ความรู้ตัวภายใน

วันที่ 01 เมย. พ.ศ.2567

010467b01.jpg

 

ความรู้ตัวภายใน
๑ กันยายน ๒๕๓๔
พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

 

                ต่อจากนี้ให้ทุกคนตั้งใจให้แน่แน่วมุ่งตรงต่อหนทางของพระนิพพาน ขอให้นึกน้อมนำใจตามเสียงหลวงพ่อไปทุก ๆ คนนะจ๊ะ ให้นั่งขัดสมาธิโดยเอาขาขวาทับขาซ้าย ให้มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ พอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ อย่าไปบีบหัวตา อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับพอสบาย ๆ และก็ขยับร่างกายของเราให้กล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายเราผ่อนคลาย ตั้งแต่กล้ามเนื้อบริเวณเปลือกตา ศีรษะ ต้นคอ บ่าไหล่ ตลอดจนแขนทั้งสองถึงปลายนิ้วมือ ให้ผ่อนคลายให้หมดกล้ามเนื้อบริเวณลำตัว ขาทั้งสองถึงปลายนิ้วเท้าให้ผ่อนคลาย และก็ขยับร่างกายของเราให้ดีกะคะเนให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวกเราจะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย

 


                สมาธิจะเกิดได้ต่อเมื่อร่างกายและจิตใจนั้นถูกส่วน คือร่างกายต้องผ่อนคลาย จิตใจต้องปลอดโปร่งเบาสบาย ถ้าหากว่าถูกส่วนอย่างนี้ การทำสมาธิหรือให้ใจหยุดนิ่งให้ได้ถึงสมาธิก็ไม่ยาก แต่ถ้าหากว่าเราเริ่มต้นอย่างไม่ถูกวิธี การปฏิบัติต่อไปก็ไม่ได้ผลเราเคยได้ยินได้ฟังกันว่าการปฏิบัติธรรม หรือการทำสมาธินั้นเป็นของยากเป็นของเหลือวิสัย จะได้เฉพาะบางรายบางคนเท่านั้น นี่คือสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมา บางทีก็เลยเถิดไปถึงนั่งสมาธิแล้วกลัวเป็นบ้า กลัวเห็นภาพในสิ่งที่ไม่น่าดู หรือกลัวแล้วถอดกายตายไปเลย นี่คือสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง แต่ความจริงนั้นไม่ใช่ สมาธิก็คือการฝึกใจให้หยุดฝึกใจให้นิ่ง เป็นงานทางใจ คือฝึกใจให้หยุดนิ่งอยู่ในอารมณ์เดียว อารมณ์ที่เป็นกุศล อารมณ์ที่เป็นที่ตั้งแห่งคุณงามความดี ให้ใจของเรานึกเรื่องเดียวไปตลอดอย่างสบาย ๆ คือนึกถึงความดีไปอย่างสบาย ๆ นึกถึงสิ่งที่ทำให้ใจเราเป็นกุศลอย่างสบาย ๆ เมื่อเราทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ โดยไม่ไปคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นว่ามันจะเป็นอย่างไร ทำหน้าที่ประกอบเหตุอย่างเดียว คือแนะให้นึกเรื่องเดียวให้ต่อเนื่องอย่างสบาย ๆ ถ้าประกอบเหตุอย่างนี้ได้ถูกส่วน พอทำถูกส่วนทำได้ถูกต้อง ไม่ช้าใจมันก็จะหยุดของมันเอง ทำให้ถูกต้องก่อนแล้วความถูกส่วนก็จะตามมา ใจก็จะหยุดนิ่งอยู่ภายใน หยุดนิ่งถูกส่วน มีความรู้สึกว่าร่างกายของเราปลอดโปร่งมีอารมณ์จิตแจ่มใส จิตใจเบิกบาน กายเบาใจเบา เหมือนจะเหาะจะลอยนั่นนะ แล้วความคิดอื่นก็ไม่เข้ามาแทรก

 


                ใจหยุดนิ่ง มีความรู้สึกพอใจกับอารมณ์นี้ อยากจะอยู่กับอารมณ์นี้ไปนาน ๆ เป็นอารมณ์ที่ทำให้เกิดความบันเทิงใจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แล้วเกิดความรู้สึกลึก ๆ ว่าอารมณ์อย่างนี้แหละที่เราแสวงหามาตลอดชีวิต เราอยากได้อย่างนี้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะได้อารมณ์อย่างนี้มาได้ด้วยวิธีการใด เมื่อใจเราได้เข้าถึงสมาธิเราจึงรู้สึกพอใจ และก็ดีใจว่าเราได้ค้นพบอารมณ์ชนิดนี้แล้ว ที่จะทำให้เราเป็นสุขใจ เบิกบานใจ โดยไม่ต้องอาศัยวัตถุสิ่งของอะไรต่าง ๆ เป็นเครื่องช่วยที่จะทำให้เราเกิดความบันเทิงใจได้อย่างนี้ และการที่เราได้เคยใช้วัตถุเหล่านั้น จะเป็นต้นหมากรากไม้ภูเขาเลากา ผู้คน สัตว์ สิ่งของหรืออะไรก็ตาม เราเคยเจออารมณ์อย่างนี้มา ไม่เคยเสมอเหมือนเท่ากับอารมณ์ที่ใจหยุดใจนิ่ง เพราะฉะนั้นการทำสมาธินั้นไม่ใช่เป็นของยาก ไม่ใช่เป็นของที่เหลือวิสัย ขอให้ทำความเข้าใจในจุดเบื้องต้น แล้วก็ทำให้ถูกต้อง ทำความถูกต้องจนกระทั่งความถูกต้องนั้น นำใจของเราให้เข้าถึงความถูกส่วน พอถูกส่วนสมาธิก็เกิด ใจปลอดโปร่งเบาสบาย แล้วพอเรารักษาอารมณ์สบาย อารมณ์เป็นสุขใจที่เรายอมรับว่านี่คือความสุข และเราก็ดื่มกับความสุขชนิดนั้นไปนาน ๆ พอแนบแน่นหนักเข้าเราก็จะเห็นแสงสว่างเกิดขึ้นเป็นจุดเล็ก ๆ เหมือนดวงดาวในอากาศ บางคนก็อาจจะใหญ่กว่านั้นเหมือนดวงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ หรือคล้ายกับพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน นั่นคือผลของสมาธิที่เกิดจากการประกอบเหตุได้ถูกต้องและถูกส่วน พอถูกต้องด้วยถูกวิธีถูกส่วนด้วย แสงสว่างเหล่านี้ก็ปรากฏเกิดขึ้นมาเอง นี่เป็นผล และใครเข้าถึงแสงสว่างตรงนี้แล้ว จะติดอกติดใจกันทุกคนอยากได้เข้าถึงตรงนี้อยู่เรื่อย ๆ อยู่ร่ำไปทีเดียว 

