ปาราชิก สิกขาบทที่ ๔
คำแปลพระบาลีที่เป็นพระพุทธบัญญัติ
“อนึ่ง ภิกษุใดไม่รู้เฉพาะอยู่ กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมอันเป็นความรู้ความเห็นอย่างประเสริฐอย่างสามารถ น้อมเข้ามาในตนว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้า เห็นอย่างนี้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น อันผู้ใดผู้หนึ่งเชื่อก็ตามไม่เชื่อก็ตาม เป็นอันต้องอาบัติแล้ว มุ่งความหมดจดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะท่าน ข้าพเจ้าไม่รู้อย่างนั้น ได้ กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นอย่างนั้น ได้กล่าวว่าเห็น ได้พูดพล่อยๆ เป็นเท็จ เว้นแต่ได้สำคัญว่าได้บรรลุ แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้”
เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
“ภิกษุอวดอุตตริมนุสสธรรม คือธรรมอันยิ่งของมนุษย์ที่ไม่มีในตน ต้องปาราชิก”
อธิบายความโดยย่อ
คำว่า อุตตริมนุสสธรรม หมายถึง
- ธรรมที่ข้ามพ้นพวกมนุษย์, ธรรมที่ล่วงเลยพวกมนุษย์แล้วทำให้ลุถึงความเป็นพรหม หรือภาวะนิพพาน
- ธรรมของพวกมนุษย์ผู้ยิ่งยวด, ธรรมของพวกคนประเสริฐสุด คือผู้ได้ฌานและผู้เป็นพระอริยบุคคล
- กุศลธรรม คือคุณธรรม ๑๐ ประการ ได้แก่
(๑) ฌาน คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน
(๒) วิโมกข์ คือความหลุดพ้นโดยสิ้นเชิงจากกิเลสทั้งหลายจัดเป็น ๓ คือ สุญญตวิโมกข์อนิมิตตวิโมกข์อัปปณิหิตวิโมกข์
(๓) สมาธิ คือ ภาวะตั้งมั่นสม่ำเสมอในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งจัดเป็น ๓ คือ สุญญตสมาธิอนิมิตตสมาธิอัปปณิหิตสมาธิ
(๔) สมาบัติ แปลว่า ภาวะที่พระอริยบุคคลทั้งหลายพึงเข้าถึงได้หมายถึงคุณวิเศษเป็นที่อันบุคคลเข้าถึง,ธรรมวิเศษที่ควรเข้าถึง,การบรรลุขั้นสูง คือภาวะจิตที่เข้ารูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ หรือภารเข้าสู่ภาวะที่ดับสัญญาและเวทนาของพระอริยบุคคลหรือผู้ที่ได้ฌาน จัดเป็น ๓ ประเภทเหมือนสมาธิ
(๕) ญาณทัสสนะ ได้แก่ วิชชาคือความรู้แจ้งหรือความรู้พิเศษ๓ คือ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ความรู้ที่ให้ระลึกชาติได้) จุตูปปาตญาณ (ความรู้การเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลาย)และอาสวักขยญาณ (ความรู้ที่ทำให้อาสวะสิ้นไป)
(๖) มรรคภาวนา ได้แก่ การเจริญมรรค หมายถึงการบำเพ็ญโพธิปักขิยธรรม (ธรรมอันเป็นฝ่ายแห่งการตรัสรู้) ๓๗ ประการเฉพาะที่เป็นโลกุตตระ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์๕ พละ ๕ โพชฌงค์๗ มรรค ๘
(๗) การทำผลให้แจ่มแจ้ง ได้แก่ การทำโสดาปัตติผลให้แจ่มแจ้ง การทำสกทาคามิผลให้แจ่มแจ้ง การทำอนาคามิผลให้แจ่มแจ้งการทำอรหัตผลให้แจ่มแจ้ง
(๘) การละกิเลส ได้แก่ การละราคะ การละโทสะ การละโมหะ
