รู้แจ้งได้ด้วยกายธรรม

วันที่ 14 มีค. พ.ศ.2567

140367b01.jpg

รู้แจ้งได้ด้วยกายธรรม

๗ มิถุนายน ๒๕๓๐

พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม

โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

 

                ต่อจากนี้เราจะได้นั่งหลับตาเจริญภาวนากัน ขอเรียนเชิญทุกท่านนั่งขัดสมาธิ ใครนั่งขัดสมาธิไม่ถนัดให้นั่งพับเพียบ ขัดสมาธิก็ให้เอาขาขวาทับขาซ้าย ดูคนข้างเคียงเขานะจ๊ะ เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้ายให้นิ้วชี้มือขวา จรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย ให้นิ้วชี้มือขวาจดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ พอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ ตอนนี้ไม่พูดไม่คุยกันแล้วนะจ๊ะ หลับตาพอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ ขยับตัวของเราให้พอเหมาะ ต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม กะคะเนว่าเลือดลมในตัวเดินได้สะดวก เมื่อเราปรับร่างกายของเราดีแล้ว ต่อจากนี้ก็หันมาปรับใจของเรา ใจของเราที่ซัดส่ายไปมา คิดไปในเรื่องราวต่าง ๆ จะเป็นเรื่องธุรกิจการงาน การศึกษาเล่าเรียน หรือเรื่องครอบครัว ให้ปลดให้ปล่อยให้วางชั่วขณะที่เราจะได้เจริญภาวนากัน ทำประหนึ่งว่าเราไม่เคยเจอสิ่งเหล่านั้นมาก่อน ทำตัวเหมือนเราอยู่คนเดียวในโลกไม่มีเครื่องผูกพันใด ๆ ทั้งสิ้น ให้ปลดให้ปล่อยให้วาง ในช่วงที่ระยะเวลาเราปฏิบัติธรรมกันทุก ๆ คนนะจ๊ะ 

 


                แล้วทําใจของเราให้สดชื่น ให้เบิกบาน ทำใจของเราให้สดชื่น ให้เบิกบาน ซัก ๑ หรือ ๒ นาที เมื่อใจของเราเบิกบานดีแล้วให้นึกน้อมใจตามเสียงหลวงพ่อไปกันทุก ๆ คนนะจ๊ะ สำหรับท่านที่มาปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอทราบวิธีการที่จะปฏิบัติธรรมแล้ว ก็ให้วางใจไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เลย ส่วนท่านที่มาใหม่ ก็นึกน้อมใจตามเสียงหลวงพ่อไปนะ ให้สมมุติหยิบเส้นเชือกขึ้นมา ๒ เส้น นึกตามไปช้า ๆ อย่างสบาย ๆ นี่สำหรับท่านที่มาใหม่นะ ให้สมมุติหยิบเส้นเชือกขึ้นมา ๒ เส้น นำมาขึงให้ตึง เส้นเชือกเส้นหนึ่งให้ขึงจากสะดือทะลุไปด้านหลังอีกเส้นหนึ่งให้ขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย ให้เส้นเชือกทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดของเส้นเชือกทั้งสอง จะเล็กเท่ากับปลายเข็ม ตรงนี้เรียกว่าฐานที่ ๖ เหนือจากจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เหนือจากจุดตัดนี้ขึ้นมาสองนิ้วมือ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เวลาหลวงพ่อพูดถึงฐานที่ ๗ ก็หมายถึงตรงนี้นะ

 


                สำหรับท่านที่มาใหม่ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุดในโลก เพราะว่าเป็นทางไปสู่พระนิพพาน เป็นทางหลุดทางพ้นจากกิเลสจากอาสวะ จากความทุกข์ทรมานทั้งหลาย ถ้าเราวางใจตรงนี้ให้ถูกส่วน ไม่ช้าเราจะเห็นปฐมมรรค จะเห็นดวงใสบริสุทธิ์ เกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างเล็กก็ขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวันหรือยิ่งกว่านั้น ความสว่างของปฐมมรรคจะเกิดขึ้นตรงนี้แหละตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้ที่เดียว เมื่อได้ปฐมมรรคแล้ว ไม่ช้าจะเข้าถึงกายภายในที่ซ้อนกันอยู่เข้าไปภายใน จนกระทั่งในที่สุด จะเข้าถึงกายธรรม กายธรรมหรือกายตรัสรู้ธรรม เป็นกายตรัสรู้ธรรม ที่จะรู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอด ในสรรพสิ่งทั้งหลายที่เกี่ยวโยงกับตัวของเรา

 


