วิธีการบัญญัติพระวินัย

วันที่ 23 ตค. พ.ศ.2564

วิธีการบัญญัติพระวินัย

วิธีการบัญญัติพระวินัย

         พระพุทธองค์มิได้ทรงบัญญัติพระวินัยไว้ล่วงหน้าว่าห้ามทำอย่างนั้น ห้ามปฏิบัติอย่างนี้เมื่อทำแล้วจะมีโทษอย่างนั้นอย่างนี้ต่อเมื่อมีเหตุเกิดขึ้นคือ มีภิกษุหรือภิกษุณีไปประพฤติอย่างนั้นอย่างนี้เข้า ผู้คนทั่วไปเห็นแล้วพากันตำหนิโพนทะนาว่าไม่เหมาะไม่ควรจึงนำมากราบทูลพระพุทธองค์พระพุทธองค์ ทรงเห็นพ้องด้วยจึงทรงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์แล้วทรงสอบถามด้วยพระองค์ เอง เมื่อได้ความจริงก็ทรงตำหนิแล้วชี้โทษแห่งการประพฤติเสียหายเช่นนั้นว่า ไม่ควรทำไม่ควรประพฤติทั้งตรัสอานิสงส์แห่งการสำรวมระวังจากนั้นจึงทรง บัญญัติเป็นสิกขาบทไว้เป็นบรรทัดฐาน พร้อมทั้งกำหนดโทษหนักเบาตามความ ผิดกำกับไว้ด้วย ซึ่งเรียกโทษนั้นว่า อาบัติ

        ต่อมาสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้แล้วนั้นๆ ตึงเกินไปจนภิกษุทั้งหลาย เกิดอาการกลัวจะปฏิบัติผิดบ้าง หย่อนเกินไปจนมีผู้หลบเลี่ยงล่วงละเมิดบ้าง จึงทรงบัญญัติเพิ่มเติมสิกขาบทนั้นๆเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป พระบัญญัติที่ทรงเพิ่มเติมเช่นนี้เรียกว่า อนุบัญญัติ ซึ่งมีปรากฏรวมอยู่สิกขาบทข้อนั้นๆ

         สรุปแล้ว การบัญญัติพระวินัยมีจุดเริ่มต้นดังนี้

         -     มิได้ทรงบัญญัติไว้ล่วงหน้า เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุล่วงละเมิดเหมือนการบัญญัติกฎหมาย ซึ่งตราเป็นข้อบัญญัติไว้ล่วงหน้า โดยยังไม่มีผู้ล่วงละเมิดก่อนเป็นหลัก

         -     เมื่อมีเหตุการณ์ที่ภิกษุไปทำสิ่งที่ชาวบ้านไม่ชอบ ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะ ไม่ควร หรือทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนเกิดขึ้น ชาวบ้านไปฟ้องร้องพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงประชุมสงฆ์เพื่อรับทราบข้อมูลรายละเอียดของเรื่อง

         -     ทรงไต่สวนไล่เลียงพระที่ทำเช่นนั้น เมื่อทรงเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะไม่ควรจริง ทรงแสดงโทษแห่งการกระทำ และทรงแสดงประโยชน์ของการสำรวมระวังไม่กระทำเช่นนั้นต่อไป

         -     ทรงบัญญัติเป็นข้อห้ามในเรื่องเช่นนั้นไว้เรียกว่าบัญญัติพระวินัยและมีบทลงโทษหนักบ้างเบาบ้าง ซึ่งเรียกว่า อาบัติ

         -     เมื่อทรงบัญญัติไว้แล้ว ต่อมาเป็นข้อปฏิบัติที่ตึงเกินไป ปฏิบัติได้ยาก หรือหย่อนเกินไป ทำให้ล่วงละเมิดโดยง่าย ก็ทรงบัญญัติข้อความเพิ่มเติม แต่มิได้ยกเลิกบทบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว

         พระวินัยที่ทรงบัญญัติไว้ในลักษณะนี้ มีชื่อเรียกเป็น ๒ อย่างคือ มูลบัญญัติ กับ อนุบัญญัติ

         - มูลบัญญัติ คือ ข้อบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แต่เดิม เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น
         - อนุบัญญัติ คือ ข้อบัญญัติที่ทรงบัญญัติเพิ่มเติมในภายหลัง

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012629667917887 Mins