(๙) ความพรากจิตออกจากกิเลส ได้แก่ ความพรากจิตออกจากราคะ ความพรากจิตออกจากโทสะ ความพรากจิตออกจากโมหะ
(๑๐) ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่า ได้แก่ความยินดีในเรือนอันว่างเปล่าด้วยปฐมฌาน ....ด้วยทุติยฌาน ....ด้วยตติยฌาน ....ด้วยจตุตถฌาน
คำว่า น้อมเข้ามาในตน หมายถึง น้อมกุศลธรรมเหล่านั้นเข้ามาในตน หรือน้อมตนเข้าไปในกุศลธรรมเหล่านั้น โดยแสดงหรือกล่าวว่าตนมีตนเป็น
คำว่า ความรู้ความเห็น ได้แก่วิชชา ๓ มีปุพเพนิวาสานุสสติญาณเป็นต้น
คำว่า กล่าวอวด หมายถึง บอกแก่สตรีหรือบุรุษ แก่คฤหัสถ์หรือบรรพชิต
คำว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ คือข้าพเจ้ารู้ธรรมเหล่านี้ข้าพเจ้าเห็นธรรมเหล่านี้อนึ่ง ธรรมเหล่านี้มีอยู่ในข้าพเจ้า และข้าพเจ้าปรากฏชัดในธรรมเหล่านี้
คำว่า ต้องอาบัติแล้ว หมายถึง ภิกษุมีความอยากอันชั่วช้า ถูกความอยากครอบงำแล้ว พูดอวดอุตตริมนุสสธรรมอันไม่มีจริงอันไม่เป็นจริงย่อมเป็นผู้ต้องอาบัติปาราชิก
คำว่า มุ่งความหมดจด หมายถึงประสงค์จะเป็นคฤหัสถ์หรือประสงค์จะเป็นอุบาสก หรือประสงค์จะเป็นอารามิก(คนทำ งานวัด) หรือประสงค์จะเป็นสามเณร กล่าวคือเมื่อต้องการจะสละภาวะความเป็นภิกษุ
คำว่า ได้พูดพล่อยๆ เป็นเท็จ คือ ข้าพเจ้าพูดพล่อยๆ พูดเท็จ พูดไม่จริง พูดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ข้าพเจ้าไม่รู้ได้พูดไปแล้ว
คำว่า เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ คือ เว้นไว้แต่เข้าใจผิดคิดว่าตัวได้บรรลุ
คำว่า เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้มีนัยดังแสดงมาในสิกขาบทข้างต้น
เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้ภิกษุรู้สึกสำนึกหลีกเลี่ยงไม่ทำ เพราะการอวดอุตตริมนุสสธรรมเป็นการโกหกหลอกลวงให้หลงเชื่อ เป็นความประพฤตินอกทางของบรรพชิตที่มุ่งความสงบและหลุดพ้นจากกิเลสเป็นความปรารถนาผลประโยชน์ส่วนตัวที่ทำให้หลงใหลฟุ้งเฟ้อร่ำไป ไม่มีทางหลุดพ้นได้และเป็นเหตุให้คนฟังหมดความเชื่อถือไปหากเขาจับได้และรู้ความจริงว่าเป็นการโกหก แม้จะเป็นจริงอยู่บ้าง ถ้าเขาไม่เชื่อก็หาสาระอะไรไม่ได้ไม่เกิดประโยชน์อะไรแก่ไคร
เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุโอ้อวดหรือแสดงว่าได้บรรลุคุณวิเศษอันไม่มีในตน ด้วยปรารถนาต้องการให้ชาวโลกทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตสักการะ เคารพ บูชา นับถือ นอบน้อม แล้วบำรุงด้วยจีวรบ้าง ด้วยบิณฑบาตบ้าง ด้วยเสนาสนะบ้าง ด้วยคิลานเภสัชบ้าง จัดว่าเป็นการโกหกหลอกลวงชาวบ้านอย่างแนบเนียน
ท่านกล่าวว่าภิกษุผู้อวดอุตตริมนุสสธรรมเช่นนี้เป็นมหาโจรอันดับหนึ่งในโลก เพราะบริโภคก้อนข้าวของราษฎรด้วยอาการแห่งขโมย
โทษของการอวดคุณพิเศษที่ไม่มีในตนของภิกษุนั้นมีมากและร้ายแรง คือ
- เป็นเหตุทำให้เสื่อมความศรัทธาเลื่อมใสแก่บุคคลผู้ศรัทธาเลื่อมใส
