สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๖ ภิกษุสร้างกุฎีที่ต้องก่อและโบกด้วยปูนหรือดิน ทำให้เกินประมาณก็ดีต้องสังฆาทิเสส

วันที่ 21 มค. พ.ศ.2565

ภิกษุผู้จะสร้างกุฎีอันไม่มีเจ้าภาพสร้างให้

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๖

คำแปลพระบาลีในพุทธบัญญัติ

        “อนึ่ง ภิกษุผู้จะสร้างกุฎีอันไม่มีเจ้าภาพสร้างให้ สร้างเป็นของส่วนตัว ด้วยการขอเขามาเอง พึงสร้าง ให้ได้ประมาณ ประมาณในการสร้างกุฎีนั้นดังนี้ โดยยาว ๑๒ คืบ โดยกว้างร่วมใน ๗ คืบโดยคืบสุคต พึงนำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงพื้นที่ให้ ภิกษุเหล่านั้นพึงแสดงพื้นที่อันไม่มีอันตราย มีชานโดยรอบ พวกภิกษุสร้างกุฎีด้วยการขอเขามาเอง ในที่มีอันตราย หาชานโดยรอบมิได้ หรือไม่นำภิกษุทั้งหลายไปแสดงพื้นที่ให้ หรือสร้างให้เกินประมาณ เป็นสังฆาทิเสส”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
         “ภิกษุสร้างกุฎีที่ต้องก่อและโบกด้วยปูนหรือดิน ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ จำเพาะเป็นที่อยู่ของตน ต้องทำให้ได้ประมาณ โดยยาวเพียง ๑๒ คืบพระสุคต โดย กว้างเพียง ๗ คืบ วัดในร่วมใน และต้องให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน ถ้าไม่ให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อนก็ดีทำให้เกินประมาณก็ดีต้องสังฆาทิเสส”

อธิบายความโดยย่อ
        คำว่า ขอเขามาเอง หมายถึงขอคนบ้างแรงงานบ้าง โคบ้าง เกวียนบ้าง อุปกรณ์เช่นมีดบ้าง ตลอดถึงไม้หญ้า ดิน ด้วยตนเอง
      คำว่า กุฎี ได้แก่ ที่อยู่ซึ่งโบกฉาบปูนไว้เฉพาะภายในก็ตาม ซึ่งโบก ฉาบปูนไว้เฉพาะภายนอกก็ตาม ซึ่งโบกฉาบปูนไว้ทั้งภายในทั้งภายนอกก็ตาม

        คำว่า คืบสุคต คือ ความยาว ๓ คืบของบุรุษกลางคนในปัจจุบันเท่ากับหนึ่งศอกกับหนึ่งคืบของช่างไม้จัดเป็นหนึ่งคืบสุคต
        คำว่า สร้าง หมายถึงจะสร้างด้วยตนเองก็ตาม ใช้ให้คนอื่นสร้างก็ตาม
        คำว่า อันไม่มีเจ้าภาพสร้างให้ หมายถึงไม่มีใครอื่นเป็นเจ้าของถวายไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย เป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ถ้าร่วมกันบริจาคทรัพย์และสิ่งของสร้างถวาย จัดว่ามีเจ้าภาพ
        คำว่า เป็นของส่วนตัว หมายถึงเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ถ้าสร้างเพื่อถวายเป็นของสงฆ์เป็นของส่วนกลางที่ภิกษุอื่นใช้ได้ไม่จัดเป็นของส่วนตัว
        คำว่า พึงสร้างให้ได้ประมาณ คือ โดยยาว ด้วยการวัดด้านนอกฝาผนัง โดยกว้าง ด้วยการวัดด้านในฝาผนัง

