ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๒ ภิกษุมีบาตรร้าวยังไม่ถึง ๑๐ นิ้ว

วันที่ 20 เมย. พ.ศ.2565

ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๒ ภิกษุมีบาตรร้าวยังไม่ถึง ๑๐ นิ้ว

ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๒

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ

       “อนึ่ง ภิกษุใดมีบาตรที่มีรอยซ่อมต่ำกว่า ๕ แห่ง ขอบาตรใบอื่นใหม่ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ภิกษุนั้นพึงสละบาตรใบนั้นในภิกษุบริษัท บาตรใบสุดท้ายของภิกษุบริษัทนั้นพึงมอบให้แก่ภิกษุนั้น โดยสั่งว่า ภิกษุ นี้บาตรของเธอพึงใช้ไปจนกว่าจะแตก นี้เป็นข้อปฏิบัติชอบในเรื่องนั้น”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
       “ภิกษุมีบาตรร้าวยังไม่ถึง ๑๐ นิ้ว ขอบาตรใบใหม่แต่คฤหัสถ์ที่มิใช่ญาติมิใช่ปวารณา ได้มา ต้องนิสสัคคิย-ปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
       คำว่า มีรอยซ่อมต่ำกว่า ๕ แห่ง คือ มีรอยซ่อมเพียง ๑ แห่ง ๒ แห่ง ๓ แห่ง หรือ ๔ แห่ง
       - บาตรที่ชื่อว่า ไม่มีรอยซ่อม ได้แก่ บาตรที่ไม่มีรอยร้าวยาวถึง ๒ นิ้ว
       - บาตรที่ชื่อว่า มีรอยซ่อม ได้แก่ บาตรที่มีรอยร้าวยาวถึง ๒ นิ้ว
       - บาตรที่ชื่อว่า ใหม่ ได้แก่ บาตรที่ขอเขามา
       เพราะนั้น บาตรที่มีรอยซ่อมต่ำกว่า ๕ แห่ง ก็คือบาตรที่มีรอยร้าวยาวยังไม่ถึง ๑๐ นิ้ว
       คำว่า ขอ คือ ออกปากขอ เป็นทุกกฏเพราะประโยคที่ขอ เมื่อได้มาบาตรเป็นนิสสัคคีย์จำต้องสละในท่ามกลางสงฆ์

       ทรงรับสั่งว่า ภิกษุทุกรูปทีเดียวพึงถือบาตรที่อธิษฐานแล้วไปประชุม อย่าอธิษฐานบาตรชนิดที่ไม่ดีด้วยหมายว่าจะได้บาตรที่มีราคามาก ถ้าอธิษฐานบาตรชนิดที่ไม่ดีด้วยหมายว่าจะได้บาตรที่มีราคามาก ต้องอาบัติทุกกฏ 

       ภิกษุเมื่อได้รับเปลี่ยนบาตรจากภิกษุบริษัทตามพระวินัยแล้ว ท่านแนะนำว่า อย่าเก็บบาตรใบนั้นไว้ในที่อันไม่สมควร อย่าใช้โดยอาการอันไม่สมควร อย่าปล่อยทิ้งเสียว่าบาตรใบนี้จะเป็นอย่างไรก็ช่าง คือจะหายก็ช่าง จะฉิบหายก็ช่าง จะแตกก็ช่าง ถ้าเก็บไว้ในที่อันไม่สมควรก็ดี ใช้โดยอาการอันไม่สมควรก็ดี ปล่อยทิ้งเสียก็ดี ต้องอาบัติทุกกฏ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้
       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุรบกวนสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ด้วยการไปขอบาตรเขาซึ่งบางครั้งก็ไม่อาจถวายให้ได้และเพื่อให้ภิกษุมีความละเอียดลออในการดูแลรักษาบาตร โดยเก็บไว้ในที่อันสมควร ใช้อย่างทะนุถนอม ไม่ปล่อยทิ้งขว้างไม่สนใจ จะเสียหายอย่างไร จะแตกหรือสูญหายไปอย่างไรก็ช่าง มิใช่เช่นนั้น จะได้ไม่ต้องไปขอบาตรชาวบ้านโดยไม่จำเป็น


อนาปัตติวาร
ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
       (๑) ภิกษุมีบาตรหาย 
       (๒) ภิกษุมีบาตรแตก 
       (๓) ภิกษุขอจากญาติ
       (๔) ภิกษุขอจากคนปวารณา 
       (๕) ภิกษุขอเพื่อภิกษุอื่น 
       (๖) ภิกษุซื้อมาด้วยทรัพย์ของตน
       (๗) ภิกษุผู้วิกลจริต 
       (๘) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุวัดนิโครธาราม

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.033288796742757 Mins