การบรรพชาเป็นสิ่งประเสริฐ

วันที่ 26 มีค. พ.ศ.2566

การบรรพชาเป็นสิ่งประเสริฐ

การบรรพชาเป็นสิ่งประเสริฐ

       พรหมจรรย์ คือ การกลั่นกาย วาจา และใจของตนเองให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ และปัญญา สำหรับคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนจะประพฤติตนให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ตลอดชีวิต ดุจสังข์ที่ขัดดีแล้วย่อมทําได้ยาก

       สาเหตุที่อุปมาอย่างนี้ เพราะหอยสังข์เมื่อเก็บมาจากทะเลจะเต็มไปด้วยเศษดิน เศษทราย ตัวเพรียง รวมถึงคราบสกปรกต่าง ๆ ที่ฝังแน่น การกำจัดสิ่งสกปรกเหล่านี้ต้องผ่านกรรมวิธีขัดทำความสะอาด โดยช่างที่มีความชำนาญและใช้เวลาค่อนข้างมากกว่าจะได้หอยสังข์ที่ขาวสะอาดปราศจากมลทิน ขึ้นเงางดงามสามารถนํามาใช้ในงานมงคลต่าง ๆ ได้นั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

       ดังนั้น ชีวิตฆราวาสที่มีภารกิจการงานมากมาย จะควบคุมกาย วาจา และใจให้บริสุทธิ์ ปราศจากมลทิน ดุจสังข์ที่ขัดดีแล้วย่อมทำได้ยาก การออกจากเรือนบวชเป็นพระภิกษุจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ต้องการขจัดกิเลสให้หมดไปจากใจ

       บัณฑิตทั้งหลายในกาลก่อน เมื่อพิจารณาเห็นคุณของการบรรพชาแล้ว จึงกล่าวว่า

       “ด้วยวิธีอย่างไร ๆ เราจึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว อันบุคคลที่ยังครองเรือนอยู่ จะประพฤติพรหมจรรย์นี้ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่ขัดแล้ว ทำไม่ได้ง่าย ไฉนหนอเราพึงปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ...

       ข้าพระพุทธเจ้าปรารถนาจะปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
       บรรพชิตนั้นมีความหมายว่า ผู้มีบรรพชาเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งคําว่า บรรพชา มาจากคําบาลีว่า ปพฺพชา หรือ ปพพ ชา ภาษาไทยใช้ว่า บวช (ป = ทั่ว, ข้างหน้า, ออก + วช = ไป, แสวงหา หรือ ป = ทั่วถึง, สิ้นเชิง + วชฺช = ละเว้น) ดังนั้นการบวชจึงมีความหมาย ๒ นัย คือ ๑) การออกไปจากการครองเรือนเพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง และ ๒) การละวิสัยชาวโลกโดยสิ้นเชิง

       วิสัยชาวโลกจะยินดีในทรัพย์ ผูกพันกังวลด้วยเรื่องญาติใช้จ่ายทรัพย์เพื่อบำรุงบำเรอตน และมีอาการกาย วาจา ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดที่คึกคะนอง ข้องด้วยกามและการเบียดเบียนการละวิสัยชาวโลกโดยสิ้นเชิงจึงหมายถึง การละความยินดีอย่างสิ้นเชิงในเรื่องต่อไปนี้ คือ ๑) ละทรัพย์สมบัติ ๒) ละวงศ์ญาติ ๓) ละการใช้ปัจจัยสี่อย่างฆราวาส ๔) ละอาการทางกายวาจาอย่างฆราวาส และ ๕) ละความรู้สึกนึกคิดอย่างฆราวาส ขยายความแต่ละข้อได้ดังนี้

       ๑. ละทรัพย์สมบัติ
       ยอมรับการดาเนินชีวิตแบบไร้ทรัพย์ เป็นอิสระจากการจัดหาและบริหารทรัพย์ รับเพียงสิ่งที่ผู้มีศรัทธามอบให้ จึงไร้กังวลและไม่มีความห่วงในทรัพย์อีกต่อไป การใช้ชีวิตอย่างนี้จึงบังคับให้ต้องศึกษาธรรมะ เป็นนักเรียนทางธรรมในพระพุทธศาสนา มุ่งฝึกฝนอบรมตนให้เป็นผู้รู้ประมาณ น่าเลื่อมใสศรัทธา และเป็นที่น่าเคารพในฐานะครูผู้สอนศีลธรรมให้กับชาวโลก

       ๒. ละวงศ์ญาติ
       สละความเกี่ยวข้องผูกพันกันระหว่างบุคคลในครอบครัวเครือญาติ ไม่ต้องดูแลเรื่องปากท้องกันอย่างชาวโลก เมื่อไม่มีความห่วงพะวงในบุตร ภรรยา และญาติมิตร จึงรู้สึกเป็นอิสระปลอดโปร่ง เหมาะแก่การศึกษาและประพฤติธรรม เมื่อใจไม่มีใครให้กังวลถึงแล้ว เวลาเจริญสมาธิภาวนาก็จะมีแต่องค์พระและธรรมะลอยเด่นอยู่ในใจ เหมือนดวงจันทร์ในคืนวันเพ็ญลอยเด่นอยู่กลางท้องฟ้า

       ๓. ละการใช้ปัจจัยสี่อย่างฆราวาส
       เครื่องนุ่งห่ม ผ้าไตรจีวรของพระภิกษุ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย กันอาย ไม่ยั่วกาม ไม่ตามแฟชั่น เว้นจากการประกวดประชันทุกอย่าง
       อาหาร ไม่มุ่งเอาความเอร็ดอร่อย เน้นกินแค่กันตาย เพื่อประคับประคองร่างกายให้สร้างความดีต่อไปได้
       ที่อยู่อาศัย เน้นเพื่อป้องกันความหนาว ความร้อน สัตว์ที่จะมารบกวน กันอาย ไม่เน้นความโออ่าหรูหราสะดวกสบาย
       ยารักษาโรค เน้นรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ไม่เน้นการปรุงแต่งร่างกายให้สวยงาม
       สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ไม่เน้นความโออ่าหรูหรา ไม่โอ้อวดใคร ใช้อย่างระมัดระวังและคุ้มค่า
       การมีชีวิตอยู่ มีเป้าหมายเพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรมให้หมดทุกข์ หมดโง่ และหมดกลัว

       ๔.ละอาการทางกายวาจาอย่างฆราวาส
       ทางกาย ให้ละอย่างเด็ดขาดจากท่าทางนักเลง เลิกบู๊ล้างผลาญ เลิกเจ้าชู้
       ทางวาจา ให้ละขาดจากการพูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียดพูดเพ้อเจ้อ โอ้อวด ไร้ประโยชน์
       การละอาการทางกายและวาจาอย่างนี้ จะทำให้มีแต่มิตรไม่มีศัตรู หมดเวร หมดภัยในทุกที่ทุกสถาน

       ๕. ละความรู้สึกนึกคิดอย่างฆราวาส
       ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน คิดไปในเรื่องเพศเรื่องกาม คิดล้างผลาญ คิดเบียดเบียน เป็นต้น บุคคลผู้ละเพศฆราวาสมาบวชเป็นสมณะในพระพุทธศาสนาแล้ว ควรทำสมณสัญญาให้เกิดขึ้นในใจอย่างต่อเนื่องจนติดเป็นนิสัย จะทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท มุ่งปรารภความเพียรเพื่อกำจัดทุกข์อยู่ทุกวันคืน

       ดังนั้น เพื่อให้ละวิสัยชาวโลกดังกล่าวได้ ภิกษุควรนำพุทธโอวาทในอภิณหปัจจเวกขณธรรมสูตร ว่าด้วยธรรมที่บรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ ทั้ง ๑๐ ประการมาพิจารณาทุกวันดังนี้

 

วิ.มหา. เรื่องพระสุทินน์ (ไทย.มมร) ๑/๑๐/๓๗๔-๓๗๕

 

 

บทความจากหนังสือ บรรพชิตมหาพิจารณา สำนึกของพระเเท้
ดาวน์โหลดหนังสือเล่มนี้ (ไฟล์ PDF) ได้ที่นี่

บรรพชิตมหาพิจารณา สำนึกของพระเเท้

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012662649154663 Mins