                ลักษณะของกายธรรมหรือธรรมกายนั้น คล้ายกับพระปฏิมากรเกตุดอกบัวตูม ใสเป็นแก้วงามไม่มีที่ติ ประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ ใสเกินใส สวยเกินสวย งามไม่มีที่ติ กายธรรมอันนี้แหละที่จะทำให้เรารู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในสิ่งที่เราสงสัย เกี่ยวกับความเป็นไปของชีวิตเรา ว่าชีวิตนี้คืออะไร มีจุดกำเนิดมาจากไหน มาทำไม อะไรคือเป้าหมายของชีวิต เราจะรู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดได้ด้วยกายธรรมของเรา ซึ่งซ้อนอยู่ภายใน ในกลางกายของเรา ซ้อนอยู่ในกลางกายฐานที่ ๗ เราจะรู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดทั้งหลายด้วยกายนี้ กายเดียวเท่านั้น เพราะความรู้ความเห็นอันวิเศษที่แจ่มแจ้งแทงตลอด แตกต่างจากความรู้อื่นหรือกายอื่น ๆ นั้นจึงมีคำอีกคำหนึ่ง ที่เราได้ยินฟังบ่อย ๆ ว่าวิปัสสนา แปลว่าเห็นแจ้งแทงตลอดเห็นได้วิเศษเห็นได้ต่างกัน แต่ก็ไม่ได้บอกว่าใครเป็นผู้รู้ ใครเป็นผู้เห็น บอกเป็นเพียงคำภาษาบาลีว่าวิปัสสนา แต่จริง ๆ แล้วตัวผู้รู้ผู้เห็นนั้นคือกายธรรมกาย 

 


                ธรรมเป็นผู้รู้ กายธรรมเป็นผู้เห็น เห็นได้ด้วยธรรมะจักขุของธรรมกาย คือดวงตาธรรมกาย หยั่งรู้ได้ด้วยญาณของธรรมกาย ธรรมกายจึงเป็นตัววิปัสสนา มีความรู้ความเห็นได้วิเศษได้แจ่มแจ้ง แตกต่างจากความรู้ทั้งหลายทั้งมวล การรู้การเห็นทั้งหลายทั้งมวล ไม่ว่าจะเห็นได้ด้วยตามนุษย์ ตาของเทวดา ตาของพรหมหรืออรูปพรหม เพราะดวงตาเหล่านั้นเห็นได้แค่ ในภพทั้งสามนี้เท่านั้น แต่ธรรมกายนั้น รู้แจ้งแทงตลอดทั้งในภพสามและนอกภพ กระทั่งในอายตนนิพพาน ธรรมกายนี้จึงเป็นตัววิปัสสนาดังนั้นในขั้นนี้เราจึงปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงธรรมกายกัน เบื้องต้นจะต้องวางใจของเราให้หยุดให้นิ่งให้ถูกส่วนกันซะก่อน ตรงฐานที่ ๗ วางใจของเราให้เป็น มันจะยากอยู่ตรงที่เราวางใจไม่เป็น ถ้าเราวางใจเป็นแล้ว สุดเสียงหลวงพ่อก็จะเข้าถึงปฐมมรรคกันทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเมื่อเรารู้จักฐานที่ ๗ ว่าอยู่ที่ศูนย์กลางกายเหนือจากจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ รู้ได้อย่างนี้แล้ว 

 


                ต่อจากนี้เราจะได้ประกอบบริกรรมนิมิต เอาไว้เป็นที่ยึดที่เกาะของใจเรา เราจะต้องสร้างมโนภาพขึ้นมาในใจ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นั้น มีดวงแก้วที่ใส สะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว ไม่มีขีดไม่มีข่วน ไม่มีรอยตำหนิ โตเท่ากับแก้วตาของเรา เราจะต้องสร้างมโนภาพขึ้นมา สร้างก็คือการนึกขึ้นมา เหมือนเรานึกถึงภาพบ้าน ภาพบ้านที่เราอยู่อาศัย ห้องนอน ห้องพระของเรานะ หรือพระพุทธรูปที่อยู่บนโต๊ะหมู่บูชาที่บ้านเรา ให้นึกอย่างง่าย ๆ นึกอย่างสบายสบาย แล้วก็ทำใจเย็น ๆ ให้นึกง่าย ๆ นึกอย่างสบาย สบาย แล้วก็ทำใจเย็น ๆ นึกถึงดวงแก้วที่ใส สะอาด บริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา ให้นึกถึงดวงแก้วที่ใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมวโตเท่ากับแก้วตานึกอย่างสบาย สบาย ใจเย็นเย็น นึกเบาเบา นึกให้ต่อเนื่องกันไปอย่าให้ขาดตอน นึกถึงแต่ดวงแก้วอย่างเดียวนะจ๊ะ 

 


