ศีล
บรรพชิต
ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า
ตัวของเราเองติเตียนตัวเราเอง โดยศีลได้หรือไม่
บรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ ว่า
เราย่อมติเตียนตนเองโดยศีลได้หรือไม่
กจฺจิ น โข เม อตฺตา สีลโต น อุปวทติ
เราติเตียนตนเอง คำว่า ตน ในที่นี้หมายถึงจิตของเราเอง จิตนั้นมีลักษณะดิ้นรนกวัดแกว่ง นึกคิดไปในเรื่องต่าง ๆ ได้รวดเร็วมีอารมณ์ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง เฉย ๆ บ้าง เปลี่ยนไปมาอยู่เสมอดังนั้น คำว่า เราติเตียนตนเอง จึงหมายถึง การใช้จิตของเราตักเตือนจิตของตนเองอย่างมีสติ สตินี้เองทำให้จิตของเราระลึกรู้ได้อย่างถูกต้องว่า เราทำอะไรผิดและระมัดระวังว่าจะไม่ทำผิดซ้ำอย่างนี้อีก
การติเตียนตน คือ การกล่าวโทษตนเองออกมาด้วยวาจาหรือการนึกถึงโทษของตนเองไว้ในใจ ด้วยความรู้สึกสำนึกผิดจริง ๆ ดังตัวอย่างในอรรถกถาโปตลิยสูตรมีใจความว่า “เราได้มาบวชในศาสนาของผู้ไม่ปลงชีวิตสัตว์แล้ว แต่ทว่าเรายังเบียดเบียนชีวิตมดดำมดแดงอยู่ ยังงดเว้นจากปาณาติบาตไม่ได้ แล้วเราจะบวชทำไม”๒๑
ศีล แปลว่า ปกติ สงบเย็น คือ ความสำรวมกายวาจาให้เรียบร้อย มีเจตนางดเว้นจากบาปอกุศล หรือเมื่อต้องประสบกับเหตุการณ์ที่จะทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อย ก็ยังรักษากายวาจาให้ตั้งอยู่ในความประพฤติที่ดีงามเป็นปกติได้
ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นลักษณะของคนดีที่รักษาศีลเป็นปกติ และจัดเป็น กุศลศีล คือ การรักษาศีลโดยมีเจตนาดีเป็นที่ตั้งดุจพระอริยบุคคลเบื้องต้น จะรักษาศีลได้ดังนี้ต้องมีคุณธรรมในใจคือ หิริ หมายถึง ความละอาย เป็นคุณธรรมที่ทำให้บุคคลสำรวมระวังรักษาศีลได้ ทั้งข้อที่รักษาได้แล้วก็ยังรักษาได้เป็นปกติ ส่วนข้อที่พลาดพลั้งล่วงละเมิดไปแล้วก็กลับมารักษาได้ และศีลยังเป็นเครื่องรองรับคุณธรรมชั้นสูงขึ้นไป เช่น สมาธิ ฌาน มรรค ผล และนิพพาน บุคคลจึงควรรักษาศีลให้ได้มั่นคงดุจพระอริยเจ้าทั้งหลาย
กุศลศีลให้ผลเป็นความสุขความเจริญ มีสุขเป็นวิบาก ทำให้ไปบังเกิดในสุคติภูมิ และเป็นหนทางแห่งมรรคผลนิพพาน ในทางตรงกันข้าม หากคิดชั่ว พูดชั่ว และทำชั่วเป็นปกติ เช่น เป็นโจรเป็นขโมย มีปกติลักเล็กขโมยน้อย ซึ่งเป็นปกติของคนชั่ว เรียกว่ามีอกุศลศีล ซึ่งอกุศลศีลนี้ให้ผลเป็นความทุกข์ความพินาศ มีทุกข์เป็นวิบาก ทำให้ไปบังเกิดในอบายภูมิ
