มหากุศลจิต ๘

วันที่ 13 กย. พ.ศ.2566

13-9-66-BL.jpg

๓. มหากุศลจิต ๘

                ที่ได้กล่าวมาแล้ว คือกรรมอันเป็นเหตุให้ไปสู่กามสุคติภูมิ ข้อที่ ๑ และข้อที่ ๒ (ข้อที่ ๑. คือ กุศลกรรมบถ ๑๐ ข้อที่ ๒. คือ ทาน ศีล ภาวนา) ส่วนข้อที่ ๓. กรรมอันเป็นเหตุให้ไปสู่กามสุคติภูมิ เกิดด้วยอำนาจของกุศลจิต มี ๘ อย่างเรียกว่า มหากุศลจิต

                กุศลที่เรียกว่า มหากุศล เป็นเพราะเหตุผล ๒ ประการคือ
               ประการที่หนึ่ง เป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้นได้กว้างขวางมากมายในสรรพสัตว์หลายจำพวก ทั้งที่เป็นสัตว์ในอบาย มนุษย์ เทวดา รูปพรหม อรูปพรหม ทั้งหมดนี้สามารถที่จะมีมหากุศล หรือประกอบกรรมอันเป็นมหากุศลได้
               อีกประการหนึ่ง มหากุศลจิตเป็นที่ตั้งของกุศลทั้งปวง และยังเป็นปัจจัยก่อให้เดกุสลฌานจิต มัคคจิต ผลจิต ทั้งเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพานได้ด้วย

               จิตที่เป็นมหากุศล มี ๘ ชนิดดังนี้
             ชนิดที่หนึ่ง เป็นมหากุศลจิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความยินดี ประกอบด้วยปัญญา เป็นอสังขาริก คือเกิดขึ้นเอง โดยไม่มีสิ่งชักชวน ประกอบด้วยเจตสิก (ธรรมชาติที่เกิดพร้อมกับจิต) จำนวน ๓๘ อย่าง มีอัญญสมานเจตสิก ๑๓ โสภณเจตสิก ๒๕
          ชนิดที่สอง เป็นมหากุศลจิตที่เกิดขึ้น พร้อมด้วยความยินดี ประกอบด้วยปัญญา เป็นสสังขาริก คือเกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักชวนจูงใจ ประกอบด้วยเจตสิก จำนวน ๓๘ เท่ากัน
                ชนิดที่สาม เป็นมหากุศลจิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญา เกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งจูงใจ ประกอบด้วยเจตสิกจำนวน ๓๗ อย่าง (ยกเว้นปัญญา)
               ชนิดที่สี่ เป็นมหากุศลจิตที่เกิดพร้อมด้วยความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักจูง ประกอบด้วยเจตสิกจำนวน ๓๗ (ยกเว้นปัญญา)
               ชนิดที่ห้า เป็นมหากุศลจิตที่เกิดพร้อมด้วยความเฉย ๆ ประกอบด้วยปัญญาเกิดโดยไม่มีสิ่งใดชักจูง ประกอบด้วยเจตสิกจำนวน ๓๗ (ยกเว้นปีติ)
            ชนิดที่หก เป็นมหากุศลจิตที่เกิดพร้อมด้วยความเฉย ๆ ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักจูง ประกอบด้วยเจตสิกจำนวน ๓๗ (ยกเว้นปีติ)
           ชนิดที่เจ็ด เป็นมหากุศลจิตที่เกิดพร้อมด้วยความเฉย ๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งชักจูง ประกอบด้วยเจตสิกจำนวน ๓๖ (ยกเว้นปีติ เว้นปัญญา)
                 ชนิดที่แปด เป็นมหากุศลจิตที่เกิดพร้อมด้วยความเฉย ๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา เกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักจูง ประกอบด้วยเจตสิกจำนวน ๓๖ (ยกเว้นปีติ ยกเว้นปัญญา)