        เมื่อสร้างส่วนยาวเพียง ๑๐ คืบ แต่มีส่วนกว้าง ๘ คืบ หรือส่วนกว้างแคบกว่าที่กำหนด ส่วนยาวเกินกำหนด ถือว่าสร้างไม่ได้ประมาณ
        คำว่า พึงนำภิกษุทั้งหลายไปแสดงพื้นที่ให้ คือ ภิกษุผู้จะสร้างกุฎีนั้นพึงปรับพื้นที่ที่จะสร้างกุฎีนั้นเสียก่อน แล้วพึงเข้าไปหาสงฆ์ห่มผ้าเฉวียงบ่ากราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระหย่ง(นั่งคุกเข่า)ประนมมือเปล่งวาจาขอสงฆ์ให้ไปตรวจดูพื้นที่ที่จะสร้างกุฎีโดยกล่าวขอ ๓ ครั้ง ถ้าสงฆ์ทั้งหมดจะอุตสาหะไปดูพื้นที่นั้นด้วยกันก็พึงไป ถ้าสงฆ์ไม่อาจจะไปดูพื้นที่ได้ทั้งหมดด้วยชราบ้างอาพาธบ้าง ภิกษุเหล่าใดในหมู่นั้นเป็นผู้ฉลาดสามารถจะรู้ได้ว่าพื้นที่นั้นจะมีอันตรายอะไรหรือไม่ เป็นพื่นที่มีชานรอบได้หรือไม่สงฆ์พึงขอร้องภิกษุเหล่านั้นแล้วสมมติคือมีมติร่วมกันแต่งตั้งให้ไปเป็นผู้ดูพื้นที่แทนสงฆ์
        คำว่า มีอันตราย คือ เป็นที่อาศัยของมด ของปลวก ของหนูของงูของแมลงมีพิษเช่นแมงป่อง ของสัตว์ร้ายเช่นเสือ สิงโต เป็นต้น เป็นที่ใกล้นาใกล้ไร่ ใกล้สวน ใกล้ตะแลงแกง ใกล้สุสาน หรือใกล้ถนน ใกล้สี่แยก ใกล้ทางเดินไปมา
        คำว่า ไม่มีชานโดยรอบ คือเป็นที่ที่เกวียนซึ่งเทียมวัวแล้วตามปกติไม่สามารถจะเวียนไปได้ เป็นที่ไม่สามารถจะใช้บันไดพาดเดินเวียนโดยรอบได้

อาการที่ล่วงอาบัติ
        ในสิกขาบทนี้มีข้อที่พึงพิจารณาคืออาการที่ล่วงอาบัติว่าจะเป็นอาบัติด้วยสาเหตุใดบ้าง ท่านแสดงไว้ว่า
        (๑) สร้างเป็นส่วนตัว คือ สร้างไว้อยู่เฉพาะตัว ไม่ให้เป็นของสงฆ์
        (๒) ขอเขามาเอง คือ ขอช่าง ขออุปกรณ์ขอวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น จากคนอื่น
        (๓) สร้างไม่ได้ประมาณ คือ สร้างเกินประมาณไป
        (๔) ไม่ให้สงฆ์แสดงพื้นที่ให้คือ ลงมือสร้างเองโดยอิสระ
        (๕) พื้นที่ที่สร้างมีอันตราย ไม่มีชานรอบ
เมื่อสร้างด้วยอาการอย่างนี้เป็นอาบัติ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้
        สิกขาบทนี้มุ่งให้ภิกษุตั้งอยู่ในความสันโดษ มักน้อย มีที่อยู่เรียบง่าย พอเป็นที่มุงบังหลบหนาวหลบร้อน หลบเหลือบยุง และป้องกันฝนและแดดได้เท่านั้น จะได้ไม่ไปรบกวนชาวบ้านให้ช่วยเหลือเพื่อสร้างกุฎีที่อยู่ของตนด้วยประการต่างๆ
        สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อมิให้ภิกษุสร้างความเดือดร้อนให้แก่
ชาวบ้าน ด้วยการขออุปกรณ์สิ่งของในการก่อสร้าง ทรงแสดงไว้ว่า โภคสมบัติของคฤหัสถ์รวบรวมได้ยาก แม้ได้มาแล้วก็ยังยากที่จะเฝ้ารักษา ไฉนจึงได้มีการวิงวอนออกปากขอเขาหลายครั้งหลายคราว การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของเหล่าชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความลื่อมใสยิ่งขึ้นของเหล่าชนที่เลื่อมใสแล้ว เป็นการกระทำเพื่อความไม่เลื่อมใสและเพื่อความกลายเป็นอื่นไปโดยแท้

