เมื่อภิกษุสูบหรือฉีดเข้าไปในร่างกาย เป็นอาบัติ และมีโทษทางบ้านเมืองตามกฎหมาย

       ของที่มิใช่น้ำเมา แต่มีสีกลิ่น รสเหมือนน้ำเมา เช่นยาดองบางอย่างไม่เป็นอาบัติ
       น้ำเมาที่เขาเจือลงในแกง ในเนื้อ หรือในของอื่น เพื่อให้ชูรสหรือกันเสีย ไม่ถึงกับทำให้เมา ฉันหรือดื่มของนั้น ไม่เป็นอาบัติแต่ถ้าจงใจเจือหรือผสมลงไป โดยเจตนาเพื่อให้เกิดความเมา เป็นอาบัติ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อมิให้ภิกษุเป็นนักดื่มสุราเหมือนคฤหัสถ์เป็นการป้องกันภิกษุมิให้เมาเสียสติอันเป็นกิริยาไม่สมควร ทำให้หมดยางอายไม่มีความเคารพยำเกรงในผู้ใด แม้จะเป็นพระอุปัชฌาย์อาจารย์และเพื่อประกาศให้รู้ว่าแม้มิได้ดื่มสุราก็สามารถดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุขและบรรลุธรรมได้

อนาปัตติวาร
       ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
       (๑) ภิกษุดื่มน้ำที่มีสีกลิ่น รสเหมือนน้ำเมา แต่ไม่ใช่น้ำเมา 
       (๒) ภิกษุดื่มน้ำเมาที่เจืออยู่ในแกง 
       (๓) ภิกษุดื่มน้ำเมาที่เจืออยู่ในเนื้อ 
       (๔) ภิกษุดื่มน้ำเมาที่เจืออยู่ในน้ำมัน 
       (๕) ภิกษุดื่มน้ำอ้อยที่ดองมะขามป้อม 
       (๖) ภิกษุดื่มยาดองอริฏฐะ (ยาดองชนิดหนึ่งซึ่งดองด้วยมะขามป้อม มีสีกลิ่น และรสคล้ายน้ำเมา) ซึ่งมิใช่น้ำเมา 
       (๗) ภิกษุผู้วิกลจริต 
       (๘) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะได้แก่ พระสาคตะ

 

สุราปานวรรค สิกขาบทที่ ๒
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะใช้นิ้วมือจี้”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
       “ภิกษุจี้ภิกษุต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
       ภิกษุใช้นิ้วมือจี้ภิกษุด้วยกันด้วยต้องการให้ภิกษุนั้นหัวเราะ เป็นการล้อเล่นหรือหยอกเย้าเพื่อความสนุก เป็นกิริยาไม่สมควร เป็นอาบัติในเพราะเหตุนี้แต่ในกรณีที่ไปถูกต้องตัวของภิกษุผู้เป็นโรคนี้โดยไม่รู้หรือไม่เจตนา ทำให้ภิกษุนั้นเกิดจักจี้หัวเราะขึ้นมา ไม่เป็นอาบัติ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุหยอกล้อกันเล่นจนเกินเลย ทำให้ภิกษุที่เป็นโรคบ้าจี้หรือผู้ถูกจี้แสดงอาการสะดุ้งดิ้นรนหรือหัวเราะกระดิกกระเดี้ยไปโดยอัตโนมัติอันอาจทำให้หายใจไม่ทันแล้วถึงมรณภาพได้

อนาปัตติวาร
       ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ
       (๑) ภิกษุไม่ประสงค์จะให้หัวเราะไปถูกต้องเข้าเมื่อมีกิจที่จำเป็น 
       (๒) ภิกษุผู้วิกลจริต 
       (๓) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์