                นึกถึงความใสบริสุทธิ์ พร้อมกับบริกรรมภาวนาในใจให้เสียงของคำภาวนา ดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของดวงแก้ว ให้เสียงของคำภาวนาดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของดวงแก้ว ให้ภาวนาว่าสัมมา อะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ค่าภาวนาเราจะใช้ภาวนาไปเรื่อย ๆ จนกว่าเมื่อไหร่ ใจเราหยุดใจเรานิ่งถูกส่วน เห็นดวงใสชัดเจน เมื่อนั้นเราก็หยุดคำภาวนา หรือว่าภาวนาไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งใจหยุดนิ่งคำภาวนามันหายไปเอง เมื่อคำภาวนามันหายไปเองพร้อมกับใจหยุดนิ่งเราก็ไม่ต้องกลับมาภาวนาใหม่ ให้รักษาใจหยุดใจนิ่งไว้ให้ดี พอถูกส่วนเข้าไม่ช้าดวงใสบริสุทธิ์ของปฐมมรรคจะเกิดขึ้นมาเอง นี่จำเอาไว้ให้ดีนะจ๊ะ เพราะฉะนั้นหลักของมันก็มีอยู่ว่า เราต้องฝึกใจของเราให้หยุดให้นิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ 

 


                ทีนี้ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี้ เราไม่ทราบว่าอยู่ที่ตรงไหน จึงจำเป็นต้องสมมติขึ้นมาเป็นเส้นเชือก ๒ เส้นนำมาขึงให้ตึงจากสะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้าย และเหนือจุดตัดนั้นขึ้นมา ๒ นิ้วมือเรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ กำหนดแค่นี้ยังไม่พอยังต้องสร้างมโนภาพว่ามีดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้วไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตา ให้กำหนดนึกอยู่ที่ตรงนั้นอย่างง่าย ๆ สบาย สบาย ใจเย็น เย็นแล้วก็ต่อเนื่องกันไปอย่าให้ขาดตอน หลักมันก็มีอย่างงี้นะ ถ้าเราสามารถนึกดวงแก้วได้ไม่ช้าก็จะเห็นได้ เข้าถึงปฐมมรรคได้ นึกได้เมื่อไหร่ก็เห็นได้เมื่อนั้น เพราะฉะนั้นภาพของการนึก ที่เราสร้างขึ้นมา บางคนก็นึกได้ชัดเจนมาก บางคนก็ชัดเจนน้อยไม่ว่าจะชัดเจนมากหรือชัดเจนน้อยก็ตามให้ประคองภาพนั้น อย่าให้หายไปจากใจ ให้ต่อเนื่องกันไปอย่าให้ขาดตอน แล้วต้องนึกเบา ๆ ง่าย ๆ สบาย ๆ ใจเย็น ๆ ให้จำไว้ให้ดีนะ 

 


                ส่วนมากเวลาหลวงพ่อพูดถึงตอนนี้มักจะฟังกันผ่าน ๆ นึกว่ามันไม่มีอะไร นึกว่ามันก็เหมือนทุกคราวที่พูด เพราะนึกว่ามันไม่มีอะไรน่ะ ดูเบาไปน่ะ จึงทำให้เราเลื่อนการเห็น เลื่อนการเข้าถึงปฐมมรรคไป เป็นวัน เป็นอาทิตย์ เป็นเดือน เป็นปี หรือหลาย ๆ ปี เพราะดูพระธรรมเทศนา เพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย เบาว่ามันไม่มีอะไร แต่จริงๆ ที่แนะนำมานี่เป็นสูตรสำเร็จ ที่ถอดมาจากประสบการณ์ของทุกคนในโลก ที่จะเข้าถึงได้ต้องทำอย่างนี้อย่างเดียวถ้าผิดจากนี้ไปแล้ว เข้าถึงยากคือต้องนึกให้ได้ซะก่อน นึกอย่างสบาย สบาย มีคำว่าสบายกำกับเอาไว้ นึกง่ายง่าย แล้วก็ใจเย็น เย็น กำกับไปทุกขั้นตอน ถ้าผิดแบบแผนจากนี้ไปแล้ว ก็ต้องเสียเวลาเป็นเดือน เป็นปีไป

 


                เพราะฉะนั้นต้องประคองใจของเราให้ละเอียดอ่อน เพราะปฐมมรรคนั้นเป็นของละเอียดอ่อน มีอยู่แล้วภายในตัวของเรา อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ไม่เลื่อมซ้าย เลื่อมขวาเลยอยู่ตรงนั้นแหละ หนทางไปสู่พระนิพพานมีอยู่แล้วตรงเปะเลย ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย ที่นี่เราจะต้องวางใจของเราให้เป็น ถ้าวางไม่เป็นก็เข้าไม่ถึงมันยากหรือง่ายก็อยู่ที่ตรงนี้แหละ ถ้าใครดูเบาก็ช้าหน่อย ถ้าใครไม่ประมาทฝั่งเอาไว้แล้วก็จำ จำแล้วก็พยายามทำให้เป็นอย่างที่แนะนำเอาไว้ พอสุดเสียงหลวงพ่อต้องเห็นทุกคน ต้องเขาถึงทุกคน การเข้าถึงธรรมกายนั้นไม่ใช่ของยากอะไร ถ้าวางใจเป็น ถ้าวางใจไม่เป็นแล้วก็ยาก เพราะฉะนั้นให้ทุกคนปรับกันให้ดีนะ ที่เห็นกันช้าๆ น่ะ เห็นกันยากเย็น แล้วมาเริ่มต้นใหม่ เรามาเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ เรียนชั้นอนุบาลกัน ที่เคยได้ยินได้ฟัง ได้ศึกษาเล่าเรียนอะไรมาก่อน ให้วางไว้ก่อน เอาแค่เนี้ยะเอาให้ได้ซะก่อน ว่าหยุดเป็นอย่างไง นิ่งเป็นอย่างไง วางใจเบา ๆ ง่าย ๆ เย็น ๆ นะเป็นอย่างไง ค่อย ๆ ประคองไป ถ้าตรงนี้ได้เดี๋ยวจะเข้าถึง พอเข้าถึงแล้วจะรู้จักว่าความสุขที่แท้จริงนะเป็นอย่างไง แตกต่างจากความสุขเทียมนะอย่างไง ของเทียมกับของแท้มันต่างกันอย่างไง จะรู้จักเมื่อใจหยุดใจนิ่ง