 


                ต้องทำความเข้าใจให้ดีนะจ๊ะ ว่าการทำสมาธินั้นเป็นงานทางใจ เป็นของที่ไม่ยาก เป็นของง่าย ๆ ที่เราสามารถจะฝึกฝนอบรมใจได้ทุกสถานที่ ไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดเวลา เพราะว่าเป็นงานทางใจ ที่ไหนมีความคิดที่นั้นเราก็ฝึกจิตได้ ที่ไหนมีความสับสนวุ่นวายเราก็ฝึกสมาธิได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเราทำได้ จะอยู่ในอริยาบถไหนก็ตามก็ทำได้อีกเหมือนกันจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดินทำได้ตลอด เพราะฉะนั้นในตอนนี้เราปรับร่างกายของเรานี่นะ ให้มันถูกส่วน เราจะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย ทำตรงนี้ซะก่อน ให้กล้ามเนื้อทุกส่วนมันผ่อนคลายหมด จนกระทั่งเรานั่งแล้วใจมันว่าง ๆ นั่งได้นิ่ง ๆ ว่าง ๆ โดยไม่รำคาญกับสิ่งแวดล้อม แล้วก็ไม่นึกถึงสิ่งแวดล้อมว่าจะมีอะไรอยู่รอบข้าง จะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของไม่กังวล มีความรู้สึกว่าเราอยู่คนเดียวในโลก ในใจเราก็นิ่ง ๆ นี่คือจุดเบื้องต้นที่เราต้องทำให้ถูกก่อนนะจ๊ะ

 


                ต่อจากนี้ไปก็ทำใจของเรานี่น่ะ ให้สบาย ๆ ไร้กังวลไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ยึดติดในคนในสัตว์ในสิ่งของในสิ่งอะไรทั้งสิ้น จะเป็นสิ่งมีชีวิตก็ตาม ไม่มีชีวิตก็ตาม ไม่ติด ไม่ยึด ไม่ผูกพัน ไม่นึกถึง ทำคล้าย ๆ กับเราไม่เคยเจอะเจอสิ่งเหล่านี้มาก่อนในชีวิต นี่ทำใจว่าง ๆ อย่างนี้นะจ๊ะ แล้วก็นึกรวมความสุขความบริสุทธิ์ทั้งหลาย ความสุขทั้งหลายที่มีอยู่ในพระอริยเจ้าก็ดี ในธรรมชาติก็ดีในสิ่งแวดล้อมก็ดี หรือจากคุณงามความดีที่เราได้ทำมาก็ดี นึกรวมสิ่งที่ดี ๆ เหล่านั้นนะ มาไว้ที่ในตัวของเรา คล้าย ๆ ร่างกายของเราจิตใจของเราน่ะ เป็นที่ประชุมรวมแห่งความสุข และความดีงามทั้งหลายรวมหมด เพราะฉะนั้นเมื่อสภาพใจเราเป็นอย่างนี้ สิ่งดี ๆ ที่เข้ามาอยู่ในใจเรา ใจเราก็เบิกบานสบาย พอใจเบิกบานสบายดีแล้ว ให้รักษาความเบิกบานนี้ไว้ต่อไปนะจ๊ะ นึกถึงความเบิกบานนึกถึงความเบาสบาย คราวนี้เราก็จะต้องมานึกถึงฐานที่ตั้งของใจเรา เมื่อกี้นี้เราพูดถึงว่าทำให้ถูกต้อง แล้วก็ดึงเข้าไปถึงถูกส่วน ตอนนี้เราจะต้องกำหนดฐานที่ตั้งเพื่อให้ถูกทาง ถูกทางไปของพระอริยเจ้า ถูกต้องถูกส่วน ตอนนี้ถูกทางนะจ๊ะ ทางไปของพระอริยเจ้ามีทางเดียว ทางเดียวเท่านั้นในโลก ยวดยานพาหนะอันใดก็ไปไม่ถึง ทางนั้นอยู่ในกลางกายของเรา 

 