สุราปานวรรค สิกขาบทที่ ๓
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะการเล่นน้ำ”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
       “ภิกษุว่ายน้ำเล่น ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
       คำว่า เล่นน้ำ ได้แก่ ลงไปในน้ำลึกพ้นข้อเท้าขึ้นไป โดยมีความประสงค์จะรื่นเริง แล้วดำลงก็ดีผุดขึ้นก็ดีว่ายไปก็ดีชื่อว่าเล่นน้ำถ้ามีความจำเป็น ไม่ประสงค์จะเล่นน้ำ ลงไปในน้ำดำผุดดำว่ายเพื่องมหาของที่ตกลงไปในน้ำ หรือต้องการจะข้ามฟากโดยไม่มีทางอื่น หรือในคราวมีอันตราย อย่างนี้ไม่เป็นอาบัติ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุหาความสนุกแก่ตนจนเกินเหตุหรืออ้างเหตุว่าต้องการออกกำลังกายดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและเป็นการป้องกันมิให้ชาวบ้านตำหนิโพนทะนาว่าทำไม่เหมาะไม่สมควร

อนาปัตติวาร
       ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
       (๑) ภิกษุไม่ประสงค์จะเล่น เมื่อมีกิจจำเป็น ลงในน้ำแล้วดำลงก็ดีผุดขึ้นก็ดีว่ายไปก็ดี
       (๒) ภิกษุจะข้ามฟาก ดำลงก็ดีผุดขึ้นก็ดีว่ายไปก็ดี
       (๓) ภิกษุว่ายในคราวมีอันตราย
       (๔) ภิกษุผู้วิกลจริต
       (๕) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์


สุราปานวรรค สิกขาบทที่ ๔
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะความไม่เอื้อเฟื้อ”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
       “ภิกษุแสดงความไม่เอื้อเฟื้อในวินัย ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
       คำว่า ไม่เอื้อเฟื้อ คือ ไม่เอาใจใส่ ไม่สนใจ ไม่เชื่อฟัง ไม่ปฏิบัติ

       ในพระวินัยท่านแยกความไม่เอื้อเฟื้อไว้ ๒ อย่าง คือ
       (๑) ความไม่เอื้อเฟื้อในบุคคล คือ เมื่อมีภิกษุอื่นว่ากล่าวตักเตือนด้วยเจตนาดีโดยถูกต้อง กลับดูถูกภิกษุนั้น หรือไม่สนใจฟัง หรือโต้แย้งโดยไม่เคารพนับถือ
       (๒) ความไม่เอื้อเฟื้อในธรรม คือ เมื่อมีภิกษุอื่นว่ากล่าวตักเตือนโดยชอบธรรมโดยชอบวินัย กลับพูดกระทบธรรมวินัยว่า ทำไฉนธรรมวินัยข้อนี้จึงจะสูญหายอันตรธานไปเสีย เป็นต้น แล้วไม่สนใจที่จะปฏิบัติตามธรรมตามวินัย

       ประพฤติไม่เอื่อเฟื้ออย่างนี้ย่อมต้องอาบัติปาจิตตีย์

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื้อมิให้ภิกษุเป็นผู้ดื้อดึง ได้รับคำแนะนำตักเตือนแล้วให้มีความเคารพยำเกรงผู้แนะนำ ไม่ดูถูกดูหมิ่นหรือเหยียดหยามผู้แนะนำ และเพื่อให้ถือปฏิบัติตามธรรมวินัยเป็นประมาณ

อนาปัตติวาร
       ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
       (๑) ภิกษุกล่าวชี้เหตุว่าอาจารย์ทั้งหลายของพวกกระผมเรียนมาอย่างนี้สอบถามมาอย่างนี้
       (๒) ภิกษุผู้วิกลจริต 
       (๓) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระฉันนะ

 

สุราปานวรรค สิกขาบทที่ ๕
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “อนึ่ง ภิกษุใดหลอกให้ภิกษุกลัว เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
       “ภิกษุหลอนภิกษุให้กลัวผีต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
       คำว่า หลอกให้กลัว ได้แก่ การแสดงกิริยาอาการ การนำรูป เสียงเป็นต้นมาให้ดูและการพูดถึงสิ่งหรือเรื่องต่างๆ โดยต้องการให้ภิกษุอื่นตกใจเกิดความกลัว เช่น กลัวผีกลัวโจร กลัวสัตว์ร้าย กลัวอันตรายต่างๆ ตามที่ได้เห็นหรือได้ฟัง

       การแสดงและการพูดอย่างนั้น ภิกษุอื่นเห็นแล้วฟังแล้ว จะกลัวหรือไม่กลัวตามเจตนาผู้แสดงผู้พูดก็ตาม เป็นอาบัติ