                กุศลจิต เป็นจิตไม่เศร้าหมอง ไม่เร่าร้อน เป็นจิตที่งาม ฉลาด สะอาด ปราศจากโทษ และให้ผลเป็นสุข มีคุณประโยชน์ ๕ ประการ คือ
                ๑. อาโรคยตฺถ ไม่มีโรค คือไม่มีราคะเป็นต้น ราคะ โทสะ โมหะ นี้เรียกว่า โรคเพราะเสียดแทงจิตตสันดานของสัตว์ทั้งหลาย
                ๒. สุนฺทรตฺถ ดีงาม คือ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย
                ๓. เฉกตฺถ ฉลาด เรียบร้อย คือผู้มีจิตใจเป็นกุศลย่อมมีกิริยาวาจาสุภาพเรียบร้อย
                ๔. อนวชฺชตฺถ ไม่มีโทษอันจะพึงติเตียนได้
                ๕. สุขวิปากตฺถ ให้ผลเป็นสุขอันพึงปรารถนา

                เหตุให้กุศลจิตเกิดขึ้น ได้แก่ โยนิโสมนสิการ คือการพิจารณาโดยแยบคายพิจารณาให้ลึกซึ้งถึงสภาพความเป็นจริงต่าง ๆ ให้รู้ถึงสิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควร และใฝ่ใจกระทำแต่ในสิ่งที่สมควร โยนิโสมนสิการย่อมเกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุ ๕ ประการ คือ
                ๑. ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา    เป็นผู้เคยทำบุญไว้ในปางก่อน
                ๒. ปฏิรูปเทสวาส             อยู่ในประเทศที่สมควร คือประเทศที่มีสัปบุรุษ
                ๓. สปฺปุริสปนิสฺสย            คบหาสมาคมกับสัปบุรุษ
                ๔. สทฺธมฺมสฺสวน              ฟังธรรมของสัปบุรุษ
                ๕. อตฺตสมฺมาปณิธิ           ตั้งตนไว้ชอบ
                เหตุ ๕ ประการเหล่านี้ ประการที่ ๑ เป็นอดีตกรรม อีก ๔ ประการต่อมาเป็นปัจจุบันกรรม

                สําหรับมหากุศลจิตที่เกิดพร้อมด้วยความยินดี คือโสมนัสก็ดี หรือเกิดพร้อมด้วยความรู้สึกเฉย ๆ ก็ดี มีข้อแตกต่างกันดังนี้
                โสมนัสกุศลจิต เกิดได้ด้วยเหตุ ๖ ประการ คือ
                ๑. โสมนสฺปฏิสนฺธิกตา           มีปฏิสนธิจิตเป็นโสมนัส
                ๒. สทฺธาพหุลตา                  เป็นผู้มีศรัทธามาก
                ๓. วิสุทฺธทิฏฐิตา                   มีความคิดเห็นถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เป็นความคิดเห็นที่ไม่มีมลทิน
                ๔. อานิสงฺสทสสาวิตา           เห็นอานิสงส์แห่งกุศลกรรมนั้น ๆ
                ๕ อิฏฐารมฺมณสมาโยโค        ได้ประสบกับอิฏฐารมณ์ คือได้ไทยธรรมและปฏิคาหกทีพึงพอใจ
                ๖. กสฺสจิปิฬาภาโว                ไม่มีอุปสรรคขัดข้องได

