บรรพชิต เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งนั้น

วันที่ 07 เมย. พ.ศ.2566

บรรพชิต
ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า
เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งนั้น

บรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ ว่า
เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
สพฺเพหิ เม ปิเยหิ มนาเปหิ นานาภาโว วินาภาโว

บรรพชิต เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งนั้น

      ความพลัดพราก หมายถึง การแยกจากกัน ไม่ได้อยู่ร่วมกันหรือการแปรเป็นอย่างอื่น ไม่คงอยู่ในสภาพเดิมของคน สัตว์ และสิ่งของอันเป็นที่รักที่ชอบใจ หรือแม้แต่สภาพร่างกายของตนเอง
      ความพลัดพรากเกิดขึ้นเพราะมีชาติ คือมีความเกิดเป็นปฐมเหตุ เมื่อเกิดมาใหม่แล้วก็มีรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนเดิม อีกทั้งทุกสิ่งรอบตัวทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต อุปกรณ์เครื่องใช้สอยต่าง ๆ ครอบครัวและสังคมล้วนเปลี่ยนไปทั้งสิ้น สิ่งที่กล่าวมานั้นมีความดีเลว ประณีต และหยาบแตกต่างกันไปตามกรรมที่เราทำไว้ในอดีต (นานาภาโว) แม้ในภพชาติที่เกิดมาแล้ว สิ่งที่เรามี สิ่งที่เราเป็นล้วนเปลี่ยนแปรไปเป็นอื่นได้ตลอดเวลา (อญฺญถาภาโว) แม้แต่ร่างกายของเรา รวมถึงคน สัตว์ สิ่งของที่เรารัก เราอยากจะยึดถือเอาไว้ให้อยู่กับเรา แม้อยากให้คงอยู่ในสภาพเดิมสักเพียงใด สุดท้ายแล้วก็ต้องแยกจากเราไป ตายจากเราไปทั้งนั้น (วินาภาโว)
      ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นโลกธรรมที่ทุกคนบนโลกต้องประสบเป็นธรรมดา ไม่เว้นแม้แต่พระอรหันต์ แต่ที่พระอรหันต์แตกต่างจากปุถุชนและอริยชนที่เหลือ คือแม้จะมีความพลัดพรากแต่ท่านก็ไม่มีทุกข์ เพราะท่านละความยึดมั่นถือมั่นได้แล้ว ผ่านการอบรมสติสัมปชัญญะ ผ่านการพิจารณามาแล้วข้ามภพข้ามชาติ นับภพนับชาติไม่ถ้วน
      ดังนั้น แม้ในขณะนี้เรายังเป็นปุถุชนอยู่ก็ต้องหมั่นพิจารณาเนือง ๆ เช่นเดียวกับพระอรหันต์ทั้งหลาย เพราะเมื่อเราต้องประสบกับการพลัดพรากจะได้บรรเทาทุกข์ได้อย่างรวดเร็ว ดังเช่นกัลยาณปุถุชนผู้ได้ศึกษาฝึกอบรมตนตามคำสอนของพระบรมศาสดาแล้ว
      ของรักของชอบใจ หมายถึง ๑) คน ๒) สัตว์ และ ๓) สิ่งของทั้ง ๓ สิ่งนี้รวมเรียกว่า วัตถุกาม เพราะเป็นสิ่งที่สัมผัสจับต้องได้ที่เรียกว่า วัตถุ เพราะเป็นที่มาของรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสส่วนคำว่า กาม แปลว่า น่าใคร่ น่าชอบใจ
