อนิยต ๒

วันที่ 01 มีค. พ.ศ.2565

อนิยต ๒  อนิยต แปลว่า ไม่แน่นอน, การล่วงละเมิดที่มีการปรับอาบัติไว้ไม่แน่นอน

อนิยต ๒

       อนิยต แปลว่า ไม่แน่นอน, การล่วงละเมิดที่มีการปรับอาบัติไว้ไม่แน่นอน

       คำว่า อนิยต นี้มิใช่เป็นชื่ออาบัติเหมือนชื่ออาบัติอื่นๆ เช่นปาราชิก
สังฆาทิเสส เพราะการปรับโทษเป็นอาบัติตามความผิดนั้นยังไม่แน่นอน อาจเป็นปาราชิก เป็นสังฆาทิเสส หรือเป็นปาจิตตีย์ก็ได้แล้วแต่กรณี
     การปรับอาบัติในอนิยตนี้ขึ้นอยู่กับบุคคลหลัก ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคืออุบาสิกาผู้มีวาจาที่เชื่อถือได้ที่ได้เห็นภิกษุนั่งในที่ลับตาหรือในที่ลับหูกับผู้หญิงอันไม่เหมาะไม่ควร แล้วพูดขึ้นมาโดยไม่เจาะจงว่าผิดอย่างไร เช่นพูดว่า การที่พระคุณเจ้านั่งในที่ลับที่กำบังกับผู้หญิงเช่นนี้เป็นการไม่เหมาะไม่ควร แม้พระคุณเจ้าจะไม่ได้ทำการนั้นๆ ให้ต้องอาบัติก็จริง แต่ก็บอกให้พวกชาวบ้านผู้ที่ไม่เลื่อมใสให้เชื่อได้ยาก หรือพูดเจาะจงว่าภิกษุผิดวินัยข้อไหน นี่ฝ่ายหนึ่งอีกฝ่ายหนึ่งคือภิกษุผู้นั่งอยู่ในที่ลับตาหรือในที่ลับหูนั้น เมื่อถูกกำหนดว่าทำไม่เหมาะไม่ควรแต่ไม่ได้เจาะว่าผิดอย่างไรหรือพูดเจาะว่าผิดวินัยข้อไหน ยอมรับการกระทำนั้น อย่างนี้พึงถูกปรับอาบัติ๓ อย่างมีปาราชิกเป็นต้น ตามที่ตนยอมรับ หรือถูกปรับอาบัติอย่างเดียวตามที่เขาเจาะจงความผิด

     อุบาสิกาผู้มีวาจาที่เชื่อถือได้นั้น คืออุบาสิกาซึ่งเข้าถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ซึ่งเป็นผู้ได้บรรลุธรรมเป็นอริยบุคคลหรือผู้เข้าใจเรื่องศาสนาดี เช่นนางวิสาขามหาอุบาสิกา ผู้เป็นโสดาบันบุคคล ซึ่งเป็นผู้แจ้งการกระทำของภิกษุอันเป็นต้นบัญญัติอนิยตสิกขาบทนี้ จัดว่าเป็นอุบาสิกาผู้มีวาจาที่เชื่อถือได้

       อุบาสกแม้จะเป็นอริยบุคคล และหญิงธรรมดาทั่วไปซึ่งมิได้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ยังมิได้เป็นอริยบุคคลหรือมิได้บรรลุธรรม ยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องศาสนาดีหรือนับถือศาสนาอื่น ไม่เข้าข่ายที่จะพูดขึ้นเพื่อให้มีการปรับอาบัติแก่ภิกษุในเพราะเหตุนี้

