วรรคที่ ๕ อเจลกวรรค ว่าด้วยนักบวชเปลือย

วันที่ 01 มีค. พ.ศ.2566

วรรคที่ ๕ อเจลกวรรค ว่าด้วยนักบวชเปลือย

วรรคที่ ๕ อเจลกวรรค
ว่าด้วยนักบวชเปลือย

 อเจลกวรรค สิกขาบทที่ ๑
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
           “อนึ่ง ภิกษุใดให้ของเคี้ยวก็ดี ของกินก็ดี แก่อเจลกก็ดี แก่ปริพาชกก็ดี แก่ปริพาชิกาก็ดี ด้วยมือของตนเป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุให้ของเคี้ยวของฉัน แก่นักบวชนอกศาสนาด้วยมือตน ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
          คำว่า อเจลก คือ นักบวชที่ไม่นุ่งผ้าหรือชีเปลือย
          คำว่า ปริพาชก ปริพาชิกา คือ นักบวชนอกศาสนาที่เป็นชายและเป็นหญิง
การให้ของเคี้ยวของกินแก่นักบวชนอกศาสนาอย่างนั้นด้วยมือ จัดเป็นอาบัติแต่สั่งให้ผู้อื่นให้วางไว้ให้หรือให้ของอย่างอื่นนอกจากของเคี้ยวของกิน ไม่เป็นอาบัติ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
          สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อรักษาศักดิ์ศรีความเป็นอุปสัมบันของภิกษุ มิให้นักบวชนอกศาสนาหมิ่นหรือตีเสมอได้เมื่อให้ด้วยมือของตน ชื่อว่าลดตัวลงเสมอกับนักบวชเหล่านั้น ทำให้นักบวชเหล่านั้นคิดว่าตนก็เสมอกับภิกษุจึงยอมรับพวกเขายกย่องเขา เหมือนกับทายกถวายของภิกษุ เพราะเคารพนับถือภิกษุฉะนั้น
          อีกประการหนึ่ง การแจกของแก่นักบวชนอกศาสนาที่เป็นผู้หญิงหากได้ไม่เท่ากันหรือไม่หมือนกัน ย่อมเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่ามีอคติ ลำเอียง รักไม่เท่ากัน เป็นต้น ซึ่งทำให้เสียถึงผู้ให้ได้โดยไม่จำเป็น

อนาปัตติวาร
          ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ
          (๑) ภิกษุสั่งให้คนอื่นให้ไม่ได้ให้เอง 
          (๒) ภิกษุวางให้
          (๓) ภิกษุให้ของไล้ทาภายนอก
          (๔) ภิกษุผู้วิกลจริต
          (๕) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระอานนท์

 

อเจลกวรรค สิกขาบทที่ ๒

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
          “อนึ่ง ภิกษุใดกล่าวชวนภิกษุอย่างนี้ว่า มาเถิดคุณ พวกเราจักเข้าไปยังหมู่บ้านหรือนิคมเพื่อบิณฑบาตด้วยกัน จะให้เขาถวายแก่เธอก็ตาม ไม่ให้ถวายก็ตาม แล้วส่งเธอกลับไปด้วยคำว่า กลับไปเถิดคุณ เราพูดหรือนั่งกับคุณไม่มีความผาสุก เราพูดหรือนั่งคนเดียวมีความผาสุกกว่า ทำความหมายใจอย่างนี้เท่านั้นให้เป็นเหตุ ไม่มีอะไรอื่น เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุชวนภิกษุอื่นไปเที่ยวบิณฑบาตด้วยกัน หวังจะ ประพฤติอนาจาร ไล่เธอกลับมาเสีย ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
          สิกขาบทนี้มุ่งถึงภิกษุสั่งให้ภิกษุที่ตนชักชวนไปบิณฑบาตด้วยกันกลับก่อน ด้วยอ้างว่าตนไม่มีความผาสุกเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วย ด้วยเจตนาที่จะประพฤติอนาจารไม่สมควรบางอย่าง เช่น มุ่งจะกระซิกกระซี้มุ่งจะเล่นหัว มุ่งจะนั่งในที่ลับ เป็นต้นกับมาตุคาม เมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยจะทำได้ไม่สะดวก จึงไล่เธอกลับเสีย