                ให้สมมติว่าหยิบเส้นเชือกขึ้นมาสองเส้น สมมติเอานะจ๊ะ เส้นหนึ่งให้ขึงจากสะดือทะลุไปข้างหลัง อีกเส้นหนึ่งให้ขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย ให้เส้นเชือกทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท เพราะฉะนั้นจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสองก็จะเล็กเท่ากับปลายเข็ม นึกตามไปช้า ๆ นะจ๊ะ ให้ยกถอยหลังขึ้นมาสองนิ้วมือ สมมติเราเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางไปวางซ้อนกันแล้วนำมาทาบตรงจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสอง สูงขึ้นมาสองนิ้วมือตรงนี้เราเรียกว่าฐานที่ ๗ ตรงนี้เราเรียกว่าฐานที่ ๗ ถ้าหลวงพ่อพูดถึงฐานที่ ๗ หรือว่าเราไปได้ยินได้ฟังที่ไหนว่าฐานที่ ๗ น่ะ ให้หมายเอาตำแหน่งที่เหนือจากจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสองขึ้นมาสองนิ้วมือ ตรงนี้จำไว้ให้ดีนะจ๊ะ ตรงนี้คือจุดที่ถูกทางไปของพระอริยเจ้า เป็นจุดเริ่มต้นที่พระอริยเจ้าท่านเริ่มเดินทางไปสู่อายตนนิพพาน ไปสู่ความหลุดพ้นจากกิเลสจากอาสวะจากความโลภ ความโกรธ ความหลงทั้งหลาย ความไม่รู้จริงอันใดก็หมดไป เมื่อเข้าถึงจุดนี้ ตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้สำคัญที่สุด สำคัญที่สุดในชีวิตทีเดียว ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะไปสู่อายตนนิพพาน พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลายท่านเริ่มต้นตรงนี้นะจ๊ะ เมื่อเราวางใจได้ถูกทางตรงฐานที่ ๗ แล้ว ไม่ช้าก็ถึงที่หมาย เมื่อถูกทางก็ถึงที่หมาย ถูกทางไปของพระอริยเจ้าตรงฐานที่ ๗ ไม่ช้าก็จะถึงที่หมาย คืออายตนนิพพาน  

 


                ไปสู่นิพพานอันเกษมได้ นิพพานเมืองแก้วได้ นี่เราจะต้องเริ่มตรงนี้ให้ได้ให้เราอาศัยอารมณ์ที่สบาย ร่างกายที่ผ่อนคลาย จิตใจที่เบิกบาน นึกสมมติว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ มีดวงแก้วที่ใส สะอาด บริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้วไม่มีขีด ไม่มีข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา นึกตามไปช้า ๆ นะจ๊ะ ให้เอาอารมณ์ที่ถูกส่วน ร่างกายที่ผ่อนคลาย จิตใจที่เบิกบาน นึกถึงดวงแก้วคือสมมติขึ้นมาสร้างมโนภาพขึ้นมาเพื่อเป็นที่ยึด ที่เกาะของใจเรา ใจจะได้ไม่ไปนึกถึงเรื่องอื่น นึกถึงความใสนี้เราจะนึกได้ง่าย เพราะเราเคยเห็นบ่อย ๆ เช่นความใสของน้ำ ความใสของน้ำแข็ง ความใสของกระจก ความใสของพลอยของเพชร ความใสของน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว หรือหยาดน้ำค้างที่ปลายยอดหญ้า นี่เป็นความใสที่เราเห็นกันได้บ่อย ๆ เพราะฉะนั้นมันนึกง่าย นึกถึงความใสเท่าไหร่ใจ เราก็จะใสตาม เพราะฉะนั้นให้นึกถึงความใสถ้าเรานึกถึงเรื่องที่ทำให้ใจขุ่น ใจก็จะขุ่นใจตาม ดังนั้นเราให้สมมติว่าตรงฐานที่ ๗ นี้ มีดวงแก้วที่ใส สะอาดบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมวไม่มีขีด ไม่มีข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา ดวงใส ๆ นึกที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นะจ๊ะ 

 

                ตรงนี้มีวิธีนึกต้องให้นึกอย่างเบา ๆ นึกอย่างสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานึกถึงน้ำค้างที่ปลายยอดหญ้า หรือน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว หรือก้อนน้ำแข็งที่เราใสให้กลมดิกเลยนะ ให้นึกง่าย ๆ อย่างนั้น นึกเบา ๆ นึกง่าย ๆ นึกถึงความใสบริสุทธิ์ของบริกรรมนิมิตนั้น ไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้ค่อย ๆ นึกนะจ๊ะ บางท่านอาจจะนึกได้ทีเดียวชัดเจนได้เลย คือชัดจนกระทั่งเหมือนเราจำลองภาพภายนอก เข้าไปตั้งไว้ที่ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ได้เลยแต่บางท่านที่ไม่เคยนึกก็อาจจะนึกได้ชัดเจนไม่เท่านั้น อาจจะไม่ค่อยจะชัดเจน ยิ่งถ้าบางท่านตั้งใจมากเกินไป ยิ่งนึกไม่ออกเลย เพราะฉะนั้นเรานึกได้แค่ไหนนะจ๊ะ ก็ให้รักษาอารมณ์สบายเอาไว้ค่อย ๆ นึก อย่าลืมคำนี้นะ ค่อย ๆ นึก นึกด้วยใจที่เยือกเย็น ให้ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ นึก นึกเบา ๆ อย่างสบาย ๆ นึกถึงดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้วไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา แก้วตาของใครของมันนะ หรือจะโตเท่ากับดวงแก้วกายสิทธิ์ที่มอบเอาไว้ให้ ที่ได้รับไปเมื่อเป็นประธานกฐินผ้าป่าน่ะ กลมรอบตัวใสบริสุทธิ์ ลองทำใจดูนะจ๊ะ ทำใจอย่างสบาย ๆ กล้ามเนื้อผ่อนคลาย นึกเบา ๆ ค่อย ๆ นึก ลองทำตรงนี้ดูนะจ๊ะ อย่างสบาย ๆ 

