ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๑๐
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
“อนึ่ง ภิกษุใดรู้อยู่ น้อมลาภที่เขาน้อมไว้เป็นของจะถวายสงฆ์มาเพื่อตนเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”
เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
“ภิกษุรู้อยู่ และน้อมลาภที่เขาจะถวายสงฆ์มาเพื่อตนต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์”
อธิบายความโดยย่อ
คำว่า ลาภ หมายถึง ปัจจัย ๔ คือจีวร บิณฑบาตเสนาสนะคิลานเภสัชและรวมถึงเภสัชภัณฑ์กัปปิยภัณฑ์อย่างอื่น โดยที่สุดแม้ก้อนผงเจิม ไม้ ชำระฟัน ด้ายชายผ้า ก็จัดเป็นลาภ
ลาภเช่นนี้ถ้าเขาจัดไว้เพื่อถวายแก่สงฆ์เป็นส่วนรวม หากภิกษุไปพูดขอ พูดเลียบเคียง หรือแสดงกิริยาอาการว่าตนต้องการ จนเขาเปลี่ยนใจมาถวายให้แก่ตน ถือว่าน้อมมาเพื่อตน
เมื่อพูดหรือแสดงอาการ เป็นทุกกฏ ถ้าได้มา เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์
น้อมลาภเช่นนั้นไปเพื่อภิกษุอื่น เพื่อเจดีย์เป็นทุกกฏ
น้อมลาภที่เขาจะถวายเจดีย์ที่เขาจะถวายบุคคล ให้สับกันเสีย เป็นทุกกฏเหมือนกัน
ถ้าภิกษุไม่รู้แน่ว่าเขาจะถวายใคร สงสัยแต่ขืนล่วงละเมิด เป็นทุกกฏ
แต่ถ้าเขามาปรึกษาว่าควรถวายใคร บอกแนะนำให้เขา ไม่เป็นอาบัติ
เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้
สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้ภิกษุรู้ประมาณในลาภ ป้องกันมิให้เป็นคนมักมากเห็นแก่ได้เที่ยวขอลาภที่เขาตั้งใจจะถวายสงฆ์ไม่เจาะจงภิกษุใด มาเพื่อประโยชน์ตน ซึ่งเป็นการเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้และเป็นการตัดลาภของภิกษุอื่นไปในตัว
อนาปัตติวาร
ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ
(๑) ภิกษุที่พวกทายกถามว่าจะถวายที่ไหน บอกแนะนำว่า ไทยธรรมของพวกท่านพึงได้รับการใช้สอย พึงได้รับการปฏิสังขรณ์หรือพึงตั้งอยู่ได้นานในที่ใดก็หรือ จิตของพวกท่านเลื่อมใสในภิกษุรูปใดก็จงถวายในที่นั้นหรือแก่ภิกษุรูปนั้นเถิด
(๒) ภิกษุผู้วิกลจริต
(๓) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรืออาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์