       แต่ในกรณีที่ผู้แสดงอาการหรือพูดอย่างนั้นโดยไม่มีเจตนาจะหลอกให้กลัวหรือให้ตกใจ แต่ภิกษุอื่นกลัวและตกใจไปเอง ไม่เป็นอาบัติ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อมิให้ภิกษุกลั่นแกล้งหรือทำร้ายภิกษุอื่นโดยจงใจหลอกให้กลัว ให้ตกใจ ด้วยความสนุกหรือหยอกเย้าเล่น เพราะการแสดงอาการและการพูดเช่นนั้นทำให้ภิกษุอื่นเชื่อและตกใจหรือกลัวได้เมื่อเกิดอาการอย่างนั้นก็ไม่กล้าที่จะไปหรือทำอะไรได้ตามลำพัง

อนาปัตติวาร
       ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
       (๑) ภิกษุไม่มุ่งให้กลัว นำรูปก็ดีเสียงก็ดีกลิ่นก็ดีรสก็ดีโผฏฐัพพะก็ดีเข้าไปใกล้ๆหรือบอกเล่าถึงทางกันดารเพราะโจร ทางกันดารเพราะสัตว์ร้าย ทางกันดารเพราะปีศาจ 
       (๒) ภิกษุผู้วิกลจริต 
       (๓) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์


สุราปานวรรค สิกขาบทที่ ๖
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “อนึ่ง ภิกษุใดมิใช่ผู้อาพาธ มุ่งการผิง ก่อเองก็ดี ให้ ก่อก็ดี ซึ่งไฟ เป็นปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีเหตุที่สมควร”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
       “ภิกษุไม่เป็นไข้ติดไฟให้เป็นเปลวเองก็ดีใช้ให้ผู้อื่นติด ก็ดีเพื่อจะผิง ต้องปาจิตตีย์ติดเพื่อเหตุอื่น ไม่เป็นอาบัติ”

อธิบายความโดยย่อ
       คำว่า มุ่งการผิง หมายถึงต้องการจะให้ร่างกายอบอุ่น

       สิกขาบทนี้หมายถึงการที่ภิกษุต้องการจะผิงไฟ จึงก่อไฟเองหรือให้คนอื่นก่อแล้วผิง ทรงห้ามมิให้ผิงไฟด้วยวิธีอย่างนี้เพราะเมื่อถึงฤดูหนาวสามารถไปผิงไฟในที่จัดไว้สำหรับผิงที่เรียกว่าเรือนไฟได้หรือผิงไฟที่คนอื่นเขาก่อไว้แล้วได้และทรงอนุญาตไว้ว่า ภิกษุอาพาธซึ่งเมื่อไม่ได้ผิงไฟจะไม่สบายก็ก่อไฟผิงได้หรือเมื่อเหตุจำเป็นเช่นเป็นไข้ขึ้นมาจำต้องผิงไฟ ก็ติดไฟผิงเองได้

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันอันตรายจากไฟที่ภิกษุก่อไฟผิงแล้วอาจเผลอทิ้งไว้จากไป ไฟอาจลุกไหม้กุฏิและศาลาซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรือนไม้มุงด้วยหญ้าได้หรือเพื่อป้องกันมิให้สัตว์ซึ่งอาจมีอยู่ในท่อนไม้หรือกองไม้เป็นอันตราย หรือเพื่อป้องกันไฟไหม้ป่าโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ได้

อนาปัตติวาร
       ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
       (๑) ภิกษุอาพาธ 
       (๒) ภิกษุผิงไฟที่ผู้อื่นก่อไว้
       (๓) ภิกษุผิงถ่านไฟที่ปราศจากเปลว
       (๔) ภิกษุตามประทีปก็ดีก่อไฟใช้อย่างอื่นก็ดีติดไฟในเรือนก็ดีเพราะมีเหตุที่สมควร 
       (๕) ภิกษุผิงไฟในคราวมีอันตราย 
       (๖) ภิกษุผู้วิกลจริต 
       (๗) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ ภิกษุทั้งหลายที่พักอยู่ที่สวนสัตว์เภสกลาวัน


