บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐

วันที่ 14 กย. พ.ศ.2566

14-9-66-BL.jpg

๔. บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐

                  กรรมอันเป็นเหตุให้ไปสู่กามสุคติภูมิในข้อที่ ๔ ได้แก่โดยการประกอบบุญญกิริยาวัตถุมี ๑๐ ประการ คือ
                ๑. การทำทาน
                ๒. การรักษาศีล
                ๓. การเจริญภาวนา
                ๔. อปจายนะ                     การอ่อนน้อมถ่อมตนด้วยกุศลเจตนา
                ๕. เวยยาวัจจะ                   การขวนขวายช่วยเหลือในกิจการงานที่สมควร
                ๖. ปัตติทานะ                     การอุทิศส่วนบุญให้แก่บุคคลอื่น
                ๗. ปัตตานุโมทนะ              การอนุโมทนาในส่วนบุญที่มีผู้อุทิศให้
                ๘. ธัมมสวนะ                     การฟังธรรม
                ๙. ธัมมเทสนา                   การแสดงธรรมให้ผู้อื่นฟัง
               ๑๐. ทิฏฐิชุกัมมะ                 การกระทําความเห็นให้ตรง

               บุญญกิริยาวัตถุ ข้อ ๑-๓ ทาน ศีล ภาวนา ได้แสดงไว้แล้วตามหัวข้อที่ว่า กรรมอันเป็นเหตุให้ไปสู่กามสุคติในข้อที่ ๒ ต่อจากนี้จะกล่าวสำหรับหัวข้อที่เหลืออยู่ คือ

               ๔. อปจายนะ การอ่อนน้อมถ่อมตนด้วยกุศลเจตนา
                   "อปจายนติ เอเตนาติ - อปจายน์”
                   ที่เป็นเหตุแห่งการเคารพอ่อนน้อมนั้น ชื่อว่า อปจายนะ ได้แก่เจตนาที่อยู่ในมหากุศลจิต

                 ธรรมดาสรรพสัตว์ที่มีชีวิต คือมีทั้งรูปกาย และจิตใจ ย่อมจะมีกิเลสประจำขันธ์สันดานอยู่ชนิดหนึ่ง ที่เรียกกันว่า อัสสมิมานะ คือการถือตัวถือตน ยึดมั่นในตนเองว่ามีความสำคัญอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อใดก็ตามที่ได้พบความอ่อนน้อมถ่อมตน อันเป็นธรรมชาติตรงกันข้าม ย่อมเกิดความรู้สึกพึงพอใจ เพราะเป็นเสมือนการยอมรับในความสำคัญของตน ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงในหมู่มนุษย์ แม้ในหมู่สัตว์เดรัจฉาน ตัวใดที่แสดงการอ่อนน้อมเกรงกลัวต่อตัวอื่น ยังไม่ใคร่ถูกรังแก ถ้าต่างตัวต่างรู้สึก “ใหญ่” ไม่มีใครยอมใคร บางทีต้องต่อสู้กันจนกระทั่งตาย

                 สำหรับคนนั้น ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ที่เมื่อผู้ใดบำเพ็ญให้เกิดขึ้นในตนแล้ว มักจะได้รับประโยชน์ในปัจจุบันทันตาเห็น จะได้รับความเอ็นดู ได้รับไมตรีจิตเป็นสิ่งตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นรูปจายนะแท้จริง หรือเป็นอุปจายนะที่เจือด้วยมารยาสาไถย

                อปจายนะแท้ เป็นการกระทำโดยบริสุทธิ์ใจ มิได้หวังลาภ ยศ สักการะ สิ่งตอบแทน อันใด เช่นเมื่อเราได้พบกับ บิดา มารดา ญาติผู้ใหญ่ ภิกษุ สามเณร ครูอาจารย์ เรายกมือทำความเคารพ กราบไหว้ คลานไปหา เข้าไปต้อนรับ ทำอาการช่วยเหลือ ช่วยถือสิ่งของ ฯลฯ ดังนี้เป็นอปจายนะแท้
                 ส่วนที่ต้องเคารพอ่อนน้อม เพราะเกรงกลัวในอำนาจ หวังประจบประแจง เพื่อให้ได้ลาภ ยศ สักการะ หรืออื่น ๆ เป็นรูปจายนะที่เจือด้วยมายาสาไถย
                 อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นอปจายนะที่ไม่แท้ ชีวิตในสังคมของคนในโลก ก็ยังมีความจำเป็นต้องปฏิบัติต่อกัน เพื่อความเป็นอยู่ร่วมกันโดยผาสุก เพียงแต่มิได้ถือเป็นบุญกุศลอันใด