อย่างไรก็ตาม มีการกระทำที่เป็นปกติอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่เกิดทั้งบุญและบาป เพราะผู้กระทำละกิเลสอาสวะได้ขาดแล้ว เรียกว่าเป็นปกติศีลเช่นกัน แต่เป็นของพระอรหันต์เท่านั้น เนื่องจากการกระทำของท่านไม่เป็นทั้งกุศลศีลและอกุศลศีล จึงไม่มีวิบากที่จะก่อให้เกิดภพชาติต่อไป จัดเป็นอัพยากฤตศีลหรือกิริยาศีล คือ ประพฤติกิริยาทางกายวาจาเรียบร้อยเป็นปกติดี เพราะจริยาดีที่เคยอบรมมานานและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ชาวโลก
ศีลที่กล่าวในบทนี้มุ่งหมายเอากุศลศีล เป็นศีลที่ภิกษุต้องสมาทานศึกษาตามพระวินัยบัญญัติ โดยมีเจตนางดเว้นจากบาปอกุศล เป็นที่ตั้งแห่งคุณทั้งปวง มีสมาธิและปัญญา เป็นต้น
วัตถุประสงค์ของการติเตียนตน
๑. เพื่อให้คิดสอนตนเองได้ รู้สึกละอายใจได้เอง ไม่ต้องรอให้ใครมาตักเตือน
๒. เพื่อให้ปรับปรุงศีลของตนให้บริบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ใช่การคิดซ้ำเติมตนเองให้เศร้าหมองจมอยู่กับความผิดนั้น
๓. เพื่อให้เกิดความสำรวมระวังต่อไป
วิธีติเตียนตน
๑. ต้องหมั่นศึกษาพระวินัยให้แตกฉาน หากมีข้อสงสัยให้สอบถามจากท่านผู้รู้ที่สามารถให้ความกระจ่างในเรื่องนั้นได้ เมื่อทำได้ดังนี้จึงจะรู้ได้ว่า เราควรติเตียนตนเองในศีลข้อใดบ้าง
๒. ต้องหมั่นทบทวนข้อที่ตนยังบกพร่องอยู่ อย่างช้าที่สุดคือทุกคืนก่อนจะเข้านอน และกำหนดจิตว่าวันพรุ่งนี้จะปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องนั้นให้ดีขึ้น
มีตัวอย่างการเตือนตนในสมัยพุทธกาล กรณีของพระนังคลกูฏเถระผู้มีอดีตก่อนบวชเป็นคนเข็ญใจ นุ่งผ้าเก่า รับจ้างเขาเลี้ยงชีพต่อมาท่านได้บวช เพราะพระเถระรูปหนึ่งปรารถนาจะช่วยท่านให้พ้นจากความทุกข์เข็ญ จึงชวนท่านมาบวชเป็นพระภิกษุ บางคราวพระนังคลกูฏเถระเกิดความกระสันต้องการลาสิกขา ท่านมักสอนตนเองอย่างนี้ทุกครั้งว่า
“เจ้าผู้ไม่มีหิริ หมดยางอาย เจ้าอยากจะนุ่งห่มผ้าขี้ริ้วผืนนี้ (ผ้าเก่าที่เคยนุ่งก่อนบวช) สึกไปทำการรับจ้างเลี้ยงชีพหรือ” จิตที่ดิ้นรนของท่านก็คลายลง แล้วตั้งใจดำรงสมณเพศต่อไปได้ ท่านเป็นอย่างนั้นอยู่หลายครั้งและสามารถเตือนตนเองได้ทุกครั้ง ในที่สุดท่านได้บรรลุอรหัตผลถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยืนยันการบรรลุอรหัตผลของพระนังคลกฎเถระและตรัสแสดงธรรมว่า
อตฺตนา โจทยตฺตานํ ปฏิมํเสตมตฺตนา
โส อตฺตคุตฺโต สติมา สุขํ ภิกฺขุ วิหาหิสิ.
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ อตฺตา หิ อตฺตโน คติ
ตสฺมา สญฺญม อตฺตานํ อสฺสํ ภทฺรํว วาณิโช.