 สุราปานวรรค สิกขาบทที่ ๗
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “อนึ่ง ภิกษุใดไม่ถึงครึ่งเดือน อาบน้ำ เป็นปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่สมัย สมัยในเรื่องนั้นดังนี้ คือ หนึ่งเดือนครึ่งท้ายฤดูร้อน หนึ่งเดือนแรกของฤดูฝน รวมเป็นสองเดือนครึ่ง เป็นคราวที่ร้อน เป็นคราวที่อบอ้าว คราวอาพาธ คราวการงาน คราวเดินทางไกล คราวถูกลมฝน นี้เป็นสมัยในเรื่องนั้น”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุอยู่ในมัชฌิมประเทศคือจังหวัดกลางแห่งประเทศอินเดีย ๑๕ วันจึงอาบน้ำได้หนหนึ่ง ถ้ายังไม่ถึง ๑๕ วัน อาบน้ำ ต้องปาจิตตีย์เว้นไว้แต่มีเหตุจำเป็น ในปัจจันตประเทศ เช่นประเทศเรา อาบน้ำได้เป็นนิตย์ไม่เป็นอาบัติ”

อธิบายความโดยย่อ
       สิกขาบทเรื่องการอาบน้ำนี้เป็นที่สับสนมากพอสมควร ด้วยการตีความว่าทรงให้ภิกษุอาบน้ำได้๑๕ วันต่อครั้งแท้ที่จริงภิกษุสามารถอาบน้ำได้ตลอดเพราะทรงมีข้อยกเว้นไว้ให้มากมายสิกขาบทนี้มีมูลเหตุมาจากการที่พระเจ้าพิมพิสารเสด็จไปที่ตโปทาซึ่งเป็นบ่อน้ำร้อนอันอยู่ไม่ไกลจากวัดเวฬุวันเพื่อสรงสนานพระเศียรเกล้า แต่ภิกษุทั้งหลายอาบน้ำกันอยู่ก่อน จึงทรงรอจนเย็นภิกษุจึงอาบน้ำกันเสร็จ ทำให้เสด็จกลับเข้าประตูเมืองไม่ทัน ต้องพักอยู่นอกเมือง พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ไว้

       ต่อมา ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาบน้ำได้ตลอดในช่วงหนึ่งเดือนครึ่งท้ายฤดูร้อน และอีกหนึ่งเดือนแรกของฤดูฝน และทรงอนุญาตพิเศษแก่ภิกษุผู้อาพาธ ภิกษุที่ทำงาน ภิกษุเดินทางไกล ภิกษุที่ถูกลมฝน ให้อาบน้ำได้แม้ยังไม่ถึง ๑๕ วัน

       ที่ทรงห้ามดังนี้พิเคราะห์ดูแล้วทรงห้ามเฉพาะการอาบน้ำที่ตโปทาเพราะเป็นบ่อน้ำร้อนแห่งเดียวของเมืองที่ผู้คนไปอาบน้ำกันมากการที่ภิกษุจะเบียดผู้คนอาบน้ำย่อมไม่สะดวกและไม่เหมาะ จึงทรงห้ามไว้แต่ทรงอนุญาตไว้พิเศษในช่วงฤดูร้อนและต้นฤดูฝน ต่อไปก็เมื่อเข้าฤดูฝนก็สามารถสรงน้ำได้ในที่ทั่วไป ในฤดูหนาวไม่จำเป็นต้องสรงน้ำมากนัก ส่วนในที่อื่นที่เรียกกันว่าปัจจันตชนบท คือเมืองหรือประเทศรอบนอกจากเมืองราชคฤห์เช่นในประเทศไทย ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาบน้ำได้โดยเสรีไม่มีกำหนดวัน

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุไปอาบน้ำปะปนกับชาวบ้านโดยเสรีเพราะเป็นภาพที่ไม่งามเมื่ออาบน้ำ และเป็นการให้ความสะดวกแก่ชาวบ้านที่ต้องรอให้ภิกษุสรงน้ำเสร็จก่อนจึงเข้าไปอาบน้ำ เพราะชาวบ้านผู้มีศรัทธาย่อมไม่กล้าที่จะเข้าไปอาบน้ำพร้อมกับภิกษุ