                   อปจายนะ มี ๒ อย่าง คือ สามัญญอปจายนะ และวิเสสอปจายนะ
               สามัญญอปจายนะ เป็นการแสดงความเคารพนอบนบอ่อนน้อมต่อผู้ที่สมควรเคารพ เช่นเป็นญาติผู้ใหญ่ เป็นผู้มีคุณ เช่น บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ครู อาจารย์
              วิเสสอปจายนะ เป็นการแสดงความเคารพนอบนบอ่อนน้อม ในพระรัตนตรัยด้วยการระลึกนึกถึงพระคุณต่าง ๆ มี อรห์ เป็นต้น ประกอบด้วยอำนาจของมหากุศลจิตพร้อมด้วย ศรัทธา ปัญญา มีกราบไหว้พร้อมเปล่งวาจาว่า พุทธ สรณ์ คจฺฉามิ ดังนี้

                   บุคคลควรเคารพมีด้วยกัน ๓ ประเภท
                       ก. คุณวุฒิบุคคล เป็นผู้ใหญ่ด้วยอำนาจ ศีลคุณ สมาธิคุณ ปัญญาคุณ
                       ข. วัยวุฒิบุคคล เป็นผู้ใหญ่เพราะมีอายุมาก
                       ค. ชาติวุฒิบุคคล เป็นใหญ่ด้วยเชื้อชาติวงศ์สกุล
                   ในบรรดาวุฒิทั้ง ๓ ประเภทนี้ การเคารพนบนอบต่อคุณวุฒิบุคคลและวัยวุฒิบุคคลทั้งสองประเภทนี้ จัดเป็นรูปจายนะกุศลแท้ ส่วนการเคารพต่อชาติวุฒิ บุคคลเป็นใหญ่ด้วยเชื้อชาติหรือตำแหน่งหน้าที่การงาน โดยที่กระทำไปเพราะมีจิตเป็นโลภะ เช่น ปรารถนาให้เขารักใคร่ จะได้ชมเชยให้ลาภ ยศ ตำแหน่ง เงินเดือนเพิ่มเป็นต้น หรือเพราะจิตมีโทสะเช่นกลัวเขาจะเกลียดชังกลั่นแกล้ง จึงต้องฝืนแสดงกิริยาเคารพนบนอบ หรือจิตประกอบด้วยโมหะ เคารพไปตามเรื่องตามราวไม่รู้เหตุผล ดังนี้แล้วการแสดงความอ่อนน้อมนั้น ไม่เป็นกุศลแต่อย่างใด แม้จะกระทำด้วยอำนาจแห่งมหากุศลจิต เช่นกระทำด้วยศรัทธา เป็นต้น ก็ยังนับได้เพียงเป็นอปจายนะกุศลโดยอนุโลมเท่านั้น ถือเป็นการปฏิบัติตามมารยาทประเพณีดีงามของสังคม

                   วุฒิทั้ง ๓ ประการนี้ บางท่านที่มีครบทั้ง ๓ ประเภท เช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบางคนมีเพียง ๒ ประเภท บางคนมีเพียงประเภทใดประเภทหนึ่ง โดยปกติแล้วผู้ที่ประกอบด้วยคุณวุฒิ มีศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าได้พบกับผู้ที่มีวัยวุฒิหรือชาติวุฒิมากกว่าแต่ด้อยกว่าตนในทางคุณวุฒิเป็นอันมาก แม้ว่าผู้นั้นจะเป็นญาติผู้ใหญ่เพียงใด ก็ควรทำความเคารพ อย่างมากเพียงการไหว้อย่างธรรมดา ไม่ควรทำการเคารพด้วยการกราบ ยิ่งหากผู้นั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิบุคคลด้วยแล้ว ทั้งยังมีความประพฤติเลวทรามอีก ไม่จำเป็นต้องแสดงความเคารพด้วยการกราบเลย อย่างดีที่สุดเพียงการไหว้เท่านั้น เพราะผู้มีคุณวุฒิมีหน้าที่ต้องเคารพในคุณธรรม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ของตน อันเป็นคุณสมบัติที่ประเสริฐกว่าผู้นั้น ถ้าหากไปกราบเข้า และคนผู้นั้นยินดีในการกราบนั้นด้วยแล้ว จะเป็นโทษแก่คนผู้ถูกกราบนั้นทั้งภพนี้และภพหน้า ซึ่งเป็นไปตามหลักของธรรมชาติ
                    การแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน ให้ประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ปฏิบัติ

                    อภิวาทนสีลิสส นิจจ์ วุฑฒิปรายโน จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วัณโณ สุข พลฯ
                 ผู้ใดมีการกราบไหว้พระรัตนตรัย บิดามารดา ครูอาจารย์ อยู่เป็นนิจ และมีความเคารพต่อผู้ที่มีคุณวุฒิ วัยวุฒิแล้ว ผู้นั้นย่อมเจริญด้วยคุณธรรม ๔ ประการ ยิ่ง ๆ ขึ้น คือเป็นผู้มีอายุยืน มีร่างกายผิวพรรณงดงาม มีเกียรติยศชื่อเสียง มีความสุขกาย สุขใจ มีกำลังกายและปัญญาดังนี้

