สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๓ ภิกษุประทุษร้ายตระกูลคือประจบคฤหัสถ์สงฆ์ไล่เสียจากวัด กลับว่าติเตียนสงฆ์ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง

วันที่ 25 กพ. พ.ศ.2565

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๓ คำแปลพระบาลีในพุทธบัญญัติ

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๓
คำแปลพระบาลีในพุทธบัญญัติ

      “อนึ่ง ภิกษุเข้าไปอาศัยหมู่บ้านก็ดี นิคมก็ดี แห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เป็นผู้ประทุษร้ายตระกูลมีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของเธอเขาเห็นกันอยู่และได้ยินกันอยู่ และตระกูลทั้งหลายถูกเธอประทุษร้ายแล้วเขาก็เห็นกันอยู่และได้ยินกันอยู่ ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเป็นผู้ประทุษร้ายตระกูล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของท่านเขาเห็นกันอยู่และได้ยินกันอยู่ และตระกูลทั้งหลายที่ท่านประทุษร้ายแล้วเขาก็เห็นกันอยู่และได้ยินกันอยู่ ท่านจงหลีกไปเสียจากอาวาสนี้ ท่านอย่าอยู่ในที่นี้ และภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ พึงพูดโต้ตอบภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า พวกภิกษุลำเอียงเพราะชอบ ลำเอียงเพราะชัง ลำเอียงเพราะหลง และลำเอียงเพราะกลัว ในเพราะอาบัติเช่นเดียวกัน ขับภิกษุบางรูป แต่ไม่ขับภิกษุบางรูป ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงตักเตือนอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลายหาได้ลำเอียงเพราะชอบ หาได้ลำเอียงเพราะชัง หาได้ลำเอียงเพราะหลง หาได้ลำเอียงเพราะกลัวไม่ ท่านเองแลเป็นผู้ประทุษร้ายตระกูล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของท่านเขาเห็นกันอยู่และได้ยินกันอยู่ และตระกูลทั้งหลายที่ถูกท่านประทุษร้ายเขาก็เห็นกันอยู่และได้ยินกันอยู่ ท่านจงหลีกไปเสียจากอาวาสนี้ ท่านอย่าอยู่ในที่นี้ และภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องอยู่อย่างนั้นแล ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละการกระทำนั้นเสีย หากเธอถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบอยู่ ยอมสละการกระทำนั้นเสียได้ การสละได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากเธอไม่ยอมสะ เป็นสังฆาทิเสส”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
      “ภิกษุประทุษร้ายตระกูลคือประจบคฤหัสถ์สงฆ์ไล่เสียจากวัด กลับว่าติเตียนสงฆ์ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรมเพื่อให้ละข้อที่ประพฤตินั้น ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส”

อธิบายความโดยย่อ
       คำว่า ตระกูล ได้แก่ตระกูล ๔ คือ ตระกูลกษัตริย์ตระกูลพราหมณ์ ตระกูลแพศย์ตระกูลศูทร

      คำว่า เป็นผู้ประทุษร้ายตระกูล คือ ประจบตระกูลด้วยดอกไม้บ้างผลไม้บ้างแป้งบ้างดินบ้างไม่สีฟันบ้างไม้ไผ่บ้างการแพทย์บ้างการสื่อสารบ้างกล่าวคือนำสิ่งของเหล่านี้หรือของอื่นไปฝาก ไปเป็นของกำนัล เป็นของขวัญในวาระต่างๆ เพื่อแสดงน้ำใจ เพื่อให้เขารู้ว่าไม่ลืมไม่ทอดทิ้ง เป็นต้น

       คำว่า มีความประพฤติเลวทราม คือ ทำตนเป็นคนเอื้อเฟื้อ เอางานช่วยเหลือ เช่น ปลูกต้นไม้ให้บ้าง ใช้ให้คนอื่นปลูกบ้าง รดน้ำเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นรดบ้าง เก็บดอกไม้เองบ้าง ใช้ให้คนอื่นเก็บบ้าง ร้อยดอกไม้เองบ้าง ใช้ให้คนอื่นร้อยบ้าง

       คำว่า ตระกูลทั้งหลายถูกเธอประทุษร้ายแล้ว คือ คนทั้งหลาย เมื่อก่อนเป็นคนมีศรัทธา กลับเป็นคนไม่มีศรัทธา เมื่อก่อนเป็นคนเลื่อมใส กลับเป็นคนไม่เลื่อมใส เพราะภิกษุนั้น กล่าวคือทำให้คนทั้งหลายห่างศาสนา ทิ้งศาสนา หรือเลิกนับถือศาสนาไป

        การประทุษร้ายตระกูล ในสิกขาบทนี้มิใช่หมายถึงการทำร้ายร่างกายการทำให้บาดเจ็บ หรือการทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ตามความหมายทั่วไป แต่หมายถึงการทำร้ายศรัทธาปสาทะของตระกูลให้เสียไป ให้เสื่อมไป อันเป็นเหตุให้ตระกูลห่างจากการบำเพ็ญกุศลที่เคยทำ ทำให้เสียผลความดีที่ควรได้รับ ด้วยการที่ภิกษุประพฤติตนเหมือนคนรับใช้ประพฤติเป็นอลัชชีไม่ละอายแก่ใจ ประพฤติไม่สมควร เช่น ปลูกต้นไม้เองบ้าง ใช้ให้คนอื่นปลูกบ้าง ฉันอาหารในภาชนะเดียวกันบ้าง นอนบนเตียงเดียวกันบ้างดื่มน้ำเมาบ้าง ทัดทรงดอกไม้บ้าง ฟ้อนรำบ้าง ขับร้องบ้าง เล่นหมากรุกบ้าง และแสดงกิริยาอาการที่น่ารังเกียจ ซึ่งเป็นกิริยาอาการของคฤหัสถ์ที่ขาดการฝึกฝนอบรม เมื่อชาวประชาในตระกูลทั้งหลายทั้งตระกูลกษัตริย์ตระกูลพราหมณ์หรือตระกูลอื่นเห็นแล้วไม่อาจทนดูทนเห็นได้ก็คลายศรัทธา คลายความเคารพนับถือ ไม่ให้ความสำคัญแก่ภิกษุสงฆ์ต่อไปอีก

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้

        สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อปรามภิกษุอลัชชีผู้ไม่ละอายแก่ใจ ที่ชอบประพฤติเสียหายไม่เหมาะไม่ควรแก่สมณภาวะ ให้เลิกละ ไม่ให้กระทำอีกต่อไป แล้วตั้งอยู่ในสมณสารูป ประพฤติปฏิบัติมิให้เป็นที่เสื่อมศรัทธาปสาทะของชาวบ้าน ไม่เป็นผู้ประทุษร้ายตระกูลต่อไป ก็จะทำให้ชาวบ้านหันกลับมาศรัทธาปสาทะได้เหมือนเดิม เมื่อเป็นดังนี้พระศาสนาก็จะดำรงมั่นคงสถาพรสืบสานต่อไปได้อีกนานเท่านาน

อนาปัตติวาร
        ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ (๑) ภิกษุผู้ยังไม่ถูกสวดสมนภาสน์(๒) ภิกษุผู้เสียสละได้(๓) ภิกษุผู้วิกลจริต (๔) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ (สองคู่หูอีกคู่หนึ่งในหมู่ภิกษุฉัพพัคคีย์)

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0017173329989115 Mins