อนาปัตติวาร
       ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
       (๑) ภิกษุอาบน้ำในสมัย
       (๒) ภิกษุอาบน้ำในเวลาครึ่งเดือน 
       (๓) ภิกษุข้ามฟากพรางอาบน้ำ 
       (๔) ภิกษุอาบน้ำในปัจจันตชนบททุกๆแห่ง 
       (๕) ภิกษุอาบน้ำเพราะมีอันตราย (เช่นถูกผึ้งไล่ต่อย รีบลงไปในน้ำแล้วดำน้ำหนี) 
       (๖) ภิกษุผู้วิกลจริต
       (๗) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ ภิกษุที่อยู่เมืองราชคฤห์

 

 สุราปานวรรค สิกขาบทที่ ๘
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “อนึ่ง ภิกษุใดได้จีวรใหม่มา พึงถือเอาวัตถุสำหรับทำให้เสียสี ๓ อย่างอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ของสีเขียว ครามก็ได้ ของสีตมก็ได้ ของสีดำคล้ำก็ได้มาทำให้เสียสี ถ้าภิกษุไม่เถือเอาวัตถุสำหรับทำให้เสียสี ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งมาทำให้เสียสี ใช้จีวรใหม่ เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุได้จีวรใหม่มาต้องพินทุด้วยสี๓ อย่างคือเขียว คราม โคลน ดำคล้ำ อย่างใดอย่างหนึ่งก่อน จึงห่มได้ถ้า ไม่ทำพินทุก่อนแล้วนุ่งห่ม ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
       เมื่อภิกษุได้ผ้าจีวรใหม่มา ไม่ว่าจะเป็นผ้านุ่งผ้าห่ม ผ้าสังฆาฏิผ้าอาบน้ำฝน ให้ทำให้เสียสีด้วยการทำพินทุกัปปะ คือทำจุดกลมๆ หรือวงกลม ขนาดใหญ่เท่าแววตานกยูงขนาดเล็กเท่าหลังตัวเรือดไว้ที่มุมผ้าหรือที่ชายผ้า ทั้งนี้เพื่อทำให้ผ้านั้นเศร้าหมองมีจุดด่างในตัวผ้า และเป็นเหตุให้สามารถจำผ้าของตัวเองที่ทำพินทุกัปปะไว้ในกรณีที่ผ้าไปรวมปะปนกันในกรณีบางอย่าง และเมื่อทำพินทุกัปปะไว้หากเครื่องหมายที่ทำไว้เลือนหายไปหรือจางไป ไม่ต้องทำพินทุกัปปะใหม่ หรือนำผ้าที่ยังมิได้ทำพินทุกัปปะไปเย็บติดกับผ้าที่ทำพินทุกัปปะไว้แล้วใช้สอย หรือใช้ผ้าปะ ใช้ผ้าทาบกับผ้าใหม่ไม่ต้องทำพินทุกัปปะเพราะผ้าปะและผ้าทาบก็มีคติเหมือนพินทุกัปปะ

       สีที่ใช้ในการทำพินทุกัปปะทรงกำหนดไว้ ๓ สีคือสีเขียวคราม สีโคลน สีดำคล้ำ ปัจจุบันนิยมใช้ดินสอดำเป็นเครื่องมือในการทำพินทุกัปปะ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้ผ้าจีวรที่ได้มาใหม่มีจุดด่างพร้อยเหมือนเป็นผ้าจีวรเก่า มีราคาตกลงไป ไม่เป็นที่ต้องการของพวกโจร และเพื่อให้เป็นเครื่องหมายสำหรับจดจำจีวรของตนได้ในเวลาที่จีวรอยู่ปะปนกัน

อนาปัตติวาร
       ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
       (๑) ภิกษุถือเอาแล้วใช้นุ่งห่ม 
       (๒) ภิกษุใช้จีวรที่มีเครื่องหมายพินทุกัปปะหายสูญไป
       (๓) ภิกษุใช้จีวรที่มีร่องรอยทำเครื่องหมายพินทุกัปปะไว้แต่จางไป 
       (๔) ภิกษุใช้จีวรที่ยังมิได้ทำเครื่องหมายพินทุกัปปะแต่เย็บติดกับจีวรที่ทำพินทุกัปปะแล้ว
       (๕) ภิกษุใช้ผ้าปะ 
       (๖) ภิกษุใช้ผ้าทาบ 
       (๗) ภิกษุใช้ผ้าดาม 
       (๘) ภิกษุผู้วิกลจริต
       (๙) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ ภิกษุหลายรูปที่เดินทางจากเมืองสาเกตไปเมืองสาวัตถี