                    ในสมัยยุคปัจจุบันมนุษย์ทั้งหลายมีกิเลสเพิ่มมากขึ้นทั้ง โลภะ โทสะ และโมหะความเป็นอยู่ในสังคมตั้งแต่สังคมขนาดเล็กคือในครอบครัว และสังคมที่ขยายออกไปในสถานที่ประกอบการงานอาชีพ สังคมของประเทศชาติ และสังคมของโลกคือระหว่างประเทศต่อประเทศ ความประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนนับเป็นมาตรการหรืออุบายวิธีประการหนึ่ง ที่จะรักษาผลประโยชน์ รักษาความสงบร่มเย็นเอาไว้ได้ ความอวดดื้อถือดีในครอบครัวถึงต้องวิวาทบาทหมางกัน ความอวดดีของผู้นำของบางประเทศทำให้เกิดสงครามระหว่างประเทศ ผู้คนล้มตายมากมาย
                      ด้วยเหตุนี้อปจายนะ จึงมีเพียงเพื่อให้ได้บุญเท่านั้น แต่ได้ความสงบสุขและประโยชน์อื่น ๆ ตามมาอีกมาก

                   ๕. เวยยาวัจจะ การช่วยเหลือขวนขวายในกิจที่ชอบ เป็นการทำความดีด้วยการรับใช้ผู้อื่น เป็นบุญที่เกิดจากการมีความพยายามเป็นพิเศษ คือเป็นกังวลเอาใจใส่ช่วยเหลือในกิจการต่าง ๆ ที่สมควร เช่นกิจการที่เกี่ยวกับปริยัติ ปฏิบัติ การบริจาคทาน การเจ็บไข้ไม่สบาย การปฏิสังขรณ์ การทำความสะอาดวัดวาอาราม ปูชนียสถาน
                      อนึ่งแม้การช่วยเหลือท่าการงานต่าง ๆ ที่ไม่มีโทษของ บิดา มารดา ครูอาจารย์ ญาติพี่น้อง มิตรสหาย บุตรธิดา แม้จะเป็นการงานทางโลก ก็จัดเป็นเวยยาวัจจกุศลทั้งสิ้น

                      การช่วยเหลือกิจการงานที่ชอบเหล่านี้ จะเป็นบุญกุศลที่แท้จริงได้ ต้องทำจิตที่เป็นมหากุศล ไม่หวังสิ่งตอบแทนเป็นคำยกย่อง ลาภ ยศใด ๆ คงมีเจตนาดีเพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ที่ต้องการช่วยเหลือนั้น ๆ เป็นประการสำคัญ

                      ๖. ปัตติทาน การอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้อื่น คำว่าปัตติทานหมายถึง สิ่งที่ดีงามอันตนกระทำแล้ว เช่นการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา คำว่า ทานะ หมายถึงการให้
                    ปัตติทาน การให้ส่วนบุญ ปัตติทานนี้ผู้กระทำสามารถอุทิศให้ทั้งผู้ที่ตายไปแล้วและผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ สิ่งที่เรียกว่าบุญเป็นนามธรรม ไม่ใช่วัตถุสิ่งของ การให้วัตถุสิ่งของนั้น เมื่อให้สิ่งใด ๆ ไปแล้ว วัตถุเหล่านั้นย่อมหมดไป แต่การอุทิศส่วนบุญ อุทิศแล้วกลับได้บุญเพิ่มพูนยิ่งขึ้น เสมือนการจุดโคมไฟ เมื่อเราจุดขึ้นแล้ว และยอมให้ผู้อื่นนำโคมของเขามาจุดไฟต่อจากเรา ยิ่งมากคนเท่าใด แสงสว่างย่อมมีปริมาณมากยิ่งขึ้น การให้ผู้อื่นจุดไฟต่อจากเราเหมือนเรายอมแบ่งส่วนบุญที่เรากระทำแล้วให้ผู้อื่น ข้อสำคัญเป็นการแบ่ง “ส่วน” คือมิได้ให้ทั้งหมด เหมือนการให้จุดไฟต่อ มิใช่ยกโคมไฟของเราให้เขา

                       ๗. ปัตตานุโมทนะ การอนุโมทนารับส่วนบุญที่เขาอุทิศให้มา
                       เป็นบุญที่เกิดจากการเห็นดีด้วย คล้อยตาม มีความปีติยินดีอิ่มใจในส่วนบุญที่เขาอุทิศมาให้ คำว่า ปัตติในข้อที่ ๖ เป็นบุญกุศลที่ตนเองพยายามก่อสร้างขึ้น แล้วแบ่งให้ผู้อื่น ส่วนค่า ปัตติในข้อนี้หมายเอาบุญกุศลที่ผู้อื่นกระทำแล้วแบ่งให้มา "ปาปิยปตฺติ กุศลที่คนอื่นพึ่งอุทิศให้ ฉะนั้นชื่อปัตติ เมื่อผู้ใดอุทิศส่วนกุศลมาให้” จะโดยการเปล่งวาจา การแจ้งด้วยตัวหนังสือ หรือวิธีใดก็ตาม เมื่อผู้รับทราบและเปล่งวาจาว่า “สาธุ” โดยเจตนายินดีด้วยนั้น เจตนาอันนี้เรียกว่า ปัตตานุโมทนะ เป็นบุญกุศลเกิดขึ้น
                       การอนุโมทนาที่ทำให้เกิดบุญกุศลมาก คือต้องเป็นเจตนาที่กระทำด้วยความยินดีประกอบด้วยปัญญา ถ้าเปล่งวาจาสาธุตาม มารยาท จิตใจรู้สึกเฉย ๆ ขาดปัญญา บุญกุศลย่อมไม่สมบูรณ์

