มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๒ ด่าภิกษุต้องปาจิตตีย์

วันที่ 05 พค. พ.ศ.2565

มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๒ ด่าภิกษุต้องปาจิตตีย์

มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๒

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
        “เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะพูดดูถูก”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
        “ด่าภิกษุต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
        คำว่า พูดดูถูก มาจากคำว่า โอมสวาท หมายถึง คำทิ่มแทง, คำถากถาง, คำดูหมิ่น, คำแดกดัน, คำถากถาง, คำประชด พูดรวมๆ ว่าหมายถึงคำด่า คำพูดเสียดแทงให้เจ็บใจ มีลักษณะเป็น ๒ ประการ คือ
        (๑) พูดปรารถนาจะทำให้เขาได้รับความเจ็บใจ หรือได้รับความอับอาย ได้รับความอัปยศอดสู
        (๒) แสดงอาการที่ได้เห็นแล้วรู้สึกเจ็บใจ ได้รับความอับอาย ได้รับความอัปยศอดสู
        เรื่องที่ยกขึ้นมาเป็นคำด่า ทำให้เกิดเสียดแทง กระทบใจทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บใจ ไม่พอใจ เรียกว่า อักโกสวัตถุ คือ
มี ๑๐ อย่าง คือ ชาติกำเนิด ชื่อ โคตรหรือแซ่ การงาน ศิลปวิทยา โรค รูปพรรณกิเลส อาบัติคำด่าอย่างอื่น

        การพูด ถ้าไม่ได้เพ่งความเจ็บใจหรือความอัปยศ เป็นการพูดล้อเล่นแต่ไปกระทบเรื่องที่เป็นอักโกสวัตถุเช่นเรื่องชาติกำเนิดเป็นต้น พูดเจาะจงตัวก็ตาม พูดเปรยๆ ก็ตาม เป็นอาบัติทุพภาษิต
        สิกขาบทนี้เป็นสจิตตกะ มีเจตนาจึงเป็นอาบัติถ้าไม่มีเจตนาที่เป็นเท็จแต่มุ่งอรรถมุ่งธรรม มุ่งแนะนำสั่งสอน โดยยกตัวอย่างขึ้นมา และตัวอย่างนั้นกระทบอักโกสวัตถุบ้าง ไม่เป็นอาบัติ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
        สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้ภิกษุระวังคำพูด ให้พูดไพเราะ น่าฟัง ได้ประโยชน์ไม่สร้างศัตรูโดยละเว้นคำด่า คำกระทบเปรียบเปรย ซึ่งเป็นคำหยาบคาย ซึ่งมิใช่วาจาของชาวเมือง มิใช่เป็นภาษาผู้ดี

อนาปัตติวาร
        ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
        (๑) ภิกษุผู้มุ่งอรรถ
        (๒) ภิกษุผู้มุ่งธรรม 
        (๓) ภิกษุผู้มุ่งสั่งสอน 
        (๔) ภิกษุผู้วิกลจริต
        (๕) ภิกษุผู้มีจิตฟุ้งซ่าน 
        (๖) ภิกษุผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา 
        (๗) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.026307264963786 Mins