 


                เมื่อเรานึกถึงดวงใส ๆ อย่างสบาย ๆ แล้ว ลองนึกถึงคำภาวนา เราลองนึกถึงคำบริกรรมภาวนาในใจเบา ๆ ลองดูซิว่าใจจะซัดส่ายไปที่อื่นไหม ภาวนาสัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหังอย่างนี้นะ ให้เสียงของคำภาวนาดังออกมาจากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นเสียงที่ดังออกมาจากตรงนั้นนะสัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง คล้าย ๆ เรานั่งฟังเสียง เสียงที่ละเอียดที่ภาวนาว่าสัมมาอะระหัง ซึ่งดังออกมาจาก ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ควบคู่กับการนึกถึงภาพดวงแก้วที่ใสบริสุทธิ์ 

 


                ภาวนาไปเรื่อยแล้วก็นึกถึงภาพไปด้วย ทีนี้บางท่านมีความรู้สึกว่า ถ้าไม่ภาวนาสัมมาอะระหัง รู้สึกจะดีกว่าคือนึกถึงภาพดวงแก้วอย่างเดียวรู้สึกจะสบายกว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ให้นึกถึงแต่ภาพดวงแก้วอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องภาวนา และในทำนองเดียวกัน บางคนมีความรู้สึกว่าถ้าภาวนาสัมมาอะระหังอย่างเดียว รู้สึกว่าจะสบายกว่านึกควบคู่ไปกับดวงแก้ว เพราะว่าอีกดวงแก้วนึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก แต่ถ้าหากว่าให้ภาวนาสัมมาอะระหังอย่างเดียวโดยให้เสียงของคำภาวนาดังออกมาจากในกลางท้องฐานที่ ๗ ตรงนั้น รู้สึกว่าจะสบายกว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ให้ภาวนาสัมมาอะระหังอย่างเดียว โดยไม่ต้องนึกถึงภาพดวงแก้ว นี่เป็นราย ๆ ไปนะจ๊ะ   เป็นเฉพาะบุคคลไป ใครชอบอย่างไรก็เอาอย่างนั้น แต่ที่สำคัญใจของเราจะต้องนึกไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ที่เดียว เพราะวัตถุประสงค์ที่ให้นึกถึงดวงแก้วก็ดี ภาวนาสัมมาอะระหังก็ดีควบคู่กันไปก็ดี หรืออย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ก็เพื่อให้ใจเราคุ้นกับศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้ใจเราคุ้นเคยอยู่ที่ตรงนั้น เพราะเรามาใหม่ เราไม่เคยปฏิบัติมาก่อน ใจเราจะไม่คุ้นเคย ดังนั้นต้องใช้สองวิธีการนี้ ภาวนาไปด้วยนึกไปด้วย หรืออย่างใดอย่างหนึ่งที่ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

 


                 ทีนี้เมื่อเราทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ คือภาวนาสัมมาอะระหังไปด้วย นึกถึงดวงแก้วไปด้วย หรือนึกถึงดวงแก้วอย่างเดียวไม่ภาวนาสัมมาอะระหัง หรือภาวนาสัมมาอะระหัง ไม่นึกถึงดวงแก้ว พอเราทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ อย่างสบายๆ ไม่กังวลเรื่องอะไร ไม่คิดไปในเรื่องราวต่าง ๆ ไม่มีคำถามเกิดขึ้นมาในใจน่ะ ทำเฉย ๆ อย่างที่เราถนัด พอเราประคองไปเรื่อย ๆ ใจของเราก็จะค่อย ๆ ละเอียดลง ละเอียดลงไปเรื่อย ๆ ละเอียดลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งใจหยุดนิ่งถูกส่วน หยุดนิ่ง บางคนหยุดนิ่งพร้อมกับเห็นภาพขึ้นมาด้วย คือเห็นดวงใสขึ้นมาด้วย  บางคนหยุดนิ่ง หยุดนิ่งอย่างเดียวนะ แต่ภาพดวงแก้วไม่เกิด เกิดแต่ดวงใส ๆ บางคนหยุดนิ่งแล้วได้อารมณ์สบาย ดวงใสยังไม่เกิด จะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ก็ให้รักษาอารมณ์นั้นต่อไป ทำเป็นเฉย ๆ วางเฉย ๆ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ไป เฉย ๆ พอเฉย ๆ ไปเรื่อย ๆ อารมณ์ก็จะละเอียดเพิ่มขึ้นไปร่างกายก็จะปลอดโปร่ง โล่ง เบา สบาย อย่างที่เราไม่เคยเป็นมาก่อน ขอให้ทุกท่านตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมให้เต็มที่นะจ๊ะ ให้ใจหยุด ใจนิ่ง ใจใสบริสุทธิ์เมื่อใจเราบริสุทธิ์ดีแล้ว จะได้เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญกุศลกันต่อไป โดยเอาใจหยุดนิ่งไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ พร้อมกับภาวนาในใจ สัมมาอะระหังสัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ นะจ๊ะ 

 