ว่าด้วยเรื่องการขอ
        การขออุปกรณ์สิ่งของจากชาวบ้านมาเพื่อกุฎีที่อยู่ของตน จัดเป็นอาบัติแต่ในกรณีที่มีการขอเพื่อมาสร้างกุฎีวิหารอุโบสถศาลา หรือปราสาท(อาคารมียอดเป็นชั้นๆ) เป็นของกลางสงฆ์โดยมีเจ้าภาพทั้งหมดหรือเป็นส่วนๆ ไม่เป็นอาบัติและสามารถขอวัสดุอุปกรณ์ขอหัตถกรรมหรือแรงงานจากชาวบ้านได้ในข้อนี้ขอยกตัวอย่างคำอธิบายในอรรถกถาสมันตปาสาทิกาตอนที่ว่าด้วยสิกขาบทนี้มาเป็นตัวอย่าง ท่านว่า
        “บรรดาคนและหัตถกรรมนั้น จะขอคนโดยความขาดมูล (ขาดค่าตอบแทน) ไม่ควร จะขอว่า พวกท่านจงให้คนเพื่อประโยชน์แก่การร่วมมือ เพื่อประโยชน์แก่การทำงาน ควรอยู่ หัตถกรรมที่คนพึงกระทำท่านเรียกว่า แรงงาน จะขอแรงงาน ควรอยู่ หัตถกรรมนั้น เว้นการงานส่วนตัวของพวกพรานเนื้อและชาวประมงเป็นต้นเสีย ที่เหลือเป็นกัปปิยะคือควรทั้งหมด ... การที่ภิกษุจะขอหัตถกรรมบางอย่างกะชาวนาหรือคนอื่น แม้เป็นผู้ขวนขวายในการงานของตน ซึ่งถือเครื่องอุปกรณ์มีผาลและไถเป็นต้นกำลังเดินไปเพื่อไถนาก็ดี เพื่อหว่านหรือเกี่ยวก็ดี สมควรแท้ ...
        ก็ถ้าว่า ภิกษุประสงค์จะให้สร้างปราสาท พึงไปยังบ้านพวกสลักหินเพื่อต้องการเสาแล้วขอหัตถกรรม ให้เขาหามเสาหินไปให้ ถ้าเขายอมหามไปถวาย หรือถวายเสาที่เข็นมาเก็บไว้แล้ว ควรอยู่ ถ้าเขากล่าวว่าพวกตนไม่มีเวลา ขอให้ใช้คนอื่นขนไปเถิด พวกตนจะให้ค่าแรงขนเอง จะให้คนขนไปแล้วบอกให้เขาจ่ายค่าจ้างขนเสาหิน ก็ควร
        โดยอุบายเดียวกันนี้ การที่ภิกษุจะไปยังสำนักของพวกช่างศิลป์ เพื่อประสงค์ของทุกสิ่งที่ต้องการ เช่นไปยังสำนักช่างไม้เพื่อขอไม้มาสร้างปราสาท ไปยังสำนักช่างอิฐเพื่อขออิฐมาก่อสร้าง เป็นต้น แล้วขอหัตถกรรม สมควรอยู่ และจะรับเอาของที่ตนได้ ด้วยอำนาจ การขอหัตถกรรมก็ดี ด้วยการเพิ่มให้ค่าบำเหน็จเบี้ยเลี้ยง สมควรทุกอย่าง และเมื่อจะให้นำของมาจากป่า ควรให้นำของทั้งหมดที่ใครๆ ไม่ได้คุ้มครอง (ไม่ได้หวงแหน) มา”

อนาปัตติวาร
        ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ (๑) ภิกษุสร้างเงื้อมผา (๒) ภิกษุสร้างถ้ำ (๓) ภิกษุสร้างกุฎีหญ้า (๔) ภิกษุสร้างกุฎีเพื่อภิกษุอื่น คือสร้างเป็นของสงฆ์(๕) ภิกษุสร้างอาคารอื่นทุกอย่าง นอกจากอาคารเป็นที่อยู่ของตน (๖) ภิกษุวิกลจริต (๗) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือผู้เป็นอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวี

วินีตวัตถุ
        ในสิกขาบทนี้ไม่มีเรื่องที่ทรงตัดสินแล้วปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก

 

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.022515368461609 Mins