                      สําหรับการที่เราเห็นผู้หนึ่งผู้ใดประกอบคุณงามความดีต่าง ๆ เช่นเห็นเขากำลังทำกุศล บริจาคทาน รักษาศีล เจริญภาวนา หรือได้เห็นคำจารึกชื่อเจ้าของ ผู้สร้างสิ่งอันเป็นสาธารณประโยชน์ ก็เกิดปีติโสมนัสด้วย โดยที่ผู้นั้นมิได้กล่าวอุทิศส่วนกุศลให้ ดังนี้ไม่ถือเป็นปัตตานุโมทนาโดยตรง ถือเป็นเพียงอนุโลมเท่านั้น ความปิติยินดีต่อการทำความดีของผู้อื่น แม้จะกล่าวคำสาธุออกมาหรือไม่ก็ตาม นับว่าเป็นสิ่งควรกระทำ เป็นการแสดงมุทิตาจิต กำจัดความเป็นคนขี้อิจฉาริษยา ถึงจะได้บุญกุศลทางปัตตานุโมทนาไม่สมบูรณ์ แต่ย่อมได้ประโยชน์ต่อจิตใจในด้านอื่น ส่วนบุญที่ผู้อื่นแผ่มาให้ มี ๒ ประการ
                       ๑. อุทฺทิสสิกปตฺติ ส่วนบุญที่เขาแผ่ให้โดยเจาะจง
                       ๒. อนุทฺทิสฺสิกปตฺติ ส่วนบุญที่เขาแผ่ให้โดยไม่เจาะจง

                       อุทฺทิสฺสิกปตฺติ ผู้ที่ได้รับส่วนบุญชนิดนี้เมื่อกล่าวอนุโมทนาว่า สาธุ แล้วย่อมได้รับผลทันที เช่นการอุทิศส่วนบุญโดยเจาะจงให้แก่ญาติที่เป็นเปรต (ประเภทที่มีความเป็นอยู่เนื่องด้วยผลบุญที่ผู้อื่นอุทิศมาให้ คือปรทัตตูปชีวิกเปรต)
                       สำหรับอนุททิสสิกปัตตินั้น ไม่ได้รับผลปรากฏชัดในทันทีทันใด เหมือนชนิดแรกแต่จะคอยสนับสนุนส่งเสริมบุญชนิดแรกให้มีกำลังกล้าแข็ง
                       การกล่าวถึงผู้รับส่วนบุญในที่นี้ หมายเอา ปรทัตตุปชีวิกเปรต วินิปาติกอสุราและเวมานิกเปรตที่เป็นพวกเทวดาชั้นต่ำในจาตุมหาราชิกาภูมิ ส่วนในหมู่มนุษย์ด้วยกัน เมื่ออนุโมทนาบุญที่เขาแบ่งให้แล้ว บุญนั้นมิได้เกิดเป็นข้าวของเงินทอง อาหารการกิน ที่อยู่ที่อาศัย แต่ประการใด สิ่งที่เกิดขึ้นคงเป็นความสุขทางจิตใจเป็นส่วนใหญ่ คือมีการนิยมชมชอบว่าเป็นคนใจบุญ ใจดี ใจกว้าง เป็นที่รักใคร่ในหมู่ชนทั้งปวง ผู้อุทิศส่วนบุญอนุโมทนาส่วนบุญ ต่างมีใจเบิกบาน สุขสบายไม่เดือดร้อน พลอยให้หน้าตาผิวพรรณชุ่มชื่นแจ่มใสไม่ขุ่นมัว

                       คำกล่าวอุทิศส่วนบุญโดยเจาะจง
                        อิทํ เม ปุญญํ มาตาปิตุอาจริยญาติมิตฺตสมหานํ เทมิ ฯ
                       ขออุทิศส่วนแห่งการกระทำบุญเกี่ยวกับทาน ศีล ภาวนา ของข้าพเจ้าให้แก่ มารดา บิดา ครูอาจารย์ ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วหรือที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นด้วยเทอญ
                        (การกล่าวอย่างเจาะจงนั้น บางคนนิยมเอ่ยชื่อผู้ที่ต้องการอุทิศให้นั้นไปด้วยในกรณีที่ผู้นั้นตายไปแล้ว )

                        คำกล่าวแต่อุทิศอย่างไม่เจาะจง
                        อิทํ เม ปุญญํ สพฺสตฺตานิ เทมิ ฯ
                        ขออุทิศส่วนบุญที่เกี่ยวกับทาน ศีล ภาวนา ของข้าพเจ้านี้ ให้แก่บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วยกันทั้งหมดเทอญ