               ใจของเราจะต้องนึกไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ที่เดียว เพราะวัตถุประสงค์ที่ให้นึกถึงดวงแก้วก็ดีภาวนา สัมมาอะระหังก็ดี ควบคู่กันไปก็ดี หรืออย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ก็เพื่อให้ใจเราคุ้นกับศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้ใจเราคุ้นเคยอยู่ที่ตรงนั้น เพราะเรามาใหม่เราไม่เคยปฏิบัติมาก่อน ใจเราจะไม่คุ้นเคย ดังนั้นต้องใช้สองวิธีการนี้ ภาวนาไปด้วย นึกไปด้วย หรืออย่างใดอย่างหนึ่งที่ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ทีนี้เมื่อเราทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ คือภาวนาสัมมาอะระหังไปด้วยนึกถึงดวงแก้วไปด้วย หรือนึกถึงดวงแก้วอย่างเดียว ไม่ภาวนาสัมมาอะระหัง หรือภาวนาสัมมาอะระหังไม่นึกถึงดวงแก้ว พอเราทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ ไม่กังวลเรื่องอะไร ไม่คิดไปในเรื่องราวอะไรต่าง ๆ ไม่มีคำถามเกิดขึ้นมาในใจ ทำเฉย ๆ อย่างที่เราถนัด พอเราประคองไปเรื่อย ๆ ใจของเราก็จะค่อย ๆ ละเอียดลง ละเอียดลงไปเรื่อย ๆ ละเอียดลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งใจหยุดนิ่งถูกส่วน 

 


                หยุดนิ่ง บางคนหยุดนิ่งพร้อมกับเห็นภาพขึ้นมาด้วย คือเห็นดวงใสขึ้นมาด้วย บางคนหยุดนิ่ง หยุดนิ่งอย่างเดียว แต่ภาพดวงแก้วไม่เกิด เกิดแต่ดวงใส ๆ บางคนหยุดนิ่งแล้วได้อารมณ์สบาย ดวงใส ๆ ยังไม่เกิด จะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตามจะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ก็ให้รักษาอารมณ์นั้นต่อไป ทำเป็นเฉย ๆ วางเฉย ๆ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ไปเฉย ๆ พอเฉย ๆ ไปเรื่อย ๆ อารมณ์ก็จะละเอียดเพิ่มขึ้นไป ร่างกายก็จะปลอดโปรง โล่ง เบา สบาย อย่างที่เราไม่เคยเป็นมาก่อนพอมากเข้า หนักเข้า ใจนิ่งแน่นหนักเข้า ก็ตกศูนย์วูบลงไป จะเห็นดวงใสลอยขึ้นมาเลยเกิดขึ้นมาเอง ดวงใสนี้เกิดขึ้นมาเอง แตกต่างจากดวงที่เราสมมติเข้าไปเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวอย่างในโลก เพราะว่าเป็นความใสที่มีแสงสว่างอยู่ในตัวกลมรอบตัว และก็นุ่มนวล เกิดขึ้นมาในกลางกายฐานที่ ๗ น่ะ อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ลอยขึ้นมาที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ พอเกิดขึ้นมาอย่าไปตื่นเต้นนะจ๊ะ 

 


                 บางคนอดไม่ได้ เห็นแล้วก็ตื่นเต้น คือก็ดีใจ บางคนไม่ตื่นเต้นแต่ก็สงสัยว่ามันดวงอะไรขึ้นมา สวยจังเลย เกิดมาก็ไม่เคยเห็น บางคนก็ตั้งคำถามขึ้นมาอยู่ในใจ แสวงหาวิธีการค้นคว้าต่อไป แต่วิธีทั้งหมดนั้นน่ะไม่ถูกเลย ที่ถูกคือดูเฉย ๆ ดูดวงสว่างเฉย ๆ ที่เกิดขึ้น นี่คือดวงธรรมเบื้องต้นเรียกว่าดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นธรรมดวงแรก ความบริสุทธิ์เบื้องต้น ที่บังเกิดขึ้นเมื่อใจหยุดนิ่ง เราจะเห็นความบริสุทธิ์เกิดขึ้นมาเป็นดวงสว่างใสบริสุทธิ์ เกิดขึ้นมาที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เห็นแล้วก็อิ่มอกอิ่มใจที่เราเรียกว่า ปีติ ไม่ต้องการอะไรเลย มีความพอใจอยู่กับดวงนี้ นึกทั้งวัน นึกตลอดเวลาเลย อิ่มอกอิ่มใจ เบิกบานใจ เป็นสุขใจ อยากจะอยู่กับดวงนี้ไปนาน ๆ นี่พอมองไปเรื่อย ๆ ดวงนี้ถูกส่วนก็ขยายกว้างออกไป ขยายกว้างเหมือนเราโยนก้อนหินลงไปในน้ำอย่างนั้นน่ะวงของน้ำขยายไป แต่นี่พอเราดูไปเฉย ๆ ดวงก็ขยายไปเองกว้างออกไป พอขยายกว้างไปก็มีดวงธรรมดวงใหม่เกิดขึ้นมา เป็นชั้น ๆ เลย ทีละดวง ๆ เรื่อยมาเลย แต่ละดวงนั้นเกิดขึ้นก็แตกต่างกันออกไปสุกใสสว่างกว่าเดิม และให้ความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ มีความปราณีตเพิ่มขึ้น มีความสุขเพิ่มขึ้น มีสติเพิ่มขึ้น มีความรู้ตัวภายในเพิ่มขึ้น เราจะมีความรู้สึกว่าตัวของเรานี่ เพิ่งจะตื่นขึ้นเป็นครั้งแรกจริง ๆ 

 


