สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๗ ถ้าที่อยู่ที่จะสร้างนั้นมีทายกเป็นเจ้าของ ถ้าไม่ให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน ต้องสังฆาทิเสส

วันที่ 21 มค. พ.ศ.2565

ภิกษุจะให้สร้างวิหารใหญ่ อันมีเจ้าภาพสร้างถวาย สร้างเป็นของส่วนตัว

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๗

คำแปลพระบาลีในพุทธบัญญัติ

        “อนึ่ง ภิกษุจะให้สร้างวิหารใหญ่ อันมีเจ้าภาพสร้างถวาย สร้างเป็นของส่วนตัว พึงนำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงพื้นที่ให้ ภิกษุเหล่านั้นพึงแสดงพื้นที่อันไม่มีอันตราย มีชานโดยรอบ หากภิกษุให้สร้างวิหารใหญ่ ในที่มีอันตราย ไม่มีชานโดยรอบ หรือไม่นำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงพื้นที่ให้ เป็นสังฆาทิเสส”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
        “ถ้าที่อยู่ที่จะสร้างนั้นมีทายกเป็นเจ้าของ ทำให้เกินประมาณนั้นได้แต่ต้องให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน ถ้าไม่ให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน ต้องสังฆาทิเสส”

อธิบายความโดยย่อ
        คำว่า วิหาร หมายถึงที่อยู่ซึ่งโบกฉาบปูนไว้เฉพาะภายในก็ตาม ซึ่งโบกฉาบปูนไว้เฉพาะภายนอกก็ตาม ซึ่งโบกฉาบปูนไว้ทั้งภายในทั้งภายนอกก็ตาม
        คำว่า ใหญ่ หมายถึงที่อยู่ที่มีเจ้าของ มีเจ้าภาพสร้าง
        คำว่า สร้าง คือ ทำเองก็ตาม ใช้ให้คนอื่นทำก็ตาม
        คำที่เหลือทั้งหมดเหมือนกับคำในสังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๖ ต่างกันเพียงสร้างกุฎีกับสร้างวิหารเท่านั้น

สร้างค้าง สร้างต่อ
        ในพระไตรปิฎกได้แสดงอาการที่ต้องอาบัติในเพราะวิหารที่สร้างค้างไว้ดังนี้
        (๑) วิหารที่ตนสร้างค้างไว้ภิกษุสร้างต่อจนสำเร็จด้วยตนเอง ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
        (๒) วิหารที่ตนสร้างค้างไว้ภิกษุให้คนอื่นสร้างต่อจนสำเร็จ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
        (๓) วิหารที่คนอื่นสร้างค้างไว้ภิกษุสร้างต่อจนสำเร็จด้วยตนเอง ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
        (๔) วิหารที่คนอื่นสร้างค้างไว้ภิกษุให้คนอื่นสร้างต่อจนสำเร็จ ต้องอาบัติสังฆาทเสส
        ในกรณีเหล่านี้หมายถึงสร้างต่อเพื่อเป็นที่อยู่ของตัวเอง ถ้าสร้างต่อเพื่อประโยชน์แก่สงฆ์ไม่เป็นอาบัติ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้
        สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อมิให้ภิกษุฟุ้งเฟ้อ ไม่ประมาณตนสร้างที่อยู่อาศัยส่วนตนใหญ่โตเกินประมาณ อันเป็นการรบกวนชาวบ้านให้เดือดร้อนโดยใช่เหตุ
        เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้ก็เหมือนกับสังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๖ ข้างต้น


อนาปัตติวาร
        ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ (๑) ภิกษุสร้างเงื้อมผา (๒) ภิกษุสร้างถ้ำ (๓) ภิกษุสร้างกุฎีหญ้า (๔) ภิกษุสร้างวิหารเพื่อภิกษุอื่น (๕) ภิกษุภิกษุสร้างอาคารอื่นทุกอย่าง นอกจากอาคารเป็นที่อยู่ของตน (๖) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือผู้เป็นอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระฉันนะ

วินีตวัตถุ
        ในสิกขาบทนี้ไม่มีเรื่องที่ทรงตัดสินแล้วปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0057546695073446 Mins