"เธอจงตักเตือนตนด้วยตน
จงพิจารณาดูตนนั้นด้วยตน
ภิกษุ เธอนั้นมีสติปกครองตนได้แล้วจักอยู่สบาย
ตนแหละ เป็นที่พึ่งของตน
ตนแหละ เป็นคติของตน
เพราะฉะนั้น เธอจงสงวนตนให้เหมือนอย่างพ่อค้าม้า
สงวนม้าตัวเจริญฉะนั้น"๒๒
ข้อคิดจากเรื่องนี้คือ การเตือนตนนั้นสามารถทำเองได้ตลอดเวลาไม่ต้องรอให้ใครมาเตือน และที่สำคัญไม่มีใครรู้เท่าทันความคิดของเราเท่ากับตัวของเราเอง หากเราเผลอคิดอกุศลแล้วมีสติเตือนตนเองได้ทันท่วงที จะสามารถประคับประคองตนให้อยู่ในเพศสมณะได้ตลอดรอดฝั่ง หากไม่ใช้สติเฝ้าระวังความคิดของตนต้องคอยให้ผู้อื่นมาเตือน ถึงเวลานั้นอาจสายจนเกินแก้ได้
การรักษาศีลในองค์มรรค
องค์มรรค หมายถึง มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งธรรมทั้ง ๘ ข้อในหมวดธรรมนี้สามารถแบ่งได้เป็น ๓ ส่วน คือ ศีล สมาธิ และปัญญาส่วนของศีล ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ
ส่วนของสมาธิ ได่แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ
ส่วนของปัญญา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ
ดังนั้น จึงเรียกธรรมทั้ง ๓ ประการที่เป็นส่วนของศีลว่า ศีลในองค์มรรค ซึ่งการรักษาศีลในองค์มรรคสามารถทำได้ดังนี้
๑. ใจของเรามีเจตนาที่จะไม่ล่วงละเมิดศีลข้อนั้น
๒. หมั่นระลึกถึงศีลข้อที่ตนรักษาได้ดีแล้วอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดความปลื้มใจ ส่งผลให้กายสงบ จิตตั้งมั่น เกิดสมาธิได้ง่ายและหมั่นแก้ไขปรับปรุงศีลข้อที่ยังปฏิบัติได้ไม่ดี ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
ศีลของภิกษุมี ๔ อย่าง คือ ๑) ปาฏิโมกขสังวรศีล ๒) อินทรียสังวรศีล ๓) อาชีวปาริสุทธิศีล และ ๔) ปัจจัยสันนิสสิตศีล อธิบายรายละเอียดได้ดังนี้
๑. ปาฏิโมกขสังวรศีล ความสำรวมในปาฏิโมกข์ เหตุที่ศีลนี้ชื่อว่า ปาฏิโมกข์ เพราะเป็นที่อาศัย เป็นเบื้องต้น เป็นประธาน เพื่อความถึงพร้อมแห่งคุณธรรมทั้งปวง และทำให้บุคคลผู้หมั่นรักษาศีลสิกขาบทนั้นหลุดพ้นจากทุกข์ และเป็นหนทางไปสู่พระนิพพานศีลดังกล่าว ได้แก่ ศีลในสิกขาบททั้งปวงที่พระศาสดาทรงบัญญัติไว้๒๓
สังวรหรือสำรวม แปลว่า การปิดกั้นหรือระวังไม่ให้กิเลสกําเริบจนแสดงออกมาทางกายและวาจา ด้วยการรักษาสิกขาบทคือปาฏิโมกข์ที่พระศาสดาทรงบัญญัติไว้ ภิกษุผู้สำรวม คือภิกษุผู้รักษาสิกขาบทในพระปาฏิโมกข์ เพื่อปิดกั้นกิเลสไม่ให้ออกมาทางกายและวาจา จึงชื่อว่าสำรวมด้วยปาฏิโมกขสังวร เป็นการแสดงภาวะที่ภิกษุนั้นตั้งอยู่ในศีล ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
"ภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมในปาฏิโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร๒๔ มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อยสมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย" ๒๕
การที่ศีลจะบริบูรณ์ได้ต้องปราศจากโทษ ๔ อย่าง คือ ขาดทะลุ ด่าง พร้อย จึงจะจัดว่าเป็นศีลที่มีผลานิสงส์มาก เพราะไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเดือดร้อนใจ แต่เป็นที่ตั้งแห่งความปราโมทย์ เป็นไปเพื่อสมาธิ มีพระนิพพานเป็นที่สุด
ปาฏิโมกขสังวรศีลนี้ จะรักษาไว้ได้ด้วยดีต้องมีศรัทธาเป็นเหตุเบื้องต้น ถ้าปราศจากศรัทธาหรือศรัทธาหย่อนเมื่อใดก็เป็นเหตุให้ล่วงละเมิดสิกขาบทบัญญัติได้เมื่อนั้น
ลักษณะของภิกษุผู้มีศรัทธาเชื่อมั่นในการปฏิบัติปาฏิโมกขสังวรศีล คือ ไม่ทำในข้อที่ทรงห้าม ทำตามในข้อที่ทรงอนุญาต เป็นลักษณะของผู้มีความเชื่อฟังพระตถาคต คือมีตถาคตโพธิสัทธาแต่หากยังต้องอาบัติบ้างเพราะเผลอสติ ก็ทำคืนให้บริสุทธิ์ได้ด้วยการแสดงอาบัติหรืออยู่กรรมตามความหนักเบาของโทษนั้น แล้วตั้งใจสำรวมระวังพยายามไม่ล่วงละเมิดปาฏิโมกขสังวรศีลอีกด้วยหิริและโอตตัปปะ ภิกษุที่ปฏิบัติเช่นนี้จะมีโอกาสบรรลุธรรมได้
๒. อินทรียสังวรศีล คือ การสำรวมระวังไม่ให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของเราไปกระทบกับสิ่งภายนอกจนทำให้กิเลสฟูขึ้นมา เกิดความพึงพอใจอยากได้สิ่งเหล่านั้น อินทรียสังวรศีลจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ผู้นั้นมีสติในการระลึกรู้เมื่อมีอารมณ์ล่วงเข้ามาทางทวาร ๖ ทางใดทางหนึ่ง ทำให้สามารถตัดกระแสของตัณหาได้ทันท่วงที ทำได้โดยหมั่นฝึกเจริญสติตามรูปแบบในสติปัฏฐาน ทำให้เกิดสติอย่างต่อเนื่องจนเป็นมหาสติ จึงจะสามารถตัดกระแสตัณหาอันเป็นเหตุให้เดือดร้อนใจได้ แต่ถ้าผู้ใดล่วงอินทรียสังวรศีลไปบ้างเพราะเผลอสติ ก็สามารถทำให้บริสุทธิ์ใหม่ได้ด้วยการรู้สึกสำนึกอย่างจริงใจแล้วตั้งใจใหม่ว่า "ข้าพเจ้าจะไม่กระทำอย่างนี้อีก"
๓. อาชีวปาริสุทธิศีล คือ การแสวงหาปัจจัยสี่ตามวิถีของพระภิกษุ ไม่ไปหลอกลวงเขามา งดเว้นจากอเนสนากรรม ๒๑ เช่น เวชกรรม การเป็นหมอดู หมอมนต์เสกเป่า ฯลฯ จึงจะเป็นสมณะผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์ได้ ซึ่งต้องอาศัยความเพียรพยายาม ความขยันในการทำกิจวัตรและหน้าที่ของพระภิกษุให้สมบูรณ์ ปัจจัยสี่ที่ได้มาจึงจะได้ชื่อว่าได้มาโดยธรรม เช่น ออกบิณฑบาต หรือไปฉันในสถานที่ที่เขาจัดถวาย ไม่ไปซื้อหรือเก็บกักตุนไว้ฉัน อันเป็นเหตุให้ละเมิดปาฏิโมกขสังวรศีลด้วย