                อุเบกขากุศลจิตก็มีสาเหตุ ๖ ประการเช่นเดียวกัน คือ
                ๑. อุเบกฺขาปฏิสนฺธิกตา              มีปฏิสนธิจิตเป็นอุเบกขา
                ๒. อุปฺปสทุธตา                         มีศรัทธาน้อย
                ๓. อวิสุทฺธทิฏฐิตา                     มีความคิดเห็นไม่บริสุทธิ์นัก มีมลทินเจืออยู่บ้าง
                ๔. อานิสงฺสอทสฺสาวิตา             ไม่เห็นหรือไม่เข้าใจในอานิสงส์ แห่งกุศลกรรมนั้น ๆ
                ๕. มชฺณตฺตารมฺมณสมาโยโค      ได้ประสบกับอารมณ์ปานกลาง คือ ได้ไทยธรรม และปฏิคาหกปานกลาง
                ๖. กสฺสจิปิฬิกตา                        มีอุปสรรคขัดข้องอย่างใดอย่างหนึ่ง

                มหากุศลจิตทั้ง ๘ ประการนี้เกิดขึ้นแล้ว ทำให้มีมหาวิปากจิตเกิดขึ้นได้ ๘ ประการ เช่นเดียวกัน เรียกว่ามหากุศลจิตเป็นเหตุ มหาวิปากจิตเป็นผล และเมื่อผู้นั้นสิ้นชีวิตลงมหาวิปากจิตประการใดประการหนึ่งใน ๔ ประการของผู้นั้น จะเป็นเหตุให้ปฏิสนธิจิตในกามสุคติภูมิทันที

                มหาวิปากจิต ๘ หมายความว่า จิตที่เป็นผลของมหากุศล ๘ คือ มหาวิปากจิตชนิดที่ ๑ และชนิดที่ ๒ ประกอบด้วยเจตสิก (ธรรมชาติที่เกิดพร้อมกับจิต) จำนวน ๓๓
                 อัญญสมานเจตสิก ๑๓ โสภณสาธารณเจตสิต ๑๙ ปัญญา ๑ มหาวิปากจิตชนิดที่ ๓ และชนิดที่ ๔ ประกอบด้วยเจตสิก ๓๒ มี
                 อัญญาสมานเจตสิก ๑๓ โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ มหาวิปากจิตชนิดที่ ๕ และชนิดที่ ๖ ประกอบด้วยเจตสิกจำนวน ๓๒ มี
                อัญญสมานเจตสิก ๑๒ (ยกเว้นปีติ) โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ปัญญา ๑ มหาวิปากจิต ชนิดที่ ๗ และชนิดที่ ๘ ประกอบด้วยเจตสิกจำนวน ๓๑ มี
                 อัญญสมานเจตสิก ๑๒ (เว้นปีติ) โสภณสาธารณาเจตสิก ๑๙
                 (เรื่องเจตสิกสามารถอ่านทบทวนดูได้ในตอนต้นเรื่องที่กล่าวถึง ธรรมชาติฝ่ายนามธรรม)

                 มหาวิปากจิตทั้ง ๘ ชนิด นี้ย่อมเป็น ปฏิสนธิจิต* เป็น ภวังคจิต** เป็น จุติจิต*** ของสัตว์ที่เกิดยังกามสุคติภูมิ คือ มนุษย์และเทวดาทั่วไปซึ่งเป็นมนุษย์และเทวดาที่มีร่างกายและจิตใจปกติ สำหรับมนุษย์และเทวดาบางประเภทที่ผิดปกติ คือ เป็นมนุษย์ที่พิกลพิการ (ตาบอด หูหนวก ไม่รู้กลิ่น ใช้โง่ บ้า เป็นกะเทย มีสองเพศ ไม่มีเพศ ติดอ่าง โดยมีความพิการเหล่านี้มาแต่กำเนิด) และเป็นจาตุมหาราชิกาชั้นต่ำ คือวินิปาติกอสุราบางพวก เวมานิกเปรตบางพวก ทั้งหมดนี้มิได้มีมหาวิปากจิต ๔ ชนิดใดชนิดหนึ่งเป็น ปฏิสนธิ จุติ ภวังคะ แต่กลับเป็นไปด้วยจิตอีกชนิดหนึ่ง เรียกชื่อว่า อุเบกขาสันติรณกุศลวิบาก อันเป็นผลมาจากการประกอบกุศลกรรมที่เจือปนด้วยบาปไปพร้อมกัน เช่นมีการถวายทานทำบุญถวายภัตตาหาร ขณะเดียวกันก็มีการฆ่าสัตว์เพื่อใช้ประกอบอาหาร หรือมีการเลี้ยงสุรายาเมาแก่ผู้คนที่มาร่วมงาน ฯลฯ