       อนิยตนี้มี ๒ สิกขาบท คือ

อนิยต สิกขาบทที่ ๑

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ

       “อนึ่ง ภิกษุใดนั่งในที่ลับคือในอาสนะกำบังพอที่จะทำการได้กับมาตุคามสองต่อสอง อุบาสิกาผู้มีวาจาที่เชื่อถือได้เห็นภิกษุกับมาตุคามนั้นนั่นแล้ว พูดขึ้นด้วยธรรม ๓ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือปาราชิกก็ดี สังฆาทิเสสก็ดี ปาจิตตีย์ก็ดี ภิกษุยอมรับการนั่ง พึงถูกปรับด้วยธรรม ๓ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์ อีกอย่างหนึ่ง อุบาสิกาผู้มีวาจาที่เชื่อถือได้นั้นกล่าวด้วยธรรมใด ภิกษุนั้นพึงถูกปรับด้วยธรรมนั้น ธรรมนี้ชื่ออนิยต”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
     “ภิกษุนั่งในที่ลับตากับหญิงสองต่อสอง ถ้ามีคนที่ควรเชื่อได้มาพูดขึ้นด้วยธรรม ๓ อย่างคือ ปาราชิก หรือสังฆา-
ทิเสส หรือปาจิตตีย์อย่างใดอย่างหนึ่ง ภิกษุรับอย่างใดให้ปรับอย่างนั้น หรือเขาว่าจำเพาะธรรมอย่างใด ให้ปรับอย่างนั้น”

อธิบายความโดยย่อ
       คำว่า ในที่ลับ คือ ที่ลับตากับที่ลับหู
       - ที่ลับตา คือที่ซึ่งไม่มีใครสามารถจะแลเห็นภิกษุหรือมาตุคาม ขยิบตา ยักคิ้ว หรือผงกศีรษะได้
       - ที่ลับหู คือที่ซึ่งไม่มีใครสามารถจะได้ยินคำที่พูดกันตามปกติได้

       คำว่า อาสนะกำบัง คืออาสนะที่ปิดบังไว้ด้วยฝา บานประตูเสื่อลำแพน ม่าน ต้นไม้เสา หรือกระสอบข้าว อย่างใดอย่างหนึ่ง

       คำว่า พอที่จะทำการได้ คือ อาจที่จะเสพเมถุนธรรมกันได้

       คำว่า สองต่อสอง คือ ภิกษุกับมาตุคามคือผู้หญิง

       คำว่า นั่ง หมายถึงเมื่อมาตุคามนั่ง ภิกษุนั่งใกล้หรือนอนใกล้ก็ดีเมื่อภิกษุนั่ง มาตุคามนั่งใกล้หรือนอนใกล้ก็ดีนั่งทั้งสองคนหรือนอนทั้งสองคนก็ดี

       คำว่า อุบาสิกา หมายถึงสตรีผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ผู้ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ผู้ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ

       คำว่า ผู้มีวาจาเชื่อถือได้ หมายถึงผู้บรรลุโสดาปัตติผลผู้ตรัสรู้ธรรมผู้เข้าใจศาสนาดี

       คำว่า อนิยต แปลว่า ไม่แน่นอน คือเป็นปาราชิกก็ได้เป็นสังฆาทิเสสก็ได้เป็นปาจิตตีย์ก็ได้

     อุบาสิกาผู้มีวาจาที่เชื่อได้เช่นนั้นพึงพูดขึ้นด้วยธรรม ๓ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือปาราชิกก็ดีสังฆาทิเสสก็ดีปาจิตตีย์ก็ดีภิกษุยอมรับการนั่ง พึงถูกปรับด้วยธรรม ๓ ประการนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ปาราชิกสังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์อีกประการหนึ่ง อุบาสิกาผู้มีวาจาที่เชื่อถือได้นั้นกล่าวด้วยธรรมใด ภิกษุนั้นพึงถูกปรับด้วยธรรมนั้น

     สิกขาบทนี้เป็นการแสดงถึงการให้ความสำคัญแก่อุบาสิกาผู้มีวาจาที่เชื่อถือได้โดยที่เมื่อนางเห็นภิกษุนั่งในที่ลับตาหรือที่ลับหูกับหญิงสองต่อสองก็เข้าไปเตือนว่าไม่เหมาะไม่ควร ไม่พึงกระทำ เมื่อภิกษุไม่เชื่อจึงไปแจ้งแก่พระพุทธองค์พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติเป็นข้อห้ามไว้ทั้งนี้เพราะทรงเห็นว่า อุบาสิกาเช่นนั้นเป็นเสาหลักในการให้ความอุปถัมภ์บำรุงภิกษุสงฆ์ช่วยปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา และมีจิตใจงดงามที่จะเห็นพระพุทธศาสนาสถาพรมั่นคง จึงเสียสละกำลังกาย กำลังทรัพย์และสติปัญญาถวายแก่พระศาสนาอย่างเต็มที่การบัญญัติพระวินัยคล้อยตามความเห็นของอุบาสิกาเช่นนั้นจึงเป็นการเหมาะสม