๔. ปัจจัยสันนิสสิตศีล หรือเรียกว่า ปัจจเวกขณศีล คือ การพิจารณาปัจจัยสี่ใน ๓ กาล คือ ขณะรับ ขณะฉันหรือใช้สอยและหลังจากฉันหรือใช้สอยแล้ว หมายความว่า จะสําเร็จเป็นปัจจัยสันนิสสิตศีลได้ก็ต่อเมื่อ ภิกษุใช้ปัญญาพิจารณาการใช้สอยปัจจัยสี่นั้นแล้วไม่ถูกกิเลสครอบงำในกาลทั้งสาม
การใช้ปัญญาพิจารณา คือ ไตร่ตรองว่าตนใช้ปัจจัยสี่นั้นตรงตามวัตถุประสงค์การใช้งานหรือไม่ รู้ประมาณในการใช้ไม่ใช้ขาดหรือเกินความพอดี ปัจจัยสันนิสสิตศีลนี้เป็นศีลที่ละเอียดที่สุดในบรรดาศีล ๓ ข้อที่กล่าวข้างต้น เพราะเป็นโทษที่แอบแฝงมาในการใช้สอยสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต หากไม่ตั้งใจสังเกตและพิจารณาจริง ๆ จะพลาดได้ง่าย
ภิกษุที่จะทำปัจจัยสันนิสตศีลให้สำเร็จได้จึงต้องมีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาปัจจัยสี่ได้ละเอียดลึกซึ้งยิ่งกว่าชาวโลก ทั้งด้านคุณค่าของการบริโภคและการควบคุมจิตใจของตน ไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจของตัณหาขณะที่ใช้สอยปัจจัยสี่ในกาลทั้งสาม ยิ่งใช้ปัญญาพิจารณามากปัญญาก็ยิ่งเจริญ จะทำให้ภิกษุรู้ประมาณในการบริโภคมากยิ่งขึ้น ตัณหามูลกธรรมก็จะไม่เกิดขึ้นด้วย
ถ้าขาดการพิจารณาเมื่อใดศีลนี้ก็ขาดเมื่อนั้น จึงไม่ควรดูเบาในศีลข้อนี้ เพราะแม้จะรักษาศีลอื่น ๆ ให้บริสุทธิ์ได้ แต่ยังไม่ตั้งใจรักษาปัจจเวกขณศีลนี้ก็ได้ชื่อว่า ตั้งอยู่ในอิณบริโภค คือ การบริโภคอย่างเป็นหนี้ หากปล่อยปละละเลยไม่พิจารณาบ่อยๆ ก็จะสะสมจนเกิดความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของตน ไม่อยากสละให้ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากขณะใกล้ตายมีจิตหวงแหนในปัจจัยสี่นั้นอยู่ อาจส่งผลให้ไปเกิดในทุคติภูมิได้ ดังกรณีพระติสสะที่มรณภาพแล้วต้องไปเกิดเป็นตัวเล็น๒๖ เพราะมีเยื่อใยในผ้าจีวร
พระติสสเถระเป็นพระภิกษุที่ปฏิบัติดีรูปหนึ่ง แต่ก่อนที่จะมรณภาพท่านเพิ่งได้จีวรผืนใหม่ อันเกิดจากการที่พี่สาวของท่านต้องการให้พระน้องชายได้ผ้าจีวรอันประณีต จึงนำผ้าเนื้อหยาบผืนหนึ่งที่มีผู้ศรัทธาได้ถวายพระติสสเถระมา นำมาโขลก ปั่นเป็นด้ายแล้วทอขึ้นใหม่เพื่อให้ได้ผ้าเนื้อละเอียดขึ้นและยาวกว่าเดิม
ในตอนแรกที่พี่สาวนำผ้าที่ทอขึ้นใหม่มาถวาย ท่านพิจารณาแล้วก็ปฏิเสธไม่รับผ้าและบอกว่านี้ไม่ใช่ผ้าของท่าน ผ้าของท่านมีเนื้อหยาบและสั้นกว่านี้ โยมพี่สาวจึงอธิบายที่มาของผ้าผืนนี้ทั้งหมดท่านจึงยอมรับผ้าในที่สุด
ภิกษุสามเณรที่ตัดเย็บเป็นต่างมาช่วยกันตัดเย็บจีวรด้วยผ้าผืนนั้นอยู่หลายวันจึงแล้วเสร็จ ในวันนั้นเอง ท่านคิดว่าวันรุ่งขึ้นจะห่มจีวรนี้ แต่ท่านได้มรณภาพไปในคืนนั้นเสียก่อน ด้วยความมีเยื่อใยในจีวรที่พี่สาวตั้งใจทำถวายด้วยความเหนื่อยยาก เมื่อท่านมรณภาพแล้ว จึงไปเกิดเป็นตัวเล็นอาศัยอยู่ในจีวรผืนนั้น