                        ๘. ธัมมสวนะ การฟังธรรม ได้แก่เจตนาที่มีอยู่ในมหากุศลจิตโดยมีโยนิโสมนสิการเป็นประธาน
                        การฟังธรรมที่แท้ คือการฟังปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ตามหลักพระพุทธศาสนาเพื่อให้เกิดปัญญาอบรมตน ประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมนั้น ๆ อันจะเป็นเหตุให้สามารถพาตนให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสาร
                        แต่การฟังวิชาการต่าง ๆ ทางโลกที่ไม่มีโทษ ก็พอจัดเข้าเป็นธัมมสวนกุศลได้โดยประมาณ การฟังธรรมจะได้กุศลมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ คือความมุ่งหมายของผู้ฟัง
                        ผู้ที่คิดว่า ถ้าตนไปฟังธรรมอยู่เสมอ ๆ ชนทั้งหลายจะพากันนิยมชมชื่นยกย่องเห็นว่าเป็นผู้ที่มีศรัทธา ฟังแล้วยังคิดนำมาคุยโอ้อวดข่มผู้อื่นยิ่งขึ้นไปอีก การฟังดังนี้อานิสงส์น้อย
                        ถ้าฟังธรรมเพื่อขัดเกลาจิตใจตนให้อ่อนโยน มีสติปัญญา รู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ ทำให้จิตใจชุ่มชื่นผ่องใสเบิกบาน มีเมตตา กรุณาต่อผู้แสดง ผู้สอน เลิกละจากบาป จากอกุศลต่าง ๆ การฟังธรรมอย่างนี้มีอานิสงส์มาก จัดเป็นธัมมสวนกุศลที่แท้จริง

                         การฟังธรรมนั้นถ้าฟังด้วยอาการสำรวมเคารพ ตั้งใจกำหนดจดจำ พิจารณา ไตร่ตรอง เก็บเอาประโยชน์ในเนื้อหาสาระที่ได้ฟัง ทำอินทรีย์ของตนทั้ง ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา แก่กล้ายิ่งขึ้น ย่อมเป็นประโยชน์ เป็นบุญกุศลโดยตรง แม้เป็นการฟังที่ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจความหมายเลย เช่น การฟังสวดมนต์แต่ผู้ฟังได้แสดงการเคารพตั้งใจกำหนดในถ้อยคำ ไม่ส่งใจไปคิดฟุ้งซ่านเรื่องอื่น การฟังนั้นก็ถือเป็นบุญกุศลด้วยเหมือนกัน เป็นทั้งอปจายนกุศลและธัมมสวนกุศล

                         ๙. ธัมมเทสนา การสอนธรรมให้แก่ผู้อื่น
                         ธัมมะเทศนากุศลที่มีอานิสงส์มาก ผู้แสดงต้องแสดงด้วยใจบริสุทธิ์ กล่าวคือ ไม่มุ่งหวังในลาภ สักการะ ยศ สรรเสริญ แต่อย่างใด หวังให้ผู้ฟังได้รับประโยชน์อย่างเดียว ถ้าแสดงธรรมด้วยความมุ่งหมายตรงข้าม ถือว่าเป็นธัมมเทสนาที่เป็นกุศลไม่แท้ ไม่ถูกต้อง มีอานิสงส์น้อย
                         ในที่นี้ ลาภ           หมายถึง ของที่เขาให้ตอบแทนการแสดงธรรม
                                  สักการะ      หมายถึง การได้รับความเคารพนับถือ
                                  ยศ             หมายถึง การมีบริวารหรือลูกศิษย์
                                  สรรเสริญ    หมายถึง เกียรติ ชื่อเสียง

                          “เอโก อตฺตโน ปคุณ ธมฺม อปจจาสสมาโน วิมุตตายตนสีเสน ปเรส เทเสติ
                          อิทํ เทสนามยํ ปุญญกิริยาวัตถุ นาม"

                          ผู้ใดผู้หนึ่งแสดงธรรมแก่ชนทั้งหลายด้วยความรู้ความชำนาญของตน โดยไม่มีการมุ่งหวังในลาภแต่อย่างใด มุ่งมั่นแต่จะให้สำเร็จอรหัตตผลอย่างเดียว การแสดงธรรมอย่างนี้ได้ชื่อว่าบุญญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ธัมมเทศนามัยกุศล
                              การให้ธรรมเป็นทาน มีอานิสงส์มากดังมี วจนัตถะว่า
                                   "สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ”
                              การให้ธรรมย่อมชนะการให้ทั้งปวง