 


                เพราะฉะนั้นหยุดกับนิ่งแหละเป็นตัวสำเร็จ เป็นบ่อเกิดแห่งความสุข ไม่ใช่เรื่องเล็กเลย เป็นบ่อที่เกิดเป็นแหล่งกำเนิดของความสุข นตฺถิ สันติ ปรํ สุขํ หยุดกับนิ่ง วางใจเป็นเท่านั้น จึงจะรู้ความสุขที่แท้จริงเป็นอย่างไง นอกนั้นเราเจอความสุขเทียมทั้งนั้น ไม่ว่าจะรับประทานอาหารอร่อยแค่ไหน ประเดี๋ยวก็ลืมแล้ว ไม่ว่าจะได้ของเล่นที่ถูกใจแค่ไหน เดี๋ยวก็หายเห่อ ไม่ว่าจะเที่ยวที่ไหนได้เพลิดเพลิน พอกลับมาก็ลืมอีกแล้ว เพราะฉะนั้นสุขที่แท้จริงอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ที่เดียวในโลก วางใจกันให้เป็นนะจ๊ะ วางเบา ๆ ให้เย็น ๆ วางให้ถูกส่วนให้ค่อยนึกไป ประคองไป นึกถึงดวงใส เอาใจหยุดไปที่กลางความใส บริสุทธิ์ พร้อมกับภาวนาในใจว่า สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ นะจ๊ะ

 


                ให้วางใจของเราเบา ๆ ไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้วางใจของเราเบาเบาไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจของเราหยุดเข้าไปที่จุดกึ่งกลางของความใส ที่เรานึกได้ ที่เราเห็นได้ ที่เราเข้าถึงได้กันนะจ๊ะ แล้วก็นึกให้ใจของเราหยุดในหยุด หยุดในหยุด นิ่งในนิ่ง วางให้หยุดให้นิ่งอย่างสบาย สบาย ใจเย็น เย็นตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจของเราหยุดเข้าไปที่จุดกึ่งกลางของความใส บริสุทธิ์ ภายในจุดกึ่งกลางของความใสนะให้หยุดนิ่ง ท่านที่เข้าถึงปฐมมรรคแล้ว ก็เอาใจหยุดนิ่ง ที่กลางดวงปฐมมรรค ท่านที่เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดคือเห็นตัวของเราเองซ้อนอยู่ภายใน นั่งขัดสมาธิ หันหน้าออกไปทางเดียวกับเรา เห็นได้ชัดเจน แจ่มแจ้ง เหมือนกับเราเป็นตัวข้างในเป็นกายข้างใน เข้าถึงอย่างนี้ก็ให้เอาใจหยุดนิ่งไปที่ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายมนุษย์ละเอียด 

 


                ท่านที่เข้าถึงกายทิพย์ที่ซ้อนอยู่ในกลางของกายมนุษย์ละเอียด เข้าถึงกายทิพย์ก็ให้เอาใจหยุดเข้าไปที่จุดกึ่งกลางฐานที่ ๗ ของกายทิพย์ ท่านที่เข้าถึงกายรูปพรหม ก็เอาใจของเราหยุดไปที่กึ่งกลางฐานที่ ๗ ของกายรูปพรหม ท่านที่เข้าถึงกายอรูปพรหมที่ซ้อนอยู่ภายใน ก็เอาใจไปหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของกายอรูปพรหม ท่านที่เข้าถึงกายธรรม เห็นธรรมกาย เข้าถึงธรรมกาย ก็เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางฐานที่ ๗ ของธรรมกายจุดกึ่งกลางฐานที่ ๗ ของธรรมกายที่ถึงกายธรรม ในกายธรรมก็เอาใจหยุดเข้าไปจุดกึ่งกลางฐานที่ ๗ ของกายที่เข้าถึง ถึงกายไหน ก็เอาใจหยุดที่จุดกึ่งกลางของกายนั้นนะจ๊ะ กายต่าง ๆ เหล่านี้ มีอยู่ภายในกายมนุษย์หยาบของเราทั้งนั้น แต่เราไม่เคยทราบเราไม่เคยรู้ เพราะไม่เคยศึกษา หรือศึกษาแล้วแต่ยังเข้าไม่ถึงก็ไม่ทราบว่ามันมีอยู่ กายต่าง ๆ เหล่านี้แหละเป็นกายภายในที่ซ้อนอยู่ภายในตัวของเรา เป็นทางผ่านของใจที่จะไปสู่อายตนนิพพาน 

