ธรรมะคือธรรมกาย

วันที่ 13 มีค. พ.ศ.2567

130367b01.jpg
ธรรมะคือธรรมกาย
พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

 

                ต่อจากนี้ขอเรียนเชิญทุกท่านนั่งหลับตาเจริญภาวนากัน นั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้มือขวา จรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ ท่านที่นั่งขัดสมาธิ ไม่ถนัดก็ให้นั่งพับเพียบ แล้วก็เอามือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักในทำนองเดียวกัน หลับตาของเราเบา ๆ พอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ หลับตาของเราพอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ ขยับเนื้อขยับตัว ให้ร่างกายของเราพอเหมาะต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม อย่าให้มีส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายของเราเกร็งหรือเครียด กะคะเนว่าเลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก ไม่เอียงไปข้างซ้าย ข้างขวา ไม่งอมาข้างหน้า หรือหงายไปข้างหลัง ตั้งกายตรง พอสบาย ๆ ปรับกันให้ดีนะจ๊ะ

 


                ต่อจากนี้ก็ให้ปรับใจของเรา ใจที่เหมาะต่อการเข้าถึงธรรมกายนั้น จะต้องเป็นใจที่ปลอดโปร่งว่างเปล่าจากภารกิจทั้งหลายทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจการงาน เรื่องครอบครัว หรือเรื่องการศึกษาเล่าเรียน ให้ปลดให้ปล่อยให้วาง ชั่วขณะ แล้วก็ทำประหนึ่งว่าเราอยู่คนเดียวในโลก ไม่มีมนุษย์คนใดทั้งสิ้นมีเราอยู่คนเดียว หลังจากนั้นทําใจให้เบิกบานให้แช่มชื่น ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส การเข้าถึงธรรมกายนั้น เป็นของที่ทำได้ยากยิ่ง แต่ไม่เหลือวิสัยในการเข้าถึง ถ้าทุกคนตั้งใจ ประพฤติปฏิบัติธรรมกันอย่างจริงจัง เอาชีวิตเป็นเดิมพัน 

 


                ประกอบความเพียรอย่างกลั่นกล้า ประกอบไปด้วย จาตุรังควิริยะ คือเนื้อเลือดจะแห้งเหือดหายไป เหลือแต่กระดูกหนังชั่งมัน ถ้าเข้าไม่ถึงธรรมกายก็ยอมตาย ถ้าไม่ถึงก็ยอมตาย ตั้งใจอย่างนี้ อย่างจริงจัง เอาชีวิตเป็นเดิมพันต้องเข้าถึงทุกคน เพราะธรรมกายนี้มีปรากฏอยู่ใน ศูนย์กลางกายของพวกเราทุก ๆ คน ของมนุษย์ ทุกคนในโลก เป็นกายที่ตรัสรู้ธรรม รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอด ในธรรมะทั้งหลาย แทงตลอดในธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ กายอื่นนั้นไม่อาจที่จะแทงทะลุธรรมะ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ได้ เพราะว่ายังเป็นกายที่ติดอยู่ในภพ ข้องอยู่ในภพเหมือนกับอยู่ในกะลาครอบ ไม่ได้ออกไปนอกภพ 

 


                กายอื่นที่เรียกว่าขันธ์ทั้ง ๕ นั้น คือกายมนุษย์หยาบ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายพรหม แล้วก็กายอรูปพรหม ที่ซ้อนกันอยู่ภายในเป็นกายที่อยู่ในภพทั้งสาม อยู่ในกามภพ อยู่ในรูปภพ อยู่ในอรูปภพ จึงไม่อาจจะแทงตลอด ในธรรมทั้งหลายทั้งปวงได้ กายธรรมนี้จึงเป็นหลักของชีวิต หลักของพระพุทธศาสนา พูดง่าย ๆ ธรรมกาย ก็คือตัวศาสนานั่นเอง ตัวพุทธศาสนานั่นเอง คำสอนทั้งหลาย หลั่งไหลออกมาจากธรรมกายของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ได้เข้าถึงธรรมกายแล้ว คำสอนทั้งหลายจึงปรากฏเกิดขึ้น ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อพระองค์ได้ทรงศึกษาจากครูต่าง ๆ ตั้งแต่ครูอาฬารดาบสและอุทกดาบส ก็ไม่ได้พบความจริง ดังเช่นที่พระองค์พบด้วยธรรมกาย 

