ภูตคามวรรค สิกขาบทที่ ๘
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
“อนึ่ง ภิกษุใดนั่งทับก็ดี นอนทับก็ดี ซึ่งเตียงก็ดี ตั่งก็ดี อันมีขาเสียบไว้บนกุฎีมีชั้นลอยในวิหารอันเป็นของสงฆ์ เป็นปาจิตตีย์”
เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
“ภิกษุนั่งทับก็ดีนอนทับก็ดีบนเตียงก็ดีบนตั่งก็ดีอันมี เท้าไม่ได้ตรึงให้แน่นซึ่งเขาวางไว้บนร่างร้านที่เขาเก็บของในกุฎีต้องปาจิตตีย์”
อธิบายความโดยย่อ
คำว่า เตียงมีขาเสียบไว้ ได้แก่ เตียงที่เขาทำเอาขาเตียงเสียบเข้าไว้ในตัวเตียงเฉยๆ ไม่ได้ตรึงด้วยสลักให้แน่น เรียกว่า อาหัจจปาทกะ ตั่งที่มีขาเสียบก็ทำแบบเดียวกัน
คำว่า กุฎีมีชั้นลอย หมายถึงร่างร้านที่ยกขึ้นอีกชั้นหนึ่งในวิหารที่อยู่คือชั้นล่างเป็นที่นอนหรือที่นั่งอยู่แล้ว แต่ต้องการพื้นที่นอนอีกชั้นหนึ่ง จึงทำตอม่อสูงประมาณท่วมหัวขึ้นแล้ววางรอดหรือคานบนตอม่อนั้น แต่มิได้ปูพื้นตามปกติยกเตียงชนิดที่มีขาเสียบไว้นั้นพาดบนรอดนั้น โดยให้พื้นเตียงพาดอยู่บนรอดนั้น ส่วนขาเตียงจะห้อยลง ทำนองเป็นเตียงซ้อนเตียง ใช้นอนได้ทั้งข้างล่างข้างบน เตียงซ้อนเตียงนั่นแหละเรียกว่า กุฎีมีชั้นลอย
กุฎีมีชั้นลอยแบบนี้ผู้อยู่ข้างล่างต้องระวังศีรษะจะโดนขาเตียงยามเข้าออกหรือลุกขึ้นยืน หรือเมื่อมีการนอนหรือนั่งทับข้างบน ขาเตียงอาจหย่อนตัวลงมาเสียบศีรษะได้
ภิกษุนอนหรือนั่งบนกุฎีมีชั้นลอยเช่นนี้ในวิหารหรือที่อยู่อันเป็นของสงฆ์เป็นปาจิตตีย์
ถ้าเป็นวิหารหรือที่อยู่ของบุคคล ภิกษุสงสัยว่าเป็นของบุคคลหรือของสงฆ์ นอนหรือนั่งไป เป็นทุกกฏ
ถ้าเป็นวิหารของตน ไม่ต้องอาบัติ
เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันอันตรายอันจะเกิดขึ้นจากการนอนหรือนั่งบนเตียงหรือตั่งลักษณะนั้น เพราะไม่แข็งแรง ไม่ปลอดภัย แบบทำขึ้นชั่วคราว
อนาปัตติวาร
ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ
(๑) ไม่ใช่กุฎีมีชั้นลอย
(๒) ชั้นลอยสูงพอกระทบศีรษะ
(๓) ข้างล่างไม่ได้ใช้เป็นที่อยู่
(๔) ข้างบนปูพื้นไว้
(๕) ขาเตียงขาตั่งได้ตรึงสลักไว้
(๖) ภิกษุยืนบนเตียง หรือตั่งนั้นหยิบจีวรหรือพาดจีวรได้
(๗) ภิกษุผู้วิกลจริต
(๘) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ ภิกษุวัดเชตวัน ๒ รูป