เล็นคอยวิ่งไปข้างนูนข้างนี้เพื่อขับไล่พระภิกษุรูปอื่น ๆ ที่จะนำจีวรผืนนั้นไปใช้ประโยชน์ต่อ พระพุทธองค์ทรงได้ยินเสียงเล็นนั้นด้วยทิพยโสต จึงตรัสห้ามพระภิกษุทั้งหลายไม่ให้แตะต้องจีวรนั้นเป็นเวลา ๗ วัน เมื่อถึงวันที่ ๒ เล็นได้ตายแล้วไปเกิด ณ สวรรค์ชั้นดุสิตด้วยบุญที่สั่งสมไว้สมัยที่เป็นพระติสสะ ในวันที่ ๘ พระศาสดาจึงทรงอนุญาตให้ภิกษุนำจีวรนั้นไปแบ่งใช้ประโยชน์ได้
เหตุผลที่พระพุทธองค์ตรัสห้ามไม่ให้แตะต้องจีวรนั้นถึง ๗ วัน เพราะถ้าพระภิกษุทั้งหลายนำจีวรเหล่านั้นไปใช้ในช่วงเวลาที่เล็นยังมีชีวิตอยู่ เล็นนั้นจะเกิดความโกรธในพวกท่านว่าแย่งเอาจีวรของตนไป เมื่อตายแล้วจะไปสู่อบายภูมิ
ตรงนี้มีประเด็นที่น่าพิจารณาว่า พระติสสเถระได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไว้มากบุญที่ท่านสั่งสมไว้สามารถนำท่านไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตได้เลยทีเดียวและท่านก็ไม่ใช่ผู้มักมากด้วย เพราะท่านปฏิเสธการรับผ้าจีวรเนื้อดีจากพี่สาวในครั้งแรกว่าไม่ใช่ผ้าของตน แต่พอทราบว่าเป็นผ้าผืนเดิมที่นำมาทอใหม่จึงตกลงรับไว้ในภายหลัง
แต่เพราะท่านพร่องในการรักษาปัจจัยสันนิสสิตศีล เช่น ไม่หมั่นพิจารณาว่าจีวรมีวัตถุประสงค์เพื่อนุ่งห่มกันหนาวร้อน กันอายกันเหลือบยุงริ้นไร เพื่อเกื้อกูลแก่การบำเพ็ญสมณธรรมเท่านั้นไม่ได้มีไว้ยึดถือว่าเป็นของตน เป็นต้น จิตของท่านจึงผูกพันอยู่กับจีวรผืนนั้นและได้มรณภาพไปในขณะที่นึกถึงจีวรอยู่ ประกอบกับใจที่เศร้าหมองด้วยทุกขเวทนาจากความเจ็บป่วยของร่างกายเพราะอาหารไม่ย่อย ทำให้พลาดไปเกิดในเดรัจฉานภูมิอยู่ ๗ วัน หากไม่ได้พระพุทธองค์ทรงสงเคราะห์ไว้ในครั้งนี้ ท่านต้องไปเกิดในอบายภูมิทนทุกข์ทรมาน เพราะความโกรธที่พระภิกษุรูปอื่นจะนำจีวรผืนนั้นไป พระศาสดาจึงตรัสถึงโทษของภิกษุที่บริโภคปัจจัย ๔ โดยไม่พิจารณาว่า
"สนิมตั้งขึ้นแต่เหล็ก ครั้นตั้งขึ้นแต่เหล็กแล้ว
ย่อมกัดเหล็กนั่นเองฉันใด กรรมทั้งหลายของตน
ย่อมนำบุคคลผู้มักประพฤติล่วงปัญญาชื่อว่าโธนา
(ปัญญาเครื่องพิจารณา) ไปสู่ทุคติฉันนั้น"๒๗
ฉะนั้น หากจะทำศีลข้อนี้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ ต้องหมั่นพิจารณาตามวิธีที่พระศาสดาทรงแสดงไว้เนือง ๆ ด้วยสัมปชัญญะหรือนึกถึงกรรมฐานมีองค์พระ ดวงแก้ว เป็นต้น เพื่อให้มีสติในกาลทั้งสาม แล้วใช้ปัญญาพิจารณาปัจจัยสี่ตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริงหากปัจจัยสี่ที่ได้มาไม่ประณีตก็ไม่นึกรังเกียจ ถ้าได้ของประณีตก็วางใจเฉย ๆ คิดว่าสิ่งนี้ได้มาด้วยบุญที่ตนทำไว้ในอดีต ไม่ปรารถนาความประณีตที่ยิ่งขึ้นไป