บทภาชนีย์แห่งสิกขาบทนี้
       บทภาชนีย์ คือ บทที่ควรขยายความ อันท่านตั้งไว้เพื่อขยายความหมายถึงการนำเอาคำหรือข้อความในสิกขาบทที่ท่านอธิบายมาชั้นหนึ่งแล้ว มาอธิบายเสริมความเข้าไปอีกเพื่อความชัดเจน แม้ในสิกขาบทนี้ท่านก็ตั้งบทภาชนีย์ไว้เพื่อเป็นแนวทางในการปรับหรือไม่ปรับอาบัติ คือ

       - ภิกษุยอมรับการไป ยอมรับการนั่งยอมรับอาบัติพึงปรับตามอาบัติ
       - ภิกษุยอมรับการไป ไม่ยอมรับการนั่ง ยอมรับอาบัติพึงปรับตามอาบัติ
        ภิกษุยอมรับการไป ยอมรับการนั่ง ไม่ยอมรับอาบัติพึงปรับเพราะการนั่ง
       - ภิกษุยอมรับการไป ไม่ยอมรับการนั่ง ไม่ยอมรับอาบัติไม่พึงปรับ
       - ภิกษุไม่ยอมรับการไป ยอมรับการนั่ง ยอมรับอาบัติพึงปรับตามอาบัติ
       - ภิกษุไม่ยอมรับการไป ไม่ยอมรับการนั่งยอมรับอาบัติพึงปรับตามอาบัติ
       - ภิกษุไม่ยอมรับการไป ยอมรับการนั่งไม่ยอมรับอาบัติพึงปรับเพราะ การนั่ง
       - ภิกษุไม่ยอมรับการไป ไม่ยอมรับการนั่งไม่ยอมรับอาบัติไม่พึงปรับ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้
       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อเตือนสติภิกษุ มิให้ทำอะไรรุ่มร่ามประเจิดประเจ้อ ไม่เหมาะไม่ควร อันผู้คนเห็นและได้ยิน เพื่อให้สำรวมระวังในการนั่งการอยู่กับสตรีสองต่อสอง ซึ่งอาจเกิดความประมาท พลั้งเผลอ หรือหลงมัวเมาแล้วทำผิดพลาดพระวินัยขึ้นได้เป็นการป้องกันไว้ล่วงหน้า ดีกว่ามาแก้ตัวในภายหลัง ซึ่งบางครั้งก็ไม่อาจแก้ตัวได้

     สรุปแล้ว การที่ทรงบัญญัติห้ามไว้ก็เพื่อป้องกันความเสียหายอันจะเกิดแก่ภิกษุและคณะสงฆ์

     เพราะการกระทำเช่นนั้นไม่เหมาะไม่ควรหลายประการ คือ
     (๑)     ทำให้ภิกษุเกิดความกำหนัดได้ง่าย
     (๒)     ย่อมเป็นที่ติเตียนว่าร้ายของผู้ที่ได้เห็น
     (๓)     ย่อมเป็นที่รังเกียจสงสัยของเหล่าภิกษุด้วยกัน
     (๔)     ย่อมเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีสำหรับผู้ถือเพศนักบวชเป็นภิกษุ

 