                 อุเบกขาสันติรณกุศลวิปากจิต ประกอบด้วยเจตสิกจำนวนเพียง ๑๐ คือ อัญญสมานเจตสิก ๑๐ (ยกเว้น วีริยะ ปีติ ฉันทะ) เป็นสุคติอเหตุกปฏิสนธิ เกิดในสุคติภูมิได้ก็จริง แต่ปฏิสนธิจิต เป็นอเหตุกจิต**** ฉะนั้นสัตว์เหล่านี้ จึงเรียกว่า สุคติอเหตุกบุคคลเกิดในสุคติภูมิ แต่มีคุณสมบัติด้อยกว่าปกติ

                 เมื่อเป็นดังนี้ อาจจะนับรวมได้ว่า มีจิต ๙ ชนิดที่จะนำให้ไปเกิดในกามสุคติภูมิได้ อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเป็นมหาวิปากจิต ๘ ชนิด หรือ อุเบกขาสันติรณกุศลวิปากจิต ๑ ล้วนแต่มาจากการประกอบกุศลกรรมด้วยกันทั้งสิ้น
                 เมื่อประกอบกุศลกรรมด้วยมหากุศลจิต ๘ เป็นเหตุ ย่อมเกิด มหาวิปากจิต ๘ เป็นผล 

                 เมื่อประกอบกุศลกรรมปนอยู่ด้วยอกุศล แต่กุศลมีกำลังมากกว่า อกุศลไม่มีกำลังพอนำไปสู่ทุคติภูมิเป็นเหตุ ย่อมเกิด อุเบกขาสันติรณกุศลวิปากจิต ๑ เป็นผล
              ประกอบกุศลกรรมอย่างแรก ยังแบ่งออกเป็นหลายระดับ ดังนั้นเมื่อผลของกุศลนั้นส่งให้ไปเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาก็ตาม ยังจำแนกให้มีความประณีต ให้ความสุขแตกต่างกัน บางพวกมีสุขน้อยเป็นไปพอประมาณ บางพวกมีสุขสมบูรณ์มั่งคั่งล้นเหลือ สำหรับการเกิดเป็นมนุษย์นั้นบางแห่งยึดถือเอาเพียงการรักษาศีล ๕ ได้ครบถ้วนบริบูรณ์อยู่เป็นนิจ เป็นเหตุให้ได้เกิดเป็นมนุษย์อีก แต่ถ้าได้ประกอบกุศลทั้ง ทาน ศีลและภาวนา ควบกันไปด้วย แม้ได้เกิดเป็นมนุษย์ ย่อมเป็นมนุษย์ที่มีคุณสมบัติเป็นเยี่ยม คือ
                  ทาน มีอานิสงส์ให้ได้เกิดเป็นผู้ร่ำรวยมั่งคั่ง
                  ศีล มีอานิสงส์ให้เกิดเป็นผู้มีรูปร่าง ผิวพรรณสวยสดงดงาม
                  ภาวนา มีอานิสงส์ให้เกิดเป็นผู้มีสติปัญญา ดังนี้เป็นต้น
                  แต่การเจริญภาวนาในขั้นเพื่อเกิดในกามสุคติภูมิ ยังมิได้เป็นการภาวนาระดับสูง เช่นถ้าเป็นสมถะภาวนา ก็ยังไม่เข้าถึงขั้นอัปปนาสมาธิ ฌานยังไม่เกิด หรือหากเกิดก็ไม่มั่นคงเสื่อมลงได้ โดยเฉพาะขณะสิ้นชีวิต จิตมิได้ตั้งอยู่ในฌานกุศลนั้น ๆ