- เป็นเหตุให้ชื่อว่าเป็นโจรปล้นศาสนา เป็นมหาโจรอันดับต้น
- เป็นหตุให้พระศาสนาเสื่อมลงและอันตรธานไปในที่สุด
ด้วยเหตุนี้การอวดอุตตริมนุสสธรรมแม้เพียงเล็กน้อย ก็ต้องอาบัติปาราชิกได้แล้ว เว้นไว้แต่จะสำคัญผิดว่าตนได้บรรลุแล้วเท่านั้น คือภิกษุบางรูปคร่ำเคร่งอยู่กับการปฏิบัติธรรมจนจิตอ่อนโยน มั่นคงไม่หวั่นไหวก็เข้าใจว่าตนได้บรรลุฌานแล้วได้เข้าถึงสมาบัติแล้ว ทั้งที่จิตสงบหยุดนิ่งได้เป็นบางขณะเท่านั้น จึงได้บอกให้คนอื่นรู้เมื่อบอกให้คนอื่นรู้ก็ชื่อว่าอวดเหมือนกัน แต่อวดเพราะเข้าใจผิด จึงไม่ต้องอาบัติถึงที่สุดคือปาราชิก
ลักษณะของการอวดที่เป็นอาบัติ
(๑) พูดอวดตรงๆ คือพูดให้ผู้ฟังเข้าใจใจความว่าตนได้บรรลุคุณวิเศษหรือได้บรรลุธรรมชั้นนั้นชั้นนี้แล้ว ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าตนไม่ได้บรรลุธรรมเช่นนั้นจริง เมื่อพูดอวดตรงๆ อย่างนี้และผู้ฟังเข้าใจเนื้อความได้ตามนั้น เป็นปาราชิก
(๒) ถ้าพูดอวดอย่างนั้น แต่ผู้ฟังไม่เข้าใจเนื้อความตามที่พูด เป็นถุลลัจจัย
(๓) พูดอวดโดยปริยายคือโดยอ้อม เช่นภิกษุพูดอวดภิกษุอื่นว่าผู้ที่ดูแลโบสถ์ย่อมได้บรรลุถึงอุตตริมนุสสธรรม ซึ่งหมายถึงตนซึ่งเป็นผู้ดูแลโบสถ์อยู่ เช่นนี้ถ้าผู้ฟังเข้าใจเนื้อความตามที่พูด เป็นอาบัติถุลลัจจัย ถ้าไม่เข้าใจเป็นอาบัติทุกกฏ
เนื่องจากสิกขาบทข้อนี้เป็นสจิตตกะ คือต้องประกอบด้วยเจตนาดังนั้นหากไม่มีเจตนา เช่นพูดไปด้วยสำคัญว่าตนได้บรรลุ หรือพูดไปลอยๆ โดยไม่ประสงค์จะอวดอ้าง เช่นนี้ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ในพระวินัยปิฎก ท่านได้แสดงอนาปัตติวารคือข้อยกเว้นสำหรับภิกษุที่ไม่ต้องอาบัติปาราชิกตามสิกขาบทนี้ไว้๖ ประเภท คือ
(๑) ภิกษุผู้สำคัญผิดว่าได้บรรลุ
(๒) ภิกษุผู้ไม่ประสงค์จะกล่าวอวด คือบอกเล่าแก่เพื่อนภิกษุโดยไม่ประสงค์จะได้ลาภเป็นต้น
(๓) ภิกษุผู้วิกลจริต คือภิกษุบ้า
(๔) ภิกษุผู้มีจิตฟุ้งซ่าน คือภิกษุผู้มีจิตไม่สงบ พล่านไป ซัดส่ายไปควบคุมตัวเองไม่ได้
(๕) ภิกษุผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา คือภิกษุผู้เร่าร้อนใจทนนิ่งเป็นปกติอยู่ไม่ได้
(๖) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ หรือผู้เป็นอาทิกัมมิกะ ได้แก่พวกภิกษุชาวริมฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา
วินีตวัตถุ
วินีตวัตถุ ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องด้วยสิกขาบทนี้ และพระพุทธองค์ทรงตัดสินแล้วว่าเป็นอาบัติหรือไม่เป็นอาบัติมีมากเรื่องด้วยกันขอแสดงเป็นบางเรื่องเพื่อเป็นตัวอย่างดังนี้
- ภิกษุรูปหนึ่งอวดอ้างคุณวิเศษว่ามีในตนด้วยสำคัญว่าตนได้บรรลุคุณวิเศษนั้นแล้ว ทรงตัดสินว่า ไม่ต้องอาบัติเพราะสำคัญว่าได้บรรลุ
- ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ป่าด้วยตั้งใจว่าผู้คนจักได้ยกย่องนับถือด้วยการทำอย่างนี้ซึ่งผู้คนก็ได้ยกย่องนับถือจริง ทรงตัดสินว่าไม่ต้องอาบัติปาราชิกและตรัสว่า
“ภิกษุไม่พึงอยู่ป่าด้วยตั้งใจเช่นนั้น รูปใดอยู่ป่าด้วย ตั้งใจเช่นนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ”
- ภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวกะภิกษุอีกรูปหนึ่งว่า พวกภิกษุสัทธิวิหาริกของพระอุปัชฌาย์ของพวกเราล้วนเป็นพระอรหันต์ทรงตัดสินว่า แม้ประสงค์จะพูดอวด ก็ไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย
- ภิกษุรูปหนึ่งเดินจงกรมอย่างแน่วแน่ด้วยตั้งใจว่าผู้คนจักได้ยกย่องนับถือเราด้วยการทำอย่างนี้ซึ่งผู้คนก็ได้ยกย่องนับถือจริง ทรงตัดสินว่า ไม่ต้องอาบัติปาราชิก และตรัสว่า
“ภิกษุไม่พึงเดินจงกรมด้วยตั้งใจเช่นนั้น รูปใดเดินจงกรมด้วยตั้งใจเช่นนั้น ต้องอาบัติทุกกฎ”
- ภิกษุรูปหนึ่งพูดอวดอุตตริมนุสสธรรมแก่ภิกษุรูปหนึ่งแม้ภิกษุนั้นก็พูดอวดว่าตนก็ละสังโยชน์ได้แล้วอย่างนั้นเหมือนกัน ทรงตัดสินว่าต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
- ภิกษุรูปหนึ่งพูดกะอุบาสกคนหนึ่งว่า ภิกษูผู้อยู่ในวิหารของท่านนั้นเป็นพระอรหันต์และเธอก็อยู่ในวิหารของอุบาสกนั้น เมื่อทรงไต่ถามภิกษุนั้นว่าคิดอย่างไร ได้กราบทูลว่ามีความประสงค์จะพูดอวด ทรงตัดสินว่า ไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย
- ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ ถูกภิกษุทั้งหลายถามว่ามีอุตตริมนุสสธรรมหรือ ได้ตอบว่า การทำอรหัตผลให้แจ้งไม่ใช่ของทำได้ยาก เมื่อทรงไต่ถามภิกษุนั้นว่าคิดอย่างไร ได้กราบทูลว่าไม่มีความประสงค์จะพูดอวด ทรงตัดสินว่า ภิกษุไม่มีความประสงค์จะพูดอวด ไม่ต้องอาบัติ
- ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ ภิกษุทั้งหลายได้กล่าวกะเธอว่าอย่าได้กลัวไปเลย ได้ตอบว่าสำหรับตนไม่กลัวต่อความตาย ทรงไต่ถามภิกษุนั้นว่าคิดอย่างไร ได้กราบทูลว่ามิได้มีความประสงค์จะพูดอวด ทรงตัดสินว่า ภิกษุไม่มีความประสงค์จะพูดอวด ไม่ต้องอาบัติ
- ภิกษุหลายรูปได้รับนิมนต์ของพราหมณ์คนหนึ่งไว้เมื่อไปถึงบ้านพราหมณ์กล่าวว่า นิมนต์พระอรหันต์เข้ามาเถิด จึงเกิดความไม่สบายใจว่าพวกตนไม่ได้เป็นพระอรหันต์แต่พราหมณ์มาเรียกว่าเป็นพระอรหันต์จะปฏิบัติอย่างไรดีทรงตัดสินว่า ไม่ต้องอาบัติในเพราะคำกล่าวด้วยความเลื่อมใส
- ภิกษุหลายรูปจำพรรษากันอยู่ในอาวาสแห่งหนึ่งตั้งกติกากันไว้ว่าภิกษุใดหลีกไปจากอาวาสนี้ก่อน พวกเราจักเข้าใจภิกษุนั้นว่าเป็นพระอรหันต์ภิกษุรูปหนึ่งหลีกไปจากอาวาสนั้นก่อนด้วยตั้งใจว่าภิกษุทั้งหลายจะได้เข้าใจว่าเราเป็นพระอรหันต์ทรงตัดสินว่า ต้องอาบัติปาราชิกแล้ววินีตวัตถุในสิกขาบทนี้ที่ท่านบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกยังมีอีกมากเรื่อง เมื่อสนใจพึงค้นหามาอ่านเถิด