มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๑ พูดปด ต้องปาจิตตีย์

วันที่ 04 พค. พ.ศ.2565

มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๑ พูดปด ต้องปาจิตตีย์

ปาจิตตีย์ ๙๒

        ปาจิตตีย์ แปลว่า การละเมิดอันยังกุศลให้ตกไป
        คือเมื่อละเมิดอาบัตินี้แล้วย่อมทำให้กุศลธรรมของผู้ละเมิดให้ตกไปให้เสียไป ทำให้พลาดจากอริยมรรคไป เป็นความผิดที่ปิดกั้นโอกาสแห่งความดีมิให้เกิดขึ้น

        ปาจิตตีย์๙๒ สิกขาบทนี้เป็น สุทธิกปาจิตตีย์ คือเป็นปาจิตตีย์ล้วนๆ เมื่อต้องคือล่วงละเมิดแล้วเป็นอันต้องเลย ไม่ต้องสละสิ่งของที่ทำให้ต้องอาบัติเหมือนนิสสัคคิยปาจิตตีย์

        ปาจิตตีย์เหล่านี้จัดเป็น ลหุกาบัติ คืออาบัติเบา และเป็น สเตกิจฉา คือยังแก้ไขได้ยังกลับคืนบริสุทธิ์เหมือนเดิมได้โดยเมื่อต้องอาบัติเหล่านี้เข้าแล้วสามารถพ้นจากอาบัตินั้นๆได้ด้วย เทสนาวิธี คือแสดงอาบัติหรือปลงอาบัติเป็นการแสดงความผิดต่อหน้าสงฆ์ต่อหน้าคณะ หรือต่อหน้าบุคคล

        ปาจิตตีย์ มี ๙๒ สิกขาบท แบ่งเป็น ๙ วรรค คือ 
     วรรคที่ ๒ มุสาวาทวรรค
     วรรคที่ ๒ ภูตคามวรรค
     วรรคที่ ๓ โอวาทวรรค
     วรรคที่ ๔ โภชนวรรค
     วรรคที่ ๕ อเจลกวรรค
     วรรคที่ ๖ สุราปานวรรค
     วรรคที่ ๗ สัปปาณวรรค
     วรรคที่ ๘ สหธัมมิกวรรค    
     วรรคที่ ๙ รตนวรรค
        ในแต่ละวรรคมี๑๐ สิกขาบท เว้น สหธัมมิกวรรค มี๑๒ สิกขาบท

 

วรรคที่ ๑ มุสาวาทวรรค
ว่าด้วยการพูดเท็จ

มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๑

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
        “เป็นปาจิตตีย์ เพราะกล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
     “พูดปด ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
        คำว่า พูดเท็จทั้งที่รู้อยู่ หมายถึงพูดปด พูดโกหก พูดเรื่องไม่จริงทั้งที่รู้ว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องโกหก เป็นเรื่องไม่จริง มีลักษณะเป็น ๒ อย่างคือ

        (๑) เรื่องเป็นอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่จงใจพูดให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
        (๒) มีเจตนาพูดหรือแสดงอาการอย่างอื่นด้วยเจตนานั้น เพื่อให้คนฟังหรือคนเห็นมีความเข้าใจเป็นอย่างอื่นจากความเป็นจริง เช่น เขียนหนังสือหรือบอกใบ้
        สิกขาบทนี้เป็นสจิตตกะ คือมีเจตนาที่จะพูดให้คนฟังเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนจากความจริง จึงจะเป็นอาบัติหากพูดโดยไม่ตั้งใจว่าจะพูดเท็จ แต่พูดพลั้งไป ไม่เป็นอาบัติแต่เมื่อรับคำแล้วไม่ปฏิบัติตามที่รับคำ เช่นรับนิมนต์แล้วไม่ไปตามที่รับ ไม่เป็นปาจิตตีย์แต่เป็น ปฏิสสวทุกกฏ เป็นทุกกฏเพราะรับคำ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
        สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้ภิกษุรักษาคำพูด เป็นผู้พูดจริง พูดตรง ไม่เหลาะแหละ ให้อยู่กะร่องกะรอยอันเป็นเหตุให้เชื่อถือได้ไว้วางใจได้ป้องกันมิให้ภิกษุเป็นผู้เหลาะแหละเหลวไหล พูดจาไม่น่าเชื่อถือ

อนาปัตติวาร
           ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
           (๑) ภิกษุพูดพลั้ง (คือพูดเร็วไป) 
           (๒) ภิกษุพูดพลาด (คือตั้งใจว่าจะพูดอย่างหนึ่งแต่กลับพูดไปอีกอย่างหนึ่ง) 
           (๓) ภิกษุผู้วิกลจริต 
           (๔) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ หรืออาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระหัตถกศากยบุตร

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0017307360967 Mins