ปัตตวรรค หมวดว่าด้วยบาตร
ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๑
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
“พึงเก็บอติเรกบาตรไว้ได้ ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง เมื่อให้เกินกำหนดนั้นไป เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”
เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
“บาตรนอกจากบาตรอธิษฐานเรียกอติเรกบาตรอติเรกบาตรนั้นภิกษุเก็บไว้ได้เพียง ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง ถ้าให้ล่วง ๑๐ วันไป ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์”
อธิบายความโดยย่อ
คำว่า บาตร ได้แก่ บาตร ๒ ชนิดคือ บาตรเหล็ก ๑ บาตรดินเผา ๑
บาตร มี ๓ ขนาด คือ
- บาตรขนาดใหญ่ จุข้าวสุกจากข้าวสารได้๒ ทะนาน ของเคี้ยวหนึ่งในสี่ของข้าวสุก และกับข้าวพอสมควรแก่ข้าวสุกนั้น (จุข้าวสุกกินได้๑๐ คน)
- บาตรขนาดกลาง จุข้าวสุกจากข้าวสารได้๑ ทะนาน ของเคี้ยวหนึ่งในสี่ของข้าวสุกและกับข้าวพอสมควรแก่ข้าวสุกนั้น (จุข้าวสุกกินได้๕ คน)
- บาตรขนาดเล็ก จุข้าวสุกจากข้าวสารได้๑ กอบ ของเคี้ยวหนึ่งในสี่ของข้าวสุกและกับข้าวพอสมควรแก่ข้าวสุกนั้น (จุข้าวสุก ๒ คนกินเหลือ ๓ คนกินไม่พอ)
คำว่า อติเรกบาตร หมายถึงบาตรที่ยังไม่ได้อธิษฐาน ยังไม่ได้วิกัป (คำว่า อธิษฐานและวิกัป พึงดูในจีวรวรรค สิกขาบทที่ ๑)
เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้
สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้ภิกษุมีความประหยัดในการใช้บาตรได้เพียงใบเดียว ไม่มีนิสัยมักง่ายปล่อยทิ้งบาตรให้ชำรุดเสียหายโดยง่าย และไม่ต้องมีภาระหอบหิ้วบริขารในการจาริกไปในที่ต่างๆ แต่ก็ทรงผ่อนผันให้รับและใช้สอยได้ในเวลาจำกัดด้วยทรงเห็นความจำเป็นบางกรณีเช่นกรณีบาตรหาย บาตรแตก เป็นต้น
อนาปัตติวาร
ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ
(๑) ภิกษุอธิษฐานภายใน ๑๐ วัน
(๒) ภิกษุวิกัปไว้ภายใน ๑๐ วัน
(๓) ภิกษุสละให้ไป
(๔) บาตรหายไป
(๕) บาตรฉิบหายไป
(๖) บาตรแตก
(๗) โจรชิงเอาไป
(๘) ภิกษุผู้วิกลจริต
(๙) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์