ที่ตั้งของสมาธิ

วันที่ 08 กค. พ.ศ.2567

 

2567_07_08_b__.jpg

 

 

ที่ตั้งของสมาธิ


               ชาวนาเลี้ยงควายก็จำเป็นต้องผูกควายไว้กับหลัก มิฉะนั้น ถ้าควายหลุดจากหลักได้เมื่อใดก็จะขวิดกันเองบ้าง ขวิดต้นไม้บ้าง หรือขวิดแม้กระทั่งเจ้าของเอง ถึงคราวจะใช้งานมันก็หนีเตลิดไป ชาวเรือก็เช่นกัน จำเป็นต้องผูกเรือไว้กับหลัก ถ้าไม่ผูกเรือก็จะหลุดลอยไปตามน้ำลอยไปลอยมาก็จะถูกเรืออื่นชนเสียหาย แม้ประชาชนก็ต้องมีผู้ปกครองหรือหัวหน้าเป็นหลัก ถ้าไม่มีผู้ปกครองเป็นหลัก หรือหลักไม่ดี ก็เกิดการจลาจลวุ่นวายไปทั้งเมืองได้ ดังนั้น หลักสำหรับเกาะ จึงมีความจำเป็นมากไม่ว่าในกิจกรรมใด ๆ
            การแสวงหาความสงบทางใจก็จําเป็นต้องหาหลักให้ใจเกาะ เช่นกัน ใจจึงจะยอมสงบได้ ถ้าใจไม่มีหลักให้เกาะก็จะลอยเคว้งคว้างถ้าลอยไปไกลมากเกินไปก็จะกลายเป็นคนเสียสติ ถ้าลอยอยู่ใกล้ ๆ ก็หลงบ้างลืมบ้าง จำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ถ้าอยู่ในตัวก็เป็นผู้มีสติสมบูรณ์หลักที่จะให้ใจเกาะนี้มีความสำคัญมาก ฉะนั้น ก่อนฝึกสมาธิก็ต้องหาหลักให้ใจเกาะเป็นที่เป็นทางแน่นอนเสียก่อน เรานิยมเรียกหลักที่ไว้ให้ใจเกาะว่า ฐานที่ตั้งจิต หรือฐานทัพสำหรับปราบตนเอง


               ฐานที่ตั้งจิต แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ฐานที่ตั้งจิตถาวร กับ ฐานที่ตั้งจิตชั่วคราว ที่ต้องแบ่งเช่นนี้ก็เพื่อความสะดวกของผู้ที่เริ่มฝึกใหม่ กล่าวคือ


ถ้าใช้ท่อนไม้เล็ก ๆ ทำหลักไว้ผูกควาย ก็ใช้ผูกได้ชั่วคราวครั้งละ 2-3 ตัว เมื่อเสร็จธุระแล้วก็ถอนทิ้ง ส่วนหลักที่ใช้ผูกควายจำนวนมาก ๆ นั้นเราใช้เสาใหญ่ ๆ จะได้คงทน ไม่ต้องย้ายไปมา เรียกว่าหลักถาวร ลักษณะพิเศษของหลักถาวรก็ คือ ต้องสร้างให้มั่นคงแข็งแรงและไม่มีการโยกย้าย


                 หลักหรือฐานที่ตั้งจิต ในการฝึกสมาธิของผู้เริ่มฝึกใหม่สามารถเคลื่อนย้ายไปตามลำดับได้ มีอยู่ 6 ฐานด้วยกัน คือ


               ฐานที่ 1 ตรงปากช่องจมูก ถ้าเป็นหญิงก็ตรงปากช่องจมูกซ้ายถ้าเป็นชายก็ตรงปากช่องจมูกขวา


                ฐานที่ 2 ตรงเพลาตา ถ้าเป็นหญิงก็ตรงเพลาตาซ้าย ถ้าเป็นชายก็ตรงเพลาตาขวา


                ฐานที่ 3 ในกลางกั๊กศีรษะตรงจอมประสาท ได้ระดับพอดีกับตา แต่อยู่ข้างใน (นึกเอาเส้นด้าย 2 เส้น จึงให้ตึงจากกึ่งกลางระหว่างหัวตาทั้งสองข้างทะลุท้ายทอยกกหูซ้ายทะลุกกหูขวา ตรงจุดตัดคือกลางรัก)


                 ฐานที่ 4 ในปากช่องเพดาน บริเวณเหนือลิ้นไก่ ตรงที่รับประทานอาหารแล้วสำลัก


                 ฐานที่ 5 ในปากช่องคอ เหนือลูกกระเดือก อยู่ตรงกลางช่องคอพอดี


              ฐานที่ 6 ตรงกับสะดือแต่อยู่ข้างใน คือกลางตัว ฐานที่ตั้งจิตทั้ง 6 ฐานนี้ เป็นเพียงฐานที่ตั้งจิตได้ชั่วคราว จึงไม่ควรตั้งไว้นานเกินไป จนกระทั่งกลายเป็นนิสัย ต้องรีบหาโอกาสเลื่อนไปตั้งไว้ที่ฐานถาวรทันทีที่จิตเริ่มหยุด คือฐานที่ 7


