นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๑ ภิกษุทรงอติเรกจีวรได้เพียง ๑๐ วัน

วันที่ 01 มีค. พ.ศ.2565

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐

          นิสสัคคิย แปลว่า สิ่งของอันควรสละ, ทำให้ต้องสละ คือภิกษุต้องอาบัติเพราะสิ่งใดเป็นเหตุ เช่นต้องเพราะจีวร ต้องเพราะบาตร ต้องสละจีวรหรือบาตรนั้นแก่ภิกษุอื่นเสียก่อนจึงแสดงอาบัติตก
          ปาจิตตีย์ แปลว่า การละเมิดอันยังกุศลให้ตกไป คือเมื่อละเมิดอาบัตินี้แล้วย่อมทำให้กุศลธรรมของผู้ละเมิดให้ตกไป ให้เสียไป ทำให้พลาดจากอริยมรรคไป เป็นความผิดที่ปิดกั้นโอกาสแห่งความดีมิให้เกิดขึ้น
          คำว่า นิสสัคคิยปาจิตตีย์ แปลว่า การละเมิดอันยังกุศลให้ตกไปอันทำให้ต้องสละสิ่งของ

          ความจริง คำว่า นิสสัคคิย หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า นิสสัคคีย์ นั้นมิใช่เป็นชื่อของอาบัติอาบัติที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทเหล่านี้เป็นอาบัติปาจิตตีย์โดยเมื่อต้องอาบัติปาจิตตีย์ตามสิกขาบทในหมวดนี้แล้ว ต้องสละสิ่งของที่เป็นเหตุให้ต้องอาบัติเสียก่อนแล้วจึงไปแสดงอาบัติจึงจะพ้นจากอาบัติปาจิตตีย์นั้นได้ซึ่งต่างจากการต้องอาบัติปาจิตตีย์ธรรมดาเมื่อภิกษุแสดงอาบัติแล้ว อาบัติปาจิตตีย์นั้นก็ตกไป จึงเรียกรวมกันว่า อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์

          นิสสัคคิยปาจิตย์นี้มี ๓๐ สิกขาบท แบ่งเป็น ๓ วรรค คือ
          (๑) จีวรวรรค      หมวดว่าด้วยจีวร มี ๑๐ สิกขาบท
          (๒) โกสิยวรรค     หมวดว่าด้วยสันถัตใยไหม มี๑๐ สิกขาบท
          (๓) ปัตตวรรค      หมวดว่าด้วยบาตร มี๑๐ สิกขาบท

 

จีวรวรรค
หมวดว่าด้วยจีวร
จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๑

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “เมื่อจีวรของภิกษุสำเร็จแล้ว เมื่อกฐินเดาะเสียแล้ว พึงทรงอติเรกจีวรไว้ได้ ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง ภิกษุให้ล่วงกำหนดนั้นไป เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุทรงอติเรกจีวรได้เพียง ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่งถ้าล่วง ๑๐ วันไป เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
          คำว่า เมื่อจีวรสำเร็จแล้ว หมายถึงจีวรของภิกษุทำสำเร็จแล้ว หรือหายไป หรือใช้ไม่ได้หรือถูกไฟไหม้หรือหวังว่าจะได้
          คำว่า กฐินเดาะ หมายถึงกฐินเสียหายหรือบกพร่องกลางคัน หรือกฐินที่สงฆ์เดาะเสียในระหว่าง
          - กฐินเสียหายหรือบกพร่องกลางคัน ด้วยมาติกาหรือหัวข้อแห่งการเดาะกฐิน ๘ ประการ เช่น ภิกษุได้กรานกฐินแล้วถือจีวรหลีกไป เธออยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับมา เธอให้ทำจีวรผืนนั้นเสร็จ การเดาะกฐินของภิกษูนั้น กำหนดด้วยการทำจีวรเสร็จ
          - กฐินที่สงฆ์เดาะเสียในระหว่าง คือเมื่อสงฆ์กรานกฐินอนุโมทนากฐินตามพระวินัยแล้วยังไม่พ้นเขตจีวรกาล(คือฤดูถวายผ้าแก่พระสงฆ์ได้ถ้ากรานกฐินแล้ว กำหนดไว้๕ เดือน จากวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔) มีผู้ต้องการถวายกาลจีวรขอให้สงฆ์เดาะกฐินคือยกเลิกอานิสงส์กฐินในระหว่างจีวรกาลนั้น ซึ่งก็ทรงอนุญาตให้เดาะกฐินได้