 


                จะไปถึงอายตนนิพพานจะหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งหลาย จะต้องผ่าน กายในกายภายใน ตรงฐานที่ ๗ ทางนี้ เท่านั้นทางเดียวเท่านั้น ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านตรัสให้ตามเห็นกายภายในในกายภายนอก กายภายในในกายภายใน ให้เห็นกายในกายเข้าไปอย่างนี้ ไปตามลำดับ ในสติปัฏฐานสี่ กล่าวถึงการตามเห็นกายภายในนะ ซ้อนซ้อนเข้าไปอยู่ภายในนั้น ให้เดินตามเห็นเข้าไปอย่างนี้ กายต่าง ๆ เหล่านี้ ที่ซ้อนกันอยู่ เหมือนรถหลาย ๆ ผลัด ที่ส่งกันต่อกันขึ้นไปไปถึงอายตนนิพพาน กายมนุษย์หยาบส่งต่อให้กายมนุษย์ละเอียด กายมนุษย์ละเอียดส่งต่อให้ถึงกายทิพย์ กายทิพย์ ก็ส่งต่อให้ถึงกายรูปพรหม กายรูปพรหม ก็ส่งต่อให้ถึงกายอรูปพรหม กายอรูปพรหมก็ส่งต่อเข้าถึงกายธรรมโคตรภู่ กายธรรมโคตรภูก็ส่งต่อเข้าถึงกายธรรมพระโสดา กายธรรมพระโสดาก็ส่งต่อเข้าถึงกายธรรมพระสกิทาคามี กายธรรมพระสกิทาคามีก็ส่งต่อไปถึงกายธรรมพระอนาคามี กายธรรมพระอนาคามี ก็ส่งต่อเข้าถึงกายธรรมพระอรหัต เป็นพระอรหันต์ ส่งกันเป็นผลัด ๆ เข้าไปอย่างนี้ ส่งกันต่อกันไปจนกระทั่งถึงอายตนนิพพาน สุดกายธรรมอรหัตนั้นแหละ เข้าถึงอายตนนิพพาน เว้นจากกายธรรมอรหัตแล้ว เข้าถึงไม่ได้ 

 


                กายธรรมอื่นเข้าถึงแล้วอยู่ไม่ได้ อยู่ได้ชั่วคราว แต่กายธรรมอรหัตนั้น เข้าถึงแล้วอยู่ได้เลย นี่แหละชีวิตของเราหล่ะ เป็นความรู้ที่เกี่ยวเนื่องกับตัวของเรา ที่เรามาเกิดกันแต่ละภพ แต่ละชาตินั้น ต้องการไปสู่อายตนนิพพานกันทั้งนั้นแต่ระหว่างที่เราเวียนว่ายตายเกิด ถ้าหากเราไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องกายภายในหรือมีความรู้แต่ไม่สมบูรณ์เราก็ไปสู่อายตนนิพพานไม่ได้ เมื่อเข้าถึงไม่ได้ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิด อยู่ในภพสามก็เป็นสัตว์เดรัจฉานมั่ง เป็นเปรต เป็นอสูรกาย เป็นสัตว์นรกบ้าง หรือมาเป็นมนุษย์มั่ง เป็นเทวดามั่ง เป็นพรหม เป็นอรูปพรหมมั่ง กวนเวียนกันไปอยู่อย่างนี้แหละ วนกันอยู่ในภพทั้งสาม ไม่ทราบจะหลุดพ้นได้อย่างไร เพราะไม่รู้เห็นหนทางที่จะหลุดจะพ้น จะหลุดจะพ้นนั้น ต้องเดินเข้าไปสู่เส้นทางสายกลางที่อยู่ภายในทางนี้เท่านั้น เว้นจากนี้แล้วเป็นไม่ใช่ เพราะฉะนั้นกายต่าง ๆ ที่อยู่ภายใน จึงเหมือนรถหลาย ๆ ผลัดที่ส่งต่อกันขึ้นไป จนกระทั่งเข้าถึงอายตนนิพพาน นี่ให้เข้าใจกันอย่างนี้นะ

 