                ชีวิตที่ผ่านมามีความรู้สึกมันเหมือนคนงัวเงีย ครึ่งหลับครึ่งตื่น มันงัว ๆ เงีย ๆ อยู่ รู้สึกไม่ค่อยมีสติเท่าไหร่ ไม่ค่อยจะรู้ตัวเท่าไหร่ บางทีพูดก่อนคิดมั่ง ทำก่อนคิดมั่ง สติไม่ค่อยมี แต่พอถึงตอนนี้เข้าเราจะเริ่มรู้ตัวภายใน ความรู้ตัวภายในก็จะขยายกว้างออกไปทั่วทุกขุมขนทีเดียว ให้ความบันเทิงใจกับเราอย่างที่เราไม่เคยเป็นมาก่อน ก็ร่างกายของเราทุกขุมขนนั่นน่ะมีชีวิตชีวาความสุขก็แล่นซาบซ่านไปหมด ทั่วไปหมดเลย ขยายไปพร้อมกับรู้ตัวภายใน เพราะฉะนั้นถึงตอนนี้แล้วนี่ คำว่าหลับไม่มีเลย มันมีแต่ตื่นอยู่เสมอ ตื่นตัว ตื่นตา ตื่นใจ ตื่นเต้นกับสิ่งที่เห็นมาน่ะ มันเป็นความสุขที่เราไม่เคยเป็นมาก่อน สว่าง ดวงธรรมเหล่านี้จะขยายไปเรื่อย ๆ พระพุทธเจ้าของเราวันที่ท่านตรัสรู้ธรรม ท่านก็มองไปอย่างนี้แหละ มองไปเรื่อยตั้งแต่เอาชนะพญามารได้ตอนยามเย็นน่ะ มองไปเรื่อย ๆ ก็จะเห็นดวงธรรมที่ผุดขึ้นมา พอสุดดวงธรรมหกดวง เป็นกายหนึ่งเกิดขึ้นมาในกลางนั้น กายหนึ่งเกิดขึ้นมาเป็นกาย ร่างกายที่เหมือนกับพระองค์ท่าน เรียกว่ากายมนุษย์ละเอียดเกิดขึ้นมาในกลางนั้น และท่านก็เห็นกายในกายนี่ซ้อนไปเรื่อย ๆ เลย เห็นกายในกาย กายในกาย ซ้อนกันอยู่ในกลางกายนั้น เป็นลำดับชั้นเข้าไปเรื่อย ๆ เลย มีกายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม ที่สวยงามหนักขึ้นไป ท่านก็ตามเห็นเข้าไปเรื่อย ๆ ตามเห็นกายในกาย กายในกาย กายในกาย มองตามไป จนกระทั่งในยามต้น ไปถึงกาย ๆ หนึ่งที่แตกต่างจากกายทั้งหลาย 

 


                เห็นกายหนึ่งที่แตกต่างจากกายทั้งหลายน่ะ กายนั้นมีลักษณะเกตุดอกบัวตูมสวยงามมาก งามไม่มีที่ติ ได้ลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการเลย ใสเป็นแก้ว บริสุทธิ์ บริสุทธิ์มากเลย ใสบริสุทธิ์ นั่งขัดสมาธิหันหน้าออกไปทางเดียวกับพระองค์ เกตุดอกบัวตูมใสเป็นแก้ว งามไม่มีที่ติ กายต่าง ๆ ผ่านมา เกตุไม่เป็นดอกบัวตูม แต่กายนี้เป็นเกตุดอกบัวตูมนั่งขัดสมาธินิ่งสงบ พอท่านเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายนั้นแล้วน่ะ ความรู้สึกตื่นตัวก็เกิดขึ้นยิ่งกว่าเดิมเข้าไปอีก รู้สึกว่าตื่นหนักเข้าไปอีก มองเห็นอะไรก็กว้างขวาง เห็นได้รอบตัว สติกับปัญญาไปควบคู่กันไปทันที ไม่พรากจากกันเลย ยิ่งมีความรู้ตัวแนบแน่นเท่าไหร่ ความคิดอื่นไม่เข้าแทรก ต้องการจะรู้อะไร ความรู้นั้นก็แล่นไป มีเครื่องรู้นะ มีญาณเป็นเครื่องรู้ไปจรดกับสิ่งไหนก็ตามความรู้ก็เกิดขึ้น เป็นความรู้ที่เกิดจากการเห็น การเห็นแจ้งเห็นแจ้งที่แตกต่างจากการเห็นด้วยตามนุษย์ทั้งหลาย เห็นแตกต่างไปเลย เพราะฉะนั้นยามต้น ท่านบรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคลเบื้องต้นคือ พระโสดาบัน ท่านก็ตามเห็นไปอีก มองไปเรื่อยๆ อย่างนี้แหละ 

 


                มองไปตรงกลางของกายพระโสดาบันนั้นน่ะ มองต่อไปเรื่อย ๆ ก็เห็นกายต่าง ๆ กายพระเกิดขึ้นมาเรื่อย พระธรรมกายเกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ มองเห็นกายในกาย กายในกาย องค์พระในองค์พระธรรมกายซ้อนไปจนกระทั่งยามที่สองเข้าถึงความเป็นพระอนาคามี นี่น่ะผ่านกายพระสกิทาคามีเข้าถึงกายพระอนาคามีท่านก็มองไปเรื่อย ๆ อย่างนี้ ถึงอรุณ รุ่งอรุณเข้าถึงกายธรรมอรหัต หลุดพ้นหมดจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย กิเลสอาสวะตั้งแต่อวิชชา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ โลภะ โทสะ โมหะ ราคะ โทสะ โมหะ กามราคานิสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย ต่าง ๆ พวกนั้นหมดเลย กิเลสอาสวะสิ้นหมด มานะทิฏฐิ อุทธัจจะ อะไรต่าง ๆ พวกนั้นหมดเลย กิเลสต่าง ๆ ที่ครอบงำสังโยชน์เบื้องต่ำเบื้องสูง ที่ผูกพันร้อยรัดพระองค์ท่าน หมดสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษเลย กิเลสสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ เศษก็ไม่มีเหลือ ขี้ทุ่งขี้เถ้าไม่มีเหลือเศษเลย กิเลสดับ แวบไปหมด สว่างแต่พระธรรมกายพระอรหัต หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา งามไม่มีที่ติ จิตใจเบิกบาน สดชื่นผ่องใส พระองค์ก็ปฏิญาณตนว่า เออนี่เราเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว หมดกิเลสแล้ว กิเลสครอบงำไม่ได้แล้ว ยืนยันด้วยพระองค์เองเลยยอมรับแล้วว่ากิเลสหมดจริง ๆ ไม่มีเหลือเลย 