อีกทั้งหมั่นสังเกตว่าจะใช้สอยอย่างไรให้พอดี เพื่อฝึกตนให้เป็นผู้รู้ประมาณอยู่เสมอ หากทำได้ดังนี้บุญกุศลจึงจะเกิดขึ้นทั้งแก่ตนเองและแก่ทายกทายิกาผู้ถวายปัจจัยสี่ จะได้เป็นทายัชชบริโภค๒๘ ไม่เป็นอิณบริโภค คือบริโภคโดยความเป็นหนี้เขา ซึ่งทำให้ไปบังเกิดในอบายภูมิและต้องไปรับใช้เขาในภพข้างหน้า
ปาริสุทธิศีลทั้ง ๔ ยังมีรายละเอียดอีกมากที่ไม่สามารถแสดงในที่นี้ได้หมด แต่พระภิกษุจำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ไม่ควรดูเบาอาบัติแม้เพียงเล็กน้อย เพราะการละเว้นไม่ปฏิบัติในสิ่งที่คิดว่าเล็กน้อย หรือไม่ปฏิบัติตามพระวินัยทั้งหมด โดยแบ่งแยกว่านี้เป็นปาฏิโมกข์ นี้เป็นสิกขาบทนอกพระปาฏิโมกข์ แล้วดูเบาในส่วนสิกขาบทนอกพระปาฏิโมกข์ การคิดเช่นนี้จะทำให้ขาดการพิจารณาอย่างลึกซึ้งในสิกขาบทแต่ละหมวดแต่ละข้อ จึงมองไม่เห็นโทษที่มีอยู่แล้วหาทางหลีกเลี่ยงบ้าง ทนเป็นอาบัติเอาบ้าง หากทำเช่นนี้เรื่อยไปจะเกิดโทษมหันต์มีอบายภูมิเป็นที่ไปได้
ดังนั้น จึงควรหมั่นพิจารณาและสังเกตด้วยตนเอง ปฏิบัติปาริสุทธิศีลให้สมบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ผู้ที่ปฏิบัติดังนี้จนเป็นปกติ ผลของศีลนั้นจะปรากฏเป็นความสะอาดกาย สะอาดวาจา มีอาชีพบริสุทธิ์ และสะอาดไปจนถึงใจ เมื่อเจริญภาวนาใจจะหยุดนิ่งง่ายสามารถเข้าถึงดวงศีลกลมใสติดที่ศูนย์กลางกายได้ ดังที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) กล่าวไว้
ภิกษุจึงควรศึกษาให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงที่มาที่ไปในการ บัญญัติสิกขาบทแต่ละข้อของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หากมีข้อสงสัยให้รีบสอบถามท่านผู้รู้ให้กระจ่างสิ้นสงสัย เพราะความคลางแคลงใจจะทำให้ไม่เห็นความสำคัญของการรักษาสิกขาบทข้อนั้น ๆ แล้วละเลยการปฏิบัติเพราะเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย ส่งผลให้ดำรงอยู่ในเพศสมณะอย่างไม่เป็นสุข เพราะต้องคอยปกปิดความผิด ไม่องอาจในทุกที่ทุกสถาน และบาปอกุศลนั้นทำให้ไปสู่อบายภูมิได้
ในทางกลับกัน หากภิกษุเข้าใจเหตุและผลของการบัญญัติสิกขาบทแต่ละข้อแล้ว จะมีความปลื้มใจและเต็มใจที่จะรักษาสิกขาบทต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้นเพราะเห็นประโยชน์ที่ตนจะได้รับ เกิดความภาคภูมิใจในเพศสมณะและดำรงอยู่ในเพศสมณะได้อย่างผาสุก