                บูชาข้าวพระก็คือการนำเครื่องไทยธรรมที่เป็นของหยาบ มีดอกไม้ ธูปเทียน อาหารหวานคาว ที่เรานำมาจากบ้าน คนละเล็กคนละน้อย ซึ่งแต่เดิมมันเป็นของหยาบ แล้วนำมากลั่นให้เป็นของละเอียดไปตามลำดับขั้น จนกระทั่งถึงกายธรรม ผ่านเข้าไปในศูนย์กลางคือนึกน้อมเอาของหยาบนั้นด้วยใจให้เห็นภาพชัดเจนทีเดียว เข้ามาไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายมนุษย์หยาบ เมื่อมาอยู่ที่ศูนย์กลางกายของกายมนุษย์หยาบ ของหยาบนั้นก็เป็นของละเอียด ข้างนอกเป็นยังไงข้างในก็เป็นอย่างนั้นแต่ว่าละเอียดกว่าใสกว่า พอผ่านเข้าไปถึงกายมนุษย์ละเอียดก็ใสยิ่งขึ้น บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น พอผ่านเข้าไปถึงกายทิพย์ ก็บริสุทธิ์ หนักเข้าไปอีก ผ่านเข้าไปถึงกายรูปพรหมก็ใสยิ่งขึ้น ถึงกายอรูปพรหมก็ละเอียดเข้าไปเรื่อยเรื่อย พอผ่านเข้าไป ถึงกายธรรม ผ่านคือน้อมเข้าไปหยุดที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายธรรมก็จะใสบริสุทธิ์ กายธรรมใสแค่ไหนเครื่องไทยธรรมก็จะใสขนาดนั้น จะชัด จะใส จะสว่างอยู่ตรงนั้นทีเดียว พอสว่างถูกส่วนเข้า กลั่นจนกระทั่งมีความละเอียด เท่ากับอายตนนิพพานด้วยกายธรรม

 

 

                พอละเอียดเท่ากันแล้วก็จะดึงดูดเข้าหากัน คล้ายเครื่องส่ง เครื่องรับวิทยุ ถ้าคลื่นละเอียดอ่อนตรงกันก็จะดึงดูดเข้าหากัน เครื่องรับก็รับได้ อายตนนิพพานก็เช่นเดียวกันเมื่อเรากลั่นเครื่องไทยธรรมเหล่านี้ด้วยธรรมกายให้ละเอียด จนกระทั่งมีความใสบริสุทธิ์เท่ากัน และกายธรรมนั้นละเอียดอ่อน เวลาละเอียดอ่อนเราสังเกตดูว่ามันใส ใสยิ่งกว่าเพชร สว่างยิ่งกว่าอาทิตย์ตอนเที่ยงวันแล้วจิตมันนุ่ม นุ่มนวลมีพลัง มีพลังที่จะโน้มน้าวไปที่ไหนก็ได้ ทุกหนทุกแห่งในโบก ทุกหนทุกแห่งในภพสาม ทุกหนทุกแห่งนอกภพสาม จิตมันจะมีพลังอย่างนั้น มันจะน้อมลงไป พอถูกส่วนเข้า อายตนนิพพานก็จะดูดวูบลงไป เวลาดูดมันเหมือนกับตกจากที่สูง มันวูบลงไปเลย พอบเข้าไปสว่างโล่ง ในกลางอายตนนิพพาน เราจะเข้าถึงอายตนนิพพานได้ด้วยกายธรรม อายตนนิพพานนั้นจะสว่าง ไม่มีอะไรกำบังเลยมีแต่ธรรมธาตุที่สะอาดที่บริสุทธิ์ ไม่มีวัตถุสิ่งของอะไรทั้งสิ้น โล่งว่าง เปล่า ไม่มีกำบังเลย มันโล่งไม่มีเมฆ ไม่มีหมอก ไม่มีภูเขาเลากา ตึกลามบ้านช่อง ยวดยาน พาหนะอะไร ไม่มีทั้งนั้นแหละ

 