 


                มีความสุขที่สุดเมื่อกิเลสหมดแล้ว จิตใจเบิกบานผ่องใส นี่คือเส้นทางสายกลางที่พระพุทธเจ้าท่านดำเนินด้วยใจของพระองค์ เข้ากลางของกลางไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นพวกเราทั้งหลายก็จะต้องทำอย่างนี้แหละ ตามเห็นกันไปเรื่อย ๆ ในที่สุดก็จะเข้าถึงธรรมกายได้ในไม่ช้า ธรรมกายเป็นหลักของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาเริ่มต้นจากธรรมกาย เพราะว่าธรรมกายเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานแล้ว ผู้รู้ รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยธรรมจักขุของธรรมกาย ตื่นตลอดเวลาเลย ตื่นจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย ตื่นหมด ไม่งัวเงียแล้ว ตื่น มองเห็นโลกไปตามความเป็นจริง เห็นชีวิตไปตามความจริง กิเลสครอบงำตรงไหนเห็นหมด ขจัดด้วยวิธีการใดเห็นหมด กิเลสหมดแล้วก็เห็นหมด ตลอดหมด ใจก็เบิกบานสว่างไสว เป็นสุข นี่คือธรรมกายซึ่งเป็นหลักของชีวิต หลักของพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นก่อนที่เราจะบูชาข้าวพระขอให้ทุกท่านตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมให้เต็มที่นะจ๊ะ ให้ใจหยุดใจนิ่ง ใจใสบริสุทธิ์ เมื่อใจเราบริสุทธิ์ดีแล้วจะได้เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญกุศลกันต่อไป ยิ่งถ้าเราได้เข้าถึงธรรมกาย การทำบุญด้วยธรรมกายนั้น ยิ่งมีอานิสงส์ใหญ่เกินควรเกินคาด จะนับจะประมาณมิได้ เพราะฉะนั้นขอให้ทุกท่านตั้งใจ ปฏิบัติให้เข้าถึงพระธรรมกายกันทุก ๆ คนนะจ๊ะ คราวนี้ให้ทุก ๆ คนทำใจให้หยุดให้นิ่งไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ด้วยวิธีการดังกล่าว คือร่างกายที่ผ่อนคลาย อารมณ์ที่แจ่มใส จิตใจที่เบิกบาน ตรึกไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ ไม่ต้องภาวนาสัมมาอะระหัง นะจ๊ะ 

 


                ทำให้ให้หยุดให้นิ่ง หยุดในหยุด หยุดในหยุด นิ่งในนิ่งนิ่งในนิ่ง ลงไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ประคองใจไปเบา ๆ สบาย ๆ ใครที่เข้าถึงแสงสว่างก็เอาใจหยุดนิ่งที่กลางแสงสว่างตรงฐานที่ ๗ หยุดนิ่ง ๆ ใครเข้าถึงปฐมมรรค เห็นดวงใสบริสุทธิ์อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ก็ให้เอาใจหยุดนิ่งไปที่ตรงกลางของปฐมมรรค ใครที่เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด เห็นกายมนุษย์ละเอียดได้ชัดเจน ท่านหญิงเหมือนท่านหญิง ท่านชายเหมือนท่านชาย นั่งขัดสมาธิหันหน้าออกไปทางเดียวกับเรา เห็นชัดเจนแจ่มใส ก็เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายมนุษย์ละเอียด ใครเข้าถึงกายทิพย์ เห็นกายทิพย์ชัดเจนแจ่มใสเหมือนลืมตาเห็น ก็เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายทิพย์ใครเข้าถึงกายรูปพรหม ก็เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายรูปพรหม มองดูกายรูปพรหมให้ชัดให้ใสแจ่มสว่างให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายรูปพรหมนั้น ใครเข้าถึงกายอรูปพรหม ก็เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายอรูปพรหม ให้ใจหยุดนิ่ง มองเห็นกายอรูปพรหมให้เห็นชัดใสแจ่มบริสุทธิ์เหมือนเราลืมตาเห็น ใครเข้าถึงกายธรรมตั้งแต่กายธรรมโคตรภูขึ้นไป ก็เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายธรรม ให้มองเห็นกายธรรมให้ใสบริสุทธิ์เหมือนเพชร ยิ่งกว่าเพชรกระทั่งมีรัศมีสว่างออกมาจากกลางกายของกายธรรม 

 


