จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๓ ถ้าผ้าเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ภิกษุประสงค์จะทำจีวร

วันที่ 02 มีค. พ.ศ.2565

จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๓ ถ้าผ้าเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ภิกษุประสงค์จะทำจีวร

จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๓

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ

          “เมื่อจีวรของภิกษุสำเร็จแล้ว เมื่อกฐินเดาะเสียแล้ว อกาลจีวรเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ภิกษุต้องการอยู่ก็พึงรับไว้ ครั้นรับแล้วพึงรีบให้ทำเป็นจีวร ถ้าผ้านั้นมีไม่พอ เมื่อมีความหวังว่าจะได้เพิ่ม ภิกษุนั้นพึงเก็บผ้านั้นไว้ได้เดือนหนึ่งเป็นอย่างยิ่ง เพื่อผ้าที่ยังขาดอยู่จะได้พอ ถ้าเก็บไว้เกินกว่ากำหนดนั้น แม้จะมีความหวังว่าจะได้เพิ่ม เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท

          “ถ้าผ้าเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ภิกษุประสงค์จะทำจีวร แต่ยังไม่พอ ถ้ามีที่หวังว่าจะได้มาอีก พึงเก็บผ้านั้นไว้ได้เพียงเดือนหนึ่งเป็นอย่างยิ่งถ้าเก็บไว้ให้เกินเดือนหนึ่งไป แม้ถึง     ยังมีที่หวังว่าจะได้อยู่ ต้องนิสัคคิยปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
          คำว่า เมื่อจีวรสำเร็จแล้ว หมายถึงจีวรของภิกษุทำสำเร็จแล้ว หรือหายไป หรือใช้ไม่ได้หรือถูกไฟไหม้หรือหวังว่าจะได้
          คำว่า กฐินเดาะ หมายถึงกฐินเสียหายหรือบกพร่องกลางคัน หรือกฐินที่สงฆ์เดาะเสียในระหว่าง (ดูรายละเอีอดใน จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๑)
          คำว่า อกาลจีวร ได้แก่ ผ้าสำหรับทำจีวรที่เกิดขึ้นนอกเขตฤดูถวายจีวร ในระยะเวลา ๑๑ เดือน เมื่อไม่ได้กรานกฐิน เกิดขึ้นในระยะเวลา ๗ เดือน เมื่อได้กรานกฐิน แม้ผ้าที่เขาถวายในกาล ก็ชื่อว่า อกาลจีวร
          อกาลจีวรนี้ก็คืออติเรกจีวรนั่นเอง ถ้าภิกษุต้องการจะทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งใน ๓ ผืนใช้สอย แต่ยังไม่พอ เมื่อมีความหวังว่าจะได้ผ้ามาเพิ่มอีก ผ้านั้นก็เป็นอกาลจีวร พึงเก็บผ้านั้นไว้ได้ ๑ เดือน ถ้าไม่ต้องการจะทำ หรือไม่มีที่หวังว่าจะได้ ผ้านั้นก็เป็นอติเรกจีวรตามปกติ พึงเก็บไว้ได้ไม่เกิน ๑๐ วัน หรือผ้าที่เก็บไว้เพราะมีที่หวังว่าจะได้เพิ่ม แต่นานเกินกว่า ๑ เดือน ก็นับเป็นอติเรกจีวร ที่เก็บไว้ได้ไม่เกิน ๑๐ วัน
          คำว่า เกิดขึ้น หมายถึงผ้าที่เกิดขึ้นจากสงฆ์ก็ดีจากคณะก็ดีจากญาติก็ดีจากมิตรก็ดีจากที่บังสุกุลก็ดีจากทรัพย์ของตนก็ดี
          คำว่า ต้องการอยู่ คือ เมื่อปรารถนาต้องการก็พึงรับไว้
          คำว่า พึงรีบทำ คือ พึงทำให้เสร็จใน ๑๐ วัน
          คำว่า เมื่อมีความหวังว่าจะได้เพิ่ม คือ มีความหวังว่าจะได้ผ้ามาเพิ่มให้สมบูรณ์จากสงฆ์จากคณะ เป็นต้น
          คำว่า ถ้าเก็บไว้เกินกว่ากำหนดนั้น แม้จะมีความหวังว่าจะได้เพิ่ม มีอธิบายว่า
          - ผ้าเดิมเกิดขึ้นในวันนั้น ผ้าที่หวังก็เกิดขึ้นในวันนั้น พึงให้ทำให้เสร็จใน ๑๐ วัน .....
          - ถ้าผ้าเดิมเกิดขึ้นได้๒๑ วัน ผ้าที่หวังจึงเกิดขึ้น พึงให้ทำให้เสร็จใน ๙ วัน .....
          - ถ้าผ้าเดิมเกิดขึ้นได้๒๙ วัน ผ้าที่หวังจึงเกิดจึ้น พึงให้ทำให้เสร็จใน ๑ วัน
          ผ้าเดิมเกิดขึ้นได้๓๐ วัน ผ้าที่หวังจึงเกิดขึ้น พึงอธิษฐาน พึงวิกัปไว้พึงสละให้ผู้อื่นไปในวันนั้นแหละ
          ถ้าไม่อธิษฐาน ไม่วิกัปไว้หรือไม่สละให้ผู้อื่นไป เมื่ออรุณที่ ๓๑ ขึ้นมา ผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์จำต้องสละแก่สงฆ์แก่คณะ หรือแก่บุคคล

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้ 
          สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อทรงอนุเคราะห์ภิกษุผู้ได้อกาลจีวรมาแล้วต้องรีบให้ทำเป็นจีวร เพราะเป็นอติเรกจีวร แต่ผ้าไม่พอ จึงรีบซักแล้วรีดเพื่อให้ผ้าขยายจะได้พอแต่ก็ยังไม่พอจึงทรงอนุญาตให้รับอกาลจีวรไว้ได้เมื่อมีความหวังว่าจะได้ผ้ามาเพิ่ม แต่ก็ทรงกำหนดให้เก็บไว้ได้ไม่เกินเดือนหนึ่งด้วยทรงต้องการมิให้เป็นภาระในการเก็บผ้าเดิมไว้รอนานเกินไป ทำให้เกิดความรกรุงรังบ้าง ผ้าเกิดเปลี่ยนสภาพเน่าเหม็นเมื่อเก็บไม่ดีบ้าง ถูกทิ้งขว้างเมื่อเจ้าของเดิมละทิ้งไป กลายเป็นภาระของผู้อยู่ข้างหลังบ้าง

อนาปัตติวาร
          ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ (๑) ภิกษุอธิษฐานภายในเดือนหนึ่ง (๒) ภิกษุวิกัปไว้ภายในเดือนหนึ่ง (๓) ภิกษุสละไป (๔) จีวรหายไป (๕) จีวรฉิบหายไป (๖) จีวรถูกไฟไหม้ไป (๗) โจรชิงเอาไป (๘) ภิกษุถือวิสาสะ (๙) ภิกษุวิกลจริต (๑๐) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ ภิกษุวัดเชตวัน
 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0086665829022725 Mins