มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๓
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
“เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะส่อเสียดภิกษุ”
เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
“ส่อเสียดภิกษุต้องปาจิตตีย์”
อธิบายความโดยย่อ
คำว่า ส่อเสียด มาจากคำว่า เปสุญญวาท หมายถึงคำพูดเหน็บแนม คำพูดกระแนะกระแหน คำพูดนินทาลับหลัง คำพูดประชด คำพูดสบประมาท คำพูดยุแยง
ลักษณะการพูดส่อเสียด คือฟังคำข้างนี้แล้วไปบอกข้างโน้น และฟังคำข้างโน้นแล้วมาบอกข้างนี้โดยมีจุดมุ่งหมายหลัก ๒ ประการคือ เพื่อทำให้ตัวเองเป็นที่รักของเขา และเพื่อให้เขาแตกกัน เกิดความบาดหมางกัน อันเป็นการทอนกำลังของทั้งสองฝ่าย
สิกขาบทนี้ห้ามการพูดส่อเสียดภิกษุ ถ้าพูดส่อเสียดภิกษุ เป็นปาจิตตีย์ส่อเสียดภิกษุกับอนุปสัมบัน หรือส่อเสียดอนุปสัมบันทั้งสองฝ่ายเป็นทุกกฏ ได้ฟังเรื่องจากฝ่ายหนึ่งมาแล้ว มาเล่าให้ฝ่ายหนึ่งฟัง โดยไม่ปรารถนาจะให้เขาชอบตนหรือให้เขาบาดหมางแตกแยกกัน เล่าไปตามจริงที่ตนได้ฟังมา ไม่เป็นอาบัติ
เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติขึ้น เพื่อปรามภิกษุมิให้ทำตัวเป็นบ่างช่างยุ ทำให้ภิกษุเกิดความบาดหมางหรือแตกกัน อันเป็นการทำลายกำลังของหมู่คณะให้อ่อนแอ หรือมุ่งเอาใจให้ทั้งสองฝ่ายเกิดความไว้วางใจรักชอบตนว่าเป็นผู้มีน้ำใจเก็บเรื่องราวของอีกฝ่ายมาบอกตน และเพื่อป้องกันการบาดหมางแตกแยกกันของสงฆ์
อนาปัตติวาร
ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ
(๑) ภิกษุผู้ไม่ต้องการจะให้เขารัก
(๒) ภิกษุผู้ไม่ประสงค์จะให้เขาแตกกัน
(๓) ภิกษุผู้วิกลจริต
(๔) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์