 


                เพราะฉะนั้นความรู้ทั้งหลายจึงหลั่งไหล ออกมาจากธรรมกายของพระองค์ เมื่อรู้แล้วเห็นแล้วก็เกิดพระมหากรุณาธิคุณอยากจะสั่งสอนสัตว์โลกทั้งหลาย ให้รู้แจ้งเห็นจริงเช่นเดียวกับพระองค์บ้าง จะได้เข้าถึงความสุข อันเป็นอมตะ จึงได้แนะนำสั่งสอนสัตว์โลกทั้งหลาย ให้เข้าถึงธรรมกายด้วยวิธีการปฏิบัติที่เราเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา หนทางสายกลาง อันประกอบไปด้วยสัมมาทิฏฐิเป็นเบื้องต้น สัมมาสมาธิเป็นเบื้องปลาย ให้ประกอบการดำรงชีวิตในโลกนี้ด้วยสัมมาทิฏฐิ เรื่อยมาจนกระทั่งถึงการทำสัมมาสมาธิ ฝึกใจให้หยุดนิ่งอยู่ภายในศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อฝึกปฏิบัติไปถูกส่วนเข้าไม่ช้าก็จะพบหนทางที่จะเข้าถึงธรรมกาย 

 


                หนทางเบื้องต้นที่จะเข้าถึงธรรมกายนั้นเรียกว่าปฐมมรรค มีลักษณะคล้ายกับดวงดาวในอากาศ หรือพระจันทร์ ในคืนวันเพ็ญหรือพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน คล้ายดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวใส สะอาดบริสุทธิ์ กลมรอบตัว เหมือนดวงแก้วกายสิทธิ์ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ปฐมมรรคนี้เป็นหนทางเบื้องต้น ที่จะเข้าถึงธรรมกาย ถ้าหากว่าไม่ได้เบื้องต้นนี้ ก็เข้าถึงธรรมกายไม่ถูก เพราะหนทางที่จะเข้าถึงธรรมกายนั้น มีอยู่ทางเดียว ไม่มีหลายทางจึงเรียกว่า เอกานยมรรค หนทางเอกสายเดียว เป็นทางไปสู่พระนิพพาน หนทางไปสู่พระนิพพานน่ะ มีอยู่สายเดียว มีอยู่เส้นเดียว อยู่ในกลางกายของเรา แต่วิธีปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงหนทางสายกลางนั้น มีหลายวิธี ตั้งแต่ กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ อาหาเรปฏิกูลสัญญา อนุสสติ ๑๐ ธาตุ ๔ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ 

 


                เมื่อใจหยุดสนิทถูกส่วนแล้ว นำมาตั้งที่ศูนย์กลางกาย เกิดเป็นดวงใส เพราะฉะนั้นหนทางที่จะเข้าสู่ศูนย์กลางกายนั่นน่ะมีอยู่ได้หลายทาง ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้ว เราจะปฏิบัติแบบไหนก็ตาม จะใช้คำภาวนาอะไรก็ตาม ถ้าเอาใจวางไว้ถูกที่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นเข้าถึงธรรมกายทุกวิธี เพราะฉะนั้นการปฏิบัติ ๔๐ วิธีที่มีมาในวิสุทธิมรรค เป็นหนทางปฏิบัติเพื่อเข้าถึงธรรมกายทั้งสิ้น สัมมาอะระหังที่หลวงพ่อวัดปากน้ำสอนนี่ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะเข้าถึงธรรมกาย แต่เนื่องจากว่าเราเรียกกันมาเพี้ยน ๆ ไป ขาดตกบกพร่อง เราเรียกว่า วิธีธรรมกาย ทำให้คนที่ฟังเผิน ๆ นั้นไม่เข้าใจ คิดว่าเป็นวิธีใหม่ แต่อันที่จริงนั้นเป็นวิธีเก่า แต่เอามาเป่าฝุ่นใหม่ ตกคำว่า เข้าถึง เป็นวิธีเข้าถึงธรรมกาย 