อนิยต สิกขาบทที่ ๒

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ

       “อนึ่ง สถานที่นั่งไม่เป็นที่กำบังเลย ไม่เป็นที่พอจะทำการได้ แต่เป็นที่พอจะพูดเคาะมาตุคามด้วยวาจาชั่วหยาบได้อยู่ และภิกษุใดสำเร็จการนั่งในที่ลับกับมาตุคามสองต่อสองในอาสนะมีรูปอย่างนั้น อุบาสิกาผู้มีวาจาที่น่าเชื่อถือได้เห็นภิกษุกับมาตุคามนั้นนั่นแล้วพูดขึ้นด้วยธรรม ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ด้วยสังฆาทิเสสก็ดี ด้วยปาจิตตีย์ก็ดี ภิกษุยอมรับการนั่ง พึงถูกปรับด้วยธรรม ๒ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ด้วยสังฆาทิเสสก็ดี ด้วยปาจิตตีย์ก็ดี อีกอย่างหนึ่ง อุบาสิกาผู้มีวาจาที่น่าเชื่อถือได้นั้นกล่าวด้วยธรรมใด ภิกษุนั้นพึงถูกปรับด้วยธรรมนั้น แม้ธรรมนี้ก็ชื่อว่าอนิยต”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท

       “ภิกษุนั่งในที่ลับหูกับหญิงสองต่อสอง ถ้ามีคนที่ควรเชื่อได้มาพูดขึ้นด้วยธรรม ๒ อย่าง คือ สังฆาทิเสส หรือ ปาจิตตีย์อย่างใดอย่างหนึ่ง ภิกษุรับอย่างใดให้ปรับอย่างนั้นหรือเขาว่าจำเพาะธรรมอย่างใด ให้ปรับอย่างนั้น”

อธิบายความโดยย่อ

       คำว่า สถานที่นั่งไม่เป็นที่กำบัง หมายถึงสถานที่นั่งเป็นที่เปิดเผยคือเป็นสถานที่ที่มิได้กำบังด้วยฝา บานประตูเสื่อลำแพน ม่านบัง ต้นไม้เสาหรือฉาง อย่างอย่างหนึ่ง

       คำว่า ไม่เป็นที่พอทำการได้ คือไม่อาจเสพเมถุนธรรมได้

       คำว่า แต่เป็นที่พอจะพูดเคาะมาตุคามได้ หมายถึงพอที่จะพูดเคาะพูดเกี้ยวพามาตุคามด้วยวาจาชั่วหยาบได้

       คำว่า ในที่ลับ คือในที่ลับตากับที่ลับหู

       คำว่า สำเร็จการนั่ง คือ เมื่อมาตุคามนั่งแล้ว ภิกษุนั่งใกล้หรือนอนใกล้ก็ดีเมื่อภิกษุนั่งแล้ว มาตุคามนั่งใกล้หรือนอนใกล้ก็ดีนั่งทั้งสองคนหรือนอนทั้งสองคนก็ดี

       คำว่า อุบาสิกา หมายถึงสตรีผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ผู้ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ผู้ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ

       คำว่า ผู้มีวาจาที่เชื่อถือได้ หมายถึงผู้บรรลุโสดาปัตติผล ผู้ตรัสรู้ธรรม ผู้เข้าใจศาสนาดี

       คำว่า อนิยต แปลว่า ไม่แน่นอน คือเป็นสังฆาทิเสสก็ได้เป็นปาจิตตีย์ก็ได้

       อุบาสิกาผู้มีวาจาที่เชื่อได้เช่นนั้นพึงพูดขึ้นด้วยธรรม ๒ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่งคือ สังฆาทิเสสก็ดีปาจิตตีย์ก็ดีภิกษุยอมรับการนั่ง พึงถูกปรับด้วยธรรม ๒ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ สังฆาทิเสสบ้าง ปาจิตตีย์บ้าง อีกประการหนึ่ง อุบาสิกาผู้มีวาจาที่เชื่อถือได้นั้นกล่าวด้วยธรรมใด ภิกษุนั้นพึงถูกปรับด้วยธรรมนั้น

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้
       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้ก็ด้วยหตุผลต่างๆ เหมือนกับเหตุผลที่แสดงไว้แล้วใน อนิยต สิกขาบทที่ ๑ เพราะมีเหตุเกิดอันเป็นต้นบัญญัติคล้ายคลึงกัน พึงดูที่แสดงไว้แล้วนั้นเถิด

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.022941899299622 Mins