ภูตคามวรรค สิกขาบทที่ ๗
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
“อนึ่ง ภิกษุใดโกรธ ไม่พอใจ ฉุดคร่าก็ดี ให้ฉุดคร่าก็ดี ซึ่งภิกษุออกจากวิหารอันเป็นของสงฆ์ เป็นปาจิตตีย์”
เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
“ภิกษุโกรธเคืองภิกษุอื่น ฉุดคร่าไล่ออกจากกุฏีสงฆ์ต้องปาจิตตีย์”
อธิบายความโดยย่อ
คำว่า ฉุดคร่า หมายถึงขับไล่ บอกให้ออกไป มิให้อยู่ในที่นั้นต่อไปหรือสั่งให้คนอื่นทำอย่างนั้น
สิกขาบทนี้หมายถึง การที่ภิกษุผู้มีอำนาจหรือมีอาวุโสแสดงความโกรธ ความไม่พอใจออกมา ฉุดคร่าหรือให้ฉุดคร่าภิกษุออกไปจากวิหารหรือกุฎีสงฆ์ด้วยสาเหตุที่ไม่ชอบธรรม ทำให้ผู้ถูกฉุดคร่าออกไปเดือดร้อนและไม่เป็นธรรม
แต่ในกรณีที่พระอุปัชฌาย์อาจารย์ขับสัทธิวิหาริกหรืออันเตวาสิกผู้ประพฤติไม่ดีไม่งาม ไม่ตั้งอยู่ในโอวาท ให้ออกจากสำนักตน หรือเจ้าอาวาสใช้อำนาจอันชอบธรรมให้ภิกษุผู้ประพฤติมิชอบ ทำผิดกฎกติกาของวัดออกไปเสียจากวัด ไม่ต้องอาบัติ
เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อมิให้ภิกษุถูกกลั่นแกล้ง ถูกรังแก หรือได้รับการเบียดเบียน จากภิกษุอื่นที่มีอำนาจมีอาวุโสกว่า โดยไม่ถูกต้องไม่ชอบธรรม
อนาปัตติวาร
ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ
(๑) ภิกษุฉุดคร่าก็ดีให้ฉุดคร่าก็ดีซึ่งภิกษุอลัชชี(ผู้ไม่ละอาย)
(๒) ภิกษุขนก็ดีให้ขนก็ดีซึ่งบริขารของภิกษุอลัชชีนั้น
(๓) ภิกษุฉุดคร่าก็ดีให้ฉุดคร่าก็ดีซึ่งภิกษุผู้วิกลจริต
(๔) ภิกษุขนก็ดีให้ขนก็ดีซึ่งบริขารของภิกษุผู้วิกจริตนั้น
(๕) ภิกษุฉุดคร่าก็ดีให้ฉุดคร่าก็ดีซึ่งภิกษุผู้ก่อการบาดหมางก็ดีก่อการทะเลาะก็ดีก่อการวิวาทก็ดีก่อความอื้อฉาวก็ดีก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ก็ดี
(๖) ภิกษุขนก็ดีให้ขนก็ดีซึ่งบริขารของภิกษุผู้ก่อการบาดหมางเป็นต้นนั้น
(๗) ภิกษุฉุดคร่าก็ดีให้ฉุดคร่าก็ดีซึ่งอันเตวาสิกหรือสัทธิวิหาริกผู้ประพฤติมิชอบ
(๘) ภิกษุขนก็ดีให้ขนก็ดีซึ่งบริขารของอันเตวาสิกหรือสัทธิวิหาริกนั้น
(๙) ภิกษุผู้วิกลจริต
(๑๐) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์