          คำว่า อติเรกจีวร หมายถึง จีวรที่ยังไม่ได้อธิษฐาน ยังไม่ได้วิกัป

          - อธิษฐาน หมายถึงการตั้งใจกำหนดไว้ว่าจะใช้เป็นของประจำตัวอย่างนี้ๆ เช่นได้ผ้ามาแล้วตั้งใจไว้ว่าจะทำเป็นสังฆาฏิสำหรับเป็นผ้าซ้อน ทำเป็นจีวรสำหรับห่ม ทำเป็นสบงสำหรับนุ่ง เมื่อตั้งใจแล้วก็อธิษฐานเป็นอย่างนั้นๆ เมื่ออธิษฐานแล้ว ผ้านั้นเรียกว่า ผ้าอธิษฐาน หรือ ผ้าครอง ถ้ายังไม่ได้อธิษฐาน ถือเป็น อติเรกจีวร

          - วิกัป หมายถึงการทำให้เป็นของสองเจ้าของ คือขอให้ภิกษุหรือสามเณรอื่นร่วมเป็นเจ้าของจีวรหรือบาตรนั้นๆ ด้วย ซึ่งทำให้ไม่ต้องอาบัติเพราะเก็บอติเรกจีวรไว้เกินกำหนด ถ้าเป็นผ้าที่ยังไม่ได้วิกัป ถือเป็น อติเรกจีวร

          คำว่า ทรง คือ ครองหรือนุ่งห่ม ตลอดถึงมีไว้เป็นกรรมสิทธิ์

          คำว่า ให้ล่วงกำหนดนั้นไป เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ คือ ในเมื่ออรุณขึ้นในวันที่ ๑๑ จีวรนั้นเป็นนิสสัคคิยะ คือเป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์(ภิกษุจำนวน ๔ รูปขึ้นไป) แก่คณะ (ภิกษุจำนวน ๒-๓รูป) หรือแก่บุคคล (ภิกษุรูปเดียว) และส่วนตัวภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์

          วิธีการสละจีวรที่เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์นั้น ท่านกำหนดไว้ชัดเจนในพระไตรปิฎก

          จีวรที่เป็นนิสสัคคิยะนั้น ภิกษุต้องสละให้ภิกษุอื่น และมีธรรมเนียมว่า ภิกษุผู้รับสละนั้นต้องคืนให้แก่ภิกษุผู้สละ ถ้าไม่คืนให้ เป็นอาบัติ ทุกกฏ ตามที่ทรงบัญญัติไว้ว่า

          “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จีวรที่ภิกษุสละแล้วแก่สงฆ์ แก่คณะ หรือแก่บุคคล จะไม่คืนให้ไม่ได้ ภิกษุใดไม่คืนให้ ต้องอาบัติทุกกฏ”

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้ 
          สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุมีความมักมาก ไม่รู้จักพอ และเพื่อให้ภิกษุมีความประหยัดในการใช้ผ้านุ่งห่ม ไม่มีนิสัยสุรุ่ยสุร่ายและไม่ต้องมีภาระหอบหิ้วบริขารในการจาริกไปในที่ต่างๆ เพราะสมัยนั้นจีวรเป็นของหายาก ภิกษุต้องจาริกไปเผยแผ่ธรรมอยู่เสมอ จะอยู่เป็นหลักประจำก็เฉพาะตอนเข้าพรรษาเท่านั้น และทรงผ่อนผันให้รับและใช้สอยได้ในเวลาจำกัด ด้วยทรงเห็นความจำเป็นบางกรณีเช่นรักษาศรัทธาของผู้ถวาย และในกรณีมีเหตุจำเป็นอื่น

อนาปัตติวาร
          ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ (๑) ภิกษุอธิษฐานไว้ภายใน ๑๐ วัน (๒) ภิกษุวิกัปไว้ภายใน ๑๐ วัน (๓) ภิกษุสละไปภายใน ๑๐ วัน (คือรับไว้แล้วทิ้งไปก่อน ๑๐ วัน) (๔) จีวรหายไปภายใน ๑๐ วัน (๕) จีวรฉิบหายไป (คือฉีกขาด ใช้การไม่ได้) ภายใน ๑๐ วัน (๖) จีวรถูกไฟไหม้ไปภายใน ๑๐ วัน (๗) โจรชิงเอาไปภายใน ๑๐ วัน (๘) ภิกษุถือวิสาสะ (๙) ภิกษุวิกลจริต(๑๐) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระอานนท์

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.03770858446757 Mins