จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๖ ภิกษุขอจีวรต่อคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติไม่ใช่ปวารณา

วันที่ 18 มีค. พ.ศ.2565

จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๖ ภิกษุขอจีวรต่อคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติไม่ใช่ปวารณา
จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๖

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ

        “อนึ่ง ภิกษุใดขอจีวรต่อคหบดีก็ดี คหปตานีก็ดี ผู้มิใช่ญาติ นอกจากสมัยเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ สมัยในคำนั้นดังนี้ ภิกษุมีจีวรถูกชิงไปก็ดี มีจีวรหายก็ดีนี่คือสมัยในคำนั้น”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
        “ภิกษุขอจีวรต่อคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติไม่ใช่ปวารณาได้มา ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์เว้นแต่มีสมัยที่จะขอได้คือเวลาภิกษุมีจีวรอันโจรลักไป หรือมีจีวรอันฉิบหายเสีย”

อธิบายความโดยย่อ
        คำว่า ผู้มิใช่ญาติ ได้แก่คนที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกันทางมารดาหรือทางบิดาตลอดเจ็ดชั่วคน หมายถึงวงศ์สกุลที่สืบสายโลหิตกัน ๗ ลำดับ โดยตนเองเป็นลำดับกลาง สูงขึ้นไป ๓ ลำดับ คือ พ่อ ปู่ ทวด ต่ำลงมาจากตัวเอง ๓ ลำดับ คือ ลูก หลาน เหลน เมื่อรวมกับตัวเองแล้วก็เป็นเจ็ดชั่วคน หรือเจ็ดชั่วโคตร
        คำว่า ปวารณา หมายถึงการพูดให้ขอได้การเปิดโอกาสให้ขอได้ คือยินยอมให้ภิกษุขอหรือเรียกร้องปัจจัย ๔ ได้ตามสะดวก โดยพูดหรือนิมนต์ไว้ล่วงหน้า
         คนที่มิได้พูดมิได้เปิดโอกาสไว้อย่างนี้ชื่อว่า ผู้มิใช่ปวารณา
        คำว่า มีจีวรถูกชิงไป คือ จีวรของภิกษุถูกชิงไป โดยถูกพระราชาก็ดีพวกโจรก็ดีพวกนักเลงก็ดีหรือคนพวกใดพวกหนึ่งชิงเอาไป
        คำว่า ผู้มีจีวรหายไป คือ จีวรของภิกษุถูกไฟไหม้ก็ดีถูกน้ำพัดไป ก็ดีถูกหนูหรือปลวกกัดกินก็ดีเก่าไปเพราะถูกใช้สอยก็ดี

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้ 
        สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพราะมีเหตุเกิดขึ้นคือภิกษุได้ขอผ้าห่มหรือผ้านุ่งผืนหนึ่งจากลูกชายเศรษฐีซึ่งเกิดความเลื่อมใสแล้วปวารณาไว้โดยขอในระหว่างทาง แต่ลูกชายเศรษฐีขอผัดไว้ให้กลับบ้านก่อนเพราะไม่อาจนุ่งผ้าผืนเดียวกลับบ้านได้แต่ภิกษุรบเร้าจนต้องยอมถวายตามที่ปวารณาไว้ทำให้ลูกชายเศรษฐีต้องเดินกลับบ้านโดยมีผ้านุ่งผืนเดียว ที่ทรงบัญญัติเป็นพระวินัยไว้ก็เพื่อมิให้ภิกษุมีความอยากได้จนเกินเหตุ ไม่รู้การควรไม่ควร แม้เขาปวารณาไว้แต่มิใช่โอกาสที่จะขอ ก็ไม่ควรขอ เพราะทำให้เขาเดือดร้อนเฉพาะหน้าได้ทั้งเพื่อให้ภิกษุระมัดระวังในเรื่องการขอ อาจทำให้เสื่อมศรัทธาหรือเกิดความเดือดร้อนได้เมื่อไปขอต่อผู้มิใช่ญาติไม่รู้จักกัน หรือมิได้ปวารณาไว้
        สิกขาบทนี้ทรงห้ามไว้เฉพาะไตรจีวรถ้าเป็นผ้าอย่างอื่นหรือเป็นของอื่น ไม่ได้ทรงห้ามไว้แต่ก็เมื่อต้องการที่จะขอ ก็ต้องระวังในการขอว่าจำเป็นหรือไม่จำเป็นอย่างไร มิใช่ขอสิ่งที่ต้องการทุกอย่างตามใจชอบ เพราะทำให้เสียศรัทธาและสร้างความเดือดร้อนให้ผู้ถูกขอได้

อนาปัตติวาร
        ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ

(๑) ภิกษุขอในสมัย

(๒) ภิกษุขอต่อญาติ

(๓) ภิกษุขอต่อคนปวารณา

(๔) ภิกษุขอเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุอื่น

(๕) ภิกษุซื้อมาด้วยทรัพย์ของตน

(๖) ภิกษุผู้วิกลจริต

(๗) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระอุปนันทศากยบุตร
 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0079205513000488 Mins