เมื่อหมั่นศึกษาและทําความเข้าใจอย่างดีแล้ว ควรนำมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขตนเองอยู่เสมอ ใช้สติในการควบคุมกายและวาจาให้เรียบร้อยดีงามตามพระวินัย หากพลาดพลั้งไปแล้ว ควรตักเตือนตนเองด้วยความรู้สึกสำนึกผิดอย่างจริงใจ และพิจารณาหาทางแก้ไขปรับปรุงศีลของตนเองให้บริสุทธิ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ส่วนข้อใดที่ทำได้ดีแล้วให้ระลึกถึงอยู่เสมอเพื่อเป็นกำลังใจ ทำให้เกิดความปลื้มปีติ เป็นประโยชน์เกื้อกูลให้จิตสงบตั้งมั่น ยังให้เกิดสมาธิและปัญญาต่อไป
"
หมั่นพิจารณาในศีลของตน
มีสติรู้เท่าทันความคิดตน
เพื่อให้คิดสอนตนเองได้
รู้สึกละอายใจได้เอง
ไม่ต้องรอให้ใครมาตักเตือน
เพื่อให้เกิดความสำรวมระวังต่อไป
"
๒๑ ม.ม.อ. โปตลิยสูตร (ไทย.มมร) ๒๐/๙๔
๒๒ ขุ.ธ. เรื่องพระนังคลกูฏเถระ (ไทย.มมร) ๔๓/๓๙๐
๒๓ บางมติว่า ปาฏิโมกข์ของพระภิกษุ ได้แก่ศีล ๒๒๗ ข้อที่มาในพระปาฏิโมกข์
๒๔ อาจาระ หมายถึง ความประพฤติชอบและมารยาทที่ดี ได้แก่ การไม่ล่วงละเมิดทางกายการไม่ล่วงละเมิดทางวาจา หรือการสำรวมศีลทั้งหมด คือการไม่เลี้ยงชีพด้วยอาชีพที่ผิดที่พระพุทธเจ้ารังเกียจ เช่น ไม่เลี้ยงชีพด้วยการให้ไม้ไผ่ ให้ใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้ เครื่องสานไม้สีฟ้น ไม่เลี้ยงชีพด้วยการทําตนต่ำกว่าคฤหัสถ์ ด้วยการพูดเล่นเป็นแกงถั่ว (จริงบ้างไม่จริงบ้าง) ไม่เลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงเด็ก และการรับส่งข่าว
โคจร หมายถึง สถานที่เที่ยวไปของภิกษุ ซึ่งไม่มีหญิงแพศยา โสเภณี) ไม่มีหญิงหม้าย ไม่มีสาวเลื้อ (สาวแก่) ไม่มีบัณเฑาะก์ ไม่มีภิกษุณี ไม่มีร้านสุรา ไม่เป็นสถานที่ต้องคลุกคลีกับพระราชา มหาอำมาตย์ และพวกเดียรถีย์ ตรงกันข้าม ต้องเป็นสถานที่ของตระกูลที่มีศรัทธาเลื่อมใสเป็นดุจบ่อน้ำ รุ่งเรืองด้วยผ้ากาสาวะอบอวลด้วยกลิ่นฤาษี ใคร่ความผาสุกแก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นสถานที่ที่ภิกษุสำรวมอินทรีย์ ๖ งดเว้นการขวนขวายในการดูการละเล่นที่เป็นข้าศึกต่อกุศล เช่น การฟ้อน ขับร้อง ประโคมดนตรี หรือหมายถึงสติปัฏฐาน ๔
๒๕ ม.อุ.โคปกโมคคัลลานสูตร (ไทย.มมร) ๒๒/๑๑๓/๑๕๘
๒๖ ชื่อแมลงหรือสัตว์ขนาดเล็กมากที่กัดหรือทำให้เกิดความระคายเคืองต่อร่างกาย ซึ่งอาจหมายถึงพวกไร เหา เห็บ หมัด หรือมด ก็ได้
๒๗ ขุ.ธ. เรื่องพระติสสเถระ (ไทย.มมร) ๔๓/๑๖-๑๙
๒๘ การบริโภคอย่างผู้รับมรดก ใช้เรียกการบริโภคของพระเสขะ ๗ จำพวก ซึ่งจะหมดกิเลสในอนาคตอย่างแน่นอน การบริโภคของท่านจึงเหมือนการเบิกทรัพย์มาใช้ล่วงหน้า ส่วนผู้ที่ได้ชื่อว่าบริโภคอาหารซึ่งเป็นสิทธิ์ของตน บริโภคอย่างไม่เป็นหนี้ คือ พระอรหันต์ผู้หมดกิเลสแล้ว ทำให้เกิดบุญอย่างเต็มที่แก่ญาติโยมผู้ถวาย
บทความจากหนังสือ บรรพชิตมหาพิจารณา สำนึกของพระเเท้
ดาวน์โหลดหนังสือเล่มนี้ (ไฟล์ PDF) ได้ที่นี่