                            ๑๐. ทิฏฐิชุกัมมะ คือการทำความเห็นให้ตรง ได้แก่กัมมัสสกตาญาณพร้อมด้วยกุศลเจตนา กัมมัสสกตาญาณ หมายความถึง ปัญญาที่รู้ว่าสัตว์ทั้งหลายมีสิทธิ์ในการกระทำของตนทั้งในฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี ส่วนทรัพย์สมบัติอื่น ๆ รวมทั้งบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มิใช่เป็นสิทธิ์โดยแท้จริงของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น เพราะไม่สามารถติดตามตัวไปในภพอื่นได้ แม้แต่ในภพนี้เองก็ยังมีสิทธิ์ไม่แน่นอน ยังมีภัยหลายประการ มาทำให้วิบัติพลัดพรากจากกันไป ความเห็นตามความเป็นจริงดังนี้เรียกว่า ทิฏฐิ กัมมะ

                               “กมุมํ สกํ เยสนฺติ = กมฺมสฺสกา กรรมเป็นกรรมสิทธิ์ของตนมีแต่สัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายจึงได้ชื่อว่า กัมมัสสกะ "
                               "อตฺตโน ปจฺจเยหิ อุชุํ กรียติ = อุชุกมุมํ ธรรมชาติใดถูกปัจจัยของตนกระทำให้ตรง ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า อุชุกัมมะ”
                               " ทิฏฐิ เอว อุชุกมุมํ = ทิฏฐิชุกมุมํ ความเห็นคือปัญญานี้แหละที่เป็นธรรม ที่ถูกกระทำให้ตรง ชื่อว่า ทุกซุกัมมะ "

                                     ธรรมที่เป็นปัจจัยให้เกิดกัมมัสสกตาญาณ มีอยู่ด้วยกัน ๓ ประการ
                                ๑. สุตมยปัญญา             ปัญญาที่เกิดจากการศึกษาเล่าเรียน
                                ๒. จินตามยปัญญา         ปัญญาที่เกิดจากการคิดนึกพิจารณา ในความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลายที่แตกต่างกัน
                                ๓. ภาวนามยปัญญา        ปัญญาที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนาภาวนา

                                ปัญญาทั้ง ๓ นี้เป็นปัญญาที่เป็นเหตุ ส่วนปัญญาที่เป็นผลนั้นคือ กัมมัสสกาตญาณ กัมมัสสกตาญาณที่สำเร็จเป็นทิฏฐิ กัมมกุศล จะต้องมีความเห็นถูกต้องในสัมมาทิฏฐิทั้ง ๑๐ ประการคือ
                                ๑. อตฺถิ ทินฺนํ เห็นว่าการให้ทานนั้นเป็นสิ่งมีประโยชน์
                                ๒. อิตฺถิ อิฏฐํ เห็นว่าการบูชาต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งมีประโยชน์
                                ๓. อตฺถิ หุตํ เห็นว่าการเชื้อเชิญต้อนรับต่าง ๆ มีประโยชน์
                                ๔. อตฺถิ สุกตทุกกตานํ กมมาน ผล วิปาโก เห็นว่าการทำดี ทำชั่ว เหล่านี้มีการได้รับผล
                                ๕. อตฺถิ อยํ โลโก เห็นว่าโลก (ภพ) นี้มีอยู่ คือผู้ที่กำลังปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ ที่เรียกว่าภพนี้ ย่อมมี
                                ๖. อตฺถิ ปโร โลโก เห็นว่าภพหน้ามี คือภพอันเป็นที่เกิดต่อไปข้างหน้าของภพที่ปรากฏอยู่ขณะนี้ ย่อมมี หมายความว่าเมื่อตายแล้วมีการเกิดใหม่อีก
                                ๗. อตฺถิ มาตา เห็นว่าการทำดี ทำชั่ว ต่อมารดามีการได้รับผลในข้างหน้า
                                ๘. อตฺถิ ปิตา เห็นว่าการทำดี ทำชั่ว ต่อบิดามีการได้รับผลในข้างหน้า
                                ๙. อตฺถิ สตฺตา โอปปาติกา เห็นว่าสัตว์ที่เกิดเป็นตัวโตใหญ่ทีเดียว คือสัตว์นรก เปรต เทวดา พรหม มีจริง
                                ๑๐. อตฺถิ โลเก สมณพฺรหฺมณา สมคฺคตา สมฺมาปฏิปนฺนา เย อิมญฺจ โลกํ ปรญจโลกํ สยํ อภิญญา สจฺฉิกตฺวา ปเวเทนฺติ เห็นว่าสมณพราหมหณ์ที่มีการรู้แจ้งด้วยตนเองทั้งโลกนี้โลกหน้า และสามารถชี้แจงแนะนำให้เข้าใจได้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความสามัคคีปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเหล่านี้ มีอยู่