                 ส่วนการประกอบการกุศลอย่างหลัง คือทำบุญบนบาป เมื่อกุศลส่งให้ได้เกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาชั้นต่ำแล้ว อกุศลก็เข้าตัดรอนให้มีสภาพไม่ปกติต่าง ๆ ได้รับทุกข์ยากนานาประการตามมา เช่นต้องพิกลพิการแต่กำเนิดบ้าง หรือเมื่อเกิดแล้วก็ได้รับภัยพิบัตินานาชนิดกำเนิดจากจิตชนิดนี้มีดังนี้
                  ๑. ชจจนฺธ                   ผู้ตาบอดแต่กำเนิด
                  ๒. ชจฺจพธิร                 ผู้หูหนวกแต่กำเนิด
                  ๓. ชจฺจฆานก              ผู้จมูกเสียแต่กำเนิด
                  ๔. ชจฺจมูค                  ผู้เป็นใบ้แต่กำเนิด
                  ๕. ชจฺจชฬ                  ผู้โง่เง่าแต่กำเนิด
                  ๖. จจุมฺมตฺตก              ผู้เป็นบ้าแต่กำเนิด
                  ๗. ปณฺฑก                  พวกบัณเฑาะก์ (กะเทย)
                  ๘. อุภโตพยัญชนก      ผู้ปรากฏเป็น ๒ เพศ
                  ๙. นปํฺสก                    ผู้ไม่ปรากฏเพศ
                  ๑๐. มมฺม                     ผู้ติดอ่าง
                  ๑๑. วินิปาติกอสรุา       อสุราที่อาศัยภุมมัฏฐิเทวดาทั้งหลายอยู่

                 ๑. ชจฺจนฺธ ผู้ที่ตาบอดแต่กำเนิด จะเป็นมาตั้งแต่ปฏิสนธิขณะ โดยปกติสัตว์ที่เกิดในครรภ์ (มนุษย์) ในขณะแรกที่ปฏิสนธิ ตายังไม่ปรากฏเกิดขึ้น ต่อมาถึงสัปดาห์ที่ ๑๑ จึงจะเกิด ฉะนั้นหากสัตว์ที่อยู่ในครรภ์นั้น ผู้ใดเมื่อมีอายุถึงสัปดาห์ที่ ๑๑ แล้ว ตาไม่ปรากฏเกิดขึ้น ชื่อว่าเป็นปัจจันธบุคคล คือบุคคลที่ตาบอดมาแต่กำเนิด
                  สำหรับสังเสทชบุคคล***** และโอปปาติกบุคคล****** ทั้งสองพวกนี้ เมื่อขณะปฏิสนธิย่อมมีตาปรากฏพร้อมขึ้นด้วยเป็นธรรมดา ถ้าพวกไม่มีตาเกิดขึ้นก็เรียกว่า เป็นปัจจันธบุคคลเหมือนกัน

              การที่ตาบอดตอนขณะคลอดจากครรภ์มารดา ยังไม่สามารถถือว่าบอดแต่กำเนิดได้ เพราะสัตว์นั้นอาจมีจักขุปสาทพร้อมบริบูรณ์ดีแล้ว แต่มาถูกทำลายด้วยเหตุอื่น เช่นสัตว์พยาธิในมดลูก หรือติดเชื้อโรคขณะคลอด
                  ยังมีข้อสังเกตได้อีกประการหนึ่ง คนตาบอดตั้งแต่คลอดบางคนมีความเฉลียวฉลาดมากเรียนทางโลกก็ได้ดี ทางธรรมก็เข้าใจได้ สันนิษฐานได้ว่า ต้องมิได้ปฏิสนธิมาด้วยอเหตุกปฏิสนธิ จึงไม่ใช่ปัจจันธบุคคล