                  ฐานที่ 7 อยู่ตรงเหนือฐานที่ 6 โดยย้อนกลับขึ้นมาข้างบนอีกประมาณ 2 นิ้วมือ (นึกขึงเส้นด้าย 2 เส้น จึงให้ตึงจากสะดือทะลุหลังจากเอวซ้ายทะลุเอวขวาตรงเหนือจุดตัดขึ้นไป 2 นิ้วมือ คือ ฐานที่ 7)


หมายเหตุ สำหรับผู้ที่ไม่เคยฝึกวิธีอื่น ๆ มาก่อนเพื่อไม่เป็นการยุ่งยากจะตั้งจิตไว้ตรงฐานที่ 7 ทันทีก็ได้ และห้ามเคลื่อนย้ายไม่ว่ากรณีใด


                    ทำไมจึงว่า ฐานที่ 7 เป็นฐานที่ตั้งจิตถาวร
        เหตุผลประการแรก ที่ต้องตั้งจิตไว้ตรงฐานที่ 7 เพราะตรงฐานที่ 7 นี้ โดยธรรมชาติแล้วเป็นทั้ง ที่เกิด ที่ดับ ที่หลับ ที่ตื่นของทุก ๆ คน
                   

                        ก) ที่ว่าเป็นที่เกิด ก็เพราะเมื่อเวลามนุษย์ทุกคนจะเกิดนั้นกายไปเกิดมาเกิดหรือที่เรียกว่า กายสัมภเวสี (เป็นกายที่ละเอียดมากจนกระทั่งถ่ายภาพด้วยรังสีเอ็กซ์ไม่ติด) จะเข้าไปทางช่องจมูกของบิดาถ้าเป็นชายก็เข้าช่องจมูกขวา หญิงก็เข้าช่องจมูกซ้าย กายสัมภเวสีเมื่อเข้าไปแล้ว ก็มีการปรับปรุงตัวเองใหม่ให้เหมาะสมและได้ชื่อใหม่ว่ากายทิพย์


                      กายทิพย์เข้าไปรออยู่ที่ฐานที่ 6 นานวันบ้าง เร็ววันบ้าง เมื่อเกิดการสัมผัสประกอบกิจร่วมกันระหว่างบิดา มารดา จนกระทั่งแรงปรารถนาเข้มข้นเข้า ดวงใจของทั้งสามก็จะแนบนิ่งสนิท เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีดวงใจ (ไม่ใช่หัวใจ ดวงใจนี้ประกอบด้วยดวงเห็น ดวง ดวงคิด ดวงรู้ แต่จะไม่อธิบายในที่นี้ กรุณาอดใจปฏิบัติธรรมค้นคว้าเอาเอง) ของบิดาอยู่ข้างบน ของมารดาอยู่ข้างล่างและของลูกซึ่งยังเป็นกายทิพย์อยู่ตรงกลาง


                    กายทิพย์ของลูกซึ่งอยู่ตรงฐานที่ 6 ของบิดา จะเข้าศูนย์สลายตัวกลายเป็นดวงกลมโตประมาณ ไข่แดงของไก่ แล้วถูกดึงดูดให้ลอยขึ้นมาอยู่ตรงฐานที่ 7 ของบิดา โอกาสนี้ การดึงดูด จะยิ่งหนักหน่วงรุนแรงยิ่งขึ้นตามแรงปรารถนาที่ยิ่งเข้มข้นคล้ายกับการตอกตะปูเมื่อความปรารถนาเข้มข้นรุนแรงถึงที่สุด บิดาและมารดาก็ลืมตัวไปกับความเพลิดเพลินนั้นกระทั่ง ตาเหลือกช้อนกลับ


                     เมื่อบิดามารดาเผลอจนตากลับเช่นนั้น ตัวกายทิพย์จะเคลื่อนที่จากบิดาเข้าสู่อู่มดลูกของมารดา ไปตั้งอยู่ตรงกลางไข่ของมารดาที่ถูกเชื้อจากบิดาผสมแล้วตรงขั้วมดลูก ที่ขั้วมดลูกมีทางเดินของระดู คล้ายกับหัวนมมีทางเดินของน้ำนม เมื่อกายทิพย์มาปิดขวางทางเดินของเลือดระดูก็ขาดไป และกละรูป ก็เกิดขึ้น ต่อจากนั้นกละรูปก็เจริญเติบโตเป็นลำดับ ครั้นครบกำหนด 10 เดือน ก็คลอดออกจากครรภ์