                             ทสวัตถุกสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ประการที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นเหมือนแผ่นหินที่มีไว้ใช้ทดลองฝนดูเนื้อทอง ว่าเป็นของแท้หรือของเทียม ผู้ใดมีสัมมาทิฏฐิครบทั้ง ๑๐ ข้อถือได้ว่าเป็นผู้มีทิฏฐิกัมมะ แม้จะมีความเห็นตรงถูกต้องดีแล้ว ก็ต้องพิจาณาให้ถี่ถ้วนว่า เป็นความเห็นลึกซึ้งเพียงใด เพราะบางคนเห็นประโยชน์เพียงตื้น ๆ เช่นความเห็นในข้อ ๑-๒-๓ คิดว่าได้ประโยชน์ทำให้เป็นคนมีหน้ามีตา เป็นที่รักใคร่นิยมชมชอบในสังคม จะทำการติดต่อเพื่อประโยชน์ต่อการงานในอาชีพได้สะดวกสบาย อันเป็นทิฏฐธัมมเวทนียผล (ผลที่ได้รับประจักษ์ชัดในภาพนี้ทันตาเห็น) แต่ไม่เข้าใจถึงผลที่จะพึงได้รับในภพหน้า (อุปปัชเวทนียผล) และผลที่จะพึงได้รับในภพที่ ๓ เป็นต้นไปจนถึงพระนิพพาน (อปราปริยเวทนียผล) ดังนี้ยังใช้ไม่ได้ ต้องเข้าใจโดยถ่องแท้ จะต้องมีปัญญาที่เกิดจากสุตมยะจินตามยะ และภาวนามยะ พร้อมไปด้วย
                             ผู้ที่มีความเห็นตรงตามหลักทสวัตถุกสัมมาทิฏฐิแล้วทุกประการ ชื่อว่ามีกัมมัสลูกตาญาณเกิดขึ้น การบริจาคทาน รักษาศีล เจริญภาวนาของผู้นั้นมีอานิสงส์มากหาที่เปรียบไม่ได้ ตรงข้ามกับ ทาน ศีล ภาวนาของผู้ไม่มีกัมมัสสกตาญาณ ซึ่งย่อมมีอานิสงส์น้อย
                              ทิฏฐิกัมมะ มีเจตนาทั้ง ๓ กาล รวมอยู่ด้วย คือ
                       เมื่อผู้ใดแต่เดิมมีความเห็นไม่ถูกต้อง เช่นไม่เชื่อเรื่องการตาย การเกิด เรื่องภูมิที่เสวยความทุกข์ คือ นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน เรื่องภูมิที่มีความสุข เช่น เทวดาพรหม มนุษย์ตายแล้ว อาจเกิดเป็นมนุษย์อีกก็ได้ ไปเกิดในภูมิอื่นก็ได้ตามแต่บาปบุญที่กระทำไว้ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ครั้นต่อมาเมื่อมีความเข้าใจถูกต้องเกิดขึ้น ได้สำนึกตัวเห็นว่าความคิดของตนไม่ถูก ควรอบรมศึกษาเล่าเรียนให้เป็นผู้มีความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง การรู้สึกตัวเช่นนี้เป็นทิฏฐิ กัมมะในปุพพเจตนา

                             เมื่อตกลงใจแล้ว จึงเริ่มต้นศึกษาเล่าเรียนในข้อธรรมต่าง ๆ รวมทั้งการปฏิบัติตามหลักธรรม ทำให้ความรู้ ความเห็น ความเข้าใจ ค่อยถูกต้องดีขึ้นเป็นลำดับๆ มีความแจ้งชัดเจนในเรื่องการตาย การเกิด นรก สวรรค์ เป็นต้นเหล่านั้นว่ามีความจริงมากน้อยประการใด ความเห็นอันดีงามเหล่านี้เป็น ทิฏฐิ กัมมะ ในขณะที่เป็นมุญจเจตนา
                              ภายหลังเมื่อมีความเห็นชอบถูกต้องเป็นอย่างดีแล้ว ก็มาพิจารณาถึงความเป็นไปของตนว่า เมื่อก่อนเป็นผู้มีความคิดเห็นผิดต่าง ๆ มาบัดนี้ได้มากระทำความเห็นตรงตามความจริงได้แล้ว จึงรู้สึกพอใจ มีความชื่นชมยินดี การพิจารณาทราบความเป็นไปของตนเองดังนี้เป็น อปรเจตนา

                           ในปุญญกิริยา ๑๐ ประการ ที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด อันเป็นกรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติไปเกิดในกามสุคติภูมิได้ หลังจากตายแล้วนั้น ความจริงแล้วจะสงเคราะห์ย่อลงให้เหลือเพียง ๓ อย่างคือ ทาน ศีล ภาวนา ก็ได้ กล่าวคือ ปัตติทาน และปัตตานุโมทนะ อยู่ในทานกุศล อปจายนะและเวยยาวัจจะ อยู่ในศีล ธัมมสวนะและธัมมเทศนา ทิฏฐิ กัมมะ อยู่ในภาวนา