                 ๒. ชจฺจพธิร ผู้ที่หูหนวกโดยกำเนิด คือตั้งแต่ปฏิสนธิขณะ หมายถึงเป็นเวลาสมควรที่โสตปสาทจะต้องเกิด เมื่อไม่เกิด จึงเรียกว่าหูหนวกแต่กำเนิด เรื่องอื่นเป็นทำนองเดียวกับเรื่องตา

                ๓. ชจฺจฌานก ผู้ที่ไม่มีฆานปสาทโดยกำเนิด คือตั้งแต่ปฏิสนธิขณะ หมายถึงเมื่อเป็นเวลาอันสมควรที่ฆานปสาทจะเกิดแล้ว แต่ก็ไม่เกิด จึงเรียกว่าจมูกเสียแต่กำเนิด

              ๔. ชจฺจมูค ผู้ที่เปล่งเสียงออกมาเป็นคำพูดไม่ได้โดยกำเนิด คือตั้งแต่ปฏิสนธิขณะ ได้แก่คนใบ้ หมายความว่าผู้ไม่มีกรรมที่สามารถทำให้เปล่งเสียงออกมาเป็นคำพูดโดยชัดเจน เรียกว่าเป็นสัจจมูคะ คนใบ้

             ๕. ชจฺจชฬ ผู้ที่โง่โดยกำเนิด คือตั้งแต่ปฏิสนธิขณะเป็นต้นมา หมายถึงผู้ที่โง่จนใครจะสอนอะไร ๆ ให้ก็ไม่รู้เรื่อง แม้แต่นับ ๑ - ๑๐  ก็ไม่ได้ บางแห่งเรียกซัจจเอละ******* อาจจะเห็นว่าคนโง่มาก ๆ ส่วนใหญ่แล้วมีน้ำหลายไหลยืดออกจากปากอยู่เสมอ จึงเรียกดังนี้ซึ่งดูจะไม่ถูกนัก

               ๖. ชจฺจุมฺมาตฺตก ผู้ที่เป็นบ้าโดยกำเนิด คือตั้งแต่ปฏิสนธิขณะเป็นต้นมา เป็นคนบ้า ๆ บอ ๆ เรียก ปัจจุมมัตตกะ

             ๗. ปณฺฑก ผู้ที่มีเครื่องหมายของบุรุษหรือสตรีขาดตกบกพร่องไป เรียกว่า ปัณฑกะ คือบัณเฑาะก์ (กะเทย) ๕ จำพวก จำพวกที่ไม่มีอวัยวะเพศเลย มีแต่ช่องสำหรับปัสสาวะ (นปุงสกบัณเฑาะก์) เป็นการแสดงโดยตรง อีก ๔ จำพวกเป็นการแสดงโดยอ้อม อีก ๔ จำพวกนั้น คือ 
                  อาจิตตกะบัณเฑาะก์ เป็นบุคคลที่ เมื่อมีความกระวนกระวายด้วยอำนาจราคะขึ้นแล้ว เอาปากคาบองคชาติของบุรุษอื่น ดูดกินซึ่งน้ำอสุจินั้นแล้ว จึงระงับความกระวนกระวายลงได้ หรือเป็นบุคคลที่ ในตอนแรกยังไม่กำหนัดยินดี แต่เมื่อได้ดูดกินแล้วเกิดความกำหนัดยินดี
           อุสสูยะบัณเฑาะก์ เป็นบุคคลที่ถ้าได้โอกาสแอบดูบุรุษและสตรีร่วมเสพกามรสกันอยู่ จะบังเกิดมีความอิจฉาริษยาขึ้นมา ในขณะเดียวกันนั้น ความกำหนัดยินดีของตนก็ระงับดับลง เหมือนกับว่าตนเองได้เสพด้วยฉะนั้น
                โอปักกะมิกะบัณเฑาะก์ พวกนี้เป็นกะเทยโดยการถูกตอน เพื่อไม่ให้เกิดความกำหนัดยินดี เช่น พวกขันทีในสมัยโบราณผู้มีหน้าที่ต้องอยู่ใกล้ชิดกับนางสนมกำนัลของพระเจ้าแผ่นดิน พวกนี้มิใช่เป็นมาแต่กำเนิด จึงไม่จำเป็นจะต้องมีปฏิสนธิด้วยอเหตุกปฏิสนธิ
                ปักขะบัณเฑาะก์ บุคคลพวกนี้ เวลาข้างแรม (กาฬปักษ์) เกิดความกำหนัดยินดีกระวนกระวายด้วยอำนาจอกุศลกรรม พอข้างขึ้น (ชุณหปักษ์) ความกระวนกระวายกลับหายไป หรือบางทีก็กลับกัน