 


                เพราะฉะนั้นถ้าเราฝึกใจของเรา จะด้วยวิธีการอะไรก็ตาม ถ้าเอาใจหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แล้วเป็นพบธรรมกายทั้งสิ้น เช่นเรากำหนดลมหายใจเข้าออกที่เราเรียกว่า อานาปานสติ ต้นลมอยู่ที่ปากช่องจมูก กลางลมอยู่ที่ทรวงอก ปลายลมอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นที่สุดของลม เมื่อเรากำหนดไป สติจับลมให้หยุดนิ่งได้ จนมีอาการเหมือนเราไม่ได้หายใจ พอถึงขั้นตอนนี้ บางท่านก็ตกใจ นึกว่าหมดลม แต่ที่จริงลมหยุด มีอาการคล้ายไม่ได้หายใจ เมื่อลมหยุดใจก็หยุด เมื่อใจหยุดดวงธรรมก็เกิดเป็นดวงใส บริสุทธิ์ เกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นั่นก็คือปฐมมรรคนั่นเอง 

 


                ถ้าหากดำเนินจิตต่อไป เข้าสู่กลางปฐมมรรคนั้น ไม่ช้าก็จะพบหนทางสว่างเข้าไปเรื่อย ๆ และพบกายในกายเข้าไปตามลำดับ จนกระทั่งเข้าถึงธรรมกาย แต่ว่าในการปฏิบัติจริง ๆ นั้น ผู้ปฏิบัติไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องเมื่อพบดวงสว่างแล้วก็ถูกแนะนำให้วางใจเฉย ๆ ไม่ให้สนใจ หรือบางทีก็ให้ละเลยซะ แนะนำให้เห็นว่า นิมิตเป็นสิ่งที่ไม่ควรยืด เป็นการติดนิมิต แล้วก็หันมาพิจารณา ไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่เกิดขึ้นในสรรพธรรมทั้งหลาย จนกระทั่งมีความรู้สึกว่าใจสะอาดปลดปล่อยวาง ว่างเปล่าจากอารมณ์ทั้งมวล มีความสุขสงบนิ่งอยู่ภายใน มีความเย็นฉ่ำอยู่ภายใน ปฏิบัติอย่างนี้บ่อย ๆ ใจก็เกิดความคุ้นกับความสงบนี้แล้วไม่ไปไหน ตันอยู่กับที่ 

 


        แต่ว่ามีความรู้สึกเป็นสุขอยู่ภายใน คล้ายกับไม่ติดอะไรเลยในโลก ไม่ติดกิเลสอาสวะ สังโยชน์เบื้องต่ำเบื้องสูง แล้วก็เหมาเข้าใจผิดว่านั่นคือที่สุดแห่งกองทุกข์ การปฏิบัติอย่างนี้มีมาก เพราะฉะนั้นเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการเข้าถึงธรรมกาย อันที่จริงนั้น นิมิตที่ควรยึดเอาไว้ก็มีและนิมิตที่ไม่ควรยึดไว้ก็มี นิมิตใดที่เลื่อนลอย หลุดออกจากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ถือเป็นนิมิตเลื่อนลอย ไม่ใช่ของจริงทั้งสิ้น แต่สิ่งที่เป็นจริงนั้น จะเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายที่เดียว เราจะทราบได้ เมื่อเรามีประสบการณ์ ๒ ด้าน คือประสบการณ์ที่ใจหลุดจากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ และประสบการณ์ที่ใจเราหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อเรามีประสบการณ์ ๒ ด้าน เราจึงจะแยกออกได้ว่าสิ่งใดเทียมสิ่งใดแท้

 


                เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมจะแนะนำกัน โดยทางหนังสือก็ไม่ได้ หรือแนะนำโดยผู้ที่มีความรู้อย่างเดียวก็ไม่ได้ จำตำรับตำรา ท่องได้คล่องปากแล้วก็ขึ้นใจ จะมาแนะนำกันเหมือนคนตาบอดจูงคนตาดีนั้นน่ะ เป็นไปไม่ได้ จะต้องได้ผู้แนะนำ ที่รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในเส้นทางสายกลางนี้ ดังนั้นหนทางที่จะเข้าถึงธรรมกายจึงมีทางเดียวที่เรียกว่า เอกานยมรรค แต่วิธีการเข้าถึงศูนย์กลางกายนั้น มาได้หลายสิบวิธีดังกล่าวแล้ว เมื่อเราทราบอย่างนี้ เราจะได้ตั้งอกตั้งใจ วางใจของเราให้ถูกที่ ถ้าวางใจผิดที่เป็นเข้าไม่ถึงความสุขที่แท้จริง มนุษย์เราทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ต่างก็แสวงหาความสุขที่แท้จริงด้วยกันทั้งสิ้นแต่ส่วนใหญ่แล้วไม่พบ เพราะว่าแสวงหาผิดที่ 

 


                เข้าใจว่าความสุขอยู่ที่รูป อยู่ที่การเห็น อยู่ที่การฟังเสียง ดมกลิ่นลิ้มรสหรือถูกต้องสัมผัส ก็จะวิ่งไปหาสิ่งเหล่านั้น โดยเหมาเข้าใจว่านั่นจะเป็นสิ่งที่ให้ความสุขแท้จริง แต่ปรากฏว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ เพราะว่าแสวงหาผิดที่ เหมือนการแสวงหาน้ำดื่มจากก้อนหิน เราจะประกอบความเพียรบีบคั้นก้อนหินเพื่อแสวงหาน้ำก็เหนื่อยเปล่า เหนื่อยไปฟรี ๆ อย่างนั้น ถ้าหากว่าเราทราบวิธีการ และทราบว่าความสุขนั้นมันเป็นอย่างไร ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ตรงไหน จะเข้าถึงด้วยวิธีการอย่างไร ถ้าทราบอย่างนี้นั่นคือวิธีลัด พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสวงหาสิ่งเหล่านี้มาตลอด ก่อนที่จะตรัสรู้ธรรม ตลอดระยะเวลา ๓๕ ปีนั้น แสวงหามาตลอด 

 


                ความสุขที่สมบูรณ์ไปด้วยเบญจกามคุณ ในรั้วในวังนั้น ท่านก็มีสมบูรณ์มากกว่ามนุษย์ทั้งหลาย ความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ด้วยอิสริยยศก็มีสมบูรณ์ แวดล้อมด้วยพวกพร้องบริวาร ลาภยศและสรรเสริญ แต่ก็ไม่เคยพบความสุขที่แท้จริง จึงได้แสวงหาหนทางเรื่อยมา ศึกษาจากครูบาอาจารย์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นนักบวชที่พระองค์เข้าใจว่ารู้จักความสุขที่แท้จริง ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน จะเข้าถึงได้อย่างไร ผ่านครูต่าง ๆ มาทั้งหมดแม้กระทั่งยอมทนทุกข์ทรมาน เพราะเข้าใจว่าจะเข้าถึงความสุขอันเป็นอมตะ แต่ก็เหนื่อยเปล่ามาตลอดกระทั่งวันหนึ่งในคืนวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ กลางเดือน ๖ ท่านได้ทิ้งทุกวิธีทั้งหมด ทุกวิถีทางที่ศึกษาผ่านมา แล้วฝึกใจให้หยุดนิ่งอยู่ภายในตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

 


                จนยามต้นได้เข้าถึงธรรมกายพระโสดาบันเป็นพระโสดาบัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเลย ถอดกายออกเป็นชั้น ๆ เมื่อเข้าถึงแล้ว เกิดปิติ เกิดความปราโมทย์ใจ จึงได้เปล่งอุทานออกมาว่า เมื่อใดธรรมทั้งหลายบังเกิดขึ้นแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป คือธรรมทั้งหลายที่ปรากฏเกิดขึ้นมา เมื่อท่านทำความเพียรเพ่งไป ธรรมกายเกิดขึ้น รู้เห็นได้ด้วยธรรมกาย วิชชาก็เกิดขึ้นตาม ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เห็นชาติหนหลังได้ด้วยธรรมกายพระโสดาบัน 

