ศีล 5 คืออะไร

วันที่ 16 มีค. พ.ศ.2566

ศีล 5 คืออะไร

ศีล 5 คืออะไร

       ศีล แปลว่า ปกติ เป็นวินัยทางธรรมเบื้องต้นของมนุษย์ ศีล ๕ เป็นวินัยทางธรรมเบื้องต้น ๕ ประการของฆราวาส
       สิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม จะต้องมีลักษณะปกติของตัวเอง เช่น ปกติของม้าต้องยืน แม้ยามหลับก็ยืนหลับ ไม่มีการนอน ถ้าม้านอนก็เป็นการผิดปกติแสดงว่าม้าป่วย หรือตายแล้วหรือในฤดูฝน ตามปกติจะต้องมีฝนตก แต่ถ้าฝนไม่ตก มีแต่ความแห้งแล้ง ย่อมแสดงว่าผิดปกติดังนี้ เป็นต้น

อะไรคือปกติของคน
       ในทางธรรมได้แบ่งปกติของคนไว้ ๕ ลักษณะด้วยกัน คือ
       ๑. ปกติของคนจะมีอารมณ์ดี มีใจเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย รักตัวเอง รักพ่อแม่ ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงมีไมตรีจิตต่อเพื่อนมนุษย์ทั่วไป มีจิตสงสารผู้ตกทุกข์ได้ยาก ผิดกับสัตว์ส่วนมาก ซึ่งมีนิสัยหงุดหงิดง่าย โกรธง่าย โหดร้าย ดุดัน พร้อมที่จะเอาชีวิตผู้อื่น ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ เช่น พฤติกรรมของสุนัขไม่ว่าคนหรือสัตว์แปลกหน้าผ่านเข้ามา มันถือว่าเป็นศัตรูที่มันพร้อมจะทำร้าย หรือไก่ตัวผู้ พอพบหน้ากันเป็นครั้งแรก มันก็พร้อมที่จะประหัตประหารกัน
        แต่ในบางครั้งก็มีคนที่ผิดปกติคน เพราะไปรับเอาปกติของสัตว์มาไว้ จึงเกิดการกระทำที่ทารุณโหดร้ายต่อกัน เพื่อป้องกันความผิดปกติของคน และให้คนมีเมตตาปรานี สามัคคีต่อกัน เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข จึงเกิดศีลข้อ ๑ ขึ้นมาว่า ปาณาติปาตา เวระมะณี หมายถึง เจตนาเครื่องงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง และใช้คนอื่นให้ฆ่า พูดง่ายๆ ก็คือ รักจะเป็นคนแล้วอย่าฆ่า ถ้าใครฆ่า แสดงว่ากลายเป็นสัตว์ในร่างคนไปแล้ว
      ๒. ปกติของคนจะมีความภาคภูมิใจว่า “ทำกินเอง” ไม่ลักขโมยใครกิน ไม่แย่งหรือเบียดเบียนฉ้อโกงทรัพย์สินของผู้อื่นมาเป็นของตน ผิดกับสัตว์ชอบลักขโมยเขากิน ชอบแย่งกันกิน ดังจะเห็นจากการแย่งอาหารระหว่างพวกสุนัข เป็ด ไก่ เป็นต้น
      แต่ในบางครั้งก็มีคนที่ผิดปกติ เพราะไปรับเอาปกติของสัตว์มาไว้แทนที่จะทำมาหากินโดยบริสุทธิ์ กลับประกอบมิจฉาชีพในรูปแบบต่างๆ เรามีความหวงแหนในทรัพย์สมบัติของเราฉันใด ผู้อื่นย่อมหวงแหนในทรัพย์สมบัติของตนฉันนั้น
       เพื่อป้องกันความผิดปกติของคนไม่ให้แย่งกันกิน โกงกันกินลักขโมยกันกิน คือ ไม่เบียดเบียนชึ่งกันและกัน เพื่ออยู่ร่วมกันโดยสันติสุข และเพื่อมิให้มีการสร้างเวรต่อกันและกัน จึงเกิดศีลข้อที่ ๒ ขึ้นมาว่า อทินนาทานา เวระมะณี หมายถึง เจตนาเครื่องงดเว้นจากการลักทรัพย์ด้วยตนเอง และใช้คนอื่นให้ลัก หรือพูดง่ายๆ ว่ารักจะเป็นคนแล้วอย่าโกงใครทั้งสิ้น
      ๓. ปกติของคนจะต้องข่มความรู้สึกด้วยมโนธรรมเมื่อมีความรู้สึกทางเพศเกิดขึ้น ปกติของคนแล้วจะไม่แย่งคู่ครองของใครพอใจเฉพาะคู่ครองของตนเท่านั้น ผิดกับสัตว์ซึ่งไม่รู้จักหักห้ามใจให้พอใจเฉพาะคู่ของตน ในฤดูสัตว์ผสมพันธุ์ จึงมีการต่อสู้แย่งชิงตัวเมียกัน บางครั้งถึงกับต่อสู้กันจนตายไปข้างหนึ่งก็มี
       แต่ในบางคราวก็มีคนที่ผิดปกติ เพราะไปรับเอาปกติของสัตว์มาไว้ แทนที่จะพอใจเฉพาะคู่ครองของตน กลับประพฤติผิดทางเพศ ทำให้เกิดปัญหาเดือดร้อนวุ่นวาย บางรายถึงกับฆ่ากันตาย ดังที่เป็นข่าวอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์เสมอๆ เพื่อป้องกันความผิดปกติของคน ไม่ให้ประพฤติผิดในเรื่องชู้สาว เพื่อป้องกันความประพฤติเลวทรามแบบสัตว์ดิรัจฉาน จึงเกิดศีลข้อที่ ๓ ขึ้นมาว่า กาเมสุมิจฉาจารา เวระมณี หมายถึง เจตนาเครื่องงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม หรือพูดง่ายๆ ว่า รักจะเป็นคนเต็มคน ก็อย่าทำผิดทางเพศ (สัตว์บางตัวพอใจเฉพาะคู่ครองของมันจนตลอดชีวิต เช่น นกบางชนิด สัตว์พวกนี้แสดงว่าจิตใจของมันได้พัฒนาสูงมากแล้ว ใกล้จะกลับมาเกิดเป็นคนใหม่ในอีกไม่กี่ชาตินัก)

      ๔. ปกติของคนจะพูดกันตรงไปตรงมา มีความจริงใจต่อกัน ผิดกับปกติของสัตว์ซึ่งไม่มีความจริงใจต่อใครนัก ชอบใช้เสียงรังแกกัน ก่อความรำคาญให้แก่กัน หรือใช้เสียงหลอกกัน
       แต่ก็มีคนบางคนที่ผิดปกติคน ชอบพูดโกหก หลอกลวงขาดความจริงใจต่อกัน
       เพื่อป้องกันความผิดปกติของคน ไม่ให้พูดเท็จ เพราะเป็นการทำลายคุณค่าของตนเอง และเพื่อให้คนเราชื่อสัตย์สุจริตต่อกัน อยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจอันดีจึงเกิดศีลข้อที่ ๔ ขึ้นมาว่า มุสาวาทา เวระมะณี หมายถึง เจตนาเครื่องงดเว้นจากการพูดปด พูดส่อเสียดบิดเบือนความจริงให้คนอื่นหลงเชื่อ หรือพูดง่ายๆ ว่า รักจะเป็นคนต้องพูดกันตรงไปตรงมา

       ๕. ปกติของคนย่อมมีสติมั่นคง แล้วอาศัยสตินั้นเปลี่ยนแปลงกำลังกาย หรือกำลังกล้ามเนื้อ ให้เป็นกำลังความดีได้ผิดกับสัตว์ ซึ่งแม้จะมีกำลังกล้ามเนื้อมากกว่ามนุษย์หลายสิบหลายร้อยเท่าแต่กำลังกล้ามเนื้อนั้น ก็ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นกำลังความดีได้ เพราะขาดสติ สัตว์บางชนิดยิ่งมีกำลังมากเท่าใด ก็ยิ่งมีความป่าเถื่อนตามอารมณ์มากขึ้นเท่านั้น
       สติเป็นของแปลก บทจะเหนียวก็เหนียวอย่างน่าอัศจรรย์ เช่น คนที่อดอาหารทั้งวันสติก็ยังดี ทำงานทั้งคืนไม่ได้พักสติก็ยังดี นอนป่วยในโรงพยาบาลทั้งปีสติก็ยังดี แต่บทจะเปื่อย สติก็เปื่อยอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น คนดื่มสุรา หรือเสพยาเสพติด จะขาดสติ ยิ่งเสพสุรามากยิ่งขาดสติมาก เมื่อขาดสติ กำลังความดีก็หย่อนลงไปมาก จึงใกล้ความเป็นสัตว์เข้าไปมาก บางคนถึงกับลืมตัวทำร้ายผู้มีพระคุณได้ หรือทำความชั่วอย่างอื่นได้อีกมากมาย สร้างความปั่นป่วนให้เกิดขึ้นในสังคม
       เพื่อรักษาสติ รักษากำลังความดีไว้ จึงเกิดศีลข้อที่ ๕ ขึ้นมาว่า สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี หมายถึง เจตนาเครื่องงดเว้นจากการดื่มนํ้าเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท หรือพูดง่ายๆ ว่า รักจะเป็นคนเต็มคน อย่าไปดื่มสุรายาเมาหรือติดยาเสพติดให้โทษ
       จากคำถามที่ว่าศีล ๕ คืออะไร เราก็คงจะได้คำตอบแล้วว่า ศีล ๕ คือ ปกติของมนุษย์ ซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำสุด หรือเป็นวินัยทางธรรมเบื้องต้น ๕ ประการ ซึ่งจะควบคุมมนุษย์ให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขพอสมควร ถ้ามีใครคนใดคนหนึ่งขาดศีลข้อใดข้อหนึ่ง ก็จะแสดงพฤติกรรมที่ผิดปกติมนุษย์ เป็นพฤติกรรมที่เป็นปกติของสัตว์ ซึ่งทั้งนี้ ย่อมก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายขึ้นในหมู่คณะ ในสังคม ในประเทศ หรือแม้แต่ในโลกได้

 

 

บทความจากหนังสือ ศีลคุณค่าของความเป็นมนุษย์
หนังสือธรรมะแจกฟรี ดาวน์โหลดหนังสือเล่มนี้ (ไฟล์ PDF) กดที่นี่ 

ชื่อหนังสือ ศีลคุณค่าของความเป็นมนุษย์

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.035740602016449 Mins