                ๘. อุภโตพยัญชนก เป็นผู้มีอวัยวะเพศทั้งสองชนิด ด้วยอำนาจอกุศลกรรมเข้าแทรกแซง (เป็นอกุศลกรรมจากกาเมสุมิจฉาจาร) แต่การเกิดความรู้สึกมีไม่พร้อมกันเวลาใดรู้สึกเป็นชาย อิตถีภาวรูปก็ไม่ปรากฏ เวลาใดรู้สึกเป็นหญิง ปุริสภาวรูปก็ไม่ปรากฏ (เรียกว่าอวัยวะเพศทำงานได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่ตนเองกำลังรู้สึกตัวอยู่ว่าตนกำลังมีความยินดีเป็นเพศใด เครื่องเพศต้องการก็ทำงาน ส่วนที่ไม่ต้องการก็เหมือนไม่มี)
                    อุภโตพยัญชนกะ นี้มีอยู่ ๒ จำพวก
                  พวกหนึ่งเรียก อิตถีอุภโตพยัญชนก คือมีรูปร่างสัญฐานลักษณะอาการเป็นหญิงตลอดจนอวัยวะเพศก็เป็นหญิงอย่างธรรมดา เมื่อจิตใจพอใจในความเป็นหญิงอยู่ ก็สามารถปฏิบัติตนได้เหมือนเป็นหญิงตามปกติ แต่เมื่อใดเกิดความต้องการเป็นชายพอใจในหญิงอื่น จิตใจที่เป็นหญิงอยู่ก่อนจะหายไปหมดเปลี่ยนสภาพเป็นจิตใจของผู้ชายขึ้นมาแทน ในเวลาเดียวกันอวัยวะเพศหญิงจะหายไป มีอวัยวะเพศชายปรากฏขึ้นแทนสามารถสมสู่ร่วมเสพกามกับหญิงอื่นได้ พวกนี้มีครรภ์กับบุรุษได้หรือทำให้สตรีอื่นตั้งครรภ์ได้
                   อีกพวกหนึ่งเรียก ปุริสอุภโตพยัญชนก มีรูปร่างสัณฐานลักษณะอาการโดยปกติเป็นชาย อวัยวะเพศก็เป็นชาย เมื่อเกิดพึงพอใจในชายใดขึ้นมา จิตใจจะกลายเป็นหญิงเวลาเดียวกันอวัยวะเพศชายจะหายไป อวัยวะเพศหญิงปรากฏขึ้นแทน สามารถสมสู่ร่วมเพศกับชายได้ พวกนี้ยามมีจิตใจเป็นชายสามารถทำให้สตรีมีครรภ์กับตนได้ แต่เมื่อตนเป็นหญิงไม่สามารถตั้งครรภ์กับบุรุษที่ตนสมได้

                ๙. นปฺํสก คือผู้ที่ไม่สามารถประกอบกิจได้ดุจชาย คือมีรูปร่างลักษณะสัญฐานคล้ายเป็นชาย แต่ไม่มีอวัยวะเพศใด ๆ เลย มีแต่ช่องสำหรับถ่ายปัสสาวะ

