บรรพชิต มีเพศต่างจากคฤหัสถ์โดยสรีระ

วันที่ 27 มีค. พ.ศ.2566

บรรพชิต มีเพศต่างจากคฤหัสถ์โดยสรีระ

บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า

บัดนี้เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว ๆ

อาการกิริยาใด ๆ ของสมณะเราต้องทำอาการกิริยานั้น ๆ

บรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ ว่าเราเป็นผู้มีเพศต่างจากคฤหัสถ์

เววณฺณิยมฺหิ อชฺฌูปคโต

      เพศ (วณฺณ) ในที่นี้หมายถึง องค์รวมทางกายภาพที่บุคคลอื่นสามารถมองเห็นได้ นักบวชเป็นผู้มีเพศต่างจากคฤหัสถ์อยู่ ๒ ประการ คือ ความมีเพศต่างโดยสรีระ และความมีเพศต่างโดยบริขาร
      ๑. ความมีเพศต่างจากคฤหัสถ์โดยสรีระ คือ ลักษณะโดยภาพรวมของร่างกายที่มองเห็นได้ว่ามีความแตกต่างจากคฤหัสถ์ ได้แก่ ทรงผม หนวดเครา เล็บ เป็นต้น แต่ไม่ได้หมายถึงมีรูปร่างทางกายหรือมีผิวพรรณผิดไปจากมนุษย์

      ๑.๑ เป็นผู้มีศีรษะโล้น คำว่า ศีรษะโล้น คือ ลักษณะของหัวที่โกนผมออกหมดด้วยมีดโกน รวมถึงการตัดผมให้สั้นจนติดหนังศีรษะด้วยปัตตาเลี่ยน แตกต่างจากศีรษะล้านซึ่งมีสาเหตุมาจากผมร่วงมากหรือร่วงจนหมดศีรษะแล้วไม่สามารถงอกขึ้นใหม่ได้อีกทั้งคนหัวโล้นและหัวล้านอาจไม่ใช่พระภิกษุก็ได้ เพราะคฤหัสถ์บางคนก็โกนผมเช่นกัน แต่ลักษณะที่เห็นเด่นชัดในพระภิกษุประการแรก คือ ต้องมีศีรษะโล้นอันเกิดจากการโกนผมอยู่เสมอ

สาเหตุที่พระภิกษุต้องโกนผม


      สาเหตุที่พระภิกษุต้องโกนผม เพื่อให้หมดความกังวลในการดูแลทรงผมและการบำรุงผมเช่นเดียวกับคฤหัสถ์ เพราะสมัยเป็นคฤหัสถ์อาจจะไว้ทรงผมหลายรูปแบบ บางครั้งไว้ผมสั้นบางครั้งไว้ผมยาว หรือเปลี่ยนทรงผมและสีผมไปตามยุคตามสมัยทำให้ต้องเสียเวลาและทรัพย์เป็นอันมากเพื่อใช้ในการดูแลและบำรุงผม แต่ก็ยังไม่ได้ทรงผมที่ถูกใจตลอดกาลสักที

บรรพชิต มีเพศต่างจากคฤหัสถ์โดยสรีระ


      ดังนั้น พระภิกษุจึงมีผมทรงเดียว คือ ทรงศีรษะโล้นที่ง่ายต่อการดูแลรักษาทําความสะอาด และทำให้สามารถแยกแยะจากความเป็นคฤหัสถ์ได้ ข้อดีอีกประการหนึ่งของการมีศีรษะโล้น คือ ลดความกำหนัดยินดีในกามทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น อีกทั้งเป็นสัญลักษณ์ของการบรรพชา คือการละจากเพศฆราวาส ไม่ยึดติดกับครอบครัวบุคคลอันเป็นที่รัก ทรัพย์สมบัติ ยศ และฐานันดรศักดิ์ต่าง ๆ ที่เคยมีเคยเป็นในอดีต เป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่บริสุทธิ์บริบูรณ์
      อย่างไรก็ตาม คนบางกลุ่มมีความเชื่อว่า การมีศีรษะโล้นนั้นเป็นกาลกิณี ไม่มีวรรณะ ดังตัวอย่างในสมัยพุทธกาล อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ ผู้ถือลัทธิพราหมณ์บูชาไฟและนับถือพระพรหมว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด พราหมณ์นี้ไว้ผมยาวและถือว่าพวกคนหัวโล้นเป็นคนถ่อย คนชั้นต่ำ คนที่ไม่บริสุทธิ์ เป็นคนที่น่ารังเกียจ จะห้ามไม่ให้เข้ามาดูหรือฟังการสาธยายพระเวทและมนตร์ต่าง ๆ ในขณะที่พวกตนทําการบูชาไฟหรือพระพรหม เพราะมีความเชื่อว่าหากให้คนหัวโล้นเข้ามาดูหรือฟังมนตร์ของพราหมณ์จะทำให้ตนมีมลทินไปด้วย

