จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๒ ภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวรแม้คืนหนึ่ง

วันที่ 02 มีค. พ.ศ.2565

จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๒ ภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวรแม้คืนหนึ่ง

จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๒

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ

          “เมื่อจีวรของภิกษุสำเร็จแล้ว เมื่อกฐินเดาะเสียแล้ว ถ้าภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวร แม้สิ้นราตรีหนึ่ง เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นแต่ภิกษุได้รับการสมมติ”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวรแม้คืนหนึ่ง ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์เว้นไว้แต่ได้สมมติ”

อธิบายความโดยย่อ
          คำว่า เมื่อจีวรสำเร็จแล้ว หมายถึงจีวรของภิกษุทำสำเร็จแล้ว หรือหายไป หรือใช้ไม่ได้หรือถูกไฟไหม้หรือหวังว่าจะได้
          คำว่า กฐินเดาะ หมายถึงกฐินเสียหายหรือบกพร่องกลางคัน หรือกฐินที่สงฆ์เดาะเสียในระหว่าง (ดูรายละเอีอดใน จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๑)
          คำว่า อยู่ปราศ หมายถึงอยู่โดยปราศจากไตรจีวร ไตรจีวรมิได้อยู่กับตัว ตัวกับไตรจีวรอยู่กันคนละที่

          การอยู่ปราศจากไตรจีวรนั้น ท่านกำหนดไว้ดังนี้
          - กุฏิที่มีบริเวณ ภิกษุอยู่รูปเดียวกำหนดเอาเครื่องล้อมเป็นเขตถ้าไม่มีบริเวณ กำหนดเอาตัวกุฏิเป็นเกณฑ์
          - กุฏิที่เป็นกุฏิใหญ่ เป็นที่อยู่ของภิกษุหลายรูป ถ้ามีบริเวณ กำหนดเอากุฏิที่ไว้ผ้า ถ้าไม่มีบริเวณ กำหนดเอาที่ไว้ผ้า ถ้าห้องหนึ่งมีหลายรูป ให้กำหนดด้วยหัตถบาสในระหว่างตนกับผ้า
          - ศาลาและที่อื่นๆ อันเป็นสาธารณสถาน พึงกำหนดเวลาใช้รูปเดียวหรือหลายรูป
          - โคนไม้และที่ซึ่งมีเครื่องล้อม กำหนดเอาเครื่องล้อม ถ้าไม่มีเครื่องล้อม โคนไม้กำหนดแดนที่เงาแผ่ในเวลาเที่ยงวัน ที่แจ้ง กำหนดด้วยหัตถบาสในระหว่างตนกับผ้า