                ๑๐. มมฺม บุคคลจำพวกติดอ่าง เป็นมาแต่กำเนิด หรืออาจมาเป็นทีหลังก็ได้

                ๑๑. วินิปาติกอสุรา เป็นเทวดาจำพวกหนึ่ง เรียกว่า ภุมมัสสิตเทวดา คือเป็นเทวดาที่อาศัยภุมมัฏฐเทวดาทั้งหลายอยู่
                เทวดาที่เกิดอยู่บนพื้นดิน เรียกว่า ภุมมะ ได้แก่เทวดาที่อาศัยอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ มีภูเขา ต้นไม้ แม่น้ำ บ้าน วัด เหล่านี้ หรือที่เรียกกันว่าเป็นภุมมัฏฐิเทวดา รุกขัฏฐเทวดานั่นเอง
             พวกวินิปาติกอสุรานี้ เป็นเทวดาที่มีรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว ความเป็นอยู่ก็ได้รับความลำบากมาก คล้ายกับพวกเปรต ต้องเสาะแสวงหาอาหารที่ชาวบ้านเขาทิ้งแล้ว เอามากิน นับเป็นเทวดาที่ไม่มีความงามด้วย ไม่มีความสุขด้วย เป็นอสุราด้วย แต่ยังนับเข้าอยู่บนเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา
                    อนึ่งเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาบางพวกที่เรียกว่าเวมานิกเปรต ก็มีปฏิสนธิมาจากอุเบกขาสันติรณกุศลวิปากจิตนี้ด้วยเหมือนกัน
                   อย่างไรก็ตามพวกวินิปาติกอสุรา และเวมานิกเปรตบางพวกที่ปฏิสนธิด้วย ทวีเหตุกปฏิสนธิ (เหตุ ๒) และติเหตุกปฏิสนธิ (เหตุ ๓) ก็มี พวกที่เป็นเหตุกปฏิสนธิถ้าได้ฟังธรรมและปฏิบัติตามพุทโธวาท สามารถบรรลุมรรค ผล รู้อริยสัจ ๔ ได้ (กุศลเหตุมี อโลภเหตุ อโทสะเหตุ อโมหะเหตุ)

 

 

                 ๑ คนใดก็ตามไปประทุษร้ายผู้บริสุทธิ์             ผลกรรมจะเกิดแก่ตนเองโดยทันที
                   เหมือนคนเป่าฝุ่นละอองทวนลม               ฝุ่นเหล่านั้นย่อมกลับมาเปรอะเปื้อนตน
                                                                                                                     พุทธพจน์

                 ๑ ผู้กระทำบุญ ย่อมบันเทิงทั้งในโลกนี้และโลกหน้า กรรมดี คนดีทำได้ง่าย
                 คนชั่วหาได้ยาก กรรมชั่ว คนชั่วหาได้ง่าย พระอริยะหาได้ยาก •
                                                                                                          พุทรพจน์

 

 

 

 

 

 

เชิงอรรถ

* จิตที่สืบต่อภพใหม่ จิตที่เกิดที่แรกในภาพใหม่
** จิตที่สืบต่อระหว่างปฏิสนธิจิตและจุติจิต มิได้เสวยอารมณ์ในทวารทั้ง ๖
*** จิตที่เคลื่อนจากภพหนึ่งไปสู่ภพอื่น
**** จิตที่ไม่มีเหตุประกอบ เหตุมี 5 อย่าง ฝ่ายอกุศลมี โลภะ โทสะ โมหะ ฝ่ายกุศลมี อโลภะ อโทสะ อโมหะ
***** สัตว์ที่เกิดในของชั้นแฉะไสโครก เถ้าไคล
****** สัตว์ที่เกิดผุดขึ้นโตเต็มตัวในทันที
******* คำว่า เอลา เอฬา แปลว่าน้ำลาย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.018180898825328 Mins