สุราปานวรรค สิกขาบทที่ ๙
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “อนึ่ง ภิกษุใดวิกัปจีวรเองแก่ภิกษุก็ดี ภิกษุณีก็ดี สิกขามานาก็ดี สามเณรก็ดี สามเณรีก็ดี แล้วใช้จีวรซึ่งยังมิได้ถอนก่อนนั้น เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
       “ภิกษุวิกัปจีวรแก่ภิกษุหรือสามเณรแล้วผู้รับยังมิได้ถอนนุ่งห่มจีวรนั้น ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
       คำว่า วิกัป หมายถึงการทำให้เป็นเจ้าของสองเจ้าของคือขอให้ภิกษุหรือสหธรรมิกอื่นร่วมเป็นเจ้าของด้วย อันทำให้ไม่ต้องอาบัติในเพราะเก็บอติเรกจีวรไว้เกินกำหนดตามสิกขาบท

       เมื่อภิกษุวิกัปจีวรไว้กับภิกษุหรือสามเณรอื่นแล้ว ไม่ได้ถอนวิกัปคือไม่ได้บอกแก่คู่วิกัปก่อนหรือคู่วิกัปยังไม่ได้อนญาตก่อนแล้วใช้จีวรนั้นโดยความมักง่ายหรือเห็นแก่ตัว เป็นอาบัติ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อมิให้ภิกษุเป็นผู้มักง่ายถือโอกาสใช้สอยจีวรที่วิกัปไว้โดยพลการ โดยไม่เกรงใจภิกษุหรือสามเณรคู่วิกัป อันเป็นการแสดงมารยาทที่ไม่สมควรและเป็นการสร้างความบาดหมางแตกแยกตามมาได้

อนาปัตติวาร
       ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
       (๑) ภิกษุใช้สอยจีวรที่ภิกษุผู้รับวิกัปคืนให้หรือถือวิสาสะแก่ภิกษุผู้รับวิกัป 
       (๒) ภิกษุผู้วิกลจริต 
       (๓) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่พระอุปนันทศากยบุตร

 

 สุราปานวรรค สิกขาบทที่ ๑๐
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “อนึ่ง ภิกษุใดซ่อนก็ดี ให้ซ่อนก็ดี ซึ่งบาตรก็ดี จีวรก็ดี ผ้าปูนั่งก็ดี กล่องเข็มก็ดี ประคดเอวก็ดี ของภิกษุ โดยที่สุดแม้มุ่งจะหัวเราะเล่น เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
       “ภิกษุซ่อนบริขาร คือ บาตร จีวร ผ้าปูนั่ง กล่องเข็มประคดเอว สิ่งใดสิ่งหนึ่งของภิกษุอื่น ด้วยคิดว่าจะล้อเล่นต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความและเจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
       สิกขาบทนี้ห้ามมิให้ภิกษุซ่อนหรือสั่งให้คนอื่นซ่อนบริขาร เช่นบาตร จีวร ของใช้ของภิกษุอื่น เพื่อที่จะล้อเล่นด้วยความสนุก หรือเพื่อให้เจ้าของกระวนกระวายหา หรือเพื่อการอื่นโดยเจตนา มิได้คำนึงถึงความเดือดร้อนใจของภิกษุผู้มีบริขารหายไป จึงทรงบัญญัติห้ามไว้

อนาปัตติวาร
       ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
       (๑) ภิกษุไม่ประสงค์จะหัวเราะเล่น 
       (๒) ภิกษุเก็บบริขารที่ผู้อื่นวางไว้ไม่ดี
       (๓) ภิกษุเก็บไว้ด้วยหวังสั่งสอนแล้วจะคืนให้
       (๔) ภิกษุผู้วิกลจริต 
       (๕) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่พวกภิกษุฉัพพัคคีย์

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.021417947610219 Mins