      กิเลส เป็นสิ่งที่สกปรกมาก ฝังลึกอยู่ในใจตั้งแต่เราเกิดเป็นเหตุให้ใจขุ่นหมอง ทำให้รู้วัตถุกาม คือ รู้รูป รู้เสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัสไม่ตรงตามจริง แล้วกิเลสก็ครอบงำใจให้คิดชอบใจในวัตถุกามนั้น ๆ คือชอบของไม่จริงอยู่ร่ำไป
      สาเหตุที่เป็นของรักก็เพราะเกิดความชอบ รู้สึกพอใจ ต้องการได้มาครอบครองด้วยอำนาจกิเลสกาม เมื่อได้ครอบครองสมใจแล้วก็ยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ว่านี่เป็นของเราอย่างเหนียวแน่น เมื่อสิ่งนั้นแปรเปลี่ยนไป พลัดพรากไปจึงเกิดทุกข์ เศร้าโศกเสียใจ เมื่อพลัดพรากสิ่งใดอีกก็เป็นทุกข์อย่างนี้อยู่ร่ำไป
      การยึดถือนี้มีความพลัดพรากเป็นที่สุด ดังที่พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนทเถระไว้ ๓ เดือนก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า
      “เราได้บอกก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่า ความเป็นต่าง ๆ กัน ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่น จากสิ่งของและบุคคลอันเป็นที่รักและที่ชอบใจทั้งหมดนั้นแลมีอยู่ เพราะฉะนั้นจะหาได้ในสิ่งของและบุคคลนั้นแต่ที่ไหน สิ่งใดเกิดแล้ว เป็นแล้ว ปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา ความปรารถนาว่าขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลย นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ก็สิ่งใดที่ตถาคตสละแล้ว คายแล้ว พ้นแล้วละแล้ววางแล้ว อายุสังขารตถาคตปลงแล้ว วาจาที่ตถาคตกล่าวไว้แล้วโดยส่วนเดียวว่า ไม่ช้าตถาคตจักปรินิพพาน จากนี้ล่วงไปสามเดือน ตถาคตจักปรินิพพาน ตถาคตจักกลับคืนสิ่งนั้นเพราะเหตุชีวิตอีก นั้นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้"๓๑
       จากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมให้พระอานนทเถระพิจารณาและคลายความโศกจากการพลัดพรากว่า
      “ดูก่อนอานนท์ อย่าเลย เธออย่าเศร้าโศก อย่าคร่ำครวญไปเลย ดูก่อนอานนท์ ข้อนั้นเราได้บอกไว้ก่อนแล้วมิใช่หรือว่า ความเป็นต่าง ๆ กัน ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่น จากสัตว์สละสังขารอันเป็นที่รักใคร่พอใจทั้งหลายทีเดียวมีอยู่ ดูก่อนนี้จะพึงได้แต่ที่ไหนสิ่งใดที่เกิดแล้ว มีแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความสลายไปเป็นธรรมดา สิ่งนั้นอย่าสลายไปเลย นั้นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ เพราะขันธ์ธาตุ และอายตนะก่อน ๆ แปรปรวนไปเป็นอย่างอื่น ขันธ์ ธาตุ และอายตนะหลัง ๆ ก็ย่อมเป็นไปดังนี้ เพราะฉะนั้นจึงถือว่า การยึดถือนี้มีความพลัดพรากเป็นที่สุดทีเดียว"๓๒

พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า
      กายนี้ย่อมเปลี่ยนแปลงไปด้วยเครื่องหมุน คือ กรรมที่ตนทำดีและทำชั่วไว้ จึงต้องท่องเที่ยวไปเกิดในสุคติและทุคติ สมบัติที่มีอยู่ในร่างกายนี้ย่อมมีวิบัติเป็นที่สุด ความหนุ่มและความสาวทั้งหมดมีความแก่เป็นที่สุด ความไม่มีโรคทั้งหมดมีความเจ็บไข้เป็นที่สุดชีวิตทั้งหมดมีความตายเป็นที่สุด ความประชุมแห่งสังขารโดยธาตุต่าง ๆ ที่มาประกอบเข้าด้วยกันมีความแตกแยกจากกันเป็นที่สุด

      ร่างกายนั้นย่อมถึงความเป็นไปต่างๆ กัน บางคราวบุคคลอันเป็นที่รักพลัดพรากจากไป บางคราวสิ่งของอันเป็นที่ชอบใจต้องพลัดพรากจากไป ปุถุชนคนอันธพาลเหล่าใด มายึดถือร่างกายนี้ที่ไม่งาม ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน เป็นทุกข์ หาสาระมิได้นี้ว่า สรีระนี้เป็นของเรา คือยังมีความยินดีในกามคุณด้วยอำนาจของตัณหา ทำให้ความกำหนัดยินดีเหล่านี้เกิดขึ้นเจริญขึ้นอยู่เรื่อยๆ ด้วยการเวียนเกิดและตายอยู่บ่อยๆ เพราะคนที่ไม่ใช่บัณฑิตจะยินดีในภัยอันน่ากลัว เช่น ชาติ คือ การเกิดและนรก เป็นต้น

      วิธีพิจารณาความพลัดพราก
      ๑. พิจารณาว่า สรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งปวงในโลกนี้ มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความสิ้นไป และพินาศไปเป็นธรรมดาเหมือนกันทั้งหมด
      ๒. พิจารณาว่า ไม่ใช่เราแต่ผู้เดียวเท่านั้นที่แก่ เจ็บ ตาย มีความเสื่อมสิ้นสูญไป แม้คนอื่นก็มีความพลัดพรากเหมือนกับเราจึงไม่ควรเศร้าโศกเสียใจ
      ๓. พิจารณาว่า หากเรามีทุกข์เพราะความพลัดพราก ก็จะเสียทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกาย การงาน กิจวัตร กิจกรรม ตลอดจนสมณธรรมก็จะสูญเสียไปด้วย
      ๔. พิจารณาว่า เราออกบวชก็เพราะพิจารณาเห็นแล้วว่าความพลัดพรากเป็นทุกข์ จึงสละการครองเรือน ออกบวช เว้นจากของที่รัก คนที่รัก แล้วจะแสวงหาความพลัดพรากอีกทำไมกัน ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ชนทั้งหลายย่อมเศร้าโศกเพราะวัตถุที่ถือว่าของเรา ความยึดถือทั้งหลายเป็นของเที่ยง มิได้มีเลย การยึดถือนี้ มีความพลัดพรากเป็นที่สุดทีเดียว กุลบุตรเห็นดังนี้แล้วไม่ควรอยู่ครองเรือน”๓๔

บรรพชิต เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งนั้น

      พระพุทธองค์ทรงให้พระภิกษุพิจารณาด้วยตนเองจนเห็นความจริงอย่างชัดเจนว่า คน สัตว์ และสิ่งของทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา วันหนึ่งต้องพบกับความพลัดพรากจากสิ่งที่รักในที่สุดให้ตัดความผูกพันจากครอบครัว มิตรสหาย การสะสมทรัพย์และวัตถุทั้งหลาย ตัดใจปลงผมและหนวด มาครองผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เป็นผู้ไม่มีความห่วงกังวลใด ๆ ดำรงชีวิตไปแต่ผู้เดียว และดำรงอัตภาพไปเช่นนั้น เพื่อมุ่งทำกิเลสให้หมดสิ้นไปได้ในที่สุด