                ทีนี้เรามองให้ชัดทีเดียวเอาใจหยุดในหยุด หยุดในหยุดลงไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนั้นนะ ดังกล่าวแล้วทั้งหมดตรึกในตรึก ตรึกในตรึก ลงไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายต่าง ๆ ที่เราเข้าถึง นิ่งในนิ่ง นิ่งในนิ่ง ลงไปตรงกลางตรงนั้นนะ ให้ใจหยุดใจนิ่งให้ใสบริสุทธิ์ที่เดียว แล้วก็กราบทูลพระพุทธเจ้าขอบุญขอบารมี รัศมี กำลังฤทธิ์อำนาจสิทธิให้ถึงแก่พวกเราทุกคน ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องไทยธรรมทั้งหลายเหล่านี้ ให้ได้ผลบุญเป็นอัศจรรย์ทันตาเห็นให้มีความสุขกายสุขใจ ร่างกายแข็งแรงอย่าเจ็บ อย่าป่วย อย่าไข้ ให้อายุยืนยาวผิวพรรณวรรณะผ่องใส มีความสุขกายสุขใจ กำลังกายกำลังใจ ความเฉลียวฉลาด มีพวกพร้องบริวารที่ดี มีโภคทรัพย์มีสายสมบัติเกิดขึ้นให้ได้สร้างบารมีไม่รู้จักหมดจักสิ้นให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ให้ได้เข้าถึงพระธรรมกายในปัจจุบันนี้ ให้มีดวงปัญญาเลิศแตกฉานแทงตลอดทั้งทางโลกทางธรรม ที่เป็นนักศึกษา ก็ให้ศึกษาให้สำเร็จสมความปรารถนา เป็นข้าราชการก็ให้ไปให้สูงที่สุดอย่าได้มีอุปสรรคอันใดเกิดขึ้น เป็นนักธุรกิจก็ขอให้ซื้อง่ายขายคล่องกำไรงาม ประสบความสำเร็จในธุรกิจการงาน ครอบครัวก็ให้อยู่เย็นเป็นสุข 

 


                ให้มีกำลังใจกำลัง กายที่สูงส่ง มุ่งสร้างบารมีไปได้ตลอดรอดฝั่งอย่าได้มีอุปสรรคอันใดเกิดขึ้น เมื่อตั้งใจจะเป็นประธานกองก็ดีประธานรองก็ดีขอให้สำเร็จสมความปรารถนา ให้มีสายสมบัติติดไปเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี ผู้ใจบุญทุกภพทุกชาติกระทั่งเข้าสู่อายตนนิพพานจะพูดจากับใครก็ให้ชนะใจหมดทุก ๆ คน ถูกอกถูกใจ กฤทัยคนหมดทุก ๆ คนให้กระแสธารแห่งบุญให้หลั่งไหลเข้ามาที่ศูนย์กลางกาย จะปรารถนาอะไรในสิ่งที่ดีงาม ก็ให้สำเร็จสมความปรารถนา คุณยาย ขอศีล ขอพร ขอบุญ บารมี รัศมี กำลังฤทธิ์ อำนาจสิทธิ สมบัติ คุณสมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญสุข มรรคผลนิพพาน ให้บังเกิดขึ้นกับทุก ๆ คน ให้ทับทวีไปเรื่อย ๆ อย่างนั้นน่ะ กราบทูลพระพุทธเจ้าไปเรื่อย พวกเราซึ่งเป็นเจ้าของบุญ เจ้าของเครื่องไทยธรรมก็ให้ทำความปิติยินดีเบิกบานใจ เปิดใจรับกระแสธารแห่งบุญ ให้เกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกาย กระแสบุญนี้ก็จะได้หลั่งไหลมาติด ที่ศูนย์กลางกำเนิดที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นดวงสว่างกลมรอบตัวทีเดียว สุกใสสว่าง ถ้าดวงบุญโต ความสำเร็จความสุขความสำเร็จในชีวิตก็มาก ถ้าดวงบุญในตัวของเราเล็ก ความสุขความสำเร็จก็ลดน้อยลงมา ลดหลั่นลงมาตามลำดับ

 


                บุญนี้ก็จะติดไปในตัวของเราน่ะ ถ้าจะไปเกิด ถ้าในปัจจุบันนี้ก็ได้ผลบุญในปัจจุบัน ถ้าละโลกไปเกิดในสุคติภูมิ ก็มีความสุขในสุคติภูมิ เป็นชาวเข้าเป็นสหายแห่งเทวดา มีรัศมีสว่างไสว มีสมบัติทิพย์มาก ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ที่เกิดในตระกูลสูง สมบูรณ์ด้วยรูปสมบัติทรัพย์สมบัติคุณสมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มรรคผลนิพพานสมบูรณ์ทุกอย่าง ด้วยกระแสธารแห่งบุญที่ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย บุญในตัวจะเป็นเครื่องดึงดูดสิ่งที่ดีงามเข้าหาตัวเรา ตั้งแต่รูปสมบัติเกิดขึ้น ทรัพย์สมบัติเกิดขึ้นคุณสมบัติเกิดขึ้น ลาภ ยศ สรรเสริญ พวกพร้องบริวารเกิดขึ้น กระทั่งมรรคผลนิพพานต่าง ๆ ก็จะบังเกิดขึ้นด้วย กระแสแห่งบุญนี้ดึงดูดมาเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสุขและความสำเร็จในชีวิตของทุก ๆ คน เพราะฉะนั้นให้ทุกคนตั้งใจอธิษฐานจิตของเราตามใจชอบ ให้ใจหยุดใจนิ่งอธิษฐานจิตตามใจชอบ แล้วก็แผ่เมตตาแผ่กระแสธารแห่งบุญไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ มีบิดามารดาครูบาอาจารย์ญาติพี่น้องของเราเป็นต้น ให้มีส่วนแห่งบุญกุศลที่เราอุทิศไปแล้วนี้ เมื่ออุทิศไปแล้วก็ให้อนุโมทนา รับทราบแล้วก็ประกาศกันต่อ ๆ ไป เมื่อรับบุญแล้วก็ให้มีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป มีทุกข์ก็ให้พ้นทุกข์ มีสุขแล้วก็ให้สุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป ให้ทำอย่างนี้กันทุก ๆ คนนะจ๊ะ 


 

 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010235826174418 Mins