                               การที่จัดสงเคราะห์เข้าไว้ดังนี้ เพราะมีเหตุผลคือ
                              ทานกุศล เป็นการทํากุศลด้วยการบริจาค ท่าการเสียสละสิ่งที่มีค่าของตนออกให้ผู้อื่น ผู้จะปฏิบัติได้ย่อมเป็นบุคคลที่ไม่มีความอิจฉาริษยา ในทรัพย์สมบัติหรือคุณงามความดีของผู้อื่น เพราะถ้ามีความรู้สึกดังนี้ จะทำการบริจาคไม่ได้ จะเกิดความไม่พอใจในการที่ปฏิคาหกรับวัตถุสิ่งของไปจากตน
                            นอกจากปราศจากความอิจฉาแล้ว ยังต้องปราศจากมัจฉริยะ เพราะถ้ายังมีอยู่ย่อมเกิดความไม่พอใจที่เห็นทรัพย์ของตนสิ้นเปลืองไปด้วยการทำทาน
                               รวมความแล้ว ทานกุศลจึงเป็นปฏิปักษ์กับอิสสาและมัจฉริยะ

                              ส่วนการเกิดขึ้นของปัตติทาน และปัตตานุโมทนะทั้งสองอย่างนี้ มีลักษณะอย่างเดียวกับทานกุศล คือผู้ที่กระทำปัตติทานได้ ย่อมไม่มีอิสสาและมัจฉริยะ ถ้ามีอิสสาย่อมไม่พอใจที่ผู้อื่นได้รับกุศลโดยง่ายสะดวกสบายจากตน โดยไม่ต้องลำบากเหน็ดเหนื่อย ถ้า
มีมัจฉริยะย่อมไม่พอใจ ไม่เต็มใจแบ่งส่วนกุศลให้ใคร ปัตติทาน จึงเป็นปฏิปักษ์กับอิสสาและมัจฉริยะเช่นเดียวกับทาน

                            สำหรับปัตตานุโมทนะ การอนุโมทนาในบุญกุศลที่ผู้อื่นแผ่ให้ ถ้าเป็นผู้มีใจอิจฉาริษยาแล้ว ย่อมไม่พอใจในการประกอบการกุศลของผู้อื่น เห็นเป็นการโอ้อวดเอาหน้า มีความรู้สึกที่เรียกกันว่า “หมั่นไส้” เกิดขึ้น ใจจึงไม่คิดจะน้อมรับเอาบุญกุศลที่เขาอุทิศให้
                             ถ้ามีมัจฉริยะหวงแหนในทรัพย์สมบัติและคุณความดีของตน ก็ย่อมเกิดความรู้สึกขัดแย้งในการบริจาคทานของผู้อื่น เพราะตนเองทำดังนั้นไม่ได้ บางทีเกิดความเสียดายคิดอยากให้ผู้นั้นมาบริจาคสิ่งเหล่านั้นให้ตนเอง ดีกว่าเอาไปให้ที่นั้นไปเสียอีก
                            ถ้าเป็นปัตตานุโมทนะทีเกี่ยวกับการรักษาศีล เจริญภาวนา ก็ทำใจให้น้อมรับได้ยาก เพราะตนเองไม่สามารถกระทำดังนั้นได้บ้าง จึงไม่เห็นคุณค่า เห็นเป็นความไม่จำเป็นบ้าง เห็นเป็นการโอ้อวดไปบ้าง ไม่ยอมรับด้วยจริงใจ

                        อปจายะนะ เวยยาวัจจะ สองอย่างนี้เป็นจาริตตาศีล คือความประพฤติที่ดีงามไม่ว่าของคฤหัสถ์ หรือบรรพชิต เป็นข้อควรปฏิบัติจัดเข้าอยู่ในศีลมัยกุศล
                             ธัมมสวนะ ธัมมเทศนา ทิฏฐิกัมมะ ทั้ง ๓ นี้ เมื่อปฏิบัติแล้วทำให้กุศลธรรมในตนเจริญยิ่งๆ ขึ้น เช่นเดียวกับการเจริญภาวนา ซึ่งเป็นกิจที่ทำให้จิตใจเจริญในธรรมเหมือนกัน บางทีการแสดง การสอนธรรม ธัมมเทศนานั้นก็ถูกจัดไว้ในทานกุศลด้วย ดังที่กล่าวว่าการให้ธรรมย่อมชนะการให้ทั้งปวง
                             ทิฏฐิชุกัมมะ เป็นเครื่องหมายอันสมบูรณ์ของบุญกิริยาวัตถุทั้งปวง อันที่จริงการทำความเห็นให้ตรงนี้ เป็นเสมือนกาีถือหางเสือเรือ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งนำไปสู่จุดหมายปลายทาง การทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาที่มีทิฏฐิซุกัมมะ ย่อมส่งผลมหาศาลให้ได้สมตามประสงค์

                            ที่กล่าวมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ บุญญกิริยาวัตถุ ๓ จิตที่เป็นผลของกุศล ๘ ชนิด และบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ ล้วนแต่เป็นกุศลกรรมที่ผู้ปฏิบัติจะได้ไปสู่กามสุคติภูมิ คือ มนุษย์และเทวดา ภายหลังเมื่อสิ้นชีวิตจากการเป็นมนุษย์แล้ว กุศลชนิดนี้เรียกกามาวจรกุศลกรรม

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.037555066744486 Mins