          ส่วนหัตถบาสนั้นท่านกำหนดไว้ว่าวัดจากตนไปหาผ้า ให้ได้ระยะ ๑ ศอก ถ้าอยู่ห่างจากนี้ เรียกว่า อยู่ปราศ
          คำว่า ไตรจีวร ได้แก่ ผ้า ๓ ผืน คือ สังฆาฏิ ผ้าซ้อนนอก ๑ อุตตราสงค์ ผ้าห่มหรือผ้าจีวร ๑ อันตรวาสก ผ้านุ่ง ๑
          คำว่า เว้นแต่ภิกษุผู้ได้รับการสมมติ คือ ยกเว้นภิกษุที่ไม่สามารถนำไปหรือดูแลผ้าได้ครบ ๓ ผืน ทรงอนุญาตให้เป็นพิเศษและให้สงฆ์สวดสมมติ เช่น ภิกษุอาพาธ ตามพระพุทธพจน์ว่า
          “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้การสมมติเพื่อไม่เป็นการอยู่ ปราศจากไตรจีวรแก่ภิกษุผู้อาพาธ ...”
          สิกขาบทนี้เป็น อจิตตกะ แม้มิได้ตั้งใจจะอยู่ปราศจากไตรจีวร เมื่ออยู่ปราศไปแล้ว ก็เป็นอาบัติ
          ถ้าอยู่ปราศไม่ถึงคืนหนึ่ง ถอนไตรจีวรเสียก่อน หรือไตรจีวรสูญเสียไป หายไป พ้นจากความเป็นกรรมสิทธิ์ของภิกษุตั้งแต่อรุณยังไม่ขึ้น คือยังไม่ถึงคืนหนึ่ง ไม่ต้องอาบัติ
          ตามสิกขาบทนี้ภิกษุต้องอยู่กับไตรจีวรโดยตลอด โดยเฉพาะกลางคืน เพราะอาจสูญเสียหรือหายหรือถูกโจรลักไปได้ง่ายถ้าไม่สนใจดูแลรักษาแม้ปัจจุบันไตรจีวรจะหาได้ไม่ยากแต่ภิกษุทั้งหลายก็ยังคงรักษาพระวินัยบัญญัติข้อนี้ไว้โดยเฉพาะนิยมรักษาผ้าไตรจีวรตอนกลางคืนก่อนได้อรุณ โดยการตื่นก่อนรุ่งอรุณ ทำกิจเสร็จแล้วก็นุ่งห่มไตรจีวรครบชุด เรียกว่า “ครองผ้า” จากนั้นก็ทำวัตรสวดมนต์หรือทำสมาธิจนกระทั่งสว่างได้อรุณ เป็นอุบายวิธีมิให้อยู่ปราศจากไตรจีวรจากนั้นจึงออกบิณฑบาตวิธีการเช่นนี้นิยมเคร่งครัดในช่วงเข้าพรรษา เมื่อออกพรรษาแล้ว ได้รับอานิสงส์พรรษาและอานิสงส์กฐิน อยู่ปราศจากไตรจีวรได้จนถึงกลางเดือน ๔ จากนั้นจึงเข้าระเบียบเดิมอีก วนเวียนอยู่อย่างนี้

การอยู่ปราศจากจีวรได้
          (๑) จำพรรษาครบไตรมาสแล้ว อยู่ปราศจากไตรจีวรได้๑ เดือน
          (๒) ได้กรานกฐินแล้ว อยู่ปราศจากไตรจีวรต่อไปได้อีก ๔ เดือน
          (๓) เมื่ออาพาธหนัก ได้รับสมมติจากสงฆ์ให้อยู่ปราศจากไตรจีวรได้จนกว่าจะหาย
          (๔) ในเขตที่สงฆ์สมมติติจีวราวิปปวาสลงในสมานสังวาสสีมาให้เป็นที่อยู่ปราศจากไตรจีวรได้คือในเขตวิสุงคามสีมา หรือในเขตอุโบสถ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้ 
          สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้ภิกษุเก็บรักษาไตรจีวร ไม่มักง่ายปล่อยปละละเลย หรือไม่เห็นคุณค่าของจีวร จำต้องสนใจเก็บสนใจรักษามิให้เสียหายก่อนเวลาอันควร เพราะสมัยก่อนจีวรหาได้ยาก การปฏิบัติอย่างนี้ได้จนเคยชิน ก็จะสร้างนิสัยละเอียดรอบคอบ ไม่มักง่าย ไม่ปล่อยปละละเลยในการเก็บ ในการดูแล ในการรักษาสิ่งของสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้สิ่งของยังคงสภาพ ได้ใช้สอยโดยสะดวก ไม่ต้องสิ้นเปลือง ไม่ต้องเสียเวลาไปหาใหม่ก่อนเวลาโดยใช่เหตุ

อนาปัตติวาร
          ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ (๑) ภิกษุถอนเสียภายในอรุณ (๒) ภิกษุสละไปภายในอรุณ (๓) จีวรหายไป (๔) จีวรฉิบหายไป (๕) จีวรถูกไฟไหม้(๖) โจรชิงเอาไป (๗) ภิกษุถือวิสาสะ (๘) ภิกษุได้รับสมมติ(๙) ภิกษุวิกลจริต (๑๐) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ภิกษุทั้งหลายที่วัดเชตวัน

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.054609433809916 Mins