สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๒ ภิกษุว่ายากสอนยาก ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟังสงฆ์สวดกรรม ต้องสังฆาทิเสส

วันที่ 11 กพ. พ.ศ.2565

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๒ ภิกษุว่ายากสอนยาก ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟังสงฆ์สวดกรรม ต้องสังฆาทิเสส

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๒
คำแปลพระบาลีในพุทธบัญญัติ

      “อนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ว่ายาก อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่โดยชอบธรรมในสิกขาบททั้งหลายอันเนื่องในอุทเทส ทำตัวให้เป็นผู้ที่ใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ โดยกล่าวโต้ว่า พวกท่านอย่าได้ว่ากล่าวอะไรผม ไม่ว่าดีหรือชั่ว ผมเองก็จักไม่ว่ากล่าวอะไรพวกท่านเหมือนกัน ไม่ว่าดีหรือชั่ว ขอพวกท่านจงเว้นจากการว่ากล่าวผมเสีย ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้ทำตัวให้เป็นผู้ที่ใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ ขอท่านจงทำตัวให้เขาว่ากล่าวได้เถิด แม้ท่านก็จงว่ากล่าวภิกษุทั้งหลายโดยชอบธรรม แม้ภิกษุทั้งหลายก็จักว่ากล่าวท่านโดยชอบธรรม เพราะว่าบริษัทของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเจริญแล้วด้วยอาการอย่างนี้ คือด้วยการว่ากล่าวซึ่งกันและกัน ด้วยการช่วยเหลือกันและกันให้ออกจากอาบัติแล ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องยันอยู่อย่างนั้นนั่นแล ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละการกระทำนั้นเสีย หากเธอถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบอยู่ ยอมสละการกระทำนั้นเสียได้ การสละได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากเธอไม่ยอมสละ เป็นสังฆาทิเสส”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท

       “ภิกษุว่ายากสอนยาก ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟังสงฆ์สวดกรรม เพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤตินั้น ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส”

อธิบายความโดยย่อ
         คำว่า ภิกษุเป็นผู้ว่ายาก หมายถึงเป็นผู้ว่าได้โดยยาก คือเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมทั้งหลายที่ทำให้เป็นผู้ว่ายากเป็นผู้ไม่อดทน ไม่รับอนุศาสน์โดยเคารพ
         คำว่า ในสิกขาบททั้งหลายอันเนื่องในอุทเทส ได้แก่ ในสิกขาบทอันเนื่องในพระปาติโมกข์
         คำว่า โดยชอบธรรม ได้แก่สิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว ชื่อว่า โดยชอบ

ธรรมธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก

       ในอนุมานสูตร ในพระไตรปิฎก ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ ได้แสดงธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายากแก่ภิกษุทั้งหลายไว้๑๖ ประการ คือ

         (๑) ความปรารถนาอันเลวทราม
         (๒) ความเป็นผู้ยกตนข่มท่าน
         (๓) ความเป็นผู้มักโกรธ
         (๔) ความเป็นผู้ผูกโกรธ
         (๕) ความเป็นผู้ชอบระแวงจัด เพราะความโกรธเป็นเหตุ
         (๖) ความเป็นผู้เปล่งวาจาใกล้ต่อความโกรธเพราะความโกรธเป็นเหตุ
         (๗) ความที่ถูกโจทก์ฟ้อง กลับโต้เถียงโจทก์
         (๘) ความที่ถูกโจทก์ฟ้อง กลับรุกรานโจทก์
         (๙) ความที่ถูกโจทก์ฟ้อง กลับปรักปรำโจทก์    
         (๑๐) ความที่ถูกโจทก์ฟ้อง กลับนำเรื่องอื่นมากลบเกลื่อน
         (๑๑) ความที่ถูกโจทก์ฟ้อง กลับเป็นผู้ไม่พอใจตอบด้วยความประพฤติ
         (๑๒) ความเป็นผู้ชอบลบหลู่ ชอบตีเสมอ
         (๑๓) ความเป็นผู้ริษยา เป็นผู้ตระหนี่
         (๑๔) ความเป็นผู้โอ้อวด เจ้ามายา
         (๑๕) ความเป็นผู้กระด้าง ชอบดูหมิ่นผู้อื่น
         (๑๖) ความเป็นผู้ถือแต่ความเห็นของตน
         แต่ในอรรถกถาสมันตปาสาทิกา ได้แสดงธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายากนี้ไว้ ๑๘ ประการ ๑๖ ประการข้างต้นเหมือนในพระไตรปิฎก แต่เพิ่มเติมอีก๒ ประการ คือ
         (๑๗) ความเป็นผู้ดื้อรั้น
         (๑๘) ความเป็นผู้ถอนได้ยาก

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้
         สิกขาบทนี้แสดงถึงลักษณะของผู้ว่ายากสอนยาก ที่ไม่มีใครว่ากล่าวตักเตือนได้ใครว่าไม่ฟัง แม้จะมีผู้หวังดีเตือนสติให้สละความประพฤติเช่นนั้นก็ยังตอบโต้ไม่ยอมสละ แสดงถึงนิสัยว่าขาดความอดทน ไม่รับอนุศาสน์คำตักเตือนโดยเคารพ เป็นผู้หัวดื้อ เต็มไปด้วยทิฐิมานะสิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้ภิกษุเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย ยอมรับฟังคำตักเตือนสั่งสอนของผู้หวังดีมีความอดทนต่อถ้อยคำว่ากล่าว แสดงอัธยาศัยเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่หัวดื้อ ไม่ถือทิฐิมานะ

อนาปัตติวาร
         ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ (๑) ภิกษุผู้ยังไม่ถูกสวดสมนุภาสน์(๒) ภิกษุผู้สละเสียได้(๓) ภิกษุผู้วิกลจริต (๔) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระฉันนะ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.035276520252228 Mins