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
          สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อมิให้ภิกษุเสียมารยาทในเมื่อชวนภิกษุอื่นไปด้วยแล้วให้กลับเสียกลางคัน ด้วยต้องการจะประพฤติไม่เหมาะไม่ควรและเป็นการป้องกันภิกษุที่ไปด้วยมิให้ต้องกลับกลางคัน ทั้งที่ยังบิณฑบาตไม่ได้และกลับมาฉันในโรงครัวไม่ทัน

อนาปัตติวาร
          ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
          (๑) ภิกษุส่งกลับไปด้วยคิดว่า เราสองรูปรวมกันจักไม่พอฉัน 
          (๒) ภิกษุส่งกลับไปด้วยคิดว่า เธอพบเห็นของที่มีราคาแพงแล้วจักเกิดความโลภขึ้น 
          (๓) ภิกษุส่งกลับไปด้วยคิดว่า เธอเห็นมาตุคามแล้วจักเกิดความกำหนัดขึ้น 
          (๔) ภิกษุส่งกลับไปด้วยสั่งว่า เธอจงนำข้าวยาคูหรือข้าวสวยของเคี้ยวหรือของฉัน ไปให้แก่ภิกษุผู้อาพาธแก่ภิกษุผู้ตกค้างอยู่ หรือแก่ภิกษุผู้เฝ้าวิหาร 
          (๕) ภิกษุไม่มุ่งจะประพฤติอนาจาร ส่งกลับไปในเมื่อมีกิจจำเป็น 
          (๖) ภิกษุผู้วิกลจริต 
          (๗) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระอุปนันทศากยบุตร

 

อเจลกวรรค สิกขาบทที่ ๓

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
          “อนึ่ง ภิกษุใดนั่งแทรกแซงในตระกูลที่มีคนอยู่กันสองคน เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุสำเร็จการนั่งแทรกแซง ในสกุลที่กำลังบริโภคอาหารอยู่ ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
          คำว่า มีคนอยู่กันสองคน คือ มีสตรีกับบุรุษ ทั้งสองคนยังอยู่ในห้องทั้งสองคนยังไม่ปราศจากราคะ
          คำว่า แทรกแซง คือ เข้าไปนั่งอยู่ในห้องเดียวกับคนสองคนนั้น
          ต้นเหตุของเรื่องนี้คือ ภิกษุไปเยี่ยมสหายเก่า เข้าไปนั่งคุยกันในห้องนอนของเขา สหายได้บอกให้ภรรยาจัดอาหารถวาย เมื่อฉันเสร็จแล้ว สามีได้บอกภิกษุว่านิมนต์กลับได้แล้วเพราะฉันเสร็จแล้ว ภรรยาของเขาทราบทันทีว่าสามีเกิดราคะต้องการร่วมเพศขึ้น จึงบอกภิกษุว่าให้อยู่ก่อนเพื่อแกล้งสามีสามีก็บอกให้ภิกษุกลับอีกเป็นครั้งที่สองที่สาม ภิกษุก็ไม่ยอมกลับ ทำให้สามีไม่พอใจ จึงออกจากห้องไปบอกภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุรูปหนึ่งนั่งอยู่ในห้องนอนกับภรรยาของตน แม้ตนนิมนต์ให้กลับก็ไม่ยอมกลับ ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องถวายพระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทนี้

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
          สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อเตือนสติภิกษุให้รักษามารยาท และให้ระมัดระวังในการเข้าไปในบ้านของคฤหัสถ์ไม่ควรอยู่นานจนเกินงาม ควรรู้กาลเทศะ แม้จะเป็นบ้านของคนสนิท เพราะอาจไม่ถูกกาลเทศะขึ้นมาได้