                         ก่อนที่เราจะเห็นการเกิดได้ชัดเจนเช่นนี้ ต้องเห็นดวงธรรม และ ธรรมกาย ก่อน จากนั้น จึงศึกษาการเกิดด้วยความรู้ยิ่งของธรรมกายอีกทีหนึ่ง โปรดจำไว้ว่า ท่านจะเป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้รู้ ได้เห็นการเกิดเองบ้างในไม่ช้านี้ ถ้าไม่ละความเพียรเสียก่อน


                     ข) ที่ว่าเป็นที่ดับ ก็เพราะเมื่อเวลาคนเราจะตายนั้น เราเห็นความจำ ความคิด ความรู้ (เมื่อรวมกันเข้าแล้ว เราเรียกว่า ดวงใจ) ซึ่งตามปกติมักจะซัดส่ายไปมาเพื่อรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ จะดึงดูดกันเองนิ่งแนบหนักเข้าไป จนหัวต่อที่เชื่อมระหว่าง กายมนุษย์กับกายทิพย์ หลุดออกจากกัน คล้าย ๆ ถูกกระชากให้หลุด เจ้าตัวถึงกับผวานิ่วหน้า มือไขว่คว้าอากาศ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็ ลืมตา ต่อจากนั้น กายทิพย์ก็จะสลายตัวเข้าศูนย์กลายเป็นดวงกลมใสขนาดเท่า ไข่แดงของไก่ ลอยอยู่ที่ ฐานที่ 6 เมื่อดวงเห็น ดวง ดวงคิด ดวงรู้ ดึดดูดกันเองรุนแรงยิ่งขึ้น ดวงกลมของกายทิพย์ก็ลอยขึ้นมาอยู่ที่ ฐานที่ 7 จากนั้น ก็จะดึงดูดให้เคลื่อนย้อนกลับไป ฐานที่ 6 อีกครั้งหนึ่ง แล้วจากดวงกลมของกายทิพย์ก็กลายเป็นกายทิพย์เดิม ย้อนผ่านฐานต่าง ๆ ออกไปทางช่องจมูก ถ้าเป็นหญิงก็ออกทางช่องจมูกซ้าย ชายก็ออกทางช่องจมูกขวา แล้วแสวงหาที่เกิดต่อไปใหม่ในนามของกายสัมภเวสี


                       ค) ที่ว่าเป็นที่หลับและที่ตื่น เพราะเวลาที่หลับนั้น จิตจะจมอยู่เสมอน่าเลี้ยงตรงฐานที่ 7 นี่เอง ถ้าจิตลอยขึ้นมาครึ่งหนึ่งก็จะตื่นทันทีแต่ถ้าลอยเหนือระดับเกินครึ่งจิตจะฟุ้งซ่านนอนไม่หลับ และถ้าลอยมาก ๆ ก็อาจเสียสติ เป็นโรคประสาทหลอน ตรงกันข้าม ถ้าจมมาก ๆ เจ้าของก็เสียสติ เป็นโรคประสาทซึม


                         เหตุผลประการที่สอง ตรงฐานที่ 7 นี้เป็นบริเวณที่โลกส่งแรงมาดึงดูดร่างกายของมนุษย์ไว้ มิฉะนั้นแล้ว มนุษย์ก็จะหลุดออกไปจากโลก (โลกกลม)


                          เมื่อทราบแล้วว่าตรงฐานที่ 7 เป็นศูนย์กลางของร่างกาย ต่อไปนี้จึงมีหน้าที่อยู่อย่างเดียวคือ ตั้งสติให้ดี อย่าปล่อยให้เผลอไผล ประคองรักษาจิตของตนไว้ตรงฐานถาวรนี้ครั้งแรกอาจจะกำหนดสติได้ยากแต่ไม่ช้าก็จะชำนาญ รู้เท่าทันอารมณ์ ไม่เป็นคนเอาแต่ใจตนเอง ไม่หงุดหงิด ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่โลภ ไม่เพ่งโทษผู้อื่น ฯลฯ อาการที่กำหนดจิตไว้กลางกายก็เสมือนแมงมุมชักใย ทำเป็นรังใหญ่แล้วสงบคอยท่าอยู่ที่กลางรังนั้น


                           แมงมุมชักใยทำให้รังเป็นวงกลมหลาย ๆ ชั้น ระหว่างวงต่อวง มีสายระโยง
ระยางเชื่อมต่อกัน คล้ายเส้นรัศมีวงกลม เพื่อเป็นร่างแหคอยดักเหยื่อ เมื่อทำรัง
เสร็จแล้ว แมงมุมจะไม่เพ่นพ่านเพราะเหนื่อยเปล่า และจะทำให้เหยื่อตกใจเตลิดไป
แต่มันจะคอยที่นิ่ง ๆ อยู่กลางรังให้เหยื่อมาติดเอง เมื่อเหยื่อเข้ามาติดเมื่อไร มันก็รู้
ได้ทันที

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.016292250156403 Mins