 


                มองระลึกนึกถึงย้อนหลังได้ด้วยธรรมกายพระโสดาบัน ระลึกย้อนไปตามลำดับตั้งแต่เมื่อวานนี้เราอยู่ที่ไหนเป็นอย่างไร นึกคิดอย่างไรเรื่อยไป เรื่อย ๆ จนกระทั่งก่อนมาเกิดนับถอยไปทีละชาติ ๒ ชาติ เข้าถึงกายไหนก็เห็นกายนั้น เห็นเรื่องราวไปตามลำดับ เห็นทะลุปรุโปร่งไปหมดเลย ยามที่สอง เป็นพระอนาคามี ได้จุตูปปาติญาณ ก็มองทะลุสัตว์โลกทั้งหลายหมด ถึงเหตุถึงผล ของการเวียนว่ายตายเกิดทั้งหมด 

 


                ยามที่สามได้เป็นพระอรหัตเข้าถึงกายธรรมอรหัต เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะทำอาสวะขยญาณ ให้หมดสิ้นไปได้ เมื่อเข้าถึงอย่างนี้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกาย จึงตรวจสอดส่องดูทบทวนวิชชาที่ผ่านมาทั้งหมด เห็นว่าเป็นสิ่งที่ได้ยากเหลือเกิน จะต้องทวนกระแสกิเลส กระแสความนึกคิดและความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวโลก จึงทรงคิดขวนขวายที่จะตัดช่องน้อยแต่พอตัว แต่ด้วยมีหัวใจของกัลยาณมิตรมีพระมหากรุณาธิคุณ จึงสอดญาณต่อไปแล้วก็พบว่าผู้ที่จะเข้าถึงธรรมกายนั้นมีอยู่อีกจำนวนมาก 

 


                จึงตัดสินใจเปิดเผยแนะนำข้อวัตรปฏิบัติ หนทางที่จะเข้าถึงธรรมกาย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เพราะฉะนั้นธรรมกายนี้ จึงเป็นหลักของชีวิตของทุก ๆ คนในโลกที่เราควรจะเอาใจใส่ เกิดมาทั้งทีควรจะทำชีวิตให้ประสบความสมหวัง ประสบความสำเร็จ ความสำเร็จของชีวิต ตัดสินอยู่ที่การเข้าถึงความสุขอันเป็นอมตะที่มีอยู่ในธรรมกายเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงผู้ที่สมบูรณ์ในลาภ ยศ สรรเสริญ ซึ่งไม่เคยรู้จักกับความสุขที่แท้จริงเป็นอย่างไร เป็นความสุขที่ไม่จีรัง เป็นของปลอม ไม่ใช่ของแท้ เป็นของพญามาร โดยแท้  

 


                ส่วนของจริง ๆ ของพระนั่น คือธรรมกายอย่างเดียว ถ้าจับหลักได้อย่างนี้เราจะได้วางเป้าหมายของชีวิตได้เป็น ๒ ส่วน ชีวิตของการทำมาหากินส่วนหนึ่งเพื่อยังชีวิตให้อยู่ได้ ชีวิตของการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงความสุขอันเป็นอมตะอีกส่วนหนึ่ง คือการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงธรรมกาย มีชีวิตอยู่เพื่อปฏิบัติให้เข้าถึงธรรมกาย ถ้าหากเข้าใจอย่างนี้ จะได้วางเข็มทิศของชีวิตได้ถูกต้อง อะไร ที่มันเปะปะเรื่อยเปื่อยเป็นสวะลอยน้ำนั้น เราจะได้ขจัดให้มันออกไป ให้มันหมดสิ้นไป และเมื่อเข้าถึงธรรมกายแล้ว ยังมีความรู้ที่ลึกซึ้งต่อไปจากนั้นเข้าไปอีก เรียนรู้เท่าไหร่ก็ไม่รู้จักหมดจักสิ้น 

 


                เราจะรู้ที่มาของสังสารวัฏ ว่าเบื้องต้นเป็นอย่างไร ท่ามกลางและเบื้องปลายเป็นอย่างไร นี่เป็นของแปลก เป็นสิ่งที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังกันมาก่อน เราจะรู้ไปหมดเลย ทะลุปรุโปร่งไปหมด ภพชาติเกิดได้อย่างไรมนุษย์ทั้งหลายเบื้องต้นนั้นนะ เป็นอย่างไร ปฐมกำเนิดเป็นอย่างไร จะสืบสาวราวเหตุเข้าไปถึงจุดต้นกำเนิดของต้นตอของสรรพสิ่งทั้งหลายได้ ดังนั้นความลับทั้งหลายนั้นน่ะ จะถูกเปิดเผยเมื่อเข้าถึงธรรมกาย และเราจะรู้จักคุณค่าของธรรมกายในตอนนั้น จะได้แนะนำวิธี ฝึกฝนอบรมใจให้หยุดให้นิ่ง ให้สงบ ให้ระงับ ให้เข้าถึงธรรมกายกัน ขอให้ทุกคนนึกน้อมจิตตามเสียงหลวงพ่อไปนะจ๊ะ

 


                สำหรับท่านที่ทราบวิธีการแล้ว ก็เอาใจหยุดนิ่งไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เลย แล้วก็ตรึกนึกถึงดวงใสเอาใจหยุดเข้าไปในกลางความใส เข้าถึงกายไหนก็เอาใจหยุดอยู่ที่กลางกายนั้นนะ แล้วท่านที่มาใหม่ยังไม่ทราบวิธีการ ก็ให้นึกตามเสียงหลวงพ่อไปนะจ๊ะ สมมุติว่าเราหยิบเส้นเชือกขึ้นมา ๒ เส้น เรานำมาขึงให้ตึง เส้นเชือกเส้นหนึ่งขึงจากสะดือทะลุไปด้านหลัง อีกเส้นหนึ่งขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย ให้เส้นเชือกทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท ให้เส้นเชือกทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือเรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ 

 


                เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ คือสร้างมโนภาพขึ้น ว่าที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ มีดวงแก้วที่ใสสะอาด บริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตา เป็นดวงแก้วที่ใสสะอาด บริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตา นึกให้ใสที่สุด เท่าที่จะใสได้ นึกให้ชัดเจนที่สุด เท่าที่จะชัดเจนได้ นึกให้สว่างที่สุด เท่าที่จะสว่างได้ นึกให้ชัดคล้ายกับว่าเราลืมตาเห็น ให้ใสเหมือนกับเพชร และให้สว่างเหมือนดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน หยุดนิ่งอยู่ภายในศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้นึกอย่างละเอียดอ่อน นึกเบา ๆ ง่าย ๆ สบาย ๆ แล้วก็ใจเย็นๆ นึกง่าย ๆ สบาย ๆ ใจเย็น ๆ 

 

 

                ให้ใสบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตา พร้อมกับกำหนดบริกรรมภาวนา ให้เสียงคำภาวนาดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของดวงแก้ว ให้เสียงคำภาวนาดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของดวงแก้ว ให้ภาวนาว่า สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ให้ภาวนาอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าเมื่อไหร่ใจเราไม่อยากจะภาวนา อยากจะวางใจนิ่งเอาไว้เฉย ๆ ที่กลางดวงแก้ว ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็หยุดคำภาวนา รักษาดวงแก้วที่ศูนย์กลางกายเอาไว้ให้ดี ให้มั่นคงทั้งหลับตาหรือลืมตา ให้ทำกันไปอย่างนี้นะจ๊ะ เอาล่ะต่อจากนี้ไป ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ นะจ๊ะ ตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดเข้าไปในกลางความใสบริสุทธิ์ พร้อมทั้งภาวนา สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ต่างคนต่างทํากันไปเงียบ ๆ นะจ๊ะ 

 

 

 


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0080543637275696 Mins