      ลำดับการพิจารณาความพลัดพราก
      ๑. พิจารณาความแปรเปลี่ยนพลัดพรากไปของคน สัตว์ และสิ่งของ ซึ่งแปรเปลี่ยน พินาศ หรือตายไปก็เพราะกรรมของแต่ละบุคคล จากตัวอย่างและเหตุการณ์ที่เรารับรู้ว่าผู้อื่นประสบมา
      ๒. พิจารณาความแปรเปลี่ยนพลัดพรากไปของคนสัตว์ และสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับตัวเราโดยตรง ซึ่งแปรเปลี่ยน พินาศ หรือตายไปเพราะกรรมที่ทำร่วมกันมา
      ๓. พิจารณาความแปรเปลี่ยนพลัดพราก และสูญเสียไปของอวัยวะในร่างกายของเราเอง โดยพิจารณาจากส่วนที่เรารักชอบใจน้อยที่สุด ปานกลาง และมากที่สุดตามลำดับ เช่น ผมร่วง เล็บสวยหลุดไป ฟันหัก ตาบอด แขนขาด เป็นต้น ตลอดจนความตายที่จะมีในอนาคตซึ่งเกิดเพราะกรรมของเรา
      ความแตกต่างกันมีเพราะชาติ คือ ความเกิด ที่เกิดเพราะยังละกิเลสไม่ได้ การพิจารณาตามลำดับทั้ง ๓ ข้อนี้เพื่อให้ใจของเราคลายจากความผูกพันในคน สัตว์ และสิ่งของ เมื่อต้องประสบกับความพลัดพรากจะได้มองความสูญเสียนั้นด้วยความเข้าใจและไม่ทุกข์ใจมาก อีกทั้งทำให้เราเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรในการละเว้นความชั่ว เพราะการทำความชั่วมีผลให้เราได้ในสิ่งที่ทรามกว่าผู้อื่น และให้มีความอุตสาหะในการทำความดี เพื่อพัฒนาให้สิ่งดี ๆ ที่เรามีอยู่แล้วให้ประณีตยิ่งขึ้นไป
      แม้กระทั่งพิจารณาว่า การที่ผู้อื่นมีสิ่งที่ประณีตเพราะผลของกรรมดีที่เขาทำมา แต่สุดท้ายทุกคนก็ต้องตายด้วยกันทั้งสิ้นเมื่อเห็นดังนี้ จะได้คลายจากความยึดมั่นถือมั่นในคน สัตว์ และสิ่งของทั้งปวงได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นกับตัวเราจะได้สามารถตั้งสติ ทำใจ ปรับใจได้ทัน รักษาใจเป็นกลาง ๆ มองเห็นสภาวะที่ปรากฏเฉพาะหน้าตามความเป็นจริงได้
     
วิธีป้องกันความทุกข์จากความพลัดพราก
      ๑. ไม่คลุกคลีกับบุคคล สัตว์ และสิ่งของใด ๆ ทั้งที่เป็นที่รักและไม่เป็นที่รักด้วยอำนาจแห่งตัณหา ให้คบค้าสมาคมด้วยความเมตตากรุณา โดยฝึกหลีกเร้นอยู่ผู้เดียวบ้างเป็นบางคราวจนอยู่ผู้เดียวก็ไม่เศร้า มีแต่สุขเพิ่มพูน
      ๒. ไม่ผูกพันรักใคร่ในบุคคล สัตว์ และสิ่งของใด ๆ ด้วยอำนาจแห่งฉันทราคะ แต่ให้ผูกพันด้วยอำนาจกุศลสัมพันธ์ในบุคคลที่มีคุณธรรมสูงหรือเสมอกับตน เพื่อพัฒนาคุณธรรมของตนให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป

บรรพชิต เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งนั้น

      ๓. หมั่นพิจารณาทุกข์อันเกิดจากความพลัดพราก เพื่อจะได้ไม่ไปนำสัตว์หรือสังขารอะไรมายึดเหนี่ยวผูกพันให้เป็นที่รักอีก ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอธิบายวิธีป้องกันความทุกข์จากการพลัดพรากไว้มีใจความว่า เราไม่ควรไปเกี่ยวข้องพัวพันกับคนสัตว์ สิ่งของทั้งหลายที่เรารักหรือไม่รักก็ตาม เพราะการไม่ได้พบเจอสิ่งที่เรารักก็เป็นทุกข์ การต้องพบเจอกับสิ่งที่เราเกลียดก็เป็นทุกข์เช่นกัน
      ดังนั้น จึงไม่ควรไปรักใครหรือสิ่งใด ๆ เพราะการพลัดพรากจากสิ่งที่รักนั้นเป็นทุกข์ ไม่ควรเกิดขึ้นกับใครเลย ซึ่งความเสียใจจากการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก และความทุกข์ใจจากการทนอยู่กับสิ่งที่เกลียดชัง จะไม่มีในบุคคลที่หมดกิเลสแล้ว๓๕
      ๔. หมั่นสละสิ่งของที่มีอยู่ให้ได้ทุกวันยิ่งดี โดยเริ่มจากสละสิ่งของที่ไม่มีคุณประโยชน์ต่อเราหรือมีคุณประโยชน์น้อยก่อนแล้วค่อยฝึกสละของที่มีคุณมากขึ้นไปเป็นลำดับ วิธีที่ช่วยให้สละของได้ง่ายขึ้น คือต้องหมั่นทำความสะอาดและจัดระเบียบที่อยู่อย่างสม่ำเสมอ และเจริญมรณสติให้ได้ทุกวันควบคู่กันไปด้วย
      การนึกถึงความตายอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้รู้สึกว่ามีบุญที่ต้องสั่งสม มีสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ มากกว่าการสะสมยึดติดสิ่งเหล่านี้อยู่ทำให้สละสิ่งของนอกกาย สละความผูกพันต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เมื่อมีสิ่งของน้อยลง ก็ยิ่งทำความสะอาดและจัดระเบียบได้ง่ายขึ้นด้วย และขณะที่จัดระเบียบจะมองเห็นว่าสิ่งใดไม่ค่อยได้ใช้ยังสามารถสละออกไปได้อีก เก็บไว้แต่สิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตตามพุทธานุญาตเท่านั้น
       นอกจากนี้ การสะสมสิ่งของไว้จำนวนมากยังมีโทษ คือ เป็นที่สะสมของเชื้อโรค เชื้อราต่าง ๆ ส่งผลต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยอีกทั้งสิ่งของที่กองสะสมไว้นาน ๆ จะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ เช่น มด หนู แมลงสาบ รวมถึงสัตว์ร้ายต่าง ๆ เช่น งู และการมีสิ่งของวางกีดขวางอยู่มาก อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น สะดุดล้มหรือสิ่งของหล่นลงมาทับได้
      ที่สำคัญคือ เมื่อที่อยู่อาศัยไม่สะอาด มีความรกรุงรังด้วยสิ่งของที่สะสมอย่างนี้ การเจริญสมาธิภาวนาย่อมไม่ได้ผลดี เพราะมองไปทางใดก็รู้สึกอึดอัด ทำให้ใจไม่ปลอดโปร่งผ่องใส นี้เป็นโทษที่เห็นได้ในปัจจุบัน หากละโลกไปด้วยใจที่มีความยึดมั่นถือมั่น ไม่สามารถสละแม้สิ่งของนอกกายได้ และใจมักขุ่นมัวไม่ผ่องใสเพราะเห็นความไม่สะอาดและไร้ระเบียบอย่างนี้ อาจทำให้ไปเกิดในอบาย และติดเป็นนิสัยไปข้ามภพข้ามชาติ
      ดังนั้น ควรฝึกสละตั้งแต่สิ่งของภายนอกเป็นประจำ เพื่อให้ใจคุ้นเคยกับการสละ เมื่อถึงคราวต้องพลัดพรากจากวัตถุสิ่งของตลอดจนบุคคลอันเป็นที่รัก ย่อมไม่เศร้าโศกง่ายหรือแม้เศร้าโศกก็ไม่นาน
      ๕. เจริญสติและสมาธิ ทำความรู้สึกให้อยู่กับปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อละอภิชฌา คือ ความยินดี และโทมนัส คือ ความยินร้าย การเจริญสติทำความรู้สึกตัวจนเป็นมหาสติ จะทำให้ละความยึดมั่นถือมั่นในตนและสิ่งที่เนื่องด้วยตนได้ตามกำลังสติที่ฝึกได้แม้มีความพลัดพรากเกิดขึ้นก็จะมีทุกข์น้อยหรือไม่มีทุกข์เลย