                มีแต่ธรรมกายของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ท่านนั่ง ขัดสมาธิเข้านิโรธ สว่างโล่งเต็มไปหมด สงบนิ่งหมดทุกองค์ ท่านเข้านิโรธสมาบัติ สงบนิ่งหมดในอายตนเพราะสุขอื่นนอกจากการหยุดนิ่งด้วยการเข้านิโรธนั้นเป็นไม่มีกิจอย่างอื่นที่ท่านจะต้องทำนั้นเป็นไม่มี เรื่องกิน เรื่องนอน เรื่องเที่ยว เรื่องทำมาหากินท่านไม่มี หรือคิดเรื่องฟุ้งซ่านต่าง ๆ นั้นไม่มี เพราะฉะนั้นการไปการมาของท่านก็ไม่จำเป็น อริยาบถอื่นท่านก็ไม่มี แต่ไม่ใช่หมายความว่าท่านทำไม่ได้ ไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้ เพราะฉะนั้นก็จะนั่งสมาธิ สงบนิ่ง เข้านิโรธสมาบัติ สงบนิ่ง ไม่ไหวติงอยู่ในอายตนนิพพาน เมื่อเราเข้าถึงตรงนี้เราจะสังเกตได้ว่า ท่านั่งที่สมบูรณ์ที่สุด หรือท่าทาง หรือลีลา ของผู้ที่สมบูรณ์ในชีวิต หรือเข้าถึงจุดหมายปลายทางที่สมบูรณ์นั้นนะ มีแต่ท่านั่งขัดสมาธิสงบนิ่ง นี่เรามาเปรียบเทียบกับมนุษย์ เราจะเห็นว่ามีอริยาบถทั้ง ๔ เปลี่ยนแปลงกันไป แก้เมื่อย แก้ขบบ้าง เพื่อกิจกรรมอะไรต่าง ๆ ธุรกิจการงานมั่ง เพื่อบริหารขันธ์บ้าง วนเวียนวุ่นวายกันไปอยู่อย่างนั้น นี่ก็เป็นเครื่องวัดว่ามันยังไม่สมบูรณ์ แต่ของท่านนั้นนะ ลีลาที่สมบูรณ์ต้องสงบนิ่งขัดสมาธิ เข้านิโรธสมาบัติ

 


                เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อายตนนิพพานมีอยู่ในที่นั้นไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกหน้า ไม่ใช่อยู่ที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หรือดวงดาว เป็นธรรมธาตุที่บริสุทธิ์สะอาดปราณีต ในอายตนนิพพานนั้นไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการยืน ไม่มีการเดิน ไม่มีการนอน นั่งสงบนิ่ง เข้านิโรธสมาบัติ คือ ใจท่านตรึกอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ทุกพระองค์เลยหยุดนิ่งสว่าง เข้ากลางของกลางไปสู่ภายใน ท่านเข้ากลางของกลางประสานกันไปหมดเลย ซ้อนตรงกันไปหมดนั่นในกลางของกลางนั้นแหละ นั้นคือกิจของผู้ที่สมบูรณ์แล้ว มีความเต็มเปี่ยมของชีวิตแล้ว มีความสุขล้วน ๆ เลย 

 


                เพราะความสุขที่แท้นั้นมันออกมาตรงกลางตรงฐานที่ ๗ ยิ่งเข้านิโรธเท่าไหร่ ยิ่งมีความสุขมาก เข้านิโรธ คือการเอาใจเข้ากลางนั้นเอง เข้ากลางได้โดยไม่มีอะไรเหนี่ยวรั้ง เรียกว่าเข้านิโรธ คือดับหยาบเข้าไปหาละเอียด เข้าไปเรื่อยๆ ปล่อยลงไปเรื่อย ๆ ไม่มีอะไรเหนี่ยวไม่มีอะไรรั้ง ส่วนมนุษย์หยาบเข้านิโรธ ไม่ได้เพราะยังมีเครื่องเหนี่ยงรั้ง ความโลภมั่ง ความโกรธมั่ง ความหลงมั่ง ห่วงลูกห่วงหลาน ห่วงการ ห่วงงาน ห่วงลาภยศ สรรเสริญ ห่วงสารพัด ห่วงไปหมด เพราะฉะนั้นจึงเข้านิโรธ ไม่ได้ ที่เข้านิโรธได้ เข้าได้ด้วยกายธรรมเท่านั้น และกายธรรมที่ไม่เหนี่ยวไม่รั้ง เมื่อไม่เหนี่ยวไม่รั้งจิตก็จะปล่อยลงไปเรื่อย ๆ ยิ่งปล่อยเข้ากลางเท่าไร จิตยิ่งขยายกว้างออกไป ไม่มีขอบเขตทีเดียว ยิ่งขยายกว้างขวางใหญ่โตออกไปและการขยายตรงกลางนี่มันแปลก ถ้าใครไม่มีประสบการณ์แล้วจะไม่ทราบ

 


                แต่มีประสบการณ์แล้วจะทราบเลยพอจิตมันเข้าตรงกลางแล้วมันขยายไปรอบตัว ไอ้คำว่ารอบตัวเนี่ยะ ทางซ้าย ทางขวา ทางหน้า ทางหลัง รอบไปหมดเลย เหมือนเราเป็นศูนย์กลางแล้วมันขยายทองไป วุ๊บพองโต เต็มโลก เต็มภพ เต็มขยายกว้างออกไปอย่างนั้น ยิ่งเข้านิโรธเท่าไหร่ ยิ่งสุข ยิ่งท่วมท้น จนกระทั่งไม่มีคำที่จะมีเปรียบเทียบกับคำว่า สุขที่เกิดขึ้นจากการเข้านิโรธ มันสุขจริง ๆ ไม่มีทุกข์เจือเลย เหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์นั้นถูกขจัด ให้ออกไปหมดแล้ว ขจัดแบบสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ คือเศษไม่มีเหลือเลย แว็บเดียวหมดไปเลย ส่วนของต่าง ๆ ในโลกนี้นี่ขจัดไปแล้วมันยังมีเศษเหลือเป็นขี้เถ้า เป็นแก๊สบ้าง เป็นพลังงานอะไรต่าง ๆ หมดแต่นี้ไม่มีเหลือเลย เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ กิเลสอาสวะต่าง ๆ เครื่องหมักดองใจต่าง ๆ หมด สิ้นหมดอนุสัยต่าง ๆ ก็สิ้นเชื้อหมด กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ 

