ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๙ ภิกษุจำพรรษาในเสนาสนะป่าซึ่งเป็นที่เปลี่ยว

วันที่ 29 เมย. พ.ศ.2565

ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๙ ภิกษุจำพรรษาในเสนาสนะป่าซึ่งเป็นที่เปลี่ยว

ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๙

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
         “อนึ่ง ภิกษุจำพรรษาแล้ว ปรารถนาจะอยู่ในเสนาสนะป่าที่รู้กันว่าเป็นที่น่าระแวง มีภัยเฉพาะหน้า จนถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒ พึงเก็บไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งไว้ในละแวกบ้านได้ และปัจจัยบางอย่างให้อยู่ปราศจากจีวรนั้นได้จะพึงมีแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นพึงอยู่ปราศจากจีวรนั้นได้ ๖ คืนเป็นอย่างมาก ถ้าเธออยู่ปราศเกินกว่ากำหนดนั้นเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ภิกษุผู้ได้รับสมมติ”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
         “ภิกษุจำพรรษาในเสนาสนะป่าซึ่งเป็นที่เปลี่ยว ออกพรรษาแล้ว อยากจะเก็บไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งไว้ในบ้านเมื่อมีเหตุก็เก็บไว้ได้เพียง ๖ คืนเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเก็บไว้ให้เกินไป ๖ คืนไป ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
         คำว่า เสนาสนะป่า ได้แก่ เสนาสนะที่อยู่ห่างไกลจากหมู่บ้าน ๕๐๐ ชั่วธนู (ประมาณ ๒๕ เส้น) เป็นอย่างน้อย ชื่อว่า เสนาสนะป่า
         คำว่า เป็นที่น่าระแวง คือ มีร่องรอยที่พวกโจรซ่องสุม กิน ยืน นั่งหรือนอน ปรากฏอยู่
         คำว่า มีภัยเฉพาะหน้า คือ มีชาวบ้านที่ถูกพวกโจรฆ่า ปล้น หรือทุบตีปรากฏอยู่
         คำว่า ละแวกบ้าน หมายถึงหมู่บ้านที่เป็นโคจรคาม คือเป็นที่สัญจรไปมาและอยู่อาศัยได้เป็นปกติ

         เสนาสนะป่าเช่นนี้ ได้รับประโยชน์พิเศษเพื่อจะอยู่ โดยอยู่ปราศจากไตรจีวรเพิ่มได้อีก ๖ คืนตามที่ทรงอนุญาตไว้ในสิกขาบทนี้

         มูลเหตุของเรื่องนี้เกิดจากการที่ภิกษุทั้งหลายออกพรรษาแล้วยังคงอยู่ในเสนาสนะป่า พวกโจรรู้ว่าภิกษุทั้งหลายได้ลาภหลังจากออกพรรษาแล้วจึงเข้ามารบกวนแย่งชิงผ้าและสิ่งของ พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายเก็บไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งไว้ในละแวกบ้านได้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยภิกษุทั้งหลายก็ปฏิบัติตามนั้น และอยู่ปราศเกิน ๖ คืน จีวรไม่มีคนดูแลสูญหายไปบ้าง เสียหายไปบ้าง ถูกไฟไหม้ไปบ้าง หนูกัดบ้าง จึงทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ไว้

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้
         สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้ภิกษุทั้งหลายได้รับความสะดวกในการเก็บดูแลผ้าไตรจีวร เมื่อออกพรรษาแล้ว สามารถเก็บหรือฝากผ้าผืนใดผืนหนึ่งไว้ในหมู่บ้านได้โดยไม่ต้องนำติดตัวไปครบ ๓ ผืน ซึ่งอนุญาตไว้ตามปกติเมื่ออยู่จำพรรษาแล้วในกรณีนี้ทรงอนุญาตให้เก็บฝากไว้ได้และอยู่ปราศได้แต่ไม่เกิน ๖ คืน ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกเมื่อมีกิจจะต้องไปที่อื่น และเพื่อให้ภิกษุมีสติไม่ประมาทลืมผ้าที่ตนเก็บไว้ในละแวกบ้านนั้น หากหลงลืมไปอาจทำให้ผ้ามีอันตรายสูญหายไปได้

อนาปัตติวาร
         ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
         (๑) ภิกษุอยู่ปราศ ๖ คืนพอดี
         (๒) ภิกษุอยู่ปราศไม่ถึง ๖ คืน 
         (๓) ภิกษุอยู่ปราศ ๖ คืนแล้วกลับมายังคามสีมา อยู่แล้วไปใหม่ 
         (๔) ภิกษุถอนเสียภายใน ๖ คืน
         (๕) ภิกษุสละไป 
         (๖) จีวรหายไป 
         (๗) จีวรฉิบหายไป 
         (๘) จีวรถูกไฟไหม้ไป
         (๙) โจรชิงเอาไป 
         (๑๐) ภิกษุผู้ถือวิสาสะ 
         (๑๑) ภิกษุผู้ได้รับสมมติ
         (๑๒) ภิกษุผู้วิกลจริต 
         (๑๓) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ภิกษุผู้อยู่ป่าส่วนหนึ่ง

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.015628214677175 Mins