บรรพชิต เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งนั้น

      อานิสงส์ของการพิจารณาความพลัดพรากจากกัน
      การพิจารณาความพลัดพรากจากกัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงอานิสงส์ไว้ในฐานสูตร สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
      สัตว์ทั้งหลายล้วนมีความรู้สึกพอใจ ความรักใคร่ด้วยกันทั้งสิ้น ความรักความพอใจนี้เองเป็นสาเหตุให้พลาดพลั้งก่อบาปอกุศล ทําผิดพลาดด้วยกาย วาจา และใจ
      ดังนั้น ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ควรพิจารณาบ่อยๆ ว่าสักวันเราต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจอย่างแน่นอน เมื่อพิจารณาเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง ใจจะค่อยๆ คลายความรักความชอบใจนั้นให้เบาบางลงหรือหมดไปได้ในที่สุด และเมื่อถึงคราวต้องพลัดพรากขึ้นมาจริง ๆ จะไม่ทุกข์ใจมาก เพราะได้เตรียมใจไว้อยู่เสมอ
      ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อหมั่นพิจารณาบ่อยๆ ว่า ไม่ใช่แต่เราเท่านั้นที่ต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ สัตว์ทั้งหลายที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ก็ต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจด้วยกันทั้งสิ้น เมื่อทำให้มากเข้าจะสามารถกำจัดกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ให้สิ้นไปได้๓๗
      เมื่อบรรพชิตฝึกพิจารณาถึงการพลัดพรากจากของรักของชอบใจอยู่บ่อย ๆ อย่างนี้ จะสามารถคลายความผูกพันกับคน สัตว์และสิ่งของต่าง ๆ ได้ เพราะเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามสภาวะความเป็นจริง เมื่อความพลัดพรากนั้นมาถึงตนย่อมสามารถปรับใจให้เป็นกลาง ๆ วางอุเบกขาได้ทัน
      อีกทั้ง การพิจารณาถึงความพลัดพรากอยู่บ่อยๆ จะทำให้บุคคลนั้นเกิดมรณานุสติ ระลึกถึงความตายได้ทุกวัน จึงเป็นผู้ไม่ประมาท มุ่งทำแต่ความดี มีความบริสุทธิ์กาย วาจา และใจยิ่ง ๆ ขึ้นไป

"ควรฝึกสละตั้งแต่สิ่งของภายนอก
เป็นประจํา เพื่อให้ใจคุ้นเคยกับการสละ
เมื่อถึงคราวต้องพลัดพรากจาก
วัตถุสิ่งของตลอดจนบุคคลอันเป็นที่รัก
ย่อมไม่เศร้าโศกง่ายหรือแม้เศร้าโศกก็ไม่นาน"

บรรพชิต เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งนั้น

 

๓๑ ที.ม. มหาปรินิพพานสูตร (ไทย.มมร) ๑๓/๑๐๖/๒๘๙
๓๒ ขุ.ม. ชราสุตตนิทเทส (ไทย.มมร) ๖๕/๑๘๙/๖๐๙
๓๓ องฺ.ปญฺจก. ฐานสูตร (ไทย.มมร) ๓๖/๕๗/๑๔๒
๓๔ ขุ.ม. (ไทย.มมร) ๖๕/๑๙๐/๖๑๐
๓๕ ขุ.ธ. เรื่องบรรพชิต ๓ รูป (ไทย.มมร) ๔๒/๑๖๕/๓๙๓-๓๙๔
๓๖ องฺ.ปญฺจก. ฐานสูตร (ไทย.มมร) ๓๖/๕๗/๑๔๐
๓๗ องฺ.ปญฺจก. ฐานสูตร (ไทย.มมร) ๓๖/๕๓/๑๔๒

 

บทความจากหนังสือ บรรพชิตมหาพิจารณา สำนึกของพระเเท้
ดาวน์โหลดหนังสือเล่มนี้ (ไฟล์ PDF) ได้ที่นี่

บรรพชิตมหาพิจารณา สำนึกของพระเเท้

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.015003967285156 Mins