 


                กามาสวะ เครื่องหมักดองที่เป็นเหตุให้เกิด ความกำหนัดทางกามก็ดี หมดเลย ไม่มีเหลือเลย ภวาสวะ เป็นเหตุให้เกิดในภพทั้งสามนี้ หมดไอ้ที่เชื้อที่ยังติดอยู่ ดึงดูดเข้าหากัน อยู่ในภพทั้งสามไม่มีเหลือ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ ความเห็นผิดต่าง ๆ ความเห็นผิดที่ดึงใจหลุดออกจากกลาง จากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี่ ไม่มีเหลือเลย เห็นผิดเป็นชอบเนี่ยะ เห็นถูกเป็นผิด เห็นบาปเป็นบุญอะไรต่าง ๆ ความเห็นผิดเหล่านี้น่ะ หลุดหมดเลย ความต้นเหตุที่กระตุ้นใจให้คิด และเกิดความเห็นผิดนี่ สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ อวิชชาสวะ ความไม่รู้คือความโง่ ไม่รู้อะไรต่าง ๆ น่ะ อัดอั้นตันปัญญาคิดอะไรก็ไม่ออก ไม่รู้ว่าจะหลุดจะพ้นจะหลุดได้อย่างไร ไม่รู้จนกระทั่งว่า บุหรี่นี่เป็นสิ่งให้โทษ เหล้าให้โทษ การพนันให้โทษอะไรต่าง ๆ เหล่านี้นี่ ไม่รู้น่ะหมดไปเลย ไม่รู้เรื่องมรรคผลนิพพานอะไร ต่าง ๆ หลุดหมดไม่เหลือเศษ 

 


                กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ เครื่องหมักดองหลุดหมด พอหลุดหมด จิตก็ไม่มีอะไรเหนี่ยวรั้งเลย เป็นจิตที่บริสุทธิ์สะอาดคล่องทีเดียว เข้ากลางได้คล่อง ปล่อยวุ๊บลงไปเลย อย่างนี้ แหละหลวงพ่ออยากให้เราทุกคนทำให้ได้อย่างนี้ เข้ากลางให้ได้อย่างนี้ จะได้สนุกสนานบุญบันเทิงทีเดียว จะได้รู้จักว่าสุขเป็นอย่างไง นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง เป็นบรมสุขนะ ไม่ใช่สุขธรรมดา คำว่าบรมสุขมันเป็นอย่างไร จะรู้จักเมื่อใจเข้ากลาง กลางของกลาง เพราะฉะนั้นเราอาจสรุปได้ว่า ชีวิตคือการเข้ากลางก็ได้ คือชีวิตที่จะมีคุณค่าน่ะ คือชีวิตที่เข้ากลางเท่านั้น ถ้าใครเข้ากลางไม่ได้ ชีวิตนั้นยังไม่มีคุณค่ามันก็เหมือนชีวิตนกชีวิตกา ชีวิตต้นไม้ ชีวิตสารพัดอะไรพวกนั้นเหมือนก้อนอิฐก้อนหินกันไป เพราะฉะนั้นชีวิตจะมีคุณค่าถ้าเข้ากลางได้ บทสรุปเมื่อมีประสบการณ์ภายใน

 


               เพราะฉะนั้น ลูกหญิง ลูกชายหลวงพ่อทุกคน ขอให้ตั้งอกตั้งใจ ฝึกปฏิบัติธรรมกันให้เต็มที่ เราจะทำมาหากินอะไรก็ทำไปเถอะ จะเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน จะศึกษาเล่าเรียนก็ทำกันไป แต่อย่าทิ้งการปฏิบัติธรรม ฝึกใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้ากลางของกลางได้ เราจะมีชีวิตยืนยาวแค่ไหนไม่สำคัญ สำคัญว่าต้องเข้ากลางให้ได้ ต้องหยุดนิ่งให้เป็น พอหยุดยิ่งไม่ได้ก็เข้ากลางไม่ได้ แล้วเข้ากลางก็ต้องเข้ากลางกายภายใน จนกระทั่งถึงกายธรรม ถ้าเข้ากลางได้กายธรรมแล้ว สนุกนักทีเดียวสนุกไม่มีที่เปรียบเลย จะหาอะไรสนุกสนานกว่านี้เป็นไม่มีเด็ดขาดเลย ให้ตั้งใจกันให้ดีนะ

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.020195813973745 Mins