อนาปัตติวาร
          ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
          (๑) ภิกษุนั่งในเรือนหลังใหญ่ ไม่ห่างบานประตูเกินช่วงแขน 
          (๒) ภิกษุนั่งในเรือนหลังเล็กไม่เลยกลางห้อง 
          (๓) ภิกษุมีเพื่อนอยู่ด้วย 
          (๔) คนทั้งสองออกไปแล้ว
          (๕) คนทั้งสองปราศจากราคะแล้ว 
          (๖) ภิกษุนั่งในสถานที่อันมิใช่ห้องนอน
          (๗) ภิกษุผู้วิกลจริต 
          (๘) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระอุปนันทศากยบุตร

 

อเจลกวรรค สิกขาบทที่ ๔

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
          “อนึ่ง ภิกษุใดนั่งในอาสนะกำบังในที่ลับกับมาตุคาม เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุนั่งอยู่ในห้องกับผู้หญิง ไม่มีผู้ชายอยู่เป็นเพื่อนต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
          คำว่า อาสนะกำบัง คืออาสนะที่ปิดบังด้วยฝา บานประตูเสื่อลำแพนม่านบัง ต้นไม้เสา ฉางข้าว อย่างใดอย่างหนึ่ง
          คำว่า ที่ลับ คือ เป็นที่ลับตา ซึ่งไม่มีใครมองเห็นภิกษุหรือมาตุคามขยิบตา ยักคิ้ว หรือผงกศีรษะได้และเป็นที่ลับหูซึ่งไม่มีใครสามารถจะได้ยินถ้อยคำที่พูดกันตามปกติได้
          การนั่งในอาสนะกำบังในที่ลับกับมาตุคามเช่นนี้เป็นการเสี่ยงต่อข้อครหาและเสี่ยงต่อการต้องอาบัติข้ออื่นอีกส่วนหนึ่ง แม้การนั่งในเสนาสนะเช่นนั้นกับมาตุคามหลายคน ก็เป็นอาบัติเพราะผู้หญิงหลายคนก็คุ้มอาบัติไม่ได้เว้นไว้แต่มีผู้ชายผู้รู้เดียงสานั่งอยู่ด้วย จึงไม่เป็นอาบัติ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
          สิกขาบทนี้บัญญัติไว้เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ภิกษุผู้ลืมตัวไปนั่งในที่เช่นนั้นกับมาตุคาม ทำให้ภิกษุรู้ตัวและระวังตัวอยู่ตลอดเวลาว่าไม่เหมาะไม่ควรที่จะประพฤติเช่นนั้น

อนาปัตติวาร
          ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
          (๑) ภิกษุมีบุรุษผู้รู้เดียงสาคนใดคนหนึ่งอยู่เป็นเพื่อน 
          (๒) ภิกษุยืน มิได้นั่ง 
          (๓) ภิกษุมิได้มุ่งที่ลับ 
          (๔) ภิกษุนั่งส่งใจไปในอารมณ์อื่น 
          (๕) ภิกษุผู้วิกลจริต 
          (๖) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระอุปนันทศากยบุตร

 

อเจลกวรรค สิกขาบทที่ ๕
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
          “อนึ่ง ภิกษุใดนั่งในที่ลับกับมาตุคามสองต่อสอง เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
     “ภิกษุนั่งในที่แจ้งกับผู้หญิงสองต่อสอง ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความและเจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
          คำว่า ที่ลับ ในสิกขาบทนี้มุ่งเฉพาะที่ลับหูมิได้มุ่งที่ลับตา ดังนั้น
ในนวโกวาทจึงแสดงว่านั่งในที่แจ้ง ซึ่งสามารถมองเห็นกิริยาอาการ แต่ไม่สามารถได้ยินเสียงที่พูดกันได้และเจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้ก็เหมือนกับสิกขาบทก่อน

อนาปัตติวาร
          ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
          (๑) ภิกษุมีบุรุษผู้รู้เดียงสาคนใดคนหนึ่งอยู่เป็นเพื่อน 
          (๒) ภิกษุยืน มิได้นั่ง 
          (๓) ภิกษุมิได้มุ่งที่ลับ 
          (๔) ภิกษุนั่งส่งใจไปในอารมณ์อื่น 
          (๕) ภิกษุผู้วิกลจริต 
          (๖) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระอุปนันทศากยบุตร

 

อเจลกวรรค สิกขาบทที่ ๖
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
          “อนึ่ง ภิกษุใดรับนิมนต์แล้ว มีภัตตาหารอยู่แล้ว ไม่บอกลาภิกษุซึ่งมีอยู่เที่ยวไปในตระกูลทั้งหลายก่อนฉันก็ดี หลังฉันก็ดี เป็นปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่สมัย สมัยในเรื่องนั้นดังนี้คือ คราวที่เป็นฤดูถวายจีวร คราวที่ทำจีวร นี้เป็นสมัยในเรื่องนั้น”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุรับนิมนต์ด้วยโภชนะทั้ง ๕ แล้ว จะไปในที่อื่น จากที่นิมนต์นั้น ในวลาก่อนฉันก็ดีฉันกลับมาแล้วก็ดีต้องลาภิกษุที่มีอยู่ในวัดก่อนจึงจะไปได้ถ้าไม่ลาก่อนเที่ยวไป ต้องปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่สมัย คือจีวรกาล และทำจีวร”

อธิบายความโดยย่อ
          คำว่า มีภัตตาหารอยู่แล้ว คือ มีอาหารที่รับนิมนต์เขาไว้แล้วการปฏิบัติตามสิกขาบทนี้คือเมื่อภิกษุรับนิมนต์ไว้แล้ว ห้ามไม่ให้ไปที่อื่นก่อนเวลาฉันหรือหลังเวลาฉันในที่ที่เขานิมนต์ไว้หากจำเป็นก็สามารถไปได้ แต่ต้องบอกภิกษุในวัดที่รับนิมนต์ด้วยกันก่อนไป เพื่อจะได้รู้ว่าไปไหน จะกลับมาทันฉันในที่นิมนต์หรือไม่ เป็นต้น เว้นไว้แต่ไม่มีภิกษุอื่นอยู่ในวัด

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
          สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันภิกษุผู้รับนิมนต์แล้วทำตัวเลื่อนเปื้อนไปที่อื่นก่อนเวลาฉัน แล้วไปในงานช้าหรือไปที่อื่นเสีย ทำให้ตามตัวไม่พบเมื่อจำเป็นต้องไป ต้องบอกภิกษุที่รับนิมนต์ด้วยกันหรือภิกษุในวัดให้รับรู้จะได้รู้ว่าไปไหน หรือแม้หลังฉันในที่นิมนต์แล้ว ก็ห้ามไปที่อื่นก่อนบอกลา เพื่อป้องกันมิให้ไปที่อื่นโดยไม่มีใครรู้

อนาปัตติวาร
          ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
          (๑) ภิกษุเข้าไปในสมัย 
          (๒) ภิกษุบอกลาภิกษุซึ่งมีอยู่แล้วจึงเข้าไป 
          (๓) ไม่ได้บอกลาภิกษุซึ่งไม่มีอยู่แล้วเข้าไป 
          (๔) เดินทางผ่านเรือนผู้อื่น 
          (๕) เดินทางผ่านชานโดยรอบเรือน 
          (๖) ไปอารามอื่น 
          (๗) ไปสู่ที่อยู่อาศัยภิกษุณี
          (๘) ไปสู่สำนักเดียรถีย์
          (๙) ไปโรงฉัน 
          (๑๐) ไปเรือนที่เขานิมนต์
          (๑๑) ไปเพราะมีอันตราย
          (๑๒) ภิกษุผู้วิกลจริต 
          (๑๓) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทกัมมิกะ ได้แก่ พระอุปนันทศากยบุตร

 

อเจลกวรรค สิกขาบทที่ ๗
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
 
          “ภิกษุมิใช่ผู้อาพาธพึงยินดีการปวารณาด้วยปัจจัยเพียง ๔ เดือน เว้นไว้แต่การปวารณาอีก เว้นไว้แต่การปวารณาเป็นนิจ ถ้าเธอยินดียิ่งกว่านั้น เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ถ้าเขาปวารณาด้วยปัจจัยสี่เพียง ๔ เดือน พึงขอเขาได้ เพียงกำหนดนั้นเท่านั้น ถ้าขอให้เกินกว่ากำหนดนั้นไป ต้องปาจิตตีย์เว้นไว้แต่เขาปวารณาอีก หรือปวารณาเป็นนิตย์”

อธิบายความโดยย่อ
          สิกขาบทนี้ทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้มิได้อาพาธรับปัจจัย ๔ คือจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัช ตามที่เขาปวารณาไว้ได้๔ เดือน เมื่อครบ ๔ เดือนแล้ว หากขอเขาและรับมา ต้องอาบัติเว้นไว้แต่เขาปวารณาซ้ำ ก็ขอเขาต่อได้อีก ๔ เดือน หรือเขาปวารณาเป็นนิจคือตลอดชีวิตก็ขอเขาได้ตลอดชีวิต

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
          สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้ภิกษุรู้จักประมาณ มีความเพียงพอไม่ขอและรับเกินเลยไปมาก

อนาปัตติวาร
          ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
          (๑) ภิกษุขอเภสัชตามที่เขาปวารณาไว้
          (๒) ขอในระยะเวลาตามที่เขาปวารณาไว้
          (๓) บอกขอว่า ท่านปวารณาพวกอาตมาด้วยเภสัชเหล่านี้แต่พวกอาตมาต้องการเภสัชชนิดนี้และชนิดนี้
          (๔) บอกขอว่า ระยะเวลาที่ท่านได้ปวารณาไว้ได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่อาตมายังต้องการเภสัช 
          (๕) ขอต่อญาติ
          (๖) ขอต่อคนปวารณา 
          (๗) ขอเพื่อภิกษุรูปอื่น 
          (๘) ซื้อมาด้วยทรัพย์ของตน 
          (๙) ภิกษุผู้วิกลจริต 
          (๑๐) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์

 

อเจลกวรรค สิกขาบทที่ ๘
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
          “อนึ่ง ภิกษุใดไปเพื่อจะดูกองทัพที่ยกออกไปแล้ว เป็นปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีเหตุที่สมควร”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุไปดูกระบวนทัพที่เขายกไปเพื่อจะรบกัน ต้องปาจิตตีย์เว้นไว้แต่มีเหตุ”

อธิบายความโดยย่อ
          คำว่า กองทัพ หมายถึงกองกำลังทหาร ๔ เหล่า คือกองทหารช้างกองทหารม้ากองทหารรถกองทหารราช หรือเรียกสั้นๆ ว่า กองม้ารถคชพล

          การไปดูกองทัพนั้นหมายถึงการไปดูด้วยความอยากรู้ด้วยความคึกคะนองโดยไม่มีเหตุจำเป็น จึงเป็นอาบัติเว้นแต่มีเหตุอันสมควร เช่น มีทหารในกองทัพที่เป็นญาติเกิดล้มป่วยหรือบาดเจ็บต้องการพบภิกษุอย่างนี้ก็ไปได้หรือในกรณีกองทัพผ่านวัดไป หรือเห็นกองทัพในระหว่างทาง ภิกษุเห็นเข้าโดยไม่จงใจ ไม่เป็นอาบัติหรือภิกษุถูกจับเป็นเชลย จำต้องไปกับกองทัพ ก็ไม่เป็นอาบัติ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
          สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้ภิกษุมีความระมัดระวังในการไปดูกองทัพ เพราะอาจบังคับใจที่ฮึกเหิมคึกคะนองไม่อยู่ แสดงกิริยาอาการไม่เหมาะแก่ภาวะออกมา หรือวิพากษ์วิจารณ์กองทัพในทางไม่เหมาะสม

อนาปัตติวาร
          ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
          (๑) ภิกษุอยู่ในวัดที่มองเห็น 
          (๒) กองทัพยกผ่านมายังสถานที่ภิกษุยืน นั่ง หรือนอน 
          (๓) ภิกษุเดินสวนทางไปเห็นเข้า 
          (๔) มีเหตุที่สมควร 
          (๕) มีอันตราย
          (๖) ภิกษุผู้วิกลจริต 
          (๗) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่พวกภิกษุฉัพพัคคีย์


อเจลกวรรค สิกขาบทที่ ๙
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
          “อนึ่ง ปัจจัยบางอย่างที่จะไปยังกองทัพพึงมีแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นพึงอยู่ในกองทัพได้เพียง ๒-๓ คืน ถ้าอยู่เกินกว่านั้น เป็นปาจิตตีย์”


เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ถ้าเหตุที่ต้องไปมีอยู่ พึงไปอยู่ในกองทัพได้เพียง ๓ คืน ถ้าอยู่ให้เกินกว่ากำหนดนั้น ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
          คำว่า ปัจจัยบางอย่าง หมายถึง เหตุจำเป็น กิจจำเป็นต้องไป เช่น ไปเยี่ยมญาติที่บาดเจ็บที่เขาขอร้อง เมื่อมีเหตุจำเป็นเช่นนี้ก็สามารถพักอยู่ในกองทัพได้เพียง ๓ คืน ถ้าเกินกว่านั้นจึงเป็นอาบัติ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
          สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้ภิกษุไม่ทำตนให้เป็นภาระของทหารที่ตนไปพักด้วยเพราะภาระของทหารในกองทัพมีมากและต้องระมัดระวังตลอดเวลา ไม่อาจเผลอประมาทได้

อนาปัตติวาร
          ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
          (๑) ภิกษุอยู่ ๒-๓ คืน 
          (๒) ภิกษุอยู่ไม่ถึง ๒-๓ คืน 
          (๓) ภิกษุอยู่ ๒ คืนแล้วออกไปก่อนอรุณของคืนที่ ๓ ขึ้นมา แล้วกลับมาอยู่ใหม่ 
          (๔) ภิกษุอาพาธพักแรมอยู่ 
          (๕) ภิกษุอยู่ด้วยกิจธุระของภิกษุอาพาธ 
          (๖) ภิกษุตกอยู่ในกองทัพที่ถูกข้าศึกล้อมไว้
          (๗) ภิกษุมีเหตุบางอย่างขัดขวางไว้
          (๘) มีอันตราย 
          (๙) ภิกษุผู้วิกลจริต
          (๑๐) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์


อเจลกวรรค สิกขาบทที่ ๑๐

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
          “ถ้าภิกษุพักอยู่ในกองทัพ ๒-๓ คืน ไปสนามรบก็ดี ที่พักพลก็ดี ที่จัดขบวนทัพก็ดี ไปดูการรวมพลก็ดี เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ในเวลาที่อยู่ในกองทัพตามกำหนดนั้น ถ้าไปดูเขารบกัน     ก็ดีหรือดูเขาตรวจพลก็ดีดูเขาจัดกระบวนทัพก็ดีดูหมู่     เหล่าเสนาที่จัดเป็นกระบวนแล้วก็ดีต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความและเจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
          สิกขาบทนี้มุ่งให้ภิกษุผู้จำเป็นต้องอยู่ในกองทัพนั้นอยู่เฉพาะในที่พักไม่เดินเพ่นพ่านไปดูที่นั่นที่นี่ด้วยความอยากรู้อยากเห็นซึ่งอาจเป็นอันตรายได้เช่นไปในที่ที่เขากำลังรบกัน และเป็นการไม่งามเมื่อไปปรากฏตัวในขณะที่เขากำลังจัดกระบวนทัพอยู่

อนาปัตติวาร
          ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
          (๑) ภิกษุอยู่ในวัดที่มองเห็น 
          (๒) การรบพุ่งมาปรากฏยังสถานที่ภิกษุยืน นั่ง หรือนอน 
          (๓) ภิกษุเดินสวนทางไปเห็นเข้า 
          (๔) เมื่อมีกิจจำเป็นเดินไปเห็นเข้า 
          (๕)มีอันตราย
          (๖) ภิกษุผู้วิกลจริต
          (๗) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0036948164304097 Mins