      ต่อมาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเพื่อชี้ให้เห็นความจริงว่า คนถ่อยคือคนเช่นใด มีความประพฤติที่น่ารังเกียจอย่างไรเป็นอเนกปริยาย ในที่สุดอัคคิกภารทวาชพราหมณ์จึงเกิดความเข้าใจถูกว่า คนถ่อยไม่ได้ขึ้นอยู่ว่ามีศีรษะโล้นหรือไม่ แต่เพราะมีความประพฤติทางกาย วาจา และใจที่น่ารังเกียจต่างหาก

      ผู้ที่มีศีรษะโล้นแต่เป็นบุคคลที่ประเสริฐก็มี เป็นบุคคลที่มนุษย์ เทวดา มาร พรหม และสรรพสัตว์ทั้งหลายนอบน้อมบูชาสรรเสริญ เช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระภิกษุผู้เป็นอริยสาวกทั้งหลาย รวมถึงพระภิกษุปุถุชนที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรงต่อพระธรรมวินัย ท่านเหล่านี้คือผู้ที่มีศีรษะโล้นแต่มีความประพฤติสะอาด เป็นผู้ที่สรรพสัตว์ทั้งหลายควรนอบน้อมกราบไหว้บูชาอยู่ทุกเมื่อ

      ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่มีศีรษะโล้นเรียกตนเองว่าเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา แต่ไม่ปฏิบัติวัตร พูดจาเหลาะแหละ โกนหัวโล้นเพราะหวังลาภสักการะ มีความโลภ ยังทำบาปอกุศลอยู่ อย่างนี้ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ ผู้ที่เว้นจากการทำบาปทั้งปวงแล้วจึงชื่อว่าเป็นสมณะ

บรรพชิต มีเพศต่างจากคฤหัสถ์โดยสรีระ

 

      จะเห็นได้ว่า การโกนศีรษะของพระภิกษุในพระพุทธศาสนามีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน คือ เพื่อคลายความกังวลในการดูแลรักษาคลายกำหนัด คลายความผูกพันจากเรื่องราวก่อนบวช ทำให้ลดความคิดฟุ้งซ่าน มีใจผ่องใสได้ง่าย อีกทั้งการโกนศีรษะนี้ไม่ได้ยึดโยงกับความเชื่อใด ๆ และไม่ตั้งตนเป็นศัตรูกับผู้ที่มีความเชื่อแตกต่าง แต่พร้อมอธิบายให้ผู้มีความเห็นต่างเข้าใจเหตุผล และอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข

      ๑.๒ เป็นผู้ไม่มีหนวดเครา ภิกษุต้องโกนหนวดโกนเคราอยู่เสมอ ๆ ไม่ไว้หนวดเครา ไม่ตกแต่งหนวดเคราอย่างคฤหัสถ์ ตอนเป็นคฤหัสถ์อาจจะไว้หนวด แต่งหนวดตามที่เข้าใจว่าดูเท่ ดูงามแต่เมื่อมาบวชแล้วก็ต้องโกนออกให้หมด เหตุผลในการโกนหนวดเคราก็คล้ายคลึงกับการโกนผม ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการตกแต่งดูแลบำรุงรักษา ทําความสะอาดหน้าง่าย ทำให้คลายจากความกําหนัดยินดีในกามทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

      ส่วนเรื่องการโกนคิ้ว มีเฉพาะพระภิกษุในประเทศไทยที่มีการโกนคิ้วด้วย เพราะในอดีตมีผู้ปลอมตัวเป็นพระภิกษุเพื่อหวังลาภสักการะ หรือโจรปลอมตัวเป็นพระภิกษุเพื่อหลบหนีการจับกุมจากเจ้าหน้าที่ โดยโกนผมและห่มจีวร แต่ไม่โกนคิ้ว ทำให้ปลอมตัวกลับไปกลับมาระหว่างพระภิกษุและคฤหัสถ์ได้ง่าย เพียงถอดจีวรเปลี่ยนมาใส่เสื้อผ้า ใส่หมวกหรือโพกหัวก็ดูเป็นคฤหัสถ์แล้วเพราะยังมีคิ้วอยู่ เพื่อแก้ไขปัญหานี้จึงให้พระภิกษุโกนคิ้วออกด้วย

       อีกทั้ง การมีคิ้วทำให้มีความคล้ายกับคฤหัสถ์อยู่ หากต้องการตัดความห่วงกังวลว่าจะดูงามหรือไม่ การโกนคิ้วออกไปเสียก็เป็นการเน้นย้ำว่า จะตัดใจจากทางโลก มุ่งสู่ทางธรรม ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

บรรพชิต มีเพศต่างจากคฤหัสถ์โดยสรีระ

 

       ๑.๓ เป็นผู้มีเล็บมือเล็บเท้าสั้น ภิกษุต้องตัดเล็บมือเล็บเท้าให้สั้นเรียบร้อยเสมอ ไม่ไว้เล็บอย่างคฤหัสถ์ ซึ่งต้องเสียเวลาในการตกแต่งบำรุงดูแลเล็บให้สวยงาม ไม่ให้บิ่นหรือแตกหัก

     นอกจากนี้ การตัดเล็บให้สั้นยังเกี่ยวข้องกับสุขอนามัยที่ดีด้วย เนื่องจากในยุคพุทธกาลนั้น พระภิกษุไม่ได้ฉันภัตตาหารด้วยช้อนส้อมเช่นในปัจจุบัน แต่ฉันด้วยมือเปล่า หากไว้เล็บยาวสิ่งสกปรกอาจติดตามซอกเล็บ เมื่อหยิบจับอาหารเข้าปาก อาจทำให้ท้องเสียได้ และการไว้เล็บสั้นจะทำให้อาหารไม่เข้าไปติดในซอกเล็บขณะฉัน เมื่อฉันเสร็จก็ล้างทำความสะอาดได้ง่าย

     ในปัจจุบัน แม้พระภิกษุส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้มือในการฉันภัตตาหารแล้ว แต่การไว้เล็บยาวก็ทำความสะอาดยากกว่า มีสิ่งสกปรกเข้าไปติดได้ง่ายกว่า หากดูแลไม่ดีอาจเกิดโรคเชื้อราที่เล็บและเกิดอาการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนได้ง่ายกว่าเล็บที่เรียบและสั้นอยู่เสมอ

       ยิ่งไปกว่านั้น การที่พระภิกษุมีเล็บมือเล็บเท้าสั้นเรียบร้อยยามที่หยิบจับสิ่งของ รับประเคนภัตตาหาร หรือขณะพนมมือให้พรเมื่อสาธุชนเห็นเล็บที่ตัดสั้นเรียบร้อยและสะอาด จะทำให้สาธุชนมีความสบายตาและนำพามาซึ่งความสบายใจ ก่อเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาและการฝึกฝนอบรมขัดเกลาตัวเองของพระภิกษุยิ่ง ๆ ขึ้นไป

       การโกนผม โกนหนวดเครา ตัดเล็บให้เรียบร้อย นอกจากจะเป็นการตัดเครื่องกังวลแล้ว ยังเป็นการทำวัตถุภายใน คือ ร่างกายให้ผ่องใสเหมาะแก่การเจริญสมถวิปัสสนา ดังที่แสดงไว้ในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรว่า

       "... ก็เวลาใด ภิกษุมีผม เล็บ และขนยาวเกินไป หรือร่างกายสกปรกเปรอะเปื้อนด้วยเหงื่อและไคล เวลานั้นวัตถุภายในคือร่างกายไม่สละสลวย ไม่สะอาด แต่ในเวลาใด จีวรเก่าคร่ำคร่าสกปรก เหม็นสาบ หรือเสนาสนะรกรุงรัง ในเวลานั้นวัตถุภายนอกไม่สละสลวย ไม่สะอาด เพราะฉะนั้นจึงควรทำวัตถุภายในให้สละสลวย ด้วยกิจมีการปลงผมเป็นต้น

       ... เพราะเมื่อวัตถุภายในและภายนอกนั้นไม่สละสลวยเมื่อจิตและเจตสิกเกิดขึ้น แม้ปัญญาก็ไม่ผ่องแผ้ว เหมือนแสงสว่างของดวงประทีปที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยตัวตะเกียงไส้และน้ำมันที่ไม่สะอาดหมดจดฉะนั้น

       แต่เมื่อวัตถุภายใน คือ ร่างกาย และวัตถุภายนอก คือบริขาร รวมถึงเสนาสนะสะอาดสละสลวย เมื่อจิตและเจตสิกเกิดขึ้นแม้ปัญญาก็ผ่องแผ้ว เหมือนแสงสว่างของดวงประทีปที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยตัวตะเกียง ไส้ และน้ำมัน ที่สะอาดหมดจดฉะนั้นเพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า การทำวัตถุให้สละสลวย ย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์”

      สรุปสาระสำคัญได้ว่า การทำความสะอาดร่างกายและการทำความสะอาดปัจจัยสี่ และสิ่งต่าง ๆ ที่เนื่องด้วยปัจจัยสี่ให้สะอาดเป็นปกติ หรือแม้แต่ก่อนการเจริญภาวนา เป็นเหตุให้เกิดญาณทัสสนะที่บริสุทธิ์ หากไม่ทำอย่างสม่ำเสมอและไม่ทำก่อนเจริญภาวนา ปล่อยให้สกปรกรกรุงรัง จะส่งผลให้ญาณทัสสนะไม่บริสุทธิ์ เห็นผิดจากความเป็นจริง

บรรพชิต มีเพศต่างจากคฤหัสถ์โดยสรีระ
 

__________________________
ข.ส. วสลสูตร (ไทย.มมร) ๔๖/๓๐๕-๓๐๗/๓๒๖-๓๓๑

ขุ.ธ. เรื่องภิกษุชื่อหัตถกะ (ไทย.มมร) ๔๓/๑๙๙/๘๒-๘๓
ที.ม.อ. มหาสติปัฏฐานสูตร (ไทย.มมร) ๑๔/๓๓๓

 

 

บทความจากหนังสือ บรรพชิตมหาพิจารณา สำนึกของพระเเท้
ดาวน์โหลดหนังสือเล่มนี้ (ไฟล์ PDF) ได้ที่นี่

บรรพชิตมหาพิจารณา